คัมภีร์พระไตรปิฎก


คัมภีร์พระไตรปิฎก

20 เมษายน 2560

ทุกศาสนาต้องมีคัมภีร์ ศาสนาพุทธก็เช่นกัน มีคัมภีร์ที่ศึกษาเช่นกัน เรียกว่า “พระไตรปิฎก” [1] ติปิฎกหรือเตปิฎกนั้น เป็นคัมภีร์หรือตำราทางพระพุทธศาสนาเช่นเดียวกับ “ไตรเวท” (Veda) เป็นคัมภีร์ของศาสนาพราหมณ์ ไบเบิ้ล (Bible) ของศาสนาคริสต์ อัล กุรอาน (Quran, Al- Quran, Koran in Thai) ของศาสนาอิสลาม

พระไตรปิฎกคืออะไร

พระไตรปิฎก (Tipitaka : Bali, Tripitaka : Sanskrit) แปลว่า ตะกร้า 3 ใบ เพราะเนื้อหาแบ่งเป็น 3 หมวดใหญ่ คือ คัมภีร์หรือตำราที่จารึกหลักธรรมคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงแสดงตลอด 45 พรรษา ซึ่งพระสาวกได้ศึกษาสืบทอดมาพระไตรปิฎกรวบรวมคำสอนของพระพุทธศาสนาไว้เป็นหมวดหมู่ ไม่ให้กระจัดกระจาย [2]

ในศาสนาพุทธยุคแรก แต่ละนิกายต่างมีคัมภีร์เป็นของตนเอง บางนิกายมี 5 ปิฎก บางนิกายมี 7 ปิฎก [3] แต่พระไตรปิฎกฉบับสมบูรณ์ที่ตกทอดมาจนถึงปัจจุบันมีเพียงพระไตรปิฎกภาษาบาลีของฝ่ายเถรวาท [4]

ในปัจจุบันคำว่าพระไตรปิฎก ใช้หมายถึงคัมภีร์ในศาสนาพุทธโดยรวม ซึ่งมีอยู่ทั้งสิ้น 3 สารบบ ได้แก่ [5] (1) พระไตรปิฎกภาษาบาลี ใช้ในนิกายเถรวาท (2) พระไตรปิฎกภาษาจีน ใช้ในนิกายมหายาน (3) พระไตรปิฎกภาษาทิเบต ใช้ในศาสนาพุทธแบบทิเบต

พระไตรปิฎกแบ่งออกเป็นอะไรบ้าง

ปิฎก 3 ดังนี้ (1) วินัยปิฎก ว่าด้วยวินัยสิกขาบทหรือศีลของภิกษุ ภิกษุณี (2) สุตตันตปิฎก ว่าด้วยพระธรรมเทศนาทั่ว ๆ ไป ว่าด้วยพระสูตรซึ่งเป็นพระธรรมเทศนาของพระโคตมพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวก ที่แสดงแกบุคคลต่างชั้นวรรณะและการศึกษา ต่างกรรมต่างวาระกัน มีทั้งที่เป็นร้อยแก้วและร้อยกรอง (3) อภิธัมมปิฎก ว่าด้วยธรรมะล้วน ๆ หรือธรรมะที่สำคัญ ว่าด้วยพระอภิธรรมหรือปรมัตถธรรม ซึ่งเป็นธรรมะขั้นสูง อธิบายด้วยหลักวิชาล้วน ๆ โดยไม่อ้างอิงเหตุการณ์และบุคคล คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าในยุคแรกเรียกว่าพระธรรมวินัย จนกระทั่งการสังคายนาครั้ง 3 จึงแยกเนื้อที่เกี่ยวกับปรมัตถธรรมออกมาเป็นอีกหมวดหนึ่งเรียกว่าพระอภิธรรมปิฎก

พระไตรปิฎกเป็นสิ่งที่จะสืบทอดพระพุทธศาสนาให้อยู่ยาวนานต่อ ๆ ไป ในอดีตมีวิธีการถ่ายทอดสืบต่อกันมาด้วยวิธีการท่องจำ จดจำแล้วถ่ายทอดต่อ ๆ กันมาปากต่อปากที่เรียกว่า “มุขปาฐะ” จนกระทั่งถึงสมัยที่มีการจดจารจารึกพระไตรปิฎกเป็นลายลักษณ์อักษร แล้วมีมาถึงปัจจุบัน ภาษาที่ใช้ในพระไตรปิฎก คือภาษาบาลี ในปัจจุบันแม้จะมีการแปลเป็นภาษาต่าง ๆ แต่ในการประกอบพิธีกรรมสำคัญ ๆ ก็ยังใช้ภาษาบาลีอยู่ พุทธศาสนิกชนจึงควรศึกษาเพื่อจะได้นำหลักธรรมที่ดีมาใช้ในการดำรงชีวิตให้เกิดความสุข ความเจริญทั้งตนเองและสังคม

คำสั่งสอนต่างๆ ที่ถือว่าเป็นพระพุทธวจนะนั้นเดิมเรียกว่า พระธรรมวินัย มีการรวบรวมให้เป็นระเบียบและหมวดหมู่ เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว เรียกว่า “สังคายนา”

การจัดทำสังคายนา

ได้จัดทำต่อเนื่องกันมาหลายครั้ง จนกระทั่งได้จารึกเป็นลายลักษณ์อักษรจึงเรียกว่า พระไตรปิฎก ซึ่งได้ริเริ่มจัดทำขึ้นเมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว 433 ปี โดยมีรายละเอียดดังนี้ [6]

การสังคายนาในอินเดีย มี 3 ครั้งดังนี้

ครั้งที่ 1 ผู้จัดทำ พระมหากัสปเป็นประธานและผู้สอบถาม พระอานนท์เป็นผู้ตอบข้อซักถามทางธรรม พระอุบาลีเป็นผู้ตอบข้อซักถามทางวินัย มีพระอรหันต์เข้าร่วมประชุม 500 รูป สาเหตุ มีพระภิกษุรูปหนึ่ง ชื่อ สุภัททะ เป็นภิกษุที่มีอายุมากแล้วได้กล่าววาจาดูหมิ่น พระธรรมวินัย ในเชิงว่าเมื่อไม่มีพระพุทธเจ้าแล้วก็ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า พระอานนท์เกรงว่าจะทำให้พระธรรมวินัยเสื่อมเสีย จึงให้มีการประชุมพระสงฆ์เพื่อทำการสังคายนา สถานที่ จัดทำที่ถ้ำสัตตบรรณ ซึ่งอยู่ข้างเขาเวภาระ ใกล้กรุงราชคฤห์เมืองหลวงของแคว้นมคธ ประเทศอินเดีย เรียกว่า ปฐมสังคายนา เป็นการทำสังคายนาครั้งแรกเมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานได้ 3 เดือน ใช้เวลาในการจัดทำ 7 เดือน ผู้อุปถัมภ์ พระเจ้าอชาตศัตรู

ครั้งที่ 2 ผู้จัดทำ พระยสะ กากัณฑาบุตร เป็นผู้ชักชวนโดยมีพระเรวตะเป็นผู้ถาม พระสัพพกามีเป็นผู้ตอบปัญหาทางวินัย มีพระสงฆ์ร่วมประชุม 700 รูป สาเหตุ มีพระภิกษุพวกวัชชีได้ปฏิบัติพระธรรมวินัยหย่อนยาน เช่น เก็บอาหารเอาไว้ในเขาสัตว์เพื่อเอาไว้ฉัน ฉันอาหารเกินเวลาเที่ยง มีการรับเงิน ทองได้ พระยสะ กากัณฑาบุตร ได้ชักชวน พระเถระต่าง ๆ ช่วยกันวินิจฉัยแก้ความผิดในครั้งนี้ สถานที่ กระทำที่ วาลิการาม แคว้นวัชชี ประเทศอินเดีย ได้จัดทำภายหลังที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว 100 ปี โดยกระทำอยู่ 8 เดือน จึงแล้วเสร็จ เรียกการสังคายนาครั้งนี้ว่า ทุติยสังคายนา ผู้อุปถัมภ์ คือ พระเจ้ากาฬาโศก

ครั้งที่ 3 ผู้จัดทำ พระโมคคัลลีบุตร ติสสเถระ เป็นหัวหน้า มีพระสงฆ์มาร่วมประชุม 1,000 รูป สาเหตุ มีพวกเดียรถีย์หรือนักบวชของศาสนาอื่นมาปลอมบวชเป็นจำนวนมาก แล้วแสดงลัทธิศาสนาและความเห็นของตนว่า เป็นพระพุทธศาสนาซึ่งอาจทำให้พุทธศาสนามัวหมองหรือเสื่อมได้ พระโมคคัลลีบุตร ติสสเถระ จึงให้มีการสังคายนาขึ้นเพื่อชำระสอบสวนกำจัดเดียรถีย์เหล่านั้น สถานที่ กระทำที่อโศกราม กรุงปาฏลีบุตร ประเทศอินเดีย ได้กระทำภายหลังที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว 234 ปี โดยใช้เวลากระทำ 9 เดือน ผู้อุปถัมภ์คือ พระเจ้าอโศกมหาราช

การสังคายนาในครั้งต่อมา ในประเทศอินเดีย แบ่งเป็นหลายฝ่ายต่างยอมรับและไม่ยอมรับกัน จนกระทั่งการเผยแผ่พระพุทธศาสนามาที่ประเทศลังกาซึ่งนับถือพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทเช่นเดียวกับไทย แล้วมีการจัดทำสังคายนาขึ้นดังนี้

การสังคายนาในลังกา มี 3 ครั้งดังนี้

ครั้งที่ 1 กระทำใน พ.ศ. 238 มีพระมหินทเถระเป็นประธานเพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนาในลังกาให้มั่นคงขึ้น โดยจัดทำที่ถูปาราม เมืองอนุราชปุระ

ครั้งที่ 2 กระทำเมื่อ พ.ศ. 433 ในสมัยของพระเจ้าวัฎฎคามณีอภัยโดยมีเหตุผลว่า การท่องจำพระพุทธวจนะต่อไปอาจมีข้อผิดพลาดได้ เพราะปัญหาในการท่องจำของกุลบุตรเสื่อมลง จึงได้ตกลงจารึกพระพุทธวจนะเป็นลายลักษณ์อักษรด้วยภาษาบาลี ลงใน ใบลาน โดยกระทำที่มลัยชนบท มีพระรักขิตมหาเถระเป็นประธาน

ครั้งที่ 3 กระทำใน พ.ศ. 2408 ที่รัตนปุระ มีพระหิกปทุเว สิริสุมังคละเป็นหัวหน้า ใช้เวลากระทำ 5 เดือน

การสังคายนาของไทยเกี่ยวกับพระไตรปิฎก3 แบ่งเป็น 4 สมัย ดังนี้

สมัยที่ 1 ชำระและจารลงในใบลาน กระทำที่เมืองเชียงใหม่ สมัยพระเจ้าติโลกราช ปี พ.ศ. 2020

สมัยที่ 2 ชำระและจารลงในใบลานกระทำที่กรุงเทพ ฯ สมัยพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 ปีพ.ศ. 2331

สมัยที่ 3 ชำระและพิมพ์เป็นเล่มกระทำที่กรุงเทพ ฯ สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พ.ศ. 2431 ถึง พ.ศ. 2436

สมัยที่ 4 ชำระและพิมพ์เป็นเล่ม กระทำที่กรุงเทพ ฯ สมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 พ.ศ. 2468 ถึง พ.ศ. 2473

พระไตรปิฎกมีอะไรบ้าง

พระไตรปิฎกมี 21,000 พระธรรมขันธ์ แบ่งออกเป็น 5 คัมภีร์ คือ (1) มหาวิภังค์ (2) ภิกขุณีวิภังค์ (3) มหาวรรค (4) จุลวรรค และ (5) ปริวาร โดยพระไตรปิฎกของไทยได้พิมพ์เป็น 8 เล่มหนังสือ [7]

พระมหาธีรวัส บำเพ็ญบุญบารมี [8] ผู้อำนวยการโครงการอนุรักษ์คัมภีร์ มหาบัณฑิตสาขาวิชาพุทธศาสน์ศึกษา มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ได้โครงการธรรมศึกษาวิจัย คัมภีร์พุทธศาสน์ (คัมภีร์พุทธเถรวาท) โดยศึกษาจากคัมภีร์พระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกาตลอดจนคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา (2550)

นักปราชญ์ทางศาสนาจึงได้จัดลำดับความสำคัญของคัมภีร์ตามมติของโบราณาจารย์เป็น 5 ชั้น คือ (1) คัมภีร์พระไตรปิฎกหมายถึงคัมภีร์ที่บันทึกพระพุทธพจน์ไว้ (2) คัมภีร์อรรถกถาหมายถึงคัมภีร์ที่อธิบายพระไตรปิฎก (3) คัมภีร์ฎีกา(มูลฎีกา)หมายถึงคัมภีร์ที่อธิบายอรรถกถา (4) คัมภีร์อนุฎีกาหมายถึงคัมภีร์ที่อธิบายมูลฎีกา,ฎีกา (5) คัมภีร์คันถันตระหมายถึงคัมภีร์ที่นอกจากพระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา อนุฎีกา

พุทธศานิกชนผู้ต้องการจะเข้าใจในคำสั่งสอนของพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริงตามพระพุทธประสงค์ สามารถศึกษาค้นคว้าได้จากคัมภีร์เหล่านี้ซึ่งรายชื่อของคัมภีร์เหล่านี้จะได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนในส่วนที่ว่าด้วยชื่อพระคัมภีร์

ประโยชน์คัมภีร์พุทธศาสน์

คัมภีร์ระดับต่าง ๆตามที่กล่าวมานั้นล้วนเอื้ออำนวยประโยชน์ 3 ประการ คือ (1) ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ (2) สัมปรายิกัตถประโยชน์ (3) ปรมัตถประโยชน์ ให้แก่ผู้ศึกษาและปฏิบัติตามได้ตามสมควรแก่กำลังของปัญญินทรีย์ ซึ่งสามารถเปรียบคัมภีร์เหล่านั้นกับบ้านเมืองได้ดังนี้

(1) คัมภีร์พระไตรปิฎกเปรียบเหมือนเมืองหลวงอันอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรณ์คือรัตนชาติ ตลอดจนอัญมณีต่าง ๆ อย่างมากมายซึ่งล้วนเป็นของสาธารณะ อันนรชนผู้มีความสามารถย่อมหยิบฉวยยึดครองเป็นสมบัติของตัวได้

(2) คัมภีร์อรรถกถาและคัมภีร์ฎีกาเปรียบเหมือนคู่มืออันล้ำค่าซึ่งเขียนบอกวิธีในการหยิบฉวยยึดครองเอารัตนชาติหรืออัญมณีที่ตนพึงพอใจได้

(3) คัมภีร์คันถันตระเปรียบเหมือนอัครสถานอันโอฬารงดงามอลังการด้วยเครื่องประดับอันวิจิตร เพียบพร้อมด้วยสัจจภาวะและมายาภาวะอันสามารถสนับสนุน อุปถัมภ์ ค้ำจุนส่งเสริมเพิ่มพูนสติปัญญาแก่ผู้พบเห็นที่มีวิจารณญาณ หรือบั่นทอนทำลายสติปัญญาของผู้พบเห็นที่ขลาดเขลา เบาปัญญา หลงงมงายประพฤติผิดพลาดซ้ำแล้วซ้ำอีกดังคนบอดเพราะโมหะ

ดังนั้นจึงเป็นอันกล่าวได้ว่า คัมภีร์ทางพระพุทธศาสนานี้ ไม่ว่าระดับใด ชั้นใด หรือเล่มใดล้วนอำนวยประโยชน์แก่นรชนผู้มีปัญญาทั้งนั้น

ชื่อคัมภีร์พุทธศาสน์

ท่านอาจารย์ผู้มีความรู้ความสามารถได้แต่งคัมภีร์ตั้งแต่ชั้นอรรถกถาลงมาเอาไว้มากมายยากที่จะรวบรวมไว้ได้ทั้งหมด แต่เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับท่านที่มีความสนใจจึงได้พยายามรวบรวมมาเสนอเป็นเพียงบางส่วน

คัมภีร์พระไตรปิฎกหมายถึงคัมภีร์ที่บันทึกพระพุทธพจน์ไว้ ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 คัมภีร์ คือ (1) พระวินัย (2) พระสูตร และ (3) พระอภิธรรม ดังนี้

(1) พระวินัยปิฎกมี 5 พระคัมภีร์แบ่งเป็น 8 เล่ม คือ

เล่มที่ ชื่อ เป็นพระไตรปิฎกเล่มที่

1 พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์(ภิกขุวิภังค์) ภาค 1

2 พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์(ภิกขุวิภังค์) ภาค 2

3 พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ 3

4 พระวินัยปิฎก มหาวรรค ภาค 1

5 พระวินัยปิฎก มหาวรรค ภาค 2

6 พระวินัยปิฎก จูฬวรรค ภาค 1

7 พระวินัยปิฎก จูฬวรรค ภาค 2

8 พระวินัยปิฎก ปริวาร 8

(2) พระสุตตันตปิฎกมี 5 นิกาย 37 พระคัมภีร์จัดเป็น 25 เล่ม คือ

(2.1) ทีฆนิกาย มี 3 พระคัมภีร์แบ่งเป็น 3 เล่มดังนี้

1 ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค

2 ทีฆนิกาย มหาวรรค

3 ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค

(2.2) มัชฌิมนิกาย มี 3 พระคัมภีร์แบ่งเป็น 3 เล่มดังนี้

4 มัชฌิมนิกาย มัชฌิมนิกายมูลปัณณาสก์

5 มัชฌิมนิกาย มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์

6 มัชฌิมนิกาย มัชฌิมนิกายอุปริปัณณาสก์

(2.3) สังยุตตนิกาย มี 5 พระคัมภีร์แบ่งเป็น 5 เล่มดังนี้

7 สังยุตตนิกาย สังยุตตนิกายสคาถวรรค

8 สังยุตตนิกาย สังยุตตนิกาย นิทานวรรค

9 สังยุตตนิกาย สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค

10 สังยุตตนิกาย สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค

11 สังยุตตนิกาย สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค

(2.4) อังคุตตรนิกาย มี 11 พระคัมภีร์ แบ่งเป็น 5 เล่มดังนี้

20 อังคุตตรนิกาย อังคุตตรนิกายเอกก-ทุก-ติกนิบาต

21 อังคุตตรนิกาย อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต

22 อังคุตตรนิกาย อังคุตตรนิกายปัญจก-ฉักกนิบาต

23 อังคุตตรนิกาย อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต

24 อังคุตตรนิกาย อังคุตตรนิกายทสก-เอกาทสกนิบาต

(3) พระอภิธรรมปิฎกมี 7 พระคัมภีร์แบ่งเป็น 12 เล่ม คือ

1 พระอภิธรรมปิฎก พระอภิธรรมปิฎกธัมมสังคณี

2 พระอภิธรรมปิฎก พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์

3 พระอภิธรรมปิฎก พระอภิธรรมปิฎกธาตุกถา-ปุคคลบัญญัติ

4 พระอภิธรรมปิฎก พระอภิธรรมปิฎก กถาวัตถุ

5 พระอภิธรรมปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ยมก ภาค1

6 พระอภิธรรมปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ยมก ภาค 2

7 พระอภิธรรมปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ปัฏฐาน ภาค 1

8 พระอภิธรรมปิฎก พระอภิธรรมปิฎกปัฏฐาน ภาค 2

9 พระอภิธรรมปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ปัฏฐาน ภาค 3

10 พระอภิธรรมปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ปัฏฐาน ภาค 4

11 พระอภิธรรมปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ปัฏฐาน ภาค 5

12 พระอภิธรรมปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ปัฏฐาน ภาค 6



[1]พระไตรปิฎก, จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, https://th.wikipedia.org/wiki/พระไตรปิฎก & พระไตรปิฎกฉบับประชาชน, http://www.larnbuddhism.com/tripitaka/abouttripitaka/mean.html & พระไตรปิฎก (คืออะไร หมายถึง ความหมาย), Sanook! พีเดีย, http://guru.sanook.com/4216/ & พระไตรปิฎกคืออะไร, บ้านธัมมะ, 22 ธันวาคม 2548, www.dhammahome.com/webboard/topic/605 & ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับพระไตรปิฎก, www.mcu.ac.th/mcutrai/menu2/menu2_2.htm

[2] วิธีศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎก, บทความพระไตรปิฎก, www.mcu.ac.th/mcutrai/menu2/Article/article_05.htm

[3]Journal of the Pali Text Society, volume XVI, page 114 อ้างใน พระไตรปิฎก, จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

[4]Harvey, Introduction to Buddhism, Cambridge University Press, 1990, page 3 อ้างใน พระไตรปิฎก, จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

[5]เสถียร โพธินันทะ, ประวัติพระไตรปิฎกฉบับจีนพากย์, มรดกธรรมของเสถียร โพธินันทะ, 2548, หน้า 82-3 อ้างใน พระไตรปิฎก, จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

[6] ความหมายของพระไตรปิฎก, Blog Eduzones, 7 เมษายน 2553, http://blog.eduzones.com/67416/ปรัชญา%20ศาสนา/ความหมายของพระไตรปิฎก

[7]3 หมวด-พระไตรปิฎก – สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ, 10 พฤษภาคม 2553, http://www1.onab.go.th/index.php?option=com_content&view=article&id=2791:3---&catid=96:2009-09-19-10-13-59&Itemid=326 & พระไตรปิฎกคืออะไร มีกี่หมวด อะไรบ้าง, เกร็ดความรู้.net, www.เกร็ดความรู้.net/พระไตรปิฎก/

[8] ธีรวัส บำเพ็ญบุญบารมี, คัมภีร์พุทธเถรวาท, โครงการอนุรักษ์คัมภีร์ มหาบัณฑิตสาขาวิชาพุทธศาสน์ศึกษา มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย, 17 ธันวาคม 2555, https://www.gotoknow.org/posts/512394

หมายเลขบันทึก: 627753เขียนเมื่อ 20 เมษายน 2017 23:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 กรกฎาคม 2017 08:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท