หัวข้อที่ 2 หลักการพื้นฐานขององค์การการค้าโลก


          

1.2  หลักการพื้นฐานขององค์การการค้าโลก

                       1.2.1  หลักการไม่เลือกปฏิบัติ( Non-Discrimination )                        สาระสำคัญของหลักการไม่เลือกปฏิบัติ  คือ สินค้าที่เหมือนกัน(like product)  ที่มีถิ่นกำเนิดใน หรือที่ส่งออกไปยังประเทศสมาชิกต่างๆ จะต้องได้รับการปฏิบัติออย่างเสมอภาคกัน ณ พรมแดนนำเข้า และส่งออก  และภายในประเทศ  หลังจากที่สินค้านั้นผ่านแดนแล้ว  ทั้งนี้  โดยอัตโนมัติและปราศจากเงื่อนไข  ในเรื่องอัตราภาษีศุลกากร  ค่าธรรมเนียม  ปริมาณนำเข้าส่งออก  ภาษีอื่นๆที่เรียกเก็บจากสินค้าขณะนำเข้า  กฎหมายภายใน  ข้อบังคับต่างๆที่เกี่ยวกับการจำหน่าย  การขนส่ง  ภาษีภายใน  ดังนั้น  เมื่อสมาชิกของ ประเทศหนึ่งปฏิบัติต่อสินค้าชนิดหนึ่งที่มาจาก  หรือที่จะส่งออกไปยังดินแดนของอีกประเทศหนึ่งอย่างไร  ก็จะต้องขยายการปฏิบัติอย่างเดียวกันกับสินค้าที่เหมือนกันกับสินค้าที่มีถิ่นกำเนิดใน  หรือที่จะส่งออกไปยังประเทศสมาชิกอื่นๆด้วยโดยทันทีและปราศจากเงื่อนไข(immediately and unconditionally)  และเมื่อสินค้านั้นได้เข้ามาในดินแดนของตนแล้ว  ประเทศสมาชิกนั้นก็ต้องปฏิบัติต่อสินค้านำเข้าอย่างเสมอภาค  หรือไม้ด้อยไปกว่าที่ปฏิบัติต่อสินค้าชนิดเดียวกันที่ผลิตในประเทศ[1]  หลักการไม่เลือกปฏิบัตินี้เป็นหนึ่งในหลักการพื้นฐานของ GATT /WTO  ซึ่งแบ่งเป็น  หลักการดังนี้                            

           1.2.1.1    หลักการปฏิบัติเยี่ยงชาติที่ได้รับอนุเคราะห์ยิ่ง(Most-Favoured Nation:MFN                             

   เป็นหลักการพื้นฐานทางกฎหมายที่สำคัญหลักหนึ่งซึ่งบัญญัติไว้ใน Article I :1 ของ GATT ซึ่งมีสาระสำคัญว่า  ผลประโยชน์ต่างๆ  การให้เปรียบต่างๆ  เอกสิทธิ์  และความคุ้มกันที่ให้โดยสมาชิกประเทศใดประเทศหนึ่งของ WTO  ต่อสินค้าที่มาจาก  หรือที่จะส่งไปยังดินแดนของประเทศสมาชิกทุกประเทศของ WTO  โดยทันที  และปราศจากเงื่อนไข  นอกจากนี้  ยังรวมถึงการยกเลิกการให้สิทธิประโยชน์หรือความได้เปรียบอื่นใดก็ต้องปฏิบัติต่อทุกประเทศเหมือนกันด้วย                   

    1.2.1.2  หลักการปฏิบัติเยี่ยงคนชาติ(National  Treatment:NT)

                หลักการปฏิบัติเยี่ยงคนชาตินี้บัญญัติไว้ใน Article III  หลักการนี้จะอยู่บนพื้นฐานของหลักการไม่เลือกปฏิบัติเช่นเดียวกับหลัก MFN   เพียงแต่หลักปฏิบัติเยี่ยงคนชาติจะเป็นการปฏิบัติต่อสินค้าที่เหมือนกันอย่างเท่าเทียมกันระหว่างสินค้านำเข้าจากประเทศภาคีสมาชิกอื่นกับสินค้าที่ผลิตขึ้นภายในประเทศ  ไม่ว่าจะเป็นในด้านการเรียกเก็บภาษี  หรือในด้านการออกระเบียบหรือกฎเกณฑ์ภายใน  หลักการปฏิบัติเยี่ยงคนชาติมีหลักเกณฑ์ว่า  ต้องไม่มีการเลือกปฏิบัติระหว่างสินค้าที่ผลิตภายในประเทศกับสินค้าที่นำเข้าภายในประเทศนั้น  กล่าวคือ  ประเทศผู้นำเข้าต้องปฏิบัติต่อสินค้านำเข้าเช่นเดียวกับสินค้าที่ผลิตในประเทศนั้นๆ  หรือกล่าวได้ว่ามาตรการที่ใช้กับสินค้านำเข้าต้องเหมือนกับมาตรการที่ใช้กับสินค้าภายในประเทศ

1.2.2           หลักการห้ามจำกัดการปริมาณ(Quantitative Restriction)หลักการห้ามจำกัดปริมาณนี้ปรากฏอยู่ใน Article XI ของ GATT  ซึ่งได้กำหนดห้ามประเทศสมาชิกของ WTO  ในการที่จะจำกัดจำนวนการนำเข้า  หรือส่งออกสินค้าไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบของการจำกัดปริมาณ(Quota)  การห้าม(Ban)  การใช้ใบอนุญาต(Licensing)  โดย Article XI ได้วางเงื่อนไข  หรือข้อจำกัดในการอ้างข้อยกเว้นในการจำกัดปริมาณ หรือห้ามนำเข้าได้เฉพาะที่จำเป็น  หากมาตรการใดมีผลทำให้การค้าระหว่างประเทศถูกจำกัดในระดับที่เกินควร  ก็จะถือว่ามาตรการนั้นขัดต่อ Article XI  อย่างชัดเจน  ส่วนปัญหาว่าจะจำกัด  หรือห้ามนำเข้าได้เพียงใดจึงจะไม่เกินควรนั้นก็จะต้องพิจารณาเป็นกรณีๆไป  อย่างไรก็ตามก็มีการบัญญัติข้อยกเว้นให้ประเทศสมาชิกสามารถใช้มาตรการจำกัดจำนวนได้ในกรณีต่างๆตาม  Article XI :2 (a) (c)

1.2.3           หลักความโปร่งใส(Transparency)

หลักความโปร่งใสเป็นหลักการที่ช่วยให้ประเทศสมาชิกสามารถรับทราบข้อมูล  ข่าวสาร  กฎระเบียบ  มาตรการต่างๆ  และนโยบายของประเทศสมาชิกอื่นได้  โดย WTO  กำหนดให้ประเทศสมาชิกเผยแพร่กฎหมาย  และกฎระเบียบที่มีความเกี่ยวข้องกับการจำกัด  หรือการห้ามนำเข้า  และส่งออก  รวมถึงความเข้าใจเกี่ยวกับการแจ้ง  การปรึกษาหารือ การระงับข้อพิพาท  และการสอดส่องดูแลกฎระเบียบภายในเกี่ยวกับมาตรฐานสินค้าของประเทศสมาชิก  ให้ประเทศสมาชิกของ WTO  ทราบ  ซึ่งถือเป็นขั้นตอนสำคัญในการดำเนินการอย่างรอบคอบในการออกกฎหมาย  โดยหากไม่มีการแจ้งกฎระเบียบใหม่แล้ว  กฎระเบียบดังกล่าวก็อาจถือว่าขัดต่อหลักการของ  GATT /WTO ได้[2]นอกจากนี้หลักความโปร่งใสยังมีจุดมุ่งหมายในการเผยแพร่เอกสารทางราชการที่มีสาระสำคัญต่อรัฐบาล  และประเทศคู่ค้าเพื่อให้เกิดความเข้าใจในเอกสารดังกล่าว  และมีโอกาสรับทราบข้อมูลข่าวสาร  โดยวิธีการเผยแพร่อาจทำโดยวิธีการใดๆตามที่รัฐบาลของแต่ละประเทศเลือกใช้  หรืออาจแจ้งข้อมูลข่าวสารไปยัง  โดยตรงก็ได้



[1] พิรุณา  ติงศภัทิย์ , การค้าเสรีจะ เขียว ด้วยได้หรือไม่ : ข้อพิจารณาบางประการเกี่ยวกับมาตรการทางการค้าเพื่อคุ้มครองสิ่งแวดล้อมภายในกรอบของแกตต์” , วารสารนิติศาสตร์ ปีที่ 24 , (ธันวาคม 2537 ):.742.  
[2] หลักการนี้ปรากฎอยู่ในArticle X  ของ GATT  ซึ่งกำหนดให้ประเทศสมาชิกต้องดำเนินการ 1. เผยแพร่กฎหมายที่เกี่ยวกับการค้า และข้อตกลงทางการค้าของตน2. ละเว้นที่จะมีการบังคับใช้กฎหมายจนกว่าจะมีการเผยแพร่ 3. ใช้บังคับกฎหมายการค้าเหล่านั้นอย่างยุติธรรม และมีเหตุผล
หมายเลขบันทึก: 62802เขียนเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2006 13:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 22:39 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
ใช่แบบนี้หรือเปล่าครับ ผู้จุดประกายการค้าเสรี เป็นกลุ่มประเทศที่แข็งแรงแล้ว ออกมาสร้างกติกาใหม่ ให้ประเทศอ่อนแอกว่าเปิดประตูการค้า ทดแทนวิธีการล่าเมืองขึ้นสมัยก่อนสงครามโลก
ก็อาจจะใช่นะคะ  ประเทศที่มีกำลังหรือศักยภาพทางเศรษฐกิจที่เหนือกว่า  ก็ยังอยากแสวงหาและตักตวงผลประโยชน์ใส่ตนมากที่สุด   และนอกจากนั้นยังออกมาตรการบางอย่างที่บังคับใช้ต่อสินค้าที่ต้องการส่งออกไปยังประเทศเหล่านั้นให้ต้องปฏิบัติหลักเกณฑ์เช่นว่า อันเป็นมาตรการที่มีลักษณะเป็นการกีดกันทางการค้า  แต่แล้วก็จะมีข้ออ้างต่างๆนานาเพื่อหาความชอบธรรมให้แก่ตนเอง ท้ายที่สุดแล้วก็เป็นการบังคับใช้กฎหมายนอกเขตอำนาจรัฐอันป็นการกระทบต่ออำนาจอธิปไตยของประเทศอื่นๆด้วยค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท