แนวทางการป้องกันปัญหาการทะเลาะวิวาทของเด็กวัยรุ่นตามหลักพุทธธรรม


แนวทางการป้องกันปัญหาการทะเลาะวิวาทของเด็กวัยรุ่นตามหลักพุทธธรรม

ดร.ถวิล อรัญเวศ
รอง ผอ.สพป.นครราชสีมา เขต 4

การทะเลาะวิวาท เป็นพฤติกรรมที่มักจะเกิดขึ้นเสมอ โดยเฉพาะเด็กวัยรุ่น
เนื่องจากการมีค่านิยมที่ไม่เหมาะสม การรักศักดิ์ศรี หรือการไม่ยอมกัน
หรือบาดหมางกันมาก่อน การอ้างศักดิ์ศรีอะไรบางอย่างของวัยรุ่น

ปัญหาเหล่านี้ ถ้าจะพิจาณาอย่างถ่องแท้แล้วคือ การขาดคุณธรรม
จริยธรรมนั้นเอง โดยเฉพาะเมตตาธรรม กรุณาธรรม ทมะ การข่มใจ
การยับยั้งใจตนเองไว้ได้ ขันติ ความอดทน การลุอำนาจโทสะเมื่อเกิดโทสะแล้ว
ไม่คิดจะห้ามปรามใจตนเอง ทำตามอำนาจโทสะที่เกิดขึ้น ลืมว่า
สิ่งที่กระทำลงไปจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ตนเอง คนอื่น และสังคม

การก่อการทะเลาะวิวาทของเด็กวัยรุ่น มองอีกในแง่หนึ่ง เป็นเรื่องธรรมดา
ของวัยนี้ เพราะเป็นวัยที่รุ่นแรง รักความเป็นเพื่อน รักศักดิ์ศรี
ไม่อยากให้ใครมาหยามศักดิ์ศรีตนเอง และเพื่อนๆ

การทะเลาะวิวาทบางครั้ง มักจะเกิดจากการลืมสติ ขาดสติ
เพราะเสพของมึนเมาก็มี ทำให้ขาดการยังยั้งใจตนเองไปชั่วขณะก็มี

การก่อการทะเลาะวิวาทของเด็กวัยรุ่นในสังคมไทย มักจะพบหรือเกิดขึ้น
ประจำในกรณีการละเล่นต่างๆ แม้ในเทศกาลประเพณีสงกรานต์ที่ผ่านมา
2560 ก็พบพฤติกรรมการทะเลาะวิวาท สาเหตุเป็นคู่อริกัน หรือไม่ชอบพอกัน
ขัดเคืองใจกันมาก่อน จะพบเห็นตามข่าวหน้าหนังสือพิมพ์ วิทยุโทรทัศน์ซึ่ง
ในแต่ละครั้งจะมีผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจนถึงปางตายก็มีทำให้สร้างความเดือดร้อน
กับตัวผู้ก่อเหตุเองและผู้ปกครองของกลุ่มเด็กวัยรุ่น ซึ่งที่ผ่านมาทางหน่วยงาน
ต่างๆที่เกี่ยวข้อง ก็ได้มีการหาแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหานี้มาโดยตลอด
เพื่อลดและป้องกันทะเลาะวิวาทของกลุ่มวัยรุ่น ปัญหานี้ได้สร้างความเสียหาย
ทั้งกับตัวนักศึกษาเองและชื่อเสียงของสถาบันอีกด้วย

ปัจจุบัน นักเรียน นักศึกษา (โดยเฉพาะอาชีวศึกษา) มักจะมีการประกาศ
สงครามกันผ่านทางอินเทอร์เน็ต รวมถึงใช้ถ้อยคำยั่วยุรุนแรงว่าจะ
“เด็ดหัว” นักศึกษาสถาบันคู่อริ ซึ่งยิ่งจะรุนแรง ยังลามเข้าไปถึงการทะเลาะวิวาท
กันข้ามสถาบันก็มี การทะเลาะวิวาท ปะทะ ต่อสู้ เพื่อ "ศักดิ์ศรีสถาบัน"
ของ "นักศึกษาอาชีวะ" หรือ ไม่ใช่อาชีวะ แต่เป็นวัยรุ่นที่กำลังอยู่ในวงสุรา
เสพของมึนเมา ได้กลายเป็น "ธรรมเนียมปฏิบัติ" ถ้าไม่พอใจกัน
หรือสบตากันแล้วหาเรื่อง ทำให้ก่อการทะเลาะวิวาทกัน
และเป็นสิ่งที่ยากที่จะแก้ไข แต่ก็จำเป็นต้องแก้ปัญหาเหล่านี้ให้หมาดสิ้นไป
เนื่องจากปัญหาดังกล่าวนอกจากจะสร้างค่านิยมที่ไม่ดี
ทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตแล้ว ยังสร้างความเสื่อมเสีย
และทำลายความน่าเชื่อถือให้กับสถาบันการศึกษา ซึ่งถือว่าเป็น
"เสาหลัก" ของการสร้างทรัพยากรมนุษย์อันเป็นกำลังสำคัญ
ในการพัฒนาประเทศอีกด้วย เหตุการณ์

การทะเลาะวิวาท ระหว่างนักศึกษาอาชีวะต่างสถาบันที่นับวันยิ่ง
จะทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยเมื่อไม่นานมานี้ได้เกิดกรณีการใช้อาวุธปืน
ไล่ยิงกันจนเป็นเหตุให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตนั้น ถือเป็น
"ปัญหาที่เกิดซ้ำแล้วซ้ำอีก หรือเรื้อรัง"
ที่สังคมจำต้องการหาทางป้องกัน แก้ไข
หรืออย่างเร่งด่วนต่อไป


ผลกระทบต่อสังคม

ก่อให้เกิดความสูญเสียแก่ร่างกาย จิตใจ ชีวิต ทรัพย์สิน
ไม่เพียงแต่จะสร้างปัญหาให้กับตัวเองแล้ว ยังทำให้พ่อแม่
ญาติสนิทมิตรสหาย ต้องทุกข์ใจที่เห็นบุตรหลานตนเอง
จะต้องเสียอนาคต และยังทำให้สถาบันการศึกษาเสื่อมเสียชื่อเสียงอีกด้วย
และที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือเป็นปัญหาให้กับสังคมและคนรอบข้าง
เพราะนอกจากนักเรียนโรงเรียนคู่อริจะได้รับบาดเจ็บแล้ว
คนส่วนหนึ่งที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง หรือคนบริสุทธิ์ต้องพลอยเดือดร้อน
ไปด้วยเพราะโดนลูกหลงของกลุ่มวัยรุ่นที่ก่อการทะเลาะวิวาทนั้นเอง

แนวทางการป้องกันปัญหาการทะเลาะวิวาทของเด็กวัยรุ่นตามหลักพุทธธรรม

1. สร้างความตระหนักถึงความเสียหายที่จะเกิดจากการทะเลาะวิวาท
เมื่อมีการทะเลาะวิวาทกันแล้ว แน่นอนสิ่งที่จะเกิดคือ การได้รับบาดเจ็บ
การเสียชีวิต การเสียอนาคตเสียประวัติ เพราะวัยรุ่น ถือว่าเป็นวัยที่จะเป็น
กำลังของชาติในปัจจุบันและอนาคต สถานศึกษา สถาบันการศึกษาทุกแห่ง
ต้องมีกิจกรรมสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องนี้ ทำจนเป็นวิถีชีวิตของวัยรุ่น
เช่น กิจกรรมแนะแนวตั้งแต่อนุบาลเป็นต้นไป การให้คำปรึกษา
การอบรมวันศุกร์ เป็นต้น

2. เปิดโอกาสให้เด็กวัยรุ่นได้ทำกิจกรรมสร้างสรรค์
การทำกิจกรรมสร้างสรรค์ของเด็กเยาวชน สามารถทำ
ได้หลายวิธี เช่น กิจกรรมเพื่อนรักเพื่อนกิจกรรมผูกเสี่ยว
เยาวชนคนเมตตา ร่วมด้วยช่วยกันไม่มีการทะเลาะวิวาท
การนำหลักธรรมเรื่องเมตตาธรรม กรุณาธรรม
การฝึกจิตใจเองของนักเรียนนักศึกษาให้
มีความฉลาดทางอารมณ์และเฉียบคมทางปัญญา

3. การใช้หลักธรรมในการอบรมบ่มเพาะ
มีหลายคนคิดว่า การอบรมจิตใจ เป็นเรื่องของพระสงฆ์
ความจริงแล้วไม่ใช่ เพราะครู อาจารย์นี้แหละเป็นผู้อยู่ใกล้ชิด
เด็กเยาวชนกว่า และควรร่วมมือกันระหว่างผู้ปกครอง
นักเรียน คอยสอดส่องพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของ
บุตรหลานตนเองหลักธรรมที่ควรปลูกฝัง เช่น เมตตาธรรม
กรุณาธรรม การรู้จักข่มใจตนเองให้มีความอึดความทน
ไม่ลุอำนาจโทสะ ไม่ผูกความอาฆาตพยาบาทต่อกันและกัน
ให้ความรัก ความเป็นพี่เป็นน้อง ความเป็นเพื่อนคอยช่วยเหลือ
กันในยามคับขันนอกจากนี้แล้ว ควรให้นักเรียน นักศึกษา
ได้วิเคราะห์ปัญหาตามหลักอริยสัจ 4 หรือความจริงอันประเสริฐ
โดยประยุกต์ให้เหมาะสมกับเด็กและเยาวชน เช่น การรับรู้ปัญหา
การวิเคราะห์สาเหตุแห่งปัญหาการหาทางแก้ปัญหาร่วมกัน
ถ้ามีกรณีเช่นนั้นเกิดขึ้น จะร่วมด้วยช่วยกันแก้ปัญหาอย่างไร
และร่วมกันกำหนดแนวทางการแก้ปัญหาอย่างถาวรต่อไป


4. ความเป็นแบบอย่างของครู อาจารย์
ครู อาจารย์ ต้องเป็นแบบอย่างที่ดี และยังไม่พอ
ต้องร่วมด้วยช่วยกันในการรับรู้ปัญหาและป้องกันปัญหา
การทะเลาะวิวาทของเด็กวัยรุ่น ห้ามปราม
ตัดคะแนนความประพฤติ ยกย่องเยาวชนคนเก่ง
มีเมตตาธรรม มีกรุณาธรรม
คนที่เฉียบคมทางอารมณ์ เฉียบคมทางปัญญา
ปลูกฝังความรู้คู่กับคุณธรรม
เสมอไม่ส่งเสริมคนเก่งเพียงอย่างเดียว

5. ความเสมอต้นเสมอปลายของการทำกิจกรรมพัฒนาจิตใจเด็กเยาวชน
ต้องมีการฝึกอบรม ปลูกฝังภัยอันตรายที่จะเกิดขึ้นเมื่อมีการทะเลาะวิวาทกัน
ไม่ว่าจะใช้กำลังกายหรือกำลังอาวุธก็ตาม จนทำให้เด็กเยาวชนเข้าใจอย่างถ่องแท้
และเกลียดในการก่อการทะเลาะวิวาท ใครทำถือว่าเป็นเรื่องเลวร้าย สังคม
เพื่อนด้วยกันประณาม


สรุป

การก่อการทะเลาะวิวาทของวัยรุ่น เกิดจากการทำ
ตามใจตนเองเมื่อมีอารมณ์โกรธ อารมณ์โทสะ
ไม่คิดห้ามใจตนเอง ทำตามอำนาจโทสะ ขาดสติ
สัมปชัญญะ ขาดการอดทนอดกลั้น ขาดเมตตาธรรม
กรุณาธรรม มีค่านิยมไม่ดี รักศักดิ์ศรีอย่างไร้เหตุผล
จำต้องปลูกฝังเยาชนให้มีความอึดความทนในด้าน
จิตใจ สร้างภูมิคุ้มกันด้านจิตใจ โดยใช้หลักธรรมเมตตาธรรม
กรุณาธรรม เบญจศีล เบญจธรรมการฝึกข่มใจตนเอง
ไม่ให้ลุอำนาจโทสะ ฝึกทำสมาธิ ฝึกจิตใจให้เข้มแข็ง
ทำจนเป็นนิสัย หรือวิถีชีวิตของเด็ก ซึ่งจุดหมายปลายทาง
เด็กเยาวชนจะได้วิถีชีวิตที่งดงาม และเข้าใจ
ตระหนักและรับรู้ในปัญหาที่จะเกิด และ
ไม่คิดอยากจะก่อการทะเลาะวิวาทกัน
อีกต่อไปนั้นเอง


-------------








หมายเลขบันทึก: 627754เขียนเมื่อ 21 เมษายน 2017 03:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 เมษายน 2017 03:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท