พุทธาภิเษก ความเชื่อพุทธไล่ผี จากมิจฉาทิฐิสู่สัมมาทิฐิ


พุทธาภิเษก ความเชื่อพุทธไล่ผี จากมิจฉาทิฐิสู่สัมมาทิฐิ
กรณีศึกษาวัดป่าหนองชาด อำเภอเชียงยืน จังหวัดมหาสารคาม

พิธีพุทธาภิเษก เป็นพิธีกรรมที่เราเห็นอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน ซึ่งเป็นพิธีกรรมนอกเหนือจาก
ศาสนพิธีทางพุทธศาสนาแต่เป็นลักษณะเพิ่มเติมขึ้นมาเพื่อเหตุผลหลายอย่าง เช่น สร้างความเชื่อมั่นในพุทธศาสนา ให้ตระหนักถึงพุทธคุณหรือเพื่อไล่วิญญาณสิ่งไม่ดีออกไปปจากจิต เป็นต้น ทั้งนี้พิธีกรรมนี้อยู่ในพุทธศาสนาเถราวาทของไทยท่ามกลางระบบความเชื่อเดิมเรื่องศาสนาวิญญาณ(Animism) ทำให้เกิดความสัมพันธ์ทางความขัดแย้งระหว่างทั้งสองศาสนาแต่ก็เกิดคุณค่าด้านจิตวิญญาณทางการดำเนินชีวิต การศึกษาค้นคว้านี้จึงมุ่งเน้นการอธิบายถึงพิธีกรรมพุทธาภิเษกว่ามีความคิด ความเชื่อ ความขัดแย้ง และคุณค่าของศาสนิกชนอย่างไร โดยอธิบายจากมุมมองมานุษยวิทยา ดังนี้

แนวคิดและความเชื่อในการทำพิธีกรรมพุทธาภิเษก

พุทธศาสนาเถราวาทเป็นพุทธศาสนาที่สืบทอดไปจากพุทธศาสนาดั้งเดิม เป็นพุทธศาสนาที่ยึดหลักคำสอนดั้งเดิมเป็นหลักและจัดเป็นพุทธศาสนาแบบอนุรักษ์นิยม[1] ซึ่งมีอิทธิพลต่อระบบความเชื่อและความคิดของคนในเอเชียอุษาคเนย์หรืออีกชื่อหนึ่ง เรียกว่า พุทธศาสนาหินญาณ โดยประเทศไทยเป็นประเทศที่คนส่วนใหญ่นับถือพุทธศาสนาเถราวาท[2] ทำให้มีระบบความเชื่อ วัฒนธรรมและประเพณี ที่เหมือนกันและคล้ายกัน

พิธีกรรมพุทธาภิเษก เป็นพิธีกรรมที่เกิดขึ้นในพุทธศาสนาเถราวาทโดยเฉพาะในพื้นที่ประเทศไทย ที่มีการผสมผสานระหว่างศาสนาผีดั้งเดิม ศาสนาพุทธ และศาสนาพราหมณ์-ฮินดู โดยทั้งสามศาสนาเกิดการผสมผสานวัฒนธรรมและความเชื่อร่วมกันเป็นพุทธศาสนาเถราวาทของไทย ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน จะเห็นได้จากชาวไทยเรานับถือพระรัตนตรัยเป็นสรณะ นับถือผีปู่ย่าตามความเชื่อท้องถิ่น และนับถือหมอพราหมณ์ตามราชประเพณีสำคัญหรือการสะเดาะเคราะห์ตามความเชื่อแบบชาวบ้าน ซึ่งทั้งสามศาสนาเกิดการผสมผสานกันอย่างสมดุล ทำให้เกิดบรรทัดฐานทางความเชื่อท้องถิ่นตลอดจนเป็นลักษณะของสังคมไทย

นอกจากนี้ยังมีเรื่องของความเชื่อระดับต่างๆเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยระดับของความเชื่อ โดย เรณู อรรฐาเมศร แบงความเชื่อออกเปน 2 ระดับ คือ 1) ระดับความเชื่อพื้นบาน โดยในสวนของระดับความเชื่อพื้นบานนั้นมีการผสมผสานกันสองกระแส ไดแก ความเชื่อเรื่องจิตวิญญาณของธรรมชาติ และความเชื่อเรื่องผีวิญญาณ และ 2) ระดับความเชื่อในศาสนา สําหรับระดับความเชื่อในศาสนานั้นถูกอธิบายวาเปนความเชื่อที่มีเหตุผลมากขึ้นกวาความเชื่อพื้นบานตามแนววิทยาศาสตรซึ่งศาสนาที่คนไทยสวนใหญนับถือก็ไดแกศาสนาพุทธ[3]

ทั้งนี้เนื่องด้วยพิธีกรรมพุทธาภิเษก ได้รับอิทธิจากความเชื่อด้านศาสนา(พุทธศาสนา)และความเชื่อท้องถิ่นเช่น ศาสนาท้องถิ่น,ศาสนาวิญญาณ,ศาสนาของขลัง เป็นต้น ทำให้เกิดการผสมผสานแนวคิดและระบบความเชื่อที่หลากหลายมาก ซึ่งขึ้นอยู่กับความเชื่อในท้องถิ่นเป็นสำคัญ แต่มีลักษณะคล้ายกันในด้านการนำเอาวัตถุมลคลมาปลุกอำนาจพุทธคุณ ซึ่งคณะผู้ศึกษาได้ลงพื้นที่สังเกตและสอบถาม ณ วัดป่าหนองชาด อำเภอเชียงยืน จังหวัดมหาสารคาม

จากการลงพื้นที่ พิธีกรรมพุทธาภิเษก ณ วัดป่าหนองชาด อำเภอเชียงยืน จังหวัดมหาสารคาม พบว่าผู้คนที่มาเข้าร่วมส่วนใหญ่เป็นคนนอกพื้นที่ซึ่งมาด้วยจุดประสงค์ที่แตกต่างกันออกไป ได้แก่ มาเพื่อเป็นสิริมงคลชีวิตของตนเอง มาเพื่อสะเดาะเคราะห์ในคนที่เป็นโรคทางกายและโรคทางวิญญาณ(อยากไล่วิญญาณร้าย) มาเพื่อทำบุญเนื่องจากศรัทธาในความศักดิ์สิทธิ์ของพระครูและพิธีกรรม และเหตุผลอื่นๆ ทั้งนี้พิธีการสวดเริ่มตั้งแต่ช่วงดึกถึงเช้ามืดของวันถัดไป พิธีกรรมในช่วงแรกเป็นการอัญเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์ การเป่าสังข์
ต่อด้วยการให้ศีลให้พร ต่อมาเป็นการขึ้นครูโดยฝ่ายพราหมณ์เป็นผู้กล่าว จากนั้นเป็นช่วงสวดอิติปิโสยาวและในช่วงนี้เองที่เป็นช่วงที่ศักดิ์สิทธิ์ของการปลุกเสกขอขลัง สะเดาะเคราะห์ ไล่ผี(ธรรมฟ้ามัสมิงกินผี) และปลุกความดีในตัว ช่วงสุดท้ายเป็นการแจกของขลังและสู่ขวัญตามลำดับ

จากพิธีกรรมพุทธาภิเษกดังกล่าว ดูเหมือนว่าแนวคิดและความเชื่อมีทั้งความเชื่อทางศาสนา การผสมผสานพิธีกรรมระหว่างศาสนา ขัดแย้งระหว่างศาสนา และความคิด ความเชื่อในระดับปัจเจกบุคคล
โดยจากข้อมูลตามหลักศาสนา หลักวิชาการ หลักคติชนท้องถิ่นและข้อมูลในชุมชน สามารถวิเคราะห์แนวคิดและความเชื่อที่ทำให้เกิดพิธีกรรมพุทธาภิเษกในพื้นที่ และสามารถอธิบายพื้นที่อื่นๆได้ ภายใต้อิทธิทางความเชื่อ ศาสนา และวัฒนร่วมในความเป็นเอเชียอุษาคเนย์ ดังนี้

1) ความต้องการให้คนยึดมั่นในพระรัตนตรัย โดยพุทธาภิเษก ได้รับแนวคิดหลักจากหลักธรรมอนุสติ10 ในพุทธศาสนาให้เป็นกุศโลบายทางธรรม ได้แก่พุทธานุสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสติ[4]และอื่นๆ อันเป็นการแสดงถึงความรู้สึกศรัทธาเชื่อมั่นในพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ของผู้ร่วมพิธี พร้อมกับพรรณาพุทธประวัติ อานุภาพของพระพุทธเจ้า ทั้งนี้เพื่อยึดมั่นในพระรัตนตรัยเป็นสรณะมากขึ้นนั่นเอง

จากการลงพื้นที่สอบถามทางวัด ท่านให้คำตอบว่า “เป็นพิธีกรรมที่เน้นให้คนมายึดพุทธศาสนาเป็นที่ตั้ง ให้ละซึ่งความเห็นผิดต่างๆ” สะท้อนว่าพิธีกรรมนี้เป็นกุศโลบายทางธรรมให้คนเชื่อมั่นในอำนาจพระรัตนตรัยและยึดมั่นให้อำนาจพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณเป็นที่ตั้งในการดำเนินชีวิต

2) ความต้องการเสริมจิตวิญญาณสู่คุณภาพชีวิตที่ดี ในพิธีกรรมจะมีการสวดภาณวาร ก็คือ ธรรมะจัดเป็นหมวดๆสำหรับสาธยาย[5] มีอานุภาพในการช่วยเหลือคนให้หลุดพ้น จากทุกข์ ภัย และโรค นอกจากนี้ จุดเด่นสำคัญในพิธีกรรมนี้คือ การปลุกเสกของขลัง(ศาสนาของขลัง) ให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์หรือภาษาท้องถิ่น เรียกว่า เกิดพุทธคุณ นั่นเอง

จากการลงพื้นที่พบว่า ผู้คนที่มาส่วนใหญ่ต้องการขจัดทุกข์ โศก โรค ภัย ให้กับตนเองและครอบครัว ดังบทสวดหนึ่งที่ว่า “สรรพทุกข์ สรรพโศก สรรพโรค สรรพภัย หายไป หายไป” และมีคนนำพระหรือวัตถุมงคลมาปลุกเสกจำนวนหนึ่งหรือก่อนหน้านี้มีคนที่มีความเชื่อในรอยสักมาปลุกของก็มี สะท้อนว่าผู้คนที่มาส่วนใหญ่มีความเชื่อว่าพิธีกรรมนี้สามารถขจัดความทุกข์เหล่านี้ออกไปจากตนเองและครอบครัวได้ด้วยอำนาจและความศักดิ์สิทธิ์ของพิธีกรรม ให้ชีวิตเกิดความเป็นมงคลเจริญรุ่งเรืองและเชื่อว่าพิธีกรรมนี้สามารถสร้างวัตถุธรรมดา ให้มีพลังอำนาจช่วยให้ตนเองเจริญรุ่งเรืองได้ในอนาคต

3) ความต้องการขจัดซึ่งมิจฉาทิฐิเข้าสู่สัมมาทิฐิ ซึ่งในทางพุทธศาสนามีมุมมองว่า ความเห็นที่เป็นมิจฉาทิฐิอย่างหนึ่ง คือหาที่พึ่งนอกพุทธศาสนาเอาหมู่ผีเป็นสรณะที่พึ่ง[6] โดยในพิธีกรรมนี้มีคนจำนวนหนึ่งที่เชื่อว่าตนเองมีวิญญาณที่ไม่ดีแล้วอยากเอาออกจากจิต จากกายของตน ก็มีพิธีย่อยระหว่างนั้น คือ การขับผีออกจากตนเอง

จากการลงพื้นที่พบว่า มีพิธีกรรมเพื่อออกจากผี พิธีกรรมย่อยนี้ เป็นลักษณะที่พระรูปหนึ่งเอาไม้ที่เชื่อว่าเป็นไม้เท้าชูชก แล้วไปกดที่ด้านหลังผู้ที่มีวิญญาณที่ไม่ดีอยู่กับตนเอง ผลคือคนเหล่านั้นที่โดนเอาไม้ไปกดหลังไม่นานก็อวกอาเจียนออกมา มีเหล่าบรรดาศิษย์ช่วยกันโดยเอาใส่กระบอกไม้ไผ่แล้วไปทำลายทิ้ง ถือเป็นการออกจากวิญญาณร้ายของพิธีกรรมย่อยนี้ จากการสอบถามทางวัด ให้ข้อมูลว่า “เป็นการขจัดความเห็นผิดของคนที่ต้องการเอาสิ่งไม่ดีออกจากตนเอง เป็นกุศโลบายให้คนที่ถือผีมาถือพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง” สะท้อนว่าในพิธีกรรมพุทธาภิเษกมีพิธีกรรมย่อยที่เปลี่ยนแปลงความเชื่อระหว่างศาสนาสู่อีกศาสนาและขจัดซึ่งมิจฉาทิฐิเข้าสู่สัมมาทิฐิแบบพุทธศาสนาอีกด้วย

แนวคิดและความเชื่อที่ทำให้เกิดพิธีกรรมพุทธาภิเษก ได้แก่ ความต้องการให้คนยึดมั่นในพระรัตนตรัย ความต้องการเสริมจิตวิญญาณสู่คุณภาพชีวิตที่ดี และความต้องการขจัดซึ่งมิจฉาทิฐิเข้าสู่สัมมาทิฐิ หากวิเคราะห์ตามความต้องการของบุคคลจะได้ว่า ความต้องการให้ยึดมั่นในพระรัตนตรัยและความต้องการขจัดซึ่งมิจฉาทิฐิเข้าสู่สัมมาทิฐิ เป็นความต้องการของพระหรือฝ่ายจัดพิธีกรรมที่วางกุศโลบายให้ผู้คนเข้าวัด โดยใช้พิธีกรรมพุทธาภิเษก เป็นประตูแรงจูงใจในการชักจูงผู้คนให้หันมาสนใจพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ามากยิ่งขึ้น ส่วนความต้องการความต้องการเสริมจิตวิญญาณสู่คุณภาพชีวิตที่ดีเป็นความต้องการพื้นฐานของผู้คนที่เข้าร่วมซึ่งปรารถนาพรอันประเสริฐ ความเป็นสิริมงคลในชีวิต และความเจริญรุ่งเรืองในชีวิต ตลอดจนการเติมเต็มทางจิตวิญญาณที่เชื่อว่าจะเสริมให้ตนเองเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์มากยิ่งขึ้นนั่นเอง

ความสัมพันธ์ทางความขัดแย้งทางศาสนาระหว่างศาสนาพุทธและศาสนาวิญญาณ

เอเชียอุษาคเนย์แต่ก่อนเก่าเป็นสังคมที่มีความเชื่อและศาสนาคล้ายกัน คือ ศาสนาวิญญาณ หรือศาสนาที่นับถือภูตผีปีศาจ(Animism) เป็นการเชื่อว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์สิงสถิตอยู่กับอำนาจลึกลับที่มองไม่เห็นเป็นรูปธรรม เกิดมาจากความผูกพันกับบุคคลรอบๆตัว[7] โดยชาวลาวอีสานในไทยก็เป็นส่วนหนึ่งในเอเชียอุษาคเนย์ จึงทำให้มีความเชื่อในเรื่องการนับถือผีจำนวนมาก เช่น เชื่อเทวดา ผี สาง นางไม้ พระภูมิเมือง ผีบรรพบุรุษและผีฟ้าผีแถน[8] เป็นต้น ซึ่งการถือผีก็มีส่วนเกี่ยวข้องการวิถีชีวิต การทำไร่นา การหาเลี้ยงชีพและอื่นๆ ทั้งนี้ด้วยความที่นับถือผีมาแต่ก่อนเก่า “ความเชื่อเรื่องผีจึงเป็นระบบความเชื่อพื้นฐานของชาวอีสาน” ที่สะท้อนให้เราเห็นดังในปัจจุบันตามท้องถิ่นต่างๆ

พุทธศาสนาในเอเชียอุษาคเนย์ โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ประเทศไทยภาคอีสาน นับถือศาสนาผีหรือศาสนาวิญญาณมาก่อนพุทธศาสนา เมื่อพุทธศาสนามาหลังศาสนาผี ก็เกิดการผสมผสานทางความเชื่อ และความขัดแย้งทางความเชื่อที่เราเห็นดังในปัจจุบัน การผสมผสานทางความเชื่อที่ชัดเจนที่สุด เช่น ประเพณี
ฮีตสิบสอง คองสิบสี่ และความขัดแย้งทางความเชื่อที่ชัดเจนที่สุด เช่น พิธีกรรมแบบพุทธเพื่อไล่ผีและปราบผีต่างๆที่เชื่อว่าสังคมจะเกิดความสงบสุข ตามมโนคติของคนในสังคม

ในพิธีกรรมพุทธาภิเษก คนมีความเชื่อว่าหากทำแล้วจะช่วยปัดเป่าสิ่งไม่ดี(ผี) ออกจากกายและจิตวิญญาณของตนเองได้ โดยให้ “ยึดพระรัตนตรัยเป็นสรณะแทนการยึดผีเป็นสรณะ” สะท้อนว่าในพิธีกรรมนี้ ความสัมพันธ์ทางศาสนาพุทธและศาสนาผี เป็นไปในแนวทางหักล้างทางความเชื่อหรือขัดแย้งระหว่างความเชื่อ เพราะพุทธาภิเษกให้คนที่ปรารถนาจะเอาสิ่งไม่ดี(ผี) ออกจากร่างกายมาทำพิธีกรรมบางอย่างทางพุทธเพื่อเอาสิ่งไม่ดี(ผี) เหล่านั้นออกไป โดยหันมายึดพุทธศาสนาเป็นศาสนาของตนแทนศาสนาผี

ทั้งนี้คนที่จะออกออกจากผีดังกล่าว คนเหล่านั้นต้องมาด้วยความบริสุทธิ์ใจที่จะเอาออกจริงๆหรือญาติพามาเพื่ออยากให้เอาออก สะท้อนว่าความขัดแย้งดังกล่าว เป็นความปรารถนาของตัวผู้ที่เชื่อว่าเป็นโรคทางจิตวิญญาณ หรือคนรอบข้างที่ต้องการจะเปลี่ยนแปลงสิ่งที่คนผู้นั้นนับถือ ให้หันมาสู่สิ่งนับถือ ความเชื่อ และศาสนาที่ดีกว่านั่นเอง

ความสัมพันธ์ทางความเชื่อระหว่างศาสนาพุทธและศาสนาวิญญาณในพิธีกรรมพุทธาภิเษก เป็นไปในด้านความขัดแย้งจากความพยายามในที่จะออกจากศาสนาผีสู่ศาสนาพุทธ ด้วยเหตุผลที่ว่าเป็นแนวทางที่ดีขึ้นและประเสริฐกว่า นั่นหมายถึงการมีคติว่าจะนำไปสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์มากกว่า หากเปลี่ยนแปลงความเชื่อดังกล่าว แม้ศาสนาผีหยั่งรากในบริเวณพื้นที่เอเชียอุษาคเนย์มานาน แต่ก็ถูกกลืนด้วยพุทธศาสนา ดังในพิธีพุทธาภิเษกที่กล่าวไปในข้างต้น

คุณค่าทางมานุษยวิทยา (สังคม วัฒนธรรม และจิตวิญญาณ)

คุณค่าทางมานุษยวิทยาในพิธีพุทธาภิเษก เป็นคุณค่าทางความเชื่อและศาสนาที่ส่งผลต่อจิตวิญญาณ ความคิด ร่างกาย และการดำเนินชีวิตของประชาชนที่เข้าร่วม โดยจากการสอบถามและข้อสังเกต สามารถ
วิเคราะห์คุณค่ามิติต่างๆได้ดังนี้

มิติสังคม

1) เกิดการรวมกลุ่มทางสังคม เพื่อทำกิจกรรมทางศาสนาโดยสร้างความสุข ความสงบ และความสบายใจให้เกิดขึ้นในสถาบันต่างๆ ได้แก่ ครอบครัว ชุมชนและสังคมนั้นๆ ซึ่งเป็นพิธีกรรมทางพุทธศาสนา
ที่เป็นจุดร่วมทางความเชื่อให้ผู้คนเข้ามาร่วมงานจำนวนมาก

2) เกิดการปรับตัวในสังคมท้องถิ่นที่มีพิธีกรรมพุทธาภิเษก จากการที่คนต่างท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมทางศาสนาของชุมชน เกิดกลไกในชุมชนเพื่อปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงและเสริมสร้างขนบที่ดีงามเหล่านี้ด้วยกิจกรรมเสริมพิธีกรรมหรือกิจกรรมอื่นๆส่งเสริมด้านศาสนาที่นำไปสู่ความเจริญทางศาสนาและวัด

3) เกิดการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน หน่วยงานในชุมชน สถาบันทางสังคมในชุมชน หน่วยงานภาครัฐและเอกชนในพื้นที่มากขึ้น จากการจัดงานที่ต้องประสานความร่วมมือและการเข้าร่วมของบุคคลในหน่วยงานต่างๆในข้างต้น โดยเริ่มต้นจากความเชื่อร่วมกันนำไปสู่พิธีพุทธาภิเษกนั่นเอง

มิติวัฒนธรรม

1) เกิดการผสมผสานทางวัฒนธรรม(Cultural integration) จากหลายวัฒนธรรมมาพบกัน สัมผัสกันและการหยิบยืมแลกเปลี่ยนกันในระยะเวลาที่เหมาะสมสม่ำเสมอและยาวนานพอสมควร[9] ดังจะเห็นได้จากพิธีกรรมพุทธาภิเษกมีการนำความเชื่อแบบศาสนาพราหมณ์ ศาสนาพุทธ และศาสนาของขลังเข้ามาผสมผสานกัน แต่ก็สามารถแยกออกได้ว่ากิจกรรมใด สิ่งใดเป็นความเชื่อแบบใด เพราะพราหมณ์ ศาสนาพุทธ และศาสนาของขลัง ดูเหมือนว่ายังไม่ถูกกลืนวัฒนธรรม

2) เกิดการหักล้างทางวัฒนธรรม จากการที่พุทธศาสนาพยายามหักล้างความเชื่อทางศาสนาผี ทั้งนี้อาจเกิดจากความล้าทางวัฒนธรรมนามธรรม(Nonmaterial Culture) ที่ไม่ตอบสนองต่อความต้องการของคนยุคสมัยนี้ ทั้งนี้วัฒนธรรมเกิดการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ฉะนั้นแล้วการหักล้างทางวัฒนธรรมจึงเกิดขึ้นเรื่อยๆจนเป็นความเชื่อที่สมบูรณ์ตามอุดมคติของสังคม

3) เกิดวัฒนธรรมใหม่ขึ้นในชุมชน(Acculturation) โดยพิธีกรรมพุทธาภิเษกทำให้เกิดแบบแผนและขนบใหม่ขึ้นในชุมชน ให้เกิดการปรับตัวของชุมชนเพื่อตอบรับกับวัฒนธรรมใหม่ที่เกิดขึ้น โดยชุมชนมีการเสริมประเพณี บูรณาการความเชื่อ และสร้างแบบแผนการปฏิบัติใหม่ขึ้นในพื้นที่ ทั้งนี้เพื่อรับกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นด้วย

มิติจิตวิญญาณ

1) เป็นการรักษาโรคทางจิตวิญญาณ จากคนส่วนหนึ่งที่เข้ามาร่วมพิธีกรรม ต้องการจะเอาสิ่งที่ไม่ดีในอุดมคติ(ผี) ออกจากตนเอง เพื่อมุ่งหวังว่าเมื่อเอาสิ่งนั้นออกแล้วจะช่วยทำให้ตนเองและคนรอบข้างเกิดความสุข ความเป็นมงคล และความเจริญรุ่งเรืองในชีวิต ทั้งนี้ยังมีสิ่งที่ไม่ดีอื่นๆ เช่น ทุกข์ โศก โรค และภัยต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นกับชีวิตในอนาคตโดยเมื่อเข้าพิธีกรรมนี้เชื่อว่าจะทำให้หายไปหรือปลอดจากอาการเหล่านั้นมากที่สุด ส่งผลให้จิตใจเกิดความสุข ความสบายใจ เป็นภูมิคุ้นกันทางใจในการดำเนินชีวิตและการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมมากขึ้น

2) ส่งเสริมการไปสู่เป้าหมายทางจิตวิญญาณ จากส่วนใหญ่ที่มาร่วมพิธีกรรมนี้ เพื่อการสะสมบุญบารมี ตามความเชื่อเรื่องภพ ชาติ และการสั่งสมบุญ การได้มาร่วมพิธีกรรมถือว่าเป็นบุญกุศลเมื่อจากโลกนี้ไปแล้ว ระยะใกล้จะส่งผลให้ชีวิตเกิดความสุข ความสงบและความสบาย ระยะไกลจะได้ไปสู่ภพภูมิที่ดีตามความเชื่อทางพุทธศาสนา

3) ทำให้เกิดความตั้งมั่นในความดีตามอุดมคติ(ร่วม)ของสังคม โดยจากการมาร่วมพิธีกรรมถือว่าเป็นการสร้างความเป็นมงคลให้เกิดกับชีวิตของตนเองต่อไปในอนาคต ภายใต้ความมงคลนั้นตามความเชื่อและคำสอนต้องเอาศีลเป็นฐาน แสดงว่าต้องยึดมั่นในการกระทำที่ถูกต้องและดีงาม การออกจากผีมาเข้าพุทธในพิธีกรรมนี้ก็เป็นการกระทำที่ถูกต้องดีงามหรือเป็นสัมมาทิฐิตามหลักคำสอนของพุทธศาสนา

สรุป

พิธีกรรมพุทธาพิเษกเป็นความเชื่อทางพุทธศาสนาที่ไม่ปรากฏแน่ชัดว่าเกิดขึ้นในสมัยใด แต่ทว่าแนวคิดและระบบความเชื่อที่นำไปสู่พิธีกรรมนี้ คือ ความเชื่อด้านศาสนาพุทธ พรามหมณ์และผี เกิดเป็นความสัมพันธ์ทั้งเป็นความสัมพันธ์ด้านการผสมผสานวัฒนธรรมและการหักล้างทางวัฒนธรรม ทั้งนี้เหตุผลหลักที่เกิดพิธีกรรมนี้ขึ้น คือ ความต้องการให้คนยึดมั่นในพระรัตนตรัย ความต้องการเสริมจิตวิญญาณความเป็นมนุษย์ของตนเอง และความต้องการเคลื่อนจากมิจฉาทิฐิอย่างการถือผีเป็นสรณะ มาสู่สัมมาทิฐิอย่างการถือพระรัตนตรัยตามหลักอนุสติ เป็นสรณะ

จากการเปลี่ยนแปลงความเชื่อในแนวทางหักล้างทางวัฒนธรรม ทำให้ดูเหมือนว่าเกิดความขัดแย้งทางศาสนาระหว่างพุทธและผีในอีกบริบท เพราะพิธีกรรมพุทธาภิเษก ให้คนที่ปรารถนาจะเอาสิ่งไม่ดี(ผี) ออกจากร่างกายมาทำพิธีกรรมบางอย่างทางพุทธเพื่อเอาสิ่งไม่ดี(ผี) เหล่านั้นออกไป โดยหันมายึดพุทธศาสนาเป็นศาสนาของตนแทนศาสนาผี แต่ก็เป็นความขัดแย้งโดยสมัครใจจากผู้ที่ตั้งใจมาร่วมพิธีกรรม เพื่อเปลี่ยนแปลงความเชื่อของตนเอง จึงไม่เกิดการทัดทานทางความคิดขึ้นในสังคม

ทั้งนี้พิธีกรรมนี้เกิดคุณค่าต่อสังคมให้เกิดกลไกที่ดีงามในสังคม เกิดการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมที่ดีงามมากขึ้นและเกิดการรักษา เยียวยาผู้ที่มีความทุกข์ให้เกิดความสุข ความสงบ และความสบายในด้านจิตวิญญาณ เป็นต้น เพื่อชักจูงสังคมให้เดินทางไปสู่จุดหมายสูงสุดแห่งความจริง ความดีและความงามต่อไป


[1] วัชระ งามจิตรเจริญ. (2556). พุทธศาสนาเถราวาท. หน้า 12

[2] เรื่องเดียวกัน. หน้า 28

[3] เรณูอรรฐาเมศร์, คติชนวิทยา, (2553). เชียงใหม่ : คณะวิชามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์สถาบันราชภัฏเชียงใหม่, หน้า 158.

[4] ทองสุข ทองกระจ่าง. (2553). บทเรียนพระอภิธรรมทางไปรษณีย์ชุดที่ ๙ สมถกรรมฐาน ตอนที่ ๒ อนุสสติ ๑๐.หน้า 1

[5] พระมหาธีรพันธ์ วชิรญาโณ.(2553). พระพิธีธรรม. หน้า 1

[6] หลวงพ่อทูล ขิปฺปปญฺโญ.(2552). สัมมาทิฐิ. หน้า 15

[7] นิยพรรณ(ผลวัฒนะ) วรรณศิริ.(2550). มานุษยวิทยา สังคมและวัฒนธรรม. หน้า 243

[8] พระอริยานุวัตร เขมจารีเถระ.(2530). วัฒนธรรมพื้นบ้าน คติความเชื่อ.หน้า 5-34

[9] นิยพรรณ(ผลวัฒนะ) วรรณศิริ.(2550). มานุษยวิทยา สังคมและวัฒนธรรม. หน้า 60


บรรณานุกรม

หนังสือ

นิยพรรณ (พลวัฒนะ) วรรณศิริ. (2550). มานุษยวิทยา สังคมและวัฒนธรรม. กรุงเทพมหานคร: บริษัทธนาเพลส จำกัด.

พระอริยานุวัตร เขมจารีเถระ. (2530). คติความเชื่อของชาวอีสาน. ใน เพ็ญศรี ดุ๊กและคณะ, วัฒนธรรมพื้นบ้าน คติความเชื่อ (หน้า 1-65). กรุงเทพมหานคร: โครงการไทยศึกษา ฝายวิชาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

เรณู อรรฐาเมศร์. (2533). คติชนวิทยา. เชียงใหม่: คณะมนุษย์ศาสนตร์และสังคมศาสตร์ สถาบันราชภัฏเชียงใหม่.

วัชระ งามจิตรเจริญ. (2556). พุทธศาสนาเถราวาท. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

หลวงพ่อทูล ขิปฺปปญฺโญ. (2552). สัมมาทิฐิ. กรุงเทพมหานคร: อมรินทร์ธรรมะ.

เอกสารจากเว็บไซต์

ทองสุข ทองกระจ่าง. (2553). บทเรียนพระอภิธรรมทางไปรษณีย์ชุดที่ 9. เรียกใช้เมื่อ 2 เมษายน 2560 จาก ทองสุข ทองกระจ่าง: http://www.dechasit.com/attachments/article/16/9%2...

พระมหาธีรพันธ์ วชิรญาโณ. (2553). พระพิธีธรรม. เรียกใช้เมื่อ 2 เมษายน 2560 จาก watrakang.com: http://www.watrakang.com/pitedham.pdf

คำสัมภาษณ์

พระครูเมธีธรรมนันท์ สุเมโธ. (18-19 กุมภาพันธ์ 2560). การทำพิธีกรรมพุทธาภิเษก. (ธีระวุฒิ ศรีมังคละ, ผู้สัมภาษณ์)


คณะผู้จัดทำ
ธีระวุฒิ ศรีมังคละ
วรานนท์ สวัสดิ์ผล
ปนัดดา ทิพย์เนตร
วรรณศักดิ์ ศรีคำภา
จินตนา โคตรปัญญา

สิริรัตน์ แสนนา



ความเห็น (2)

เยี่ยมมากค่ะ ขอบคุณค่ะ

คุณธีวะุฒิและทีมวิจัย .. ลงเก็บข้อมูลเองใช่ไหมคะ ดิฉันรู้สึกเสียดายองค์ประกอบอื่นๆ ที่อาจไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่ศึกษาตรงๆ แต่เป็นส่วนประกอบของสังคม ชุมชนนั้นๆ เช่น คณะผู้จัดงาน วัตถุประสงค์ พระสงฆ์ที่ประกอบพิธีกรรม เงินทำบุญ(กำหนดไว้หรือตามศรัทธา) วัตถุมงคลและการจำหน่าย รายได้ แม่ค้า โรงทาน ฯลฯ น่าจะมีบันทึกอยู่แล้ว นำมารังสรรค์วิทยาหาประเด็นน่าสนใจไว้ศึกษาเพิ่มเติมได้ เพราะดิฉันมีความเชื่อว่าโลกของเรากว้างใหญ่ มีความซับซ้อน และมีความสัมพันธ์กันอย่างเป็นพลวัตค่ะ

ถ้ากล่าวถึงในรายงานฉบับสมบูรณ์แล้วต้องขออภัยค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท