ความพอเพียงของเรา ...ยังประโยชน์สุขแก่โลกได้อย่างไร


ความพอนั้นเป็นเรื่องของใจที่ไม่เกี่ยวกับฐานะภายนอก คนรวยที่ไม่รู้จักพอ ก็เป็นคนจนอยู่ตลอดเวลา คนจนที่รู้จักพอ ก็เป็นคนมั่งมีอยู่ตลอดเวลา (เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก)

พระวรธรรมคติ
เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

ความคิดอย่างหนึ่งที่ควรฝึกให้เกิดเป็นประจำ

คือ...ความคิดที่ว่า “พอ” คิดให้รู้จัก “พอ”

ผู้รู้จักพอจะเป็นผู้ที่มีความสบายใจ

ส่วนผู้ที่ไม่รู้จักพอ...จะเป็นผู้ร้อนเร่า

ความไม่รู้จักพอ มีอยู่ได้แม้ในผู้มั่งมีมหาศาล

และความรู้จักพอ ก็มีได้แม้ในผู้ยากจน

ทั้งนี้ก็เพราะ...ความพอเป็นเรื่องของใจ

คนรวยไม่รู้จักพอ...ก็เป็นคนจนอยู่ตลอดเวลา

คนจนรู้จักพอ...ก็เป็นคนมั่งมีอยู่ตลอดเวลา


ทศพนธ์ นรทัศน์

ประธานชมรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อความเท่าเทียมกัน (ICT for All Club)

facebook.com/ICTforAll.org

บทนำ

โลกของเรากำลังเผชิญวิกฤติการณ์ทางด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้เกิดความแปรปรวนของธรรมชาติอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นหนาวจัด ร้อนจัด แล้งจัด อุทกภัยที่รุนแรง ดังเช่นกรณีที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๙ หลายจังหวัดต้องเผชิญกับภัยหนาวอย่างที่ไม่เคยเจอมาก่อน ต่อมาในเดือนมีนาคม-พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ เราก็ต้องเผชิญกับภัยแล้งและความร้อนที่รุนแรงในระดับที่ทำให้คน และสัตว์ถึงกับต้องตายเพราะทนความร้อนดังกล่าวไม่ไหว

สิ่งต่างๆ เหล่านี้ เราคงไม่อาจปฏิเสธได้ว่าสาเหตุสำคัญส่วนใหญ่มาจากมนุษย์ที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี โดยใช้ทรัพยากรธรรมชาติมาเป็นปัจจัยการผลิตสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ แก่มนุษย์ แต่ในขณะเดียวกันผลจากการพัฒนาก็นำมาสู่การทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง เช่น ป่าไม้ถูกทำลาย อากาศเต็มไปด้วยมลพิษ การขยายตัวของเมืองเท่ากับการขยายตัวของป่าคอนกรีต ฯลฯ

ผู้เขียนได้นั่งทบทวนว่า ถ้ามนุษย์ใช้ชีวิตของตนอย่างพอเพียง ใช้ทรัพยากรอย่างประหยัด คุ้มค่ามากที่สุด แม้หลายอย่างจะดูว่าเป็นความลำบากของชีวิต แต่ท้ายที่สุดสิ่งเหล่านี้กับเป็นผลดีทั้งต่อตัวเราเองและต่อโลก ยกตัวอย่างเช่น เรายอมลำบากบ้างที่จะเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ แทนการมีรถเป็นของตนเอง เพื่อลดการปล่อยมลพิษสู่อากาศ การบริโภคอาหารให้พอดีไม่มีเหลือทิ้งเป็นขยะ การใช้น้ำ ใช้พลังงานอย่างรู้คุณค่า เป็นต้น

วิกฤติโลก ๙ อย่างที่ต้องแก้ไขในทันที[1]

  • โลกกำลังร้อนขึ้น ระดับคาร์บอนไดออกไซค์ในชั้นบรรยากาศได้เพิ่มขึ้นราว ๑๒๕ ส่วนในล้วนส่วน (ppm) นับตั้งแต่เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรม ถ้ามันเพิ่มอีก ๕๐ ppm เราจะเข้าสู่เส้นแดง ซึ่งความร้อนจะคุกคามสัตว์และพืช คาร์บอนไดออกไซค์ คือ ก๊าซเรือนกระจกที่กักความร้อนจากดวงอาทิตย์เอาไว้ ดังนั้น อุณหภูมิของชั้นบรรยากาศจึงเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อน
  • อากาศเป็นพิษกำลังฆ่าเรา คน ๗.๒ ล้านคนเสียชีวิตเนื่องจากอนุภาคในมลพิษทางอากาศในแต่ละปี อนุภาคเหล่านี้ยังส่งผลต่อภูมิอากาศด้วยระดับมลพิษที่สูงมากของเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ แปลว่า จะมีฝนในฤดูมรสุมลดลง
  • การเกษตรเป็นตัวสร้างมลพิษสาหร่ายพิษสีเขียวปี๋ และปลาที่ตายเป็นล้านๆตัว คือ ผลของการที่มีสารอาหารมากเกินไปในลำธารและมหาสมุทร ฟอสฟอรัสและไนโตรเจนจากการเกษตรนั้น เป็นผู้ร้ายตัวสำคัญ เราต้องหยุดการปล่อยสารเหล่านี้ลงแหล่งน้ำ เพื่อหลีกเลี่ยงหายนะ สารอาหารควรจะมีการนำกลับไปใช้ใหม่
  • พื้นที่ป่าลดลงต้นไม้สร้างออกซิเจนที่จำเป็นต่อการหายใจของสัตว์และมนุษย์ แต่ป่าดั้งเดิมของโลก เหลืออยู่เพียงร้อยละ ๖๒ ที่เหลือถูกโค่นเพื่อสร้างทุ่งและเมือง ถ้าเราสูญเสียป่ามากกว่านี้ อาจหมายถึงภาวะโลกร้อนที่ร้ายแรงขึ้น เพื่อรักษาสภาพแวดล้อมเอาไว้ จะต้องเพิ่มพื้นที่ขึ้นร้อยละ ๗๕ และต้องลดการทำเกษตรลง
  • ชั้นโอโซนบางลงชั้นโอโซนคืนกลับมาแล้ว และโลกก็ปลอดภัยอยู่ในแถบสีเขียวอีกครั้งหนึ่ง ขอบเขตในแถบสีเหลืองเกิดขึ้นเฉพาะแถบแอนตาร์กติกา เฉพาะในฤดูใบไม้ผลิ
  • มหาสมุทรเป็นกรดมากขึ้น ราวร้อยละ ๒๕ ของคาร์บอนไดออกไซค์ที่ปล่อยออกมาในชั้นบรรยากาศทั้งหมดถูกดูดซับโดยมหาสมุทร ทำให้มันเป็นกรด สัตว์จำพวกหอยและปะการังสร้างเปลือกไม่ได้ในน้ำที่เป็นกรด เพราะแคลเซียมไม่แขวนลอยอยู่ในน้ำ ทำให้มีอิออนของคาร์บอเนตน้อยลง ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นต่อการสร้างเปลือก เมื่อไม่มีเปลือก สิ่งมีชีวิตเหล่านี้ก็จะตาย ห่วงโซ่อาหารจึงถูกทำลาย
  • สัตว์สูญพันธุ์อย่างรวดเร็ว สัตว์และพืชสปีชีส์ต่างๆ กำลังสูญพันธุ์เร็วกว่าก่อนหน้าที่มนุษย์จะครองโลกถึง ๑,๐๐๐ เท่า ในเวลาแค่ ๙๐๐ ปี สิ่งมีชีวิตชั้นสูงจะหายไปหมด ถ้าไม่ลงมือทำอะไร หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดการสูญพันธุ์อย่างรวดเร็วก็คือ เราเปลี่ยนธรรมชาติให้เป็นเมืองและถนน สัตว์ถูกจำกัดพื้นที่ และไม่สามารถหาคู่ใหม่ๆ ได้
  • การขาดแคลนน้ำจืดเริ่มรุนแรงทุกปี ผู้คนในโลกบริโภคน้ำจืด ๒,๖๐๐,๐๐๐ พันล้านลิตร (๒,๖๐๐ ลูกบาศก์กิโลเมตร) เท่ากับน้ำทั้งหมดของทะเลสาบวิคตอเรียในแอฟริกา จนถึงขณะนี้ การบริโภคนี้ยังไม่วิกฤติสำหรับทั้งโลก แต่ในบางที่เริ่มเกิดความขาดแคลนน้ำอย่างรุนแรง เพราะประชากรโลกเพิ่มขึ้น ทะเลสาบและน้ำใต้ดินจึงเริ่มไม่เพียงพอ
  • พลาสติกและพืชจีเอ็มโอกำลังครอบครองโลกในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา เราได้คิดค้นสารใหม่ๆ ที่น่าทึ่งเป็นหมื่นแสนชนิด และปรับปรุงพันธุ์พืชและแบคทีเรียตามความต้องการของเรา บ่อยครั้งที่เราไม่รู้ถึงผลกระทบสิ่งแวดล้อม นักวิทยาศาสตร์บอกว่า เราอาจต้องเผชิญกับหายนะก็ได้ ถ้าสิ่งมีชีวิตเหล่านี้กลายพันธุ์ หรือถ้ามลพิษจากพลาสติกไม่หยุดลง

คนรู้จักพอ มีความสบายใจและไม่เกียจคร้าน

เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ได้ทรงพระนิพนธ์เกี่ยวกับ “คนรู้จักพอ มีความสบายใจและไม่เกียจคร้าน” (อ้างอิงจากหนังสือ “พอ หลักธรรมแห่งความพอเพียง”. ม.ป.ป. กรุงเทพฯ : ธรรมสภา, หน้า ๑๓๘-๑๓๙) ไว้ว่า “ความคิดอย่างหนึ่งที่สมควรฝึกให้เกิด เกิดเป็นประจำ คือ ความคิดว่าพอ คิดให้รู้จักพอ ผู้รู้จักพอจะเป็นผู้ที่มีความสบายใจ ส่วนผู้ไม่รู้จักพอจะเป็นผู้ร้อนเร่า แสวงหาไม่หยุดยั้ง ความไม่รู้จักพอมีอยู่ได้แม้ในผู้เป็นใหญ่เป็นโต มั่งมีมหาศาล และความรู้จักพอก็มีได้ แม้ในผู้ยากจนต่ำต้อย ทั้งนี้ก็เพราะความพอนั้นเป็นเรื่องของใจที่ไม่เกี่ยวกับฐานะภายนอก คนรวยที่ไม่รู้จักพอ ก็เป็นคนจนอยู่ตลอดเวลา คนจนที่รู้จักพอ ก็เป็นคนมั่งมีอยู่ตลอดเวลา

การที่ยกฐานะจากยากจนให้มั่งมีนั้น ทำได้ไม่ง่าย บางคนตลอดชาตินี้อาจจะทำไม่สำเร็จ แต่การยกระดับใจให้มั่งมีนั้น ทำได้ทุกคน...แม้มีความมุ่งมั่นจะทำจริง

คนรู้จักพอไม่ใช่คนเกียจคร้าน และคนเกียจคร้านก็ไม่ใช่คนรู้จักพอ ควรทำความเข้าใจในเรื่องนี้ให้ถูกต้อง แล้วอบรมตนเองให้ไม่เป็นคนเกียจคร้าน แต่ให้เป็นคนรู้จักพอ”

ทำไมเราต้องพอเพียง

วีรวัฒน์ กนกนุเคราะห์ (๒๕๕๕) ได้เขียนไว้ในหนังสือเรื่องลึกลับของวีรวัฒน์ กนกนุเคราะห์ ตอนมัชฌิมยาม (NAKED SCIENCE) หน้า ๒๕๕ ได้กล่าวไว้ว่า “...โลกปัจจุบันหมุนเร็วแค่ไหน?!! เพราะฉะนั้นอย่าโกง อย่าคอร์รัปชันให้มากนักเลย ตายไปก็ต้องไปเป็นเปรต อสุรกาย สัตว์นรก ไม่ได้ผุดไม่ได้เกิดอีกต่างหาก

เวลาในแต่ละวันมี ๒๔ ชม. หมุนไปเร็วมาก...

ถ้าคุณเป็นคนอายุยืน ๑๐๐ ปี คุณก็มีชีวิตบนโลกเส็งเคร็งใบนี้แค่ ๓๖,๕๐๐ วันเท่านั้น

ช่างสั้นนัก!?!

แล้วยังจะมีชีวิตอยู่เพื่อทำชั่ว กอบโกยเงินทองมากๆ อีกหรือ ตายไป ก็เอาไปไม่ได้

มีไว้พอดีๆ ดีกว่า...

อย่าสะสมให้ยากลำบาก...นักเลย

พยายามใช้ทรัพยากรของโลกให้น้อยที่สุด แต่เกิดประโยชน์คุ้มค่าสูงสุด นั่นก็เรียกว่า คุณเป็นคนดีคนหนึ่งของสังคมโลกได้แล้ว...”

ข้อคิดดีๆ จากฟอร์วาร์ดเมล/ไลน์

มีการส่งต่อเรื่องราว "Money is yours but resources belong to the society -- เงินทองเป็นของคุณก็จริง แต่ทรัพยากรนั้นเป็นสมบัติของสังคมส่วนรวม” ซึ่งแปลมาจากภาษาอังกฤษ แล้วแชร์กันเป็นอย่างมากทางอีเมล/ไลน์ ซึ่งแม้ไม่อาจยื่นยันได้ว่าเรื่องราวดังกล่าวเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง แต่ก็เป็นเรื่องราวที่สะกิดให้เราเข้าใจคำว่า “พอเพียง” ได้ดียิ่งขึ้น (ดูเพิ่มเติมที่ https://answers.yahoo.com/question/index?qid=20110510040124AAtncNf) เรื่องราวมีอยู่ว่า

เรื่องนี้เป็นประสบการณ์ของผู้ที่ไปดูงานที่เยอรมันท่านหนึ่ง และคิดว่าอยากจะแชร์ให้หลายๆท่านได้อ่านกันครับ....

เยอรมนี เป็นประเทศซึ่งพัฒนาอุตสาหกรรมไปไกลแล้ว ประเทศนี้เป็นผู้ผลิตสินค้าชั้นนำอย่างเช่น เบนซ์ บีเอ็มดับเบิลยู ซีเมนส์ เป็นต้น ปั๊มพ์ที่ใช้ในเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ผลิตขึ้นในเมืองเล็กๆ แห่งหนึ่งของประเทศนี้

ในประเทศซึ่งมีการพัฒนาไปไกลเช่นนี้ คนส่วนใหญ่คงคิดว่าประชาชนชาวเยอรมันคงใช้ชีวิตที่หรูหราฟุ่มเฟือย

อย่างน้อย นั่นเป็นความรู้สึกของผมก่อนเดินทางไปศึกษาดูงานที่นั่น

เมื่อผมเดินทางถึงฮัมบูร์ก เพื่อนร่วมชาติซึ่งทำงานอยู่ที่นั่นจัดให้มีการเลี้ยงต้อนรับผมที่ภัตตาคาร ขณะที่เราเดินเข้าไปในภัตตาคาร เราพบว่าโต๊ะจำนวนมากว่างอยู่ มีโต๊ะหนึ่งมีหนุ่มสาวคู่หนึ่งกำลังนั่งกินอาหารกันอยู่ บนโต๊ะของทั้งคู่ มีอาหารอยู่เพียงสองจาน และเบียร์อีกสองกระป๋อง

ผมคิดสงสัยอยู่ในใจว่า อาหารมื้อง่ายๆ อย่างนี้ จะทำให้เกิดบรรยากาศโรแมนติคขึ้นได้อย่างไร และสาวน้อยคนนี้จะเลิกคบกับไอ้หนุ่มขี้เหนียวคนนั้นหรือไม่

มีหญิงสูงอายุสองสามคนนั่งอยู่อีกโต๊ะหนึ่ง เมื่อคนเสิร์ฟนำอาหารมาบริการ เขาจะทำการแบ่งอาหารให้แก่ลูกค้าเหล่านั้น และทุกคนจะกินอาหารจนหมดสิ้น ไม่มีเศษเหลืออยู่บนจานให้เห็น พวกเราไม่ได้ให้ความสนใจกับผู้คนเหล่านั้นมากนัก เพราะเรากำลังนั่งรออาหารหลายจานที่ได้สั่งไปแล้วด้วยความหิวโหย

อาหารเสิร์ฟออกได้รวดเร็วดี คงเป็นเพราะภัตตาคารมีแขกน้อย เราใช้เวลาในการกินอาหารเย็นมื้อนั้นไม่นาน เพราะเรายังมีกิจกรรมอื่นรออยู่ ขณะที่เราลุกออกจากโต๊ะ ยังมีอาหารเหลือคาจานอยู่อีกราวหนึ่งในสาม

ขณะที่เดินออกจากภัตตาคาร เราได้ยินเสียงใครร้องทักให้หยุด

เราหันมอง เห็นเป็นหญิงสูงอายุกลุ่มนั้นกำลังพูดกับเจ้าของภัตตาคารด้วยภาษาเยอรมัน

เมื่อเขาเริ่มพูดกับเราเป็นภาษาอังกฤษ เราจึงเข้าใจที่เขาไม่พอใจการกินทิ้งกินขว้างของพวกเรา

เราออกอาการหงุดหงิดทันทีที่เขาเข้ามายุ่มย่ามเกินกว่าเหตุ

"พวกเราจ่ายค่าอาหารแล้ว ไม่ใช่กงการอะไรของพวกคุณสักหน่อย"

เพื่อนของเราคนหนึ่งชื่อ กุย (Gui) ตอกหน้าหญิงสูงอายุเหล่านั้น

หญิงเหล่านั้นโกรธกริ้วเป็นฟืนเป็นไฟขึ้นมาทันที หนึ่งในนั้นหยิบมือถือขึ้นมา ต่อสายถึงใครบางคน ไม่นานช้า ชายในชุดเครื่องแบบเจ้าหน้าที่องค์กรสวัสดิการสังคม (Social Security organization) ก็มาปรากฏกาย ภายหลังจากฟังความจนรู้เรื่องว่าอะไรขึ้น เขาก็สั่งปรับพวกเราเป็นเงิน 50 มาร์ค

พวกเราทุกคนต่างเงียบกริบ

เพื่อนซึ่งพักอยู่ในเมืองนี้หยิบเงิน 50 มาร์คส่งให้ไปพร้อมกล่าวขอโทษขอโพยซ้ำๆ

เจ้าหน้าที่ผู้นั้นกล่าวกับเรา ด้วยน้ำเสียงที่เข้มงวดว่า

"สั่งอาหารเท่าที่พวกคุณจะกินได้หมด เงินทองเป็นของคุณก็จริง แต่ทรัพยากรเป็นสมบัติส่วนรวม มีคนอีกจำนวนมากในโลกนี้ที่อดอยากหิวโหย พวกคุณไม่มีเหตุผล ที่จะใช้ทรัพยากรอย่างทิ้งๆ ขว้างๆ "

สีหน้าพวกเราเปลี่ยนเป็นสีแดง เราเห็นด้วยกับคำพูดของเขาหมดหัวใจ ทัศนคติของผู้คนในประเทศร่ำรวยแห่งนี้ทำเอาพวกเราอับอายขายขี้หน้า เราต้องทบทวนพิจารณาตัวเองกันจริงๆ จังๆ ในประเด็นนี้

พวกเรามาจากประเทศด้อยพัฒนาที่มีทรัพยากรไม่อุดมสมบูรณ์นัก แต่เพื่อปกปิดปมด้อยเหล่านี้ เราจึงสั่งอาหารมามากมาย และจงใจให้เหลือในยามจัดเลี้ยงผู้อื่น บทเรียนนี้สอนเราให้คิดอย่างจริงจังเพื่อที่จะปรับเปลี่ยนนิสัยไม่ดีเหล่านี้

เพื่อนผู้จ่ายค่าปรับถ่ายสำเนาใบเสร็จค่าปรับแล้วมอบให้พวกเราทุกคน พวกเราทุกคนรับเก็บไว้โดยดุษณี และนำแปะไว้ข้างฝา เพื่อเตือนใจตลอดไปว่า เราจะไม่ทำตัวเป็นคน "กินทิ้งกินขว้าง"อีกเด็ดขาด.... "Money is yours but resources belong to the society"

เงินทองเป็นของคุณก็จริง แต่ทรัพยากรนั้นเป็นสมบัติของสังคมส่วนรวม

ใช้ชีวิตอย่างพอเพียง...เพื่อช่วยรักษาโลกของเรา

เศรษฐกิจพอเพียงสำหรับบุคคลทั่วไป (หนังสือการประกวดผลงานตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ครั้งที่ ๒ ของสำนักงาน กปร., ๒๕๕๔, หน้า ๓๙-๔๐) ได้ระบุถึง การใช้หลักพึ่งตนเอง ๕ ประการ ไว้ดังนี้

  • ด้านจิตใจ ทำตนให้เป็นที่พึ่งของตนเอง มีจิตใจที่เข้มแข็ง มีจิตสำนึกที่ดี มีจิตใจเอื้ออาทร ประนีประนอม ซื่อสัตย์สุจริต เห็นประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง
  • ด้านสังคม ต้องช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เชื่อมโยงเป็นเครือข่ายชุมชนที่แข็งแรง
  • ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ใช้และจัดการอย่างฉลาดพร้อมทั้งการเพิ่มมูลค่า โดยยึดหลักการของความยั่งยืนและเกิดประโยชน์สูงสุด
  • ด้านเทคโนโลยี จากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง รวดเร็ว เทคโนโลยีที่เข้ามาใหม่มีทั้งดีและไม่ดี ต้องแยกแยะบนพื้นฐานของภูมิปัญญาชาวบ้าน เลือกใช้เฉพาะที่สอดคล้องกับความต้องการของสภาพแวดล้อม ภูมิประเทศ สังคมไทย และควรพัฒนาเทคโนโลยีจากภูมิปัญญาของเราเอง
  • ด้านเศรษฐกิจ แต่เดิมนักพัฒนามักมุ่งที่การเพิ่มรายได้ และไม่มีการมุ่งที่การลดรายจ่าย ในเวลาเช่นนี้ จะต้องปรับทิศทางใหม่ คือ จะต้องมุ่งลดรายจ่ายก่อนเป็นสำคัญ และยึดหลักพออยู่ พอกิน พอใช้ และสามารถอยู่ได้ด้วยตนเองในระดับเบื้องต้น ดังกระแสพระราชดำรัส ความว่า “...การที่ต้องการให้ทุกคนพยายามที่จะหาความรู้และสร้างตนเองให้มั่นคงนี้ เพื่อตนเอง เพื่อที่จะให้ตัวเองมีความเป็นอยู่ที่ก้าวหน้าที่มีความสุข พอมี พอกินเป็นขั้นหนึ่ง และขั้นต่อไปก็คือให้มีเกียรติว่ายืนได้ด้วยตนเอง...”

๘๐ วิธีหยุดโลกร้อน : ตัวอย่างความพอเพียงด้านสิ่งแวดล้อม

เว็บไซต์มูลนิธิสืบนาคะเสถียร (www.seub.or.th/index.php?option=com_content&view=
article&id=184:80-&catid=49:2009-11-03-07-41-25&Itemid=72) ได้เผยแพร่บทความ “๘๐ วิธีหยุดโลกร้อน” โดยระบุว่า รายงานฉบับล่าสุดของคณะกรรมการระหว่างประเทศว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ ไอพีซีซี (Intergovernment Panel on Climate Change : IPCC) ซึ่งเป็นรายงานที่รวบรวมงานวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ ๒,๕๐๐ คน จากกว่า ๓๐ ประเทศ และใช้เวลาในการวิจัยถึง ๖ ปี ระบุไว้ว่า มีความเป็นไปได้อย่างน้อยร้อยละ ๙๐ ที่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ และมนุษย์ถือได้ว่าเป็นตัวการสำคัญของปัญหาโลกร้อนในครั้งนี้

๘๐ วิธีหยุดโลกร้อนไม่ว่าใครก็สามารถช่วยลดความร้อนให้กับโลกได้ตั้ง ๘๐ ช่องทาง...

ประชาชนทั่วไป

๑. ลดการใช้พลังงานในบ้านด้วยการปิดทีวี คอมพิวเตอร์ เครื่องเสียง และเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ เมื่อไม่ได้ใช้งาน จะช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์ได้นับ ๑ พันปอนด์ต่อปี

๒. ลดการสูญเสียพลังงานในโหมดสแตนด์บาย เครื่องเสียงระบบไฮไฟ โทรทัศน์ เครื่องบันทึกวิดีโอ คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะและอุปกรณ์พ่วงต่างๆ ที่ติดมาด้วยการดึงปลั๊กออก หรือใช้ปลั๊กเสียบพ่วงที่ตัดไฟด้วยตัวเอง

๓. เปลี่ยนหลอดไฟ เป็นหลอดไฟประหยัดพลังงานแบบขดที่เรียกว่า Compact Fluorescent Lightbulb (CFL) เพราะจะกินไฟเพียง ๑ ใน ๔ ของหลอดไฟเดิม และมีอายุการใช้งานได้นานกว่าหลายปีมาก

๔. เปลี่ยนไปใช้ไฟแบบหลอด LED จะได้ไฟที่สว่างกว่าและประหยัดกว่าหลอดปกติ ๔๐% สามารถหาซื้อหลอดไฟ LED ที่ใช้สำหรับโคมไฟตั้งโต๊ะและตั้งพื้นได้ด้วย จะเหมาะกับการใช้งานที่ต้องการให้มีแสงสว่างส่องทาง เช่น ริมถนนหน้าบ้าน การเปลี่ยนหลอดไฟจากหลอดไส้จะช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์ได้ ๑๕๐ ปอนด์ต่อปี

๕.ช่วยกันออกความเห็นหรือรณรงค์ให้รัฐบาลพิจารณาข้อดีข้อเสียของการเรียกเก็บภาษีคาร์บอนกับภาคการผลิต ตามอัตราการใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากเชื้อเพลิงฟอสซิลรูปแบบต่างๆ หรือการใช้ก๊าซโซลีน เป็นรูปแบบการใช้ภาษีทางตรงที่เชื่อว่า หากโรงงานต้องจ่ายค่าภาษีแพงขึ้นก็จะลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในกระบวนการผลิตลง ซึ่งจะช่วยลดปริมาณการปล่อย CO2 ลงได้ประมาณ ๕%

๖. ขับรถยนต์ส่วนตัวให้น้อยลง ด้วยการปั่นจักรยาน ใช้รถโดยสารประจำทาง หรือใช้การเดินแทนเมื่อต้องไปทำกิจกรรมหรือธุระใกล้ๆ บ้าน เพราะการขับรถยนต์น้อยลง หมายถึงการใช้น้ำมันลดลง และลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ด้วย เพราะน้ำมันทุกๆ แกลลอนที่ประหยัดได้ จะลดคาร์บอนไดออกไซด์ได้ ๒๐ ปอนด์

๗. ไปร่วมกันประหยัดน้ำมันแบบ Car Pool นัดเพื่อนร่วมงานที่มีบ้านอาศัยใกล้ๆ นั่งรถยนต์ไปทำงานด้วยกัน ช่วยประหยัดน้ำมัน และยังเป็นการลดจำนวนรถติดบนถนน ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ทางอ้อมด้วย

๘. จัดเส้นทางรถรับส่งพนักงาน ถ้าในหน่วยงานมีพนักงานจำนวนมากอาศัยอยู่ในเส้นทางใกล้ๆ กัน ควรมีสวัสดิการจัดหารถรับส่งพนักงานตามเส้นทางสำคัญๆ เป็น Car Pool ระดับองค์กร

๙. เปิดหน้าต่างรับลมแทนเปิดเครื่องปรับอากาศ ลดการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากการใช้ไฟฟ้าเพื่อเปิดเครื่องปรับอากาศ

๑๐. มองหาผลิตภัณฑ์ที่มีสัญลักษณ์ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม เช่น ป้ายฉลากเขียว ประหยัดไฟเบอร์ ๕ มาตรฐานผลิตภัณฑ์คุณภาพสินค้าเกษตรอินทรีย์ เพราะการจะได้ใบรับรองนั้น จะต้องมีการประเมินสินค้าตั้งแต่เริ่มต้นหาวัตถุดิบ

๑๑. ไปตลาดสดแทนซูเปอร์มาร์เก็ตบ้าง ซื้อผัก ผลไม้ หมู ไก่ ปลา ในตลาดสดใกล้บ้าน แทนการช็อปปิ้งในซูเปอร์มาร์เก็ตบ้าง ที่อาหารสดทุกอย่างมีการหีบห่อด้วยพลาสติกและโฟม ทำให้เกิดขยะจำนวนมาก

๑๒. เลือกซื้อเลือกใช้ เมื่อต้องซื้อรถยนต์ใช้ในบ้าน หรือรถยนต์ประจำสำนักงานก็หันมาเลือกซื้อรถประหยัดพลังงาน รวมทั้งเลือกอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีฉลากประหยัดไฟ ทั้งในบ้านและอาคารสำนักงาน

๑๓. เลือกซื้อรถยนต์ที่มีขนาดตามความจำเป็น โดยพิจารณาจากขนาดครอบครัวและประโยชน์การใช้งาน รวมทั้งพิจารณารุ่นที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุด เพื่อเปรียบเทียบราคา

๑๔. ไม่จำเป็นก็ไม่ต้องเลือกรถโฟว์วีลขับเคลื่อนแบบ ๔ ล้อ เพราะกินน้ำมันมาก และตะแกรงขนสัมภาระบนหลังคารถก็ไม่ใช่สิ่งจำเป็น เพราะเป็นการเพิ่มน้ำหนักรถให้เปลืองน้ำมัน

๑๕. ขับรถอย่างมีประสิทธิภาพ ในระยะทางไกลการขับรถด้วยความเร็วไม่เกิน ๙๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง จะช่วยลดการใช้น้ำมันลงได้ ๒๐% หรือคิดเป็นปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่ลดได้ ๑ ตันต่อรถยนต์แต่ละคันที่ใช้งานราว ๓ หมื่นกิโลเมตรต่อปี

๑๖. ขับรถเที่ยวไปลดคาร์บอนไดออกไซด์ไปพร้อมกัน เพราะมีบริษัทเช่ารถใหญ่ๆ ๒-๓ รายมีรถรุ่นเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่ใช้เอทานอล หรือน้ำมันเชื้อเพลิงทางเลือกอื่นๆ ด้วย ลองสอบถามบริษัทรถเช่าเมื่อเดินทางไปถึง

๑๗. เลือกใช้บริการโรงแรมที่มีสัญลักษณ์สิ่งแวดล้อม เช่น มีมาตรการประหยัดน้ำ ประหยัดพลังงาน และมีระบบจัดการของเสีย มองหาป้ายสัญลักษณ์ เช่น โรงแรมใบไม้สีเขียว มาตรฐานผลิตภัณฑ์คุณภาพ

๑๘. เช็กลมยาง การขับรถที่ยางลมมีน้อยอาจทำให้เปลืองน้ำมันได้ถึง ๓% จากภาวะปกติ

๑๙. เปลี่ยนมาใช้พลังงานชีวภาพ เช่น ไบโอดีเซล เอทานอล ให้มากขึ้น

๒๐. โละทิ้งตู้เย็นรุ่นเก่า ตู้เย็นที่ผลิตเมื่อ ๑๐ กว่าปีที่แล้ว เพราะใช้ไฟฟ้ามากเป็น ๒ เท่าของตู้เย็นสมัยใหม่ที่มีคุณภาพสูง ซึ่งช่วยประหยัดค่าไฟลงได้มาก และลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ๑๐๐ กิโลกรัมต่อปี

๒๑. ยืดอายุตู้เย็นด้วยการใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพ ประหยัดพลังงานให้ตู้เย็นด้วยการใช้อย่างฉลาด ไม่นำอาหารร้อนเข้าตู้เย็น หลีกเลี่ยงการนำถุงพลาสติกใส่ของในตู้เย็น เพราะจะทำให้ตู้เย็นจ่ายความเย็นได้ไม่ทั่วถึงอาหาร ควรย้ายตู้เย็นออกจากห้องที่ใช้เครื่องปรับอากาศ ละลายน้ำแข็งที่เกาะในตู้เย็นเป็นประจำ เพราะตู้เย็นจะกินไฟมากขึ้นเมื่อมีน้ำแข็งเกาะ และทำความสะอาดตู้เย็นทุกสัปดาห์

๒๒. ริเริ่มใช้พลังงานทางเลือกในอาคารสำนักงาน เช่น ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เพื่อใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ในการผลิตกระแสไฟฟ้าเฉพาะจุด

๒๓. ใช้แสงแดดให้เป็นประโยชน์ ในการตากเสื้อผ้าที่ซักแล้วให้แห้ง ไม่ควรใช้เครื่องปั่นผ้าแห้งหากไม่จำเป็น เพื่อประหยัดการใช้ไฟฟ้า

๒๔. ใช้น้ำประปาอย่างประหยัด เพราะระบบการผลิตน้ำประปาของเทศบาลต่างๆ ต้องใช้พลังงานจำนวนมากในการทำให้น้ำสะอาด และดำเนินการจัดส่งไปยังอาคารบ้านเรือน

๒๕. ติดตั้งฝักบัวอาบน้ำที่ปรับความแรงน้ำต่ำๆ ได้ เพื่อจะได้เปลืองน้ำอุ่นน้อยๆ (เหมาะทั้งในบ้านและโรงแรม)

๒๖. ติดตั้งเครื่องตัดกระแสไฟฟ้าอัตโนมัติ ช่วยประหยัดพลังงานไฟฟ้าและลดปริมาณการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดขึ้นจากโรงผลิตกระแสไฟฟ้า

๒๗. สร้างนโยบาย 3Rs- Reduce, Reuse, Recycle ทั้งในบ้านและอาคารสำนักงาน เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ทรัพยากรอย่างเต็มที่ เป็นการลดพลังงานในการกำจัดขยะ ลดมลพิษและลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการกำจัด

๒๘. ป้องกันการปล่อยก๊าซมีเทนสู่บรรยากาศ ด้วยการแยกขยะอินทรีย์ เช่น เศษผัก เศษอาหาร ออกจากขยะอื่นๆ ที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้มาใช้ให้เกิดประโยชน์

๒๙. ทาหลังคาบ้านด้วยสีอ่อน เพื่อช่วยลดการดูดซับความร้อน

๓๐. นำแสงธรรมชาติมาใช้ในอาคารบ้านเรือน โดยใช้การออกแบบบ้าน และตำแหน่งของช่องแสงเป็นปัจจัย ซึ่งจะช่วยลดจำนวนหลอดไฟและพลังงานไฟฟ้าที่ต้องใช้

๓๑. ปลูกต้นไม้ในสวนหน้าบ้าน ต้นไม้ ๑ ต้น จะดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ ๑ ตัน ตลอดอายุของมัน

๓๒. ปลูกไผ่แทนรั้ว ต้นไผ่เติบโตเร็ว เป็นรั้วธรรมชาติที่สวยงาม และยังดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ดี

๓๓. ใช้ร่มเงาจากต้นไม้ช่วยลดความร้อนในตัวอาคารสำนักงานหรือบ้านพักอาศัย ทำให้สามารถลดความต้องการใช้เครื่องปรับอากาศ เป็นการลดการใช้ไฟฟ้า

๓๔. ไม่ใช้ปุ๋ยเคมีในสวนไม้ประดับที่บ้าน แต่ขอให้เลือกใช้ปุ๋ยหมักจากธรรมชาติแทน

๓๕. ลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติก เพราะถุงพลาสติกไม่สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ และการเผากำจัดในเตาเผาขยะอย่างถูกวิธีต้องใช้พลังงานจำนวนมาก ซึ่งทำให้มีก๊าซเรือนกระจกเพิ่มในบรรยากาศ

๓๖. เลือกซื้อสินค้าที่มีหีบห่อน้อยๆ หีบห่อหลายชั้นหมายถึงการเพิ่มขยะอีกหลายชิ้นที่จะต้องนำไปกำจัด เป็นการเพิ่มปริมาณก๊าซเรือนกระจกสู่บรรยากาศโดยไม่จำเป็น

๓๗. เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ซื้อเติมใหม่ได้ เพื่อเป็นการลดขยะจากหีบห่อของบรรจุภัณฑ์

๓๘. ใช้กระดาษทั้ง ๒ หน้า เพราะกระบวนการผลิตกระดาษแทบทุกขั้นตอนใช้พลังงานจากน้ำมันและไฟฟ้าจำนวนมาก

๓๙. เลือกใช้กระดาษรีไซเคิล กระดาษรีไซเคิลช่วยลดขั้นตอนหลายขั้นตอนในกระบวนการผลิตกระดาษ

๔๐. ตั้งเป้าลดการผลิตขยะของตัวเองให้ได้ ๑ ใน ๔ ส่วน หรือมากกว่า เพื่อช่วยประหยัดทรัพยากรและลดก๊าซเรือนกระจกได้อีกจำนวนมาก เมื่อลองคูณ ๓๖๕ วัน กับจำนวนปีที่เหลือก่อนเกษียณ

๔๑. สนับสนุนสินค้าและผลิตผลจากเกษตรกรในท้องถิ่นใกล้บ้าน ช่วยให้เกษตรกรในพื้นที่ไม่ต้องขนส่งผลิตผลให้พ่อค้าคนกลางนำไปขายในพื้นที่ไกลๆ

๔๒. บริโภคเนื้อวัวให้น้อยลง ทานผัก (ปลอดสารพิษ) ให้มากขึ้น ฟาร์มเลี้ยงวัว คือ แหล่งหลักในการปลดปล่อยก๊าซมีเทนสู่บรรยากาศ หันมารับประทานผักให้มากขึ้น ทานเนื้อวัวให้น้อยลง

๔๓. ทานสเต๊กและแฮมเบอร์เกอร์ในร้านใหญ่ๆ ให้น้อยลง เพราะอุตสาหกรรมเนื้อระดับนานาชาติ ผลิตก๊าซเรือนกระจกถึง ๑๘% สาเหตุหลักก็คือไนตรัสออกไซด์จากมูลวัวและมีเทน ซึ่งถูกปลดปล่อยออกมาจากลักษณะทางธรรมชาติของวัวที่ย่อยอาหารได้ช้า (มีกระเพาะอาหาร ๔ ตอน) มีเทนเป็นก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้เกิดปฏิกิริยาเรือนกระจกได้มากกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ถึง ๒๓ เท่า ในขณะที่ไนตรัสออกไซด์ก่อผลได้มากกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ ๒๙๖ เท่า

๔๔. ชักชวนคนอื่นๆ รอบข้างให้ช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อมและลดปัญหาภาวะโลกร้อน ให้ความรู้ความเข้าใจและชักชวนคนใกล้ตัว รวมทั้งเพื่อนบ้านรอบๆ ตัวคุณ เพื่อขยายเครือข่ายผู้ร่วมหยุดโลกร้อนให้กว้างขวางขึ้น

๔๕. ร่วมกิจกรรมรณรงค์สิ่งแวดล้อมในชุมชน แล้วลองเสนอกิจกรรมรณรงค์ให้ความรู้และกระตุ้นให้เกิดการร่วมมือ เพื่อลงมือทำกิจกรรมสิ่งแวดล้อมที่ต่อเนื่อง และส่งผลให้คนในชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

๔๖. เลือกโหวตแต่พรรคการเมืองที่มีนโยบายสิ่งแวดล้อมที่ชัดเจน จริงใจ และตั้งใจทำจริง เพราะนักการเมืองคือคนที่เราส่งไปเป็นตัวแทนทำหน้าที่ในสภาผู้แทนราษฎร โปรดใช้ประโยชน์จากพวกเขาตามสิทธิที่คุณมี ด้วยการเลือกนักการเมืองจากพรรคการเมืองที่มีนโยบายชัดเจนเรื่องสิ่งแวดล้อมและการลดปัญหาโลกร้อน

๔๗. ซื้อให้น้อยลง แบ่งปันให้มากขึ้น อยู่อย่างพอเพียง

เกษตรกร ชาวสวน ชาวไร่ ชาวนา ก็สามารถช่วยได้ด้วยการ

๔๘. ลดการเผาป่าหญ้า ไม้ริมทุ่ง และต้นไม้ชายป่า เพื่อกำจัดวัชพืชและเปิดพื้นที่ทำการเกษตร เพราะเป็นการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่บรรยากาศจำนวนมาก นอกจากนั้นการตัดและเผาทำลายป่ายังเป็นการทำลายแหล่งกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่สำคัญ

๔๙. ปลูกพืชผักให้หลากหลายและปลูกตามฤดูกาลในท้องถิ่น เป็นการลดการปลูกพืชผักนอกฤดูกาลที่ต้องใช้พลังงานเพื่อถนอมอาหาร และผ่านกระบวนการบรรจุเป็นอาหารกระป๋อง

๕๐. รวมกลุ่มสร้างตลาดผู้บริโภค-ผู้ผลิตโดยตรงในท้องถิ่น เพื่อลดกระบวนการขนส่งผ่านพ่อค้าคนกลาง ที่ต้องใช้พลังงานและน้ำมันในการคมนาคมขนส่งพืชผักผลไม้ไปยังตลาด

๕๑. ลดการใช้สารเคมีในการเกษตร นอกจากจะเป็นการลดปัญหาการปลดปล่อยไนตรัสออกไซด์สู่บรรยากาศโลกแล้ว ในระยะยาวยังเป็นการลดต้นทุนการผลิต และทำให้คุณภาพชีวิตของเกษตรกรดีขึ้น โปรดปรึกษาและเรียนรู้จากกลุ่มเกษตรกรทางเลือกที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในประเทศไทย

สถาปนิกและนักออกแบบ

๕๒. ออกแบบพิมพ์เขียวบ้านพักอาศัยที่สามารถช่วย “หยุดโลกร้อน” การลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก โดยคิดถึงการติดตั้งระบบการใช้พลังงานที่ง่าย ไม่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีสูงๆ แต่ใช้งานได้จริง ลองคิดถึงวิธีการที่คนรุ่นปู่ย่าใช้ในการสร้างบ้านสมัยก่อน ซึ่งมีการพึ่งพาทิศทางลม การดูทิศทางการขึ้น-ตกของดวงอาทิตย์ อาจช่วยลดค่าใช้จ่ายเรื่องพลังงานในบ้านได้ถึง ๔๐%

๕๓. ช่วยออกแบบสร้างบ้านหลังเล็ก บ้านหลังเล็กใช้พลังงานน้อยกว่าบ้านหลังใหญ่ และใช้วัสดุอุปกรณ์การก่อสร้างน้อยกว่า

สื่อมวลชน นักสื่อสารและโฆษณา

๕๔. ใช้ความเชี่ยวชาญในวิชาชีพเพื่อให้ความรู้ และสร้างความตระหนักกับสาธารณชนเกี่ยวกับปัญหาภาวะโลกร้อน และทำให้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นประเด็นของท้องถิ่น

๕๕. สร้างความสนใจกับสาธารณชน เพื่อทำให้ประเด็นโลกร้อนอยู่ในความสนใจของสาธารณชนอย่างต่อเนื่อง

๕๖. ช่วยกันเล่าความจริงเรื่องโลกร้อน โปรดช่วยกันสื่อสารให้ประชาชนและรัฐบาลเข้าใจสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้น

๕๗. เป็นผู้นำกระแสของสังคมเรื่องชีวิตที่พอเพียง ต้นตอหนึ่งของปัญหาโลกร้อนก็คือกระแสการบริโภคของผู้คน ทำให้เกิดการบริโภคทรัพยากรจำนวนมหาศาล ชีวิตที่ยึดหลักของความพอเพียง โดยมีฐานของความรู้และคุณธรรมตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จึงน่าจะเป็นหนทางป้องกันและลดปัญหาโลกร้อนที่สังคมโลกกำลังเผชิญหน้าอยู่

๕๘. ใช้ความคิดสร้างสรรค์เพื่อร่วมรับผิดชอบสังคม ออกแบบงานโฆษณาที่สอดแทรกประเด็นปัญหาของภาวะโลกร้อนอย่างมีรสนิยม เรื่องที่เป็นจริงและไม่โกหก

ครู อาจารย์

๕๙. สอนเด็กๆ ในขั้นเรียน เกี่ยวกับปัญหาโลกร้อน

๖๐. ใช้เทคนิคการเรียนรู้หลากหลายจากกิจกรรม ดีกว่าสอนโดยให้เด็กฟังครูพูดและท่องจำอย่างเดียว

นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ และวิศวกร

๖๑. ค้นคว้าวิจัยหาแนวทางและเทคโนโลยีใหม่ที่มีประสิทธิภาพในการลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

๖๒. ศึกษาและทำวิจัยในระดับพื้นที่ เพื่อให้มีข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับผลกระทบของภาวะโลกร้อนต่อพื้นที่เสี่ยงของประเทศไทย

๖๓. ประสานและทำงานร่วมกับนักสื่อสารและโฆษณา เพื่อแปลงข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ไปสู่การรับรู้และเข้าใจของประชาชนในสังคมวงกว้าง

นักธุรกิจ อุตสาหกรรมและบริการ

๖๔. นำก๊าซมีเทนจากกองขยะมาใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ ด้วยการลงทุนพัฒนาให้เป็นพลังงานทดแทนที่มีประสิทธิภาพ แต่มีต้นทุนต่ำ

๖๕. สนับสนุนนักวิจัยในองค์กร ค้นคว้าผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และมีประสิทธิภาพในการลดการใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล

๖๖. เป็นผู้นำของภาคธุรกิจอุตสาหกรรมที่ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม หากยังไม่มีใครเริ่มต้นโครงการที่ช่วยหยุดปัญหาโลกร้อนอย่างจริงจัง ก็จงเป็นผู้นำเสียเอง

๖๗. สร้างแบรนด์องค์กรที่เน้นการดูแลและใส่ใจโลก ไม่ใช่แค่การสร้างภาพลักษณ์ภายนอก แต่เป็นการสร้างความเชื่อมั่นเรื่องความรับผิดชอบที่มาจากภายในองค์กร

นักการเมือง ผู้ว่าราชการฯ และรัฐบาล

๖๘. วางแผนการจัดหาพลังงานในอนาคต รัฐจำเป็นต้องมีการวิเคราะห์ทางเลือกเพื่อมุ่งจัดการแก้ไขปัญหาพลังงานและสิ่งแวดล้อม ที่มองไปข้างหน้าอย่างน้อยที่สุด ๕๐ ปี

๖๙. สนับสนุนให้มีการพัฒนาการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ทั้งการสนับสนุนงบประมาณในการวิจัย และการพัฒนาระบบให้มีต้นทุนต่ำและคุ้มค่าในการใช้งาน

๗๐. สนับสนุนกลไกต่างๆ สำหรับพลังงานหมุนเวียน เพื่อสร้างแรงจูงใจในการปรับปรุงเทคโนโลยีและการลดต้นทุน

๗๑. สนับสนุนอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนของภาคเอกชน รัฐบาลควรหามาตรการที่ชัดเจนในการสนับสนุนอุตสาหกรรมหมุนเวียน ซึ่งเป็นพลังงานสะอาด เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม เพื่อให้สามารถแข่งขันกับอุตสาหกรรมพลังงานอื่นๆ ที่ใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ที่เป็นสาเหตุหลักของการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สู่บรรยากาศ

๗๒. มีนโยบายทางการเมืองที่ชัดเจนในการสนับสนุนการ “หยุดภาวะโลกร้อน” เสนอต่อประชาชน

๗๓. สนับสนุนโครงสร้างทางกายภาพ เมื่อประชาชนตระหนักและต้องการเข้ามามีส่วนร่วมในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เช่น จัดการให้มีโครงข่ายทางจักรยานที่ปลอดภัยให้กับประชาชนในเมืองสามารถขับขี่จักรยาน ลดการใช้รถยนต์

๗๔. ลดจำนวนรถยนต์ส่วนตัวบนถนนในกรุงเทพมหานครอย่างจริงจัง ด้วยการสนับสนุนระบบขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพ

๗๕. ส่งเสริมเครือข่ายการตลาดให้กับกลุ่มเกษตรกรทางเลือก เกษตรกรจำนวนมากเป็นตัวอย่างที่ดีของการลดปัญหาโลกร้อน ด้วยการลดและเลิกการใช้สารเคมีที่ทำให้เกิดการปลดปล่อยไนตรัสออกไซด์สู่บรรยากาศโลก ซึ่งการส่งเสริมการตลาดสีเขียวด้วยการสร้างเครือข่ายการตลาดที่กระจายศูนย์ไปสู่กลุ่มจังหวัดหรือภูมิภาค จะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากกระบวนการขนส่งผลผลิตไปยังตลาดไกลๆ อีกด้วย

๗๖. ริเริ่มอย่างกล้าหาญกับระบบพลังงานแบบกระจายศูนย์ เพื่อลงทุนกับทางเลือกและทางรอดในระยะยาว

๗๗. พิจารณาใช้กฎหมายการเก็บภาษีเป็นเครื่องมือในการควบคุมปริมาณก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะคาร์บอนไดออกไซด์ เช่น การเก็บภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) สำหรับภาคอุตสาหกรรม

๗๘. เปลี่ยนแปลงระบบการจัดเก็บภาษี นั่นคือการสร้างระบบการจัดเก็บภาษีที่สามารถสะท้อนให้เห็นต้นทุนทางอ้อมจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจตัวใดตัวหนึ่ง ซึ่งทำให้สังคมต้องแบกรับภาระนั้นอย่างชัดเจน เช่น ภาษีที่เรียกเก็บจากถ่านหิน ก็จะต้องรวมถึงต้นทุนในการดูแลรักษาสุขภาพที่จะต้องเพิ่มขึ้นจากปัญหามลพิษ และต้นทุนความเสียหายจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป

๗๙. ปฏิรูปภาษีสิ่งแวดล้อม เป็นก้าวต่อไปที่ท้าทายของนักการเมืองและรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอย่างใหญ่หลวงในการปรับเปลี่ยนและสร้างจิตสำนึกใหม่ให้สังคม การเพิ่มการจัดเก็บภาษีสำหรับกิจกรรมที่มีผลทำลายสภาพแวดล้อมให้สูงขึ้นเป็นการชดเชย เช่น กิจกรรมที่มีการปล่อยคาร์บอน ภาษีจากกองขยะ ไม่ใช่เรื่องเป็นไปไม่ได้ หลายประเทศโดยเฉพาะในยุโรปตะวันตกนำแนวคิดนี้ไปใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๓ ปัจจุบันนี้ประเทศใหญ่ๆ ในสหภาพยุโรปก็ร่วมดำเนินการด้วย และพบว่าการปรับเปลี่ยนระบบการจัดเก็บภาษีดังกล่าว ไม่มีผลต่อการปรับเปลี่ยนระดับการจัดเก็บภาษี หากแต่มีผลกับโครงสร้างของระบบภาษีเท่านั้น

๘๐. กำหนดทิศทางประเทศให้มุ่งสู่แนวทางของการดำเนินชีวิตอย่างพอเพียง ที่สามารถยืนหยัดอยู่รอดอย่างเข้มแข็งในสังคมโลก เริ่มต้นด้วยการใส่ประโยคที่ว่า ประเทศไทยจะต้องยึดหลักเศรษฐกิจตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นแกนหลักของการพัฒนาประเทศไว้ในรัฐธรรมนูญได้หรือไม่

บทส่งท้าย

ถึงเวลาแล้วที่เราทุกคนต้องหันมาใส่ใจโลกใบนี้ ด้วยการร่วมมือร่วมใจกันดูแลโลก ลดโลกร้อน ดังแนวทางที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ความพอเพียงสามารถเริ่มต้นได้ที่ตัวของเราเองก่อน เมื่อเราทำได้แล้วก็จะยังประโยชน์สุขให้กับโลกและเพื่อนมนุษย์ แม้จะไม่รู้สึกว่าสิ่งที่เราทำมันก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ต่อโลก แต่ก็เปรียบเสมือนกับว่า เราเป็นฟืนท่อนหนึ่งที่ถอนตัวเองออกมาจากกองฟืนที่กำลังเผาทำลายโลกนั้นเอง

สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับตัวเองอย่างแน่นอน หากเราปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตสู่ความพอเพียง ก็คือ ความสุขใจที่ได้ทำเพื่อโลก เพื่อเพื่อนมนุษย์ ได้ลดรายจ่ายในชีวิตประจำวัน มีสุขภาพพลานามัยที่ดีขึ้น ฯลฯ ...เริ่มที่ตัวเราเอง แล้วขยายผลสู่ครอบครัว ชุมชน สังคม ประเทศชาติ และระดับโลก ความสำเร็จก็จะบังเกิดขึ้นได้ในที่สุด

ดาวน์โหลดบทความฉบับเต็มคลิกที่นี่



[1] Niels Hansen & Anne Lykke เรียบเรียง โดย เป็นนิตย์. (พฤศจิกายน ๒๕๕๘) . “ปฐมพยาบาลโลก” ในนิตยสารไซแอนซ์ อิลลัสเตรเต็ด Science Illustrated, หน้า ๔๔-๕๕.

หมายเลขบันทึก: 627598เขียนเมื่อ 17 เมษายน 2017 00:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 เมษายน 2017 00:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท