​จับตากระแสท้องถิ่นภายหลังรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ตอนที่ 5


​จับตากระแสท้องถิ่นภายหลังรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ตอนที่ 5

4 พฤษภาคม 2560

ทีมวิชาการ สมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย[1]

คำสั่งการปฏิรูปการศึกษา

ในกระแสการปฏิรูปท้องถิ่นกระแสหนึ่งที่สำคัญคือ “การปฏิรูปการศึกษาท้องถิ่น” ด้วยเป็นประเด็นการปฏิรูปสำคัญใน 2 เรื่องที่รัฐต้องเร่งจัดการคือ “การศึกษา” และ “ตำรวจ” ได้มีการปฏิรูปการศึกษาในรอบ 1 ปีที่ผ่านมารวม 2 ละลอก เริ่มจากคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ที่ 11/2559 เรื่อง การบริหารราชการของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค ลงวันที่ 21 มีนาคม 2559 [2] ระบุว่า การจัดการศึกษาในส่วนภูมิภาคของประเทศเกิดจากปัญหาการสั่งการและการบริหารจัดการที่ไม่มีประสิทธิภาพและไม่เป็นเอกภาพ อันเป็นปัญหาสำคัญ ดังนั้นเพื่อประโยชน์ในการปฏิรูประบบการศึกษาให้สามารถขับเคลื่อนได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด จึงแต่งตั้ง “คณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของศธ.ในภูมิภาค”(คปภ.) โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) เป็นประธาน จัดตั้ง “คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด” (กศจ.) และ “คณะอนุกรรมการศึกษาธิการจังหวัด” (อกศจ.) มีศึกษาธิการจังหวัด เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ โดยให้ยุบเลิก “คณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา” และยุบเลิก “คณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษา”


ในละลอกที่ 2 ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 19/2560 เรื่อง การปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ ลงวันที่ 3 เมษายน 2560 [3] จากคำสั่ง 4 ฉบับเดิม เหลือเพียงฉบับเดียว โดยการยกเลิก คำสั่งที่ 10-11/2559 ลงวันที่ 21 มีนาคม 2559 และคำสั่งที่ 38/2559 ลงวันที่ 12 กรกฎาคม 2559 และเพิ่มเติมบางประเด็นเพื่อให้การดำเนินการปฏิรูปการศึกษามีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยประเด็นที่ปรับเปลี่ยนคือ ปรับองค์ประกอบของ “คณะกรรมการขับเคลื่อนปฏิรูปการศึกษาของ ศธ.ในภูมิภาค” (คปภ.) โดยเพิ่มประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นกรรมการ และให้อำนาจ คปภ.เรื่องการโอนกิจการ ทรัพย์สิน หนี้สิน และงบประมาณ รวมถึงเกลี่ยบุคลากร เพื่อให้สามารถตั้งสำนักงานศึกษาธิการภาค (ศธภ.) และสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ได้ รวมถึงการปรับสัดส่วนคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) จาก 22 คน เหลือ 15 คน โดยให้มีผู้ทรงคุณวุฒิไม่เกิน 6 คน อย่างน้อย 3 คนต้องเป็นผู้แทนภาคเอกชน ผู้แทนองค์กรวิชาชีพ และผู้แทนภาคประชาชน

เกี่ยวข้องกับท้องถิ่นหรือไม่

หากพิจารณาตามโครงการการจัดการศึกษา อาจถือว่าไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โดยตรง แต่จากการเปลี่ยนแปลงฯ ดังกล่าว แน่นอนว่าในเชิงลึกมีผลกระทบต่อท้องถิ่นอย่างแน่นอน

ตาม พรบ.การศึกษาแห่งชาติ 2542 ถึงฉบับแก้ไขเพิ่ม 2553 มาตรา 41 และมาตรา 58 [4]บัญญัติให้ อปท. สามารถจัดการศึกษาได้ทุกระดับ ตั้งแต่ ปฐมวัยจนถึงอุดมศึกษาได้ ทั้งนี้ ตามความพร้อม ความเหมาะสม และความต้องการในท้องถิ่น ตลอดทั้งสามารถระดมทรัพยากรเพื่อการศึกษาดังกล่าวได้ โดยจะจัดเองทั้งหมดหรือมีส่วนร่วมก็ได้ ฉะนั้น อปท.จึงมีอำนาจการจัดการศึกษาของประเทศตามหลักการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นจัดการศึกษาซึ่งโรงเรียนสังกัด อปท. มีทั้งโรงเรียนขนาดเล็ก ขนาดกลาง และศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก (ศพด.) ที่มีสังกัด อปท. ที่ชัดเจน แม้ที่ผ่านมาจะมีปัญหาด้านการมีส่วนร่วมและการงบประมาณบ้าง และมีคำถามไม่น้อยจากคนในสังคมที่ “กังขาในคุณภาพ” ของโรงเรียน อปท. เหล่านี้อย่างต่อเนื่อง อาทิ ปัญหาอุปสรรคติดขัดตรงที่ใดใน นโยบายทางการศึกษาบุคลากรการศึกษา หรือท้องถิ่นพร้อมกับคำถามสำคัญว่า “ทำไม อปท. ควรจัดการศึกษา”

การศึกษากับชุมชน

การศึกษาที่ผ่านมาแยกคนออกจากชุมชน พรากคนออกจากท้องถิ่น ทำให้ผู้เรียนได้เรียนรู้เรื่องราวของท้องถิ่นตนเองน้อยมากหรือแทบจะไม่มีเลย ทั้งหลักสูตร การชี้วัด ประเมินผลต่างๆ ล้วนกำหนดมาจากส่วนกลาง ที่ละเลยเรื่องความแตกต่างหลากหลายของพื้นที่ที่ต่างกันแม้ว่าท้องถิ่นจะมีต้นทุนทางสังคมที่ดี ทั้งในแง่ความใกล้ชิด การมีวิถีวัฒนธรรมที่เป็นกลุ่มก้อน เป็นองค์รวมเดียวกัน อีกทั้งยังมีต้นทุนทางสังคม ทั้งทุนทรัพยากรบุคคล (ครูภูมิปัญญา ผู้รู้ ปราชญ์ชาวบ้าน) ทุนทรัพยากรทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่สามารถใช้พื้นที่ชุมชนเป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีความหลากหลายตามท้องถิ่นต่างๆ ขณะเดียวกัน ความเป็นท้องถิ่นนั้นก็สามารถทำให้โรงเรียนสร้างเอกภาพในการบริหารการศึกษาที่มีอัตลักษณ์ มีความเป็นท้องถิ่น เป็นโรงเรียนไม่มีรั้วที่สร้างการมีส่วนร่วมให้เกิดขึ้นได้ โดยหัวใจสำคัญของโรงเรียนในท้องถิ่นนั้น คือ การจัดศึกษาเพื่อแก้ความเหลื่อมล้ำ ให้คนทุกคนเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพฉะนั้น บทเรียนจากประเทศที่พัฒนาหลายประเทศนั้น สะท้อนชัดว่า การกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นบริหารจัดการกันเอง โดยเฉพาะการศึกษา ที่มีการจัดระบบการบริหารจัดการที่ดี ย่อมจะสร้างความเข้มแข็ง มั่นคง ให้แก่ประเทศชาติได้ เพราะระบบการศึกษาท้องถิ่นจะช่วยดึงผู้เรียนส่วนใหญ่ออกจากถนนการศึกษาที่แน่นขนัด ไปสู่การเรียนรู้ที่เอาชีวิตเป็นตัวตั้ง ทำให้มีสัมมาชีพเต็มพื้นที่ เน้นการเรียนรู้จากการทำงาน ฝึกให้ทำเป็น ฝึกความอดทน ฝึกความ รับผิดชอบซึ่งจะช่วยให้ระบบการศึกษาที่เหลือก็สามารถมุ่งสู่การศึกษา เพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการได้ง่ายขึ้น เพราะภาระการสอนจะน้อยลง จะมีทรัพยากรเพื่อการวิจัยและสร้างนักวิจัยได้มากขึ้นนั่นเอง [5]

การจัดการศึกษาปฐมวัย

มีคำกล่าวว่า “คุณภาพเด็กปฐมวัย คือคุณภาพของประเทศและชะตากรรมของประเทศ อยู่ที่คุณภาพของ เด็กปฐมวัย” [6] โดยการศึกษาถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ความสำคัญกับการพัฒนาการในทุกด้านของช่วงอายุ “แรกเกิดจนถึงห้าขวบ” (0-5 ขวบ) หรือ “วัยก่อนเข้าเรียน” ชั้นประถมศึกษาปีที่หนึ่งที่มักเรียกกันว่า “เด็กปฐมวัย” ให้มีพัฒนาการอย่างเหมาะสมตามหลักวิชาการแล้วก็จะสามารถเติบโตเป็นดีมีคุณภาพส่งผลดีต่ออนาคตของสังคมและประเทศชาติด้วย ดังที่ ศ.ดร.เจมส์ เจ เฮกแมน (James Heckman) แห่งมหาวิทยาลัยชิคาโก เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ปี 2000 ชี้ว่า “การลงทุนในเด็กปฐมวัยจะได้ผลตอบแทนครอบคลุมในทุกมิติของชีวิต อัตราการลงทุนจะได้ผลตอบแทนสูงถึง 7 เท่า จะมีการลงทุนใดที่ให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าได้ขนาดนี้…”

ซึ่งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ถือเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดสำหรับเรื่องเด็กปฐมวัย ได้บัญญัติไว้ในหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ มาตรา 54 [7] วรรคสองว่า “รัฐต้องดำเนินการให้เด็กเล็กได้รับการดูแลและพัฒนาก่อนเข้ารับการศึกษาตามวรรคหนึ่งเพื่อพัฒนาร่างกาย จิตใจ วินัย อารมณ์ สังคม และสติปัญญาให้สมกับวัย โดยส่งเสริมและสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคเอกชนเข้ามีส่วนร่วมในการดำเนินการด้วย”

ปัญหาช่วงอายุเด็กในการเข้าเรียน

แม้ว่า พรบ.ประถมศึกษา พ.ศ. 2523 ซึ่งกำหนดไว้ในมาตรา 6 ว่า “เด็กที่มีอายุย่างเข้าปีที่แปด จะต้องเรียนในโรงเรียนประถมศึกษาจนกว่าจะมีอายุย่างเข้าปีที่สิบห้า” [8] แต่ในนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาเด็กปฐมวัย (0-5 ปี) ระยะยาว พ.ศ. 2550-2559 ได้ให้ความหมายของเด็กปฐมวัยว่า “เด็กปฐมวัย” คือ เด็กตั้งแต่ปฏิสนธิจนถึงอายุ 5 ปี 11 เดือน 29 วัน หรือต่ำกว่า 6 ปี การจัดการการศึกษานั้นได้แบ่งเป็น 3 รูป แบบคือ (1) การศึกษาในระบบ (2) การศึกษานอกระบบ และ (3) การศึกษาตามอัธยาศัย นอกจากนี้ยังมีการแบ่งสถานศึกษา และช่วงอายุของเด็กปรากฏชัดเจนตามกฎกระทรวงว่าด้วยการแบ่งระดับและประเภทของการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2546 ว่า [9] สถานศึกษา รร. (อนุบาล) เปิดรับเด็กอายุ 3-6 ปี ที่เด็กต้องเข้าเรียนในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน (โรงเรียน) และ ศพด. ซึ่งเป็นสถานศึกษาของการศึกษานอกระบบสามารถรับเด็กได้เฉพาะ 2-3ปี (เด็กที่อายุต่ำกว่า 3 ปี)

โดยการจัดการศึกษาปฐมวัย (โดยเฉพาะในเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี โดย ศพด.)ต้องเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ และจัดกระบวนการเรียนรู้ตามความถนัดและความสนใจของผู้เรียน เนื่องจากช่วงปฐมวัยเป็นช่วงที่มีการพัฒนาการด้านสมอง และการเรียนรู้อย่างรวดเร็วที่สุด ดังนั้นจึงถือได้ว่าช่วงปฐมวัยเป็นช่วงวัยที่ต้องการการปลูกฝังดูแลเป็นพิเศษ เพื่อจะได้เป็นรากฐานที่สำคัญของการเรียนรู้ และการพัฒนาตลอดชีวิต ให้เติบโตเป็นเด็กฉลาดและประสบความสำเร็จ [10]

ปัญหาสำคัญของการศึกษาปฐมวัย

เคยมีการตั้งคำถามว่า ทำไมการศึกษาต้องมาก่อนและมีคำตอบประการหนึ่งว่า เพราะว่า การพัฒนาประเทศ จะต้องพัฒนาคน และในการพัฒนาคน จะต้องอาศัยการศึกษา แล้วมีตัวชี้วัดการศึกษาอย่างไรที่จะบ่งบอกว่า ช่วยพัฒนาคนตัวชี้วัดที่เป็นยอมรับกัน คือ “ด้านคุณภาพของผู้เรียน” และแน่นอนว่าในสภาพปัจจุบันทุกคนทราบดีว่า ประเทศไทยมีคุณภาพการศึกษาที่ตกต่ำลง จากคะแนนสอบ PISA (Programme for International Student Assessment) ในโครงการประเมินผลนักเรียนในระดับนานาชาติของประเทศสมาชิกองค์กรเพื่อความร่วมมือและพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งดำเนินการโดย OECD (Organization for Economic Co-operation and Development) ในปี ค.ศ. 2012 ผลคะแนนการสอบ PISA ของนักเรียนในทักษะทั้ง 3 ทักษะ (ด้านการอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์) มีคะแนนรวมที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยจาก 65 ประเทศทั้ง 3 ด้าน โดยไทยอยู่ลำดับที่ 50 [11]

มากล่าวถึงปัญหาการศึกษาไว้รวม ๆ ว่า การขาดความรู้ความเข้าใจของผู้ปกครองในการส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย เนื่องจากผู้ปกครองส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการส่งเสริมพัฒนาการที่สำคัญตามช่วงวัยของเด็ก จึงมีความคาดหวังที่ต้องการให้เด็กอ่านออกเขียนได้ จึงส่งลูกเข้าเรียนในโรงเรียนที่มีระบบการสอนแบบ “เร่งเรียนเขียนอ่าน” นอกจากนี้การใช้สื่อเทคโนโลยีไฮเทคมีส่วนสำคัญที่ทำให้เด็กมีความบกพร่องในการเรียนรู้มากอีกทั้งการขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในการจัดการศึกษาปฐมวัยของครู ผู้บริหารและสถานศึกษา การขาดแคลนความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้อง เกี่ยวกับการส่งเสริมพัฒนาการด้านสติปัญญาที่เหมาะสมกับวัย จึงทำให้ครูเน้นให้เด็กอ่านเขียนมากกว่าวัย และเน้นการสอนที่มีลักษณะให้เด็กท่องจำมากกว่าทักษะด้านการคิด การตัดสินใจ

หนึ่งประเด็นที่สำคัญมาก คือ การให้ความสำคัญด้านเนื้อหาและการวัดผลมากกว่าการประเมินผลเพื่อพัฒนาหลักสูตรและการวัดผลระดับประถมศึกษาต้อนต้น มุ่งเน้นให้เด็กท่องจำ ความรู้จำนวนมากไม่สอดคล้องและเชื่อมโยงกับหลักสูตรของการศึกษาปฐมวัยที่เน้นการส่งเสริมพัฒนาการเด็กโดยคำนึงถึงการพัฒนาการในทุกด้านอย่างสมดุล ได้แก่ ด้านร่างกาย สติปัญญา สังคม อารมณ์และจิตใจ นอกจากนี้ครูในโรงเรียนอนุบาล และศูนย์เด็กเล็กส่วนใหญ่ เน้นการวัดผลด้านความจำ โดยขาดการประเมินตามสภาพความเป็นจริง รวมถึงหน่วยงานที่รับผิดชอบทางด้านการศึกษาของรัฐ ใช้หลักเกณฑ์ตัดสินมากกว่าการประเมินเพื่อพัฒนาผู้เรียน ทำให้ขาดแนวทางในการปรับปรุงผู้เรียนให้ดีขึ้น[12]

ภาพปัญหาต่าง ๆ ที่กล่าวข้างต้นยังไม่ทันจบ ก็มีข่าวการ “แย่งเด็กนักเรียน” ระหว่าง รร. สพฐ. และ ศพด. ของ อปท. ว่า ศพด. จะรับเด็กในช่วงอายุใด 2-3 ขวบ หรือ 2-5 ขวบ เพราะทางปฏิบัติที่รับเด็กอยู่เดิมไม่สอดคล้องกับกฎกระทรวงว่าด้วยการแบ่งระดับและประเภทของการศึกษาขั้นพื้นฐาน[13] แต่เหนือสิ่งอื่นใด ท้องถิ่น หรือ อปท. แน่นอนว่ายังคงมีอำนาจหน้าที่จัดการศึกษาแน่นอนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับล่าสุด มาตรา 54 เพราะคงไม่มีใคร หรือองค์กรใด ที่รักลูกหลานของเขาเท่าคนในท้องถิ่น คนในพื้นที่ ซึ่งก็คือ ชุมชนท้องถิ่น และ อปท. นั่นเอง



[1]PhachernThammasarangkoon, Municipality Officerทีมวิชาการสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย, หนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 4 พฤษภาคม 2560 ปีที่ 67 ฉบับที่ 23383 หน้า 10, การเมืองท้องถิ่น : บทความพิเศษ & หนังสือพิมพ์สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ปีที่ 64 ฉบับที่ 34 วันศุกร์ที่ 5 – วันพฤหัสบดีที่ 11 พฤษภาคม 2560, หน้า 66

[2]คำสั่ง หน.คสช.ที่ 11/2559 เรื่อง การบริหารราชการของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค ลงวันที่ 21 มีนาคม 2559, เล่ม 133ตอนพิเศษ 68 ง ราชกิจจานุเบกษา21 มีนาคม 2559, http://library2.parliament.go.th/giventake/content...

[3]คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 19/2560 เรื่อง การปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ ลงวันที่ 3 เมษายน 2560, เล่ม 134 ตอนพิเศษ 96 ง ราชกิจจานุเบกษา 3 เมษายน 2560, หน้า 14-21, http://www.moe.go.th/moe/nipa/ksj/rajkitja19_2560....

[4]พระราชบัญญัติ การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 แก้ไข (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545และ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2553, https://www.mwit.ac.th/~person/01-Statutes/Nationa...

& ดู นายอดุลย์ ภุ่ภัทรางค์, การปฏิรูปการศึกษาในมุมมองของโรงเรียน อปท. , ผู้อำนวยการสถานศึกษา โรงเรียนบัวลาย ใน Siam Intelligence, 26 พฤษภาคม 2557, www.siamintelligence.com/local-education/

มาตรา 41 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีสิทธิจัดการศึกษาในระดับใดระดับหนึ่งหรือทุกระดับตามความพร้อม ความเหมาะสมและความต้องการภายในท้องถิ่น

มาตรา 58 ให้มีการระดมทรัพยากรและการลงทุนด้านงบประมาณ การเงิน และทรัพย์สินทั้งจากรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น บุคคล ครอบครัว ชุมชน องค์กรชุมชนเอกชน องค์กรเอกชน องค์กรวิชาชีพ สถาบันศาสนา สถานประกอบการ สถาบันสังคมอื่น และต่างประเทศมาใช้จัดการศึกษาดังนี้

(1) ให้รัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดมทรัพยากรเพื่อการศึกษา โดยอาจจัดเก็บภาษี เพื่อการศึกษาได้ตามความเหมาะสม ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด

(2) ให้บุคคล ครอบครัว ชุมชน องค์กรชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเอกชน องค์กรเอกชน องค์กรวิชาชีพ สถาบันศาสนา สถานประกอบการ และสถาบันสังคมอื่น ระดมทรัพยากรเพื่อการศึกษา โดยเป็นผู้จัดและมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา บริจาคทรัพย์สินและทรัพยากรอื่นให้แก่สถานศึกษา และมีส่วนร่วมรับภาระค่าใช้จ่ายทางการศึกษาตามความเหมาะสมและความจำเป็น

ทั้งนี้ให้รัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่งเสริมและให้แรงจูงใจในการระดมทรัพยากรดังกล่าว โดยการสนับสนุน การอุดหนุนและใช้มาตรการลดหย่อนหรือยกเว้นภาษี ตามความเหมาะสมและความจำเป็น ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด

[5]ชะตากรรมของประเทศอยู่ที่เด็กปฐมวัย, นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ (จากคำอภิปรายเสนอต่อที่ประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ครั้งที่ /2560 วันจันทร์ที่ 3 เมษายน 2560), 23 เม.ย. 2560,

&พัฒนาการเด็กปฐมวัย รากแก้วแห่งชีวิต, เอกสารประกอบการประชุมวิชาการ “อภิวัฒน์การเรียนรู้สู่จุดเปลี่ยนประเทศไทย” (6-8 พฤษภาคม 2557), http://seminar.qlf.or.th/File/DownloadFile/616

[6]ชะตากรรมของประเทศอยู่ที่เด็กปฐมวัย, นพ.ชูชัย ศุภวงศ์, อ้างแล้ว

[7]มาตรา 54 รัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลาสิบสองปี ตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย

รัฐต้องดำเนินการให้เด็กเล็กได้รับการดูแลและพัฒนาก่อนเข้ารับการศึกษาตามวรรคหนึ่งเพื่อพัฒนาร่างกาย จิตใจ วินัย อารมณ์ สังคม และสติปัญญาให้สมกับวัย โดยส่งเสริมและสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคเอกชนเข้ามีส่วนร่วมในการดำเนินการด้วย

รัฐต้องดำเนินการให้ประชาชนได้รับการศึกษาตามความต้องการในระบบต่าง ๆ รวมทั้งส่งเสริมให้มีการเรียนรู้ตลอดชีวิตและจัดให้มีการร่วมมือกันระหว่างรัฐองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคเอกชน ในการจัดการศึกษาทุกระดับ โดยรัฐมีหน้าที่ดำเนินการ กำกับ ส่งเสริม และสนับสนุนให้การจัดการศึกษาดังกล่าวมีคุณภาพและได้มาตรฐานสากล ทั้งนี้ ตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติซึ่งอย่างน้อยต้องมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติ และการดำเนินการและตรวจสอบการดำเนินการให้เป็นไปตามแผนการศึกษาแห่งชาติด้วย

การศึกษาทั้งปวงต้องมุ่งพัฒนาผู้เรียนให้เป็นคนดี มีวินัย ภูมิใจในชาติ สามารถเชี่ยวชาญได้ตามความถนัดของตน และมีความรับผิดชอบต่อครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ

ในการดำเนินการให้เด็กเล็กได้รับการดูแลและพัฒนาตามวรรคสอง หรือให้ประชาชนได้รับการศึกษาตามวรรคสาม รัฐต้องดำเนินการให้ผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการศึกษาตามความถนัดของตน

ให้จัดตั้งกองทุนเพื่อใช้ในการช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษาและเพื่อเสริมสร้างและพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพครู โดยให้รัฐจัดสรรงบประมาณให้แก่กองทุนหรือใช้มาตรการหรือกลไกทางภาษีรวมทั้งการให้ผู้บริจาคทรัพย์สินเข้ากองทุนได้รับประโยชน์ในการลดหย่อนภาษีด้วย ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ ซึ่งกฎหมายดังกล่าวอย่างน้อยต้องกำหนดให้การบริหารจัดการกองทุนเป็นอิสระและกำหนดให้มีการใช้จ่ายเงินกองทุนเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว

[8]การศึกษาขั้นพื้นฐานของไทย, http://arit.chandra.ac.th/edu/Patiroob/education4....

มาตรา 6 ให้ผู้ปกครองของเด็กที่มีอายุย่างเข้าปีที่แปด ส่งเด็กนั้นเข้าเรียนในโรงเรียนประถมศึกษาจนกว่าจะมีอายุย่างเข้าปีที่สิบห้าเว้นแต่เป็นผู้สอบได้ชั้นประถมปีทีหกตามหลักสูตร หรือหลักสูตรอื่นที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด

ข้อสังเกต พ.ร.บ. ประถมศึกษา พ.ศ. 2523 ไม่ได้ระบุไว้ที่ใดว่าการจัดการศึกษาภาคบังคับ เป็นการศึกษาให้เปล่า ซึ่งต่างกับ พ.ร.บ. ประถมศึกษา พ.ศ. 2478 ซึ่งระบุไว้ในมาตรา 7 ว่า “โรงเรียนประชาบาลและโรงเรียนเทศบาล สอนให้โดยไม่เก็บค่าเล่าเรียน

และ พระราชบัญญัติประถมศึกษา พุทธศักราช 2523 มิได้กล่าวถึงการจัดการศึกษาภาคบังคับแบบให้เปล่าแต่อย่างใด

[9]สถานศึกษา, https://th.wikipedia.org/wiki/สถานศึกษา

[10]นโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนา เด็กปฐมวัย (0-5 ปี) ระยะยาว พ.ศ. 2550 - 2559, ได้รับความเห็นชอบจากที่ ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2550, พิมพ์ครั้งที่ 1 สิงหาคม 2550,สำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ, http://admin.e-library.onecapps.org/Book/421.pdf

[11]เปิดผลPISA2012ชี้ชัดการศึกษาไทยดีขึ้น แต้มคะแนนขยับ-ไม่ได้แย่ขั้นบ๊วยอาเซียน, ทีมข่าวศูนย์ข่าว TCIJ,23 ตุลาคม 2556, http://www.tcijthai.com/news/2013/10/scoop/3276

& ผลการสอบ PISA ปี 2015 เด็กไทยอยู่อันดับที่ 55 : ปฏิรูปการศึกษาด้วยพุทธธรรม โดย ดร.โยธิน มานะบุญ และ ศ.นพ.ดร.อภิวัฒน์มุทิรางกูร, 29 ธันวาคม 2559, http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsI...

[12]สุริยา ฆ้องเสนาะ, การศึกษาของเด็กปฐมวัย หัวใจสำคัญของการศึกษา, วิทยากรชำนาญการกลุ่มงานบริการวิชาการ 3 สำนักวิชาการ, http://www.parliament.go.th/ewtadmin/ewt/parliamen...

[13]ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และโรงเรียนอนุบาล “รับเด็กกี่ขวบ” โดย ดร.สุวรรณ, 6 กุมภาพันธ์ 2560, http://www.thailocalmeet.com/index.php?topic=63807...

หมายเลขบันทึก: 628229เขียนเมื่อ 3 พฤษภาคม 2017 15:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มิถุนายน 2017 00:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท