จะร่วมทุกข์ เพื่อ "ร่วมสุข" หรือเพื่อ "เอาทุกข์มาทับถมตนที่ไม่มีทุกข์"


มนุษย์เป็นสัตว์สังคม จึงไม่สามารถอยู่ตามลำพังในโลกได้ แต่เมื่อมนุษย์อยู่ร่วมกัน การกระทำของคนในสังคม คนใกล้ชิด คนในครอบครัว อาจส่งผลกระทบถึงบุคคลอื่นๆที่เกี่ยวข้องได้

บุคคลมักใส่ใจความรู้สึก ความเป็นอยู่ สิ่งที่เขาเผชิญ ในบุคคลใกล้ชิดของเขามากกว่าบุคคลที่ห่างออกไป บางครั้งการกระทำของบุคคลใดๆอาจเป็นเหตุให้บุคคลผู้นั้นทุกข์ใจ และเป็นเหตุให้บุคคลผู้เกี่ยวข้องไม่สบายใจ อึดอัด จนร่วมทุกข์ไปกับผู้กระทำนั้นได้

การร่วมทุกข์จึงเป็นคำที่เราควรสนใจ


คำว่า "ร่วมทุกข์" ไม่ได้หมายความว่าเขาทุกข์ใจอย่างไร เราก็ร่วมทุกข์ ร่วมเศร้าเสียใจตามเขาไปนั้น แต่หมายถึงการใส่ใจความรู้สึกของเขา การร่วมรับรู้สาเหตุ การร่วมหาทางแก้ไข ทำในสิ่งที่เราสามารถทำได้ตามกำลัง

แต่ในขณะที่ยังแก้ไขไม่ได้ ด้วยสติปัญญาเราที่ยังไม่พรั่งพร้อม ก็อาจทำให้เราอึดอัดขัดข้องใจตามเขาไปด้วย จึงต้องหาทางผ่อนคลายใจเราเองให้เห็นสอดคล้องกับความเป็นจริงในปัจจุบัน มีการวางใจเป็นกลางเพื่อให้ใจผ่องใสตามมา ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นว่าเรา "เป็นทุกข์" ไม่ใช่ "เห็นทุกข์"

เพราะเมื่อเป็นทุกข์ จะเห็นอาการของทุกข์ เห็นเหตุให้เกิดทุกข์ เห็นทางออก เห็นทางแก้ไขเหตุให้เกิดทุกข์ได้อย่างไร

ร่วมทุกข์ จึงเป็นเหตุให้ได้ร่วมสุข ไม่ใช่ร่วมทุกข์ใจไปกับเขา อันเป็นการนำทุกข์มาทับถมตนที่ไม่มีทุกข์

ที่สำคัญ ไม่ควรรังเกียจเขา ว่าเพราะเขา เราจึงทุกข์ เพราะเขา เราจึงยุ่งยาก เพราะเมื่ออยู่ร่วมกัน ย่อมมีการแบ่งปันกันทั้งทุกข์และสุข เมื่อเราสุขใจเพราะเขาได้ ก็ทุกข์เพราะเขาได้เช่นกัน

การไม่ยอมรับทุกข์จากเขา พอใจจะรับแต่สุข นอกจากจะเห็นไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงในโลกที่ว่า สภาวะต่างๆมีทั้งคุณและโทษแล้ว ยังทำกิเลสทั้งสามกองให้ยิ่งเพิ่มพูน คือโลภอยากได้แต่สิ่งที่น่าพอใจ (โลภะ) ลุ่มหลงแต่ในสิ่งที่น่าพอใจ (โมหะ) เมื่อไม่ได้ตามที่พอใจก็ขัดเคืองใจ (โทสะ)

จึงทิ้งโอกาสในการพิจารณาให้เห็นความดีในสิ่งที่ไม่ดี ให้เห็นความมีสองหน้าของสภาวธรรม ทิ้งโอกาสในใช้การโยนิโสมนสิการ อันทำให้เห็นความเป็นไปในโลก ว่าล้วนแต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเพียงขณะ ไม่สามารถดำรงอยู่ตลอดได้ เกิดแล้วก็ต้องดับไป เป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่เป็นไปตามปรารถนา ไม่มีใครสามารถเป็นเจ้าของได้

จนอาจทิ้งโอกาสในการคลายความพอใจในการยึดความเป็นไปนั้นๆ ลงไปได้ทีละน้อย ทีละน้อย

หมายเลขบันทึก: 627756เขียนเมื่อ 21 เมษายน 2017 08:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 พฤษภาคม 2017 15:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท