อ้ายเตย์ : ภาพเขียนสีสมัยอยุธยากับลายแทงขุมสมบัติ


ปริศนาลายแทง อ้ายเตย์ๆ เอาลูกใส่เปล เอาตีนคาใน น้ำมันสองขวด ค่อยนวดค่อยไป ผู้ใดคิดได้ อยู่ใต้อ้ายเตย์

หลังจากที่เราได้นำเสนอเรื่องภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่ถ้ำเขาขุนกระทิง  (เขานาพร้าว) จังหวัดชุมพรไปแล้วนะคะ  วันนี้เราจะพาเพื่อนๆ ไปดูภาพเขียนสีสมัยประวัติศาสตร์กันบ้าง เพื่อนๆ ที่เป็นคนชุมพรคงรู้จักภาพเขียนสีที่เรียกว่า  อ้ายเตย์  กันดีนะคะ  แต่สำหรับคนที่ไม่ใช่คนชุมพรอาจจะไม่ทราบ พวกเราชาวพิพิธภัณฑ์จะเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับอ้ายเตย์ให้เพื่อนๆ ฟังเองคะ  ขอบอกว่า เรื่องนี้มีลายแทงขุมสมบัติเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย  ชักน่าสนใจแล้วใช่ไหมคะ  มาติดตามกันเลยค่ะ

อ้ายเตย์ 

          อ้ายเตย์  คือ  ภาพเขียนสีพระพุทธไสยาสน์  ในถ้ำอ้ายเตย์  ที่แหล่งโบราณคดีถ้ำรับร่อ  ตำบลท่าข้าม อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร  ภาพเขียนสีนี้อยู่เหนือพื้นถ้ำประมาณ  40  เซนติเมตร  องค์พระยาว  4.80  เมตร  กว้าง  2  เมตร  การเขียนภาพพระพุทธรูปอยู่ในแนวตะวันตกเฉียงเหนือ - ตะวันออกเฉียงเหนือ  เขียนโดยใช้วิธีการตัดเส้นสีแดง ดำ  เป็นโครงร่าง รอบองค์พระลงสีเป็นส่วนๆ พระเศียรและพระเกศาลงสีดำ พระพักตร์และพระกรลงสีขาว พระวรกายครองผ้ากาสาวพัสตร์สีเหลืองส้ม พระพักตร์ค่อนข้างเหลี่ยม  พระอุษณีษะนูนสูงต่อด้วยเปลวรัศมีลงสีขาวตัดด้วยเส้นสีดำ  ไม่แสดงรายละเอียดพระเนตร  พระนาสิก  และพระโอษฐ์  ส่วนปลายพระบาทไม่ชัดเจน
          จากลักษณะที่กล่าวมาข้างต้น  อาจกล่าวได้ว่าภาพเขียนนี้น่าจะเป็นภาพที่ยังเขียนไม่เสร็จ  และจากเค้าโครงของภาพอาจสันนิษฐานได้ว่าน่าจะเป็นภาพที่เขียนขึ้นในสมัยอยุธยา  โดยอาจสืบทอดคติการสร้างภาพพระพุทธไสยาสน์ในถ้ำตามแบบวัฒนธรรมทวารวดี เช่น ถ้ำฝาโถ ถ้ำจาม  จังหวัดราชบุรี  แต่เปลี่ยนวิธีการจากการสลักภาพลงบนหินแล้วลงสีหรือประดับด้วยปูนปั้น เป็นการลงสีบนภาพอย่างเดียว

นิทานเกี่ยวกับภาพเขียนสีอ้ายเตย์
          มีนิทานพื้นบ้านเชื่อกันว่า  รอบๆ บริเวณเขารับร่อเป็นที่ตั้งของเมืองโบราณชื่อ  เมืองอุทุมพร  ซึ่งร่วมสมัยกับเมืองนครศรีธรรมราช ที่สร้างโดยพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช  เมื่องอุทุมพรได้รับพุทธศาสนาจากเมืองนครศรีธรรมราช โดยมีการสร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่เรียกว่า  พระหลักเมือง  หรือ พระปู่หลักเมือง  ประดิษฐานเป็นพระประธานอยู่กลางถ้ำพระบนเขารับร่อ  และมีเรื่องเล่ากันว่า  เมื่อเสร็จจากการสร้างพระพุทธรูปหลักเมืองแล้ว  มีทรัพย์สินเงินทองที่ประชาชนนำมาร่วมกันสร้างเหลืออีกมากจึงนำมาฝังไว้ในถ้ำอีกถ้ำหนึ่งที่อยู่ใกล้เคียงกัน (ถ้ำอ้ายเตย์ในปัจจุบัน) จากนั้นเขียนภาพพระพุทธรูปไสยาสน์ลงสีไว้ที่ผนังถ้ำ  ชาวบ้านเล่าต่อกันมาว่า  ภาพเขียนสีบนผนังถ้ำนี้สร้างไว้เพื่อเฝ้าสมบัติเรียกว่า  อ้ายเตย์  (แปลว่าพี่คนที่สาม) นอกจากนั้นยังมีนิทานชาวบ้านเป็นปริศนาลายแทงว่า อ้ายเตย์ๆ เอาลูกใส่เปล เอาตีนคาใน น้ำมันสองขวด ค่อยนวดค่อยไป  ผู้ใดคิดได้  อยู่ใต้อ้ายเตย์  และเคยมีผู้ที่เชื่อตามลายแทงมาขุดหาสมบัติภายในถ้ำ  แต่ถูกงูใหญ่ไล่กัดหรือได้ยินเสียงที่ไม่ทราบที่มาไล่ออกไปจากถ้ำ

แหล่งโบราณคดีถ้ำรับร่อ
       แหล่งโบราณคดีถ้ำรับร่อที่ปรากฏภาพเขียนสีอ้ายเตย์   ตั้งอยู่บนเขารับร่อ  ตำบลท่าข้าม อำเภอท่าแซะ  จังหวัดชุมพร  เขารับร่อเป็นภูเขาหินปูนวางตัวในแนวเกือบจะตามแกนทิศเหนือ - ใต้  ประกอบด้วยถ้ำที่มีหินงอกหินย้อยหลายถ้ำซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยา  มีความยาวประมาณ  2  กิโลเมตร  กว้างประมาณ  1.25  กิโลเมตร  ยอดสูงสุดอยู่ทางทิศใต้ของภูเขาในเขตวัดเทพเจริญ  หรือวัดถ้ำรับร่อ
          แหล่งโบราณคดีถ้ำรับร่อ  ประกอบด้วยถ้ำทั้งหมด  8  ถ้ำ มีถ้ำสำคัญ  3  ถ้ำ  คือ  ถ้ำไทร  ถ้ำพระ  และถ้ำอ้ายเตย์ โดยพบหลักฐานทางด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีส่วนใหญ่ที่ถ้ำพระและถำอ้ายเตย์  หลักฐานที่ได้มีการสำรวจพบ   เช่น  เครื่องมือหิน ประเภทขวานหินขัด  และเศษภาชนะดินเผาต่างๆ  จากหลักฐานเหล่านี้  อาจทำให้สันนิษฐานได้ว่า  แหล่งโบราณคดีถ้ำรับร่อ  มีมนุษย์เข้ามาอยู่อาศัยตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย  โดยมีอายุไม่ตำกว่า  2,000  ปี มาแล้ว

          กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเขารับร่อ (ถ้ำพระ  ถ้ำอ้ายเตย์  และถ้ำไทร) และโบราณวัตถุภายในถ้ำ  เป็นโบราณสถานของชาติ  ในราชกิจจานุเบกษา  เล่มที่  53  ตอนที่  34 เมื่อวันที่  27  กันยนยน  พ.ศ.2549 

เอกสารอ้างอิง

- ศิลปากร,กรม.พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ  ชุมพร.กรุงเทพฯ:บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนพับลิชชิ่ง  จำกัด. 2542.

- สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ  ที่  11  นครศรีธรรมราช. โบราณสถานจังหวัดชุมพร.เอกสารประกอบการอบรมทบทวนอาสาสมัครท้องถิ่นในการดูแลรักษาศิลปวัฒนธรรม (อส.มศ.) จังหวัดชุมพร  วันที่  4  สิงหาคม  2541  ณ  ห้องประชุมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ  ชุมพร

หมายเลขบันทึก: 6276เขียนเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2005 16:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 07:14 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

สมบัติของอ้ายเตย์ในความคิดของผมหน้าจะเป็นเมียของเค้านะ อ้ายเตย์ๆ เอาลูกใส่เปล(ก็ลงตัวอยู่แล้วครับคือลูกหลับ) เอาตีนคาใน(ตีนในที่นี้น่าจะเป็นขาที่3นะคืออวัยวะเพศ) น้ำมันสองขวด(ก็น้ำนม2เต้า) ค่อยนวดค่อยไป(ก็ลงตัวอีกครับค่อยนวดค่อยไป) ผู้ใดคิดได้ (ใครคิดได้)อยู่ใต้อ้ายเตย์(อ้ายเตย์แปลว่าพี่เตย์ อยู่ใต้พี่เตย์แสดงว่าพี่เตย์อยู่บน) ....ความคิดของผมคือเมียอ้ายเตย์น่าจะเป็นคนเขียนเพราะเรียกอ้ายเตย์ว่าพี่ แล้วใครคิดได้อยู่ใต้พี่เตย์ก็แสดงว่าคนคิดคือเมียเพราะฉนั้นสมบัติพี่เตย์น่าจะ เป็นเมียเค้านะในความคิดของผม ....(ผิดถูกขออภัยไว้ ณ.ที่นี้ด้วยนะครับไม่มีเจตนาจะสื่อไปทางลามกอนาจารอย่างใดครับ)

ค่อนข้างเห็นด้วยกับความคิดเห็นของท่านที่ ๑ เรื่องอ้ายเตย์ ผมเคยสงสัยเกี่ยวกับเรื่องนี้มานาน และได้ชมภาพอ้ายเตย์มาหลายครั้ง รวมทั้งเรื่องปริศนาลายแทงขุมทรัพย์นั้นด้วย แต่คิดอย่างไรก็คิดไม่ออก คือคิดยังไงก็เข้าไม่ถึงขุมทรัพย์ได้ เพราะข้อความนั้นลงตัวอยู่ที่เมียอ้ายเตย์ และพี่เตย์อยู่ข้างบน ส่วนเมียเค้าอยู่ข้างล่าง ไม่ใช่ว่าความคิดเห็นของท่านที่ ๑ สัปดล แต่คิดดูแล้วสมเหตุสมผลครับ

อ้ายเตย์ในที่นี้คือพระเตย์มีใบ้คับ

เมื่อมนต์ยังไม่คราย ฟ้ายังไม่เปิด ต้องเป็นญาติพี่น้อง เท่านั้น ที่จะเข้าไปเอาได้ ขอให้โชคดี

สมบัติอาจมีหรือไม่มีก็ได้ค่ะ บางทีเราอาจเดินเฉียดไปมาแต่มองไม่เห็นก็เป็นไปได้ เป็นของของเค้าไม่ใช่ของเรา แต่เชื่อว่าเมื่อถึงเวลาที่เกี่ยวกับการทะนุบำรุงพุทธศาสนาสืบต่อไปเราอาจพบสมบัติก็ได้ ความเห็นข้างต้น เห็นด้วยน่ะค่ะ แต่สมบัติล้ำค้าอาจของพ่อแม่อาจเป็นลูกที่อยู่ในเปลรึป่าว คิดเล่นๆน๊าาา


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท