คิดต่างเห็นต่าง เพื่อประโยชน์ร่วมกัน : กรณีผู้ที่ขอออกใบขับขี่ใหม่จะต้องเข้ารับการอบรมจากโรงเรียนสอนขับรถจำนวน 15 ชั่วโมง


คิดต่างเห็นต่าง เพื่อประโยชน์ร่วมกัน

กรณี ผู้ที่ขอออกใบขับขี่ใหม่จะต้องเข้ารับการอบรมจากโรงเรียนสอนขับรถจำนวน 15 ชั่วโมง

โดย นายฉัตรไชย ภู่อารีย์

นักวิชาการขนส่งอิสระ

ทันทีที่ข่าว กฎกระทรวงคมนาคมฉบับใหม่กำหนดให้ ผู้ที่ขอออกใบขับขี่ใหม่จะต้องเข้ารับการอบรมจากโรงเรียนสอนขับรถจำนวน 15 ชั่วโมง นี้ แพร่กระจายสู่สาธารณชน ก็มีเสียงคัดค้านและท้วงติงจากประชาชนเป็นจำนวนมาก เพราะนอกจากจะเป็นการเพิ่มเวลาในการอบรมแล้ว ยังจะต้องเสียค่าใช้จ่ายอีกประมาณ 6,000 บาท จนในที่สุดกระทรวงคมนาคมได้ออกมาชี้แจง ว่า กฎกระทรวงดังกล่าวยังไม่มีผลบังคับใช้ คาดว่าต้องใช้เวลามากกว่า 1 ปีจึงจะแล้วเสร็จ เพราะทางกรมการขนส่งทางบกยังต้องพิจารณารายละเอียดปลีกย่อย และเตรียมความพร้อม เช่น หลักเกณฑ์และกฎหมายทั้งของกรมการขนส่งทางบกและกฤษฎีกา การรับรองมาตรฐานโรงเรียนสอนขับรถ ระบบโครงสร้างพื้นฐานในโรงเรียนสอนขับรถ เช่น สนาม อาคาร ระบบตรวจสอบการเข้าเรียนโดยการถ่ายคลิปวีดีโอ ตรวจลายนิ้วมือ การเชื่อมโยงระบบระหว่างโรงเรียนสอนขับรถและกรมการขนส่งทางบก เป็นต้น ดังนั้น ในขณะนี้การขอใบขับรถยังคงเป็นไปตามเดิม ทั้งนี้ กฎกระทรวงดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของแผนความปลอดภัยของกระทรวงคมนาคม สาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุมาจาก 3 ประเด็นคือ

1 สภาพถนน ซึ่งกระทรวงคมนาคมมีแผนที่จะปรับปรุงถนนให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ มีการติดตั้งเครื่องหมายจราจร จุดบอดของถนน

2.ความพร้อมของรถยนต์ ซึ่งได้มอบหมายให้กรมการขนส่งทางบกไปตรวจความพร้อมและสภาพรถของรถสาธารณะในทุกเรื่อง แผนบำรุงรักษารถ

3.ผู้ขับขี่รถยนต์ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ ดังนั้นการพัฒนาคนให้มีคุณภาพทางกระทรวงคมนาคมจึงมอบหมายให้กรมการขนส่งทางบกไปหาแนวทางให้ความรู้และดูแล ซึ่งที่ผ่านมาได้เข้าไปให้ความรู้ในสถานศึกษา และการทบทวนกระบวนการออกใบอนุญาตขับรถเป็นกระบวนการหนึ่งที่พัฒนาคนให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ซึ่งการอบรม 15 ชั่วโมงแบ่งเป็นอบรมทฤษฎี 5 ชั่วโมง และปฏิบัติ 10 ชั่วโมง นั้นเป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยทางถนนตามปฏิญญามอสโกที่ทั่วโลกได้ใช้กัน

เหตุผล 3 ประการดังที่กล่าวมานี้ เป็นที่มาของการยกร่างกฎกระทรวงคมนาคม ซึ่งมีประเด็นที่ต้องหยิบยกขึ้นพิจารณาว่า แนวคิดกระบวนการออกใบอนุญาตขับรถยนต์ที่กรมการขนส่งทางบกดำเนินการอยู่ในขณะนี้ เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุทางถนน คนขับรถไม่มีวินัย ไม่มีจิตสำนึก จนเป็นสาเหตุที่ต้องออกกฎกระทรวง กำหนดให้ผู้ที่ขอออกใบขับขี่ใหม่จะต้องเข้ารับการอบรมจากโรงเรียนสอนขับรถ เป็นจำนวน 15 ชั่วโมง นั้นสอดคล้องกับข้อเท็จจริงหรือไม่อย่างไร

1. สภาพถนน

ปัญหาสภาพถนนมีหลายประเด็นที่กระทรวงคมนาคมจะต้องทบทวนการดำเนินงาน โดยสรุป ขอแยกเป็น 2 ประการ คือ ประการแรกการออกแบบและก่อสร้างถนน และประการที่สองป้ายบอกทางเครื่องหมายจราจรและไฟส่องสว่าง ดังนี้

1.1 การออกแบบและก่อสร้างถนน

สภาพความเป็นจริง ถนนหลายสายในเมืองไทยมีการออกแบบและก่อสร้างที่อาจถูกต้องตามหลักวิศวกรรม แต่ไม่ถูกต้องตามหลักความเป็นจริง ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นได้ เช่น จุดลงทางยกระดับศรีรัชเข้าสู่ถนนวงแหวนกาญนาภิเษก ปากทางเข้าซอยวัดศรีประวัติ ทางลงนี้จะอยู่ในตำแหน่งปากซอยเข้าวัดศรีประวัติพอดี ทำให้รถที่มาตามถนนกาญจนาภิเษกไม่สามารถเลี้ยวเข้าซอยวัดศรีประวัติได้เหมือนเดิม เพราะไปตัดกับรถที่ลงจากทางยกระดับพอดี ซึ่งเป็นความผิดพลาดอย่างร้ายแรงของการออกแบบ หรือ ถนนพุทธมณฑลสาย 1 จากแยกถนนบรมราชชนนีไปถนนเพชรเกษม ช่วงทางลงสะพานคลองบางน้อย ทางลงสะพานจะไม่เป็นทางลาดยาว แต่เป็นลักษณะหักมุม ทำให้รถที่วิ่งลงสะพาน แม้จะมาด้วยความเร็วไม่เกินที่กฎหมายกำหนด ก็ต้องหยุดรถอย่างกะทันหัน เพราะไม่เช่นนั้นรถจะกระแทกกับพื้นถนน อาจให้เกิดอุบัติเหตุได้

หรือกรณีของไหล่ทาง จะพบว่าถนนหลายสายมีไหล่ทางที่ไม่เท่ากัน และถนนอีกหลายสายโดยเฉพาะถนนที่ไปตามตำบลและหมู่บ้านต่าง ๆ จะไม่มีไหล่ทาง ถ้ามีก็มีความกว้างที่เล็กมาก มีหญ้าขึ้นปกคลุม ไม่สามารถใช้สัญจรได้ กรณีนี้ จะส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุกับเด็กนักเรียนที่ใช้จักรยานในการเดินทาง

1.2 ป้ายบอกทาง เครื่องหมายจราจรและไฟส่องสว่าง

จะพบว่า ถนนสายหลักทุกสาย จะมีป้ายบอกทางอยู่เหนือผิวทางที่สามารถมองเห็นได้ชัด แต่ตำแหน่งของป้ายเหล่านี้จะอยู่ก่อนถึงทางร่วมทางแยกเป็นระยะพอสมควร แต่ในบริเวณที่เป็นทางร่วมทางแยกจะไม่มีป้ายบอกทาง ในกรณีที่มีทางแยกมาก ๆ อาจทำให้ผู้ใช้ทางสับสน และเปลี่ยนช่องทางที่ทางแยกอย่างกะทันหันหรือหยุดรถที่ทางร่วมทางแยกนั้น ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้เกิดอุบัติเหตุได้ เช่น ถนนสายอยุธยา-ปทุมธานี ตรงจุดขึ้นสะพานต่างระดับเข้าสู่ถนนวงแหวนตกวันตกไปบางบัวทอง จะมีทางแยกให้ขึ้นสะพานต่างระดับ ทางแยกกลับรถ ทางแยกไปถนนวงแหวนตะวันตก ซึ่งจุดทางแยกทั้งสามแยกนี้อยู่ตรงจุดเดียวกัน ซึ่งหากมีป้ายบอกทางที่พื้นผิวทางเป็นระยะด้วย ก็จะทำให้ผู้ใช้ทางสามารถขับรถได้ถูกช่องทาง

กรณีถนนสายรอง จะพบว่า ถนนสายรองทุกสายที่อยู่ในแหล่งชุมชนและใกล้ทางแยก จะเต็มไปด้วยป้ายต่าง ๆ มากมาย ทั้งที่เกี่ยวกับถนนและไม่เกี่ยวกับถนน เช่น ป้ายบอกสถานที่ เป็นต้น ซึ่งตำแหน่งของการติดตั้งป้าย จะปิดบังกันไปมา ทำให้ผู้ใช้ทางไม่สามารถมองเห็นป้ายบอกทาง ป้ายเครื่องหมายจราจรหรือป้ายเตือนต่าง ๆ ได้อย่างชัดเจน ในกรณีเรื่องป้ายต่าง ๆ ที่ไม่เกี่ยวกับถนน กระทรวงคมนาคมควรจะต้องพิจารณาทบทวนการอนุญาตให้ติดตั้งรวมถึงตำแหน่งที่ให้ติดตั้งกับไม่ให้ติดตั้งให้ชัดเจน

ในส่วนของไฟส่องสว่าง จะพบว่า ในบริเวณที่เป็นจุดเสี่ยงของถนนหลาย ๆ สาย ไม่มีไฟส่องสว่าง โดยเฉพาะทางโค้งอันตราย ทางขึ้นเขาลงเขาสูงชั้น ควรจะได้มีไฟส่องสว่างเพื่อให้ผู้ใช้ทางสามารถมองเห็นสภาพถนนบริเวณนั้นได้อย่างครอบคลุม เพราะการมองเห็นในเวลากลางคืนที่ดีจะส่งผลต่อประสิทธิภาพของการตัดสินใจของผู้ขับรถ

ประเด็นปัญหาที่เกิดจากสภาพถนนดังที่กล่าวมา ผู้เขียนจึงมีความเห็นว่า สภาพถนนมิได้มีความสัมพันธ์โดยตรงหรือเป็นตัวการหลักที่ทำให้ผู้ขับรถต้องฝ่าฝืนต่อกฎหมายจราจร ปัญหาจากสภาพถนนจึงมิได้เป็นสาเหตุสำคัญที่จะต้องเปลี่ยนแปลงการอบรมและทดสอบเพื่อการขอรับใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ และมิได้มีความเกี่ยวเนื่องกับการอบรมและทดสอบเพื่อขอรับใบอนุญาตขับขี่รถยนต์แต่อย่างใด

2. ความพร้อมของรถยนต์

ความพร้อมของรถยนต์ในที่นี้ ผมขอให้ทัศนะว่าหมายถึง ขีดความสามารถหรือประสิทธิภาพของรถในการเดินทาง โดยปัญหาความพร้อมของรถยนต์ขอแยกเป็น 2 ประเภท ถือ ความพร้อมของรถยนต์ส่วนบุคคล(รถส่วนตัว) กับความพร้อมของรถโดยสารสาธารณะ ซึ่งการเตรียมความพร้อมของรถยนต์ทั้ง 2 ประเภท จะมีลักษณะและวิธีการที่แตกต่างกัน

2.1 ปัญหาความพร้อมของรถยนต์ส่วนบุคคลหรือรถส่วนตัว

รถยนต์ส่วนบุคคลหรือรถส่วนตัว จะมีการซ่อมบำรุงที่แตกต่างกับรถโดยสารสาธารณะ โดยรถยนต์ส่วนบุคคลส่วนใหญ่ จะซ่อมบำรุงโดยใช้อะไหล่ที่คุณภาพดี และรีบซ่อมทันทีเมื่อมีอาการผิดปกติ เพราะเป็นเรื่องของความปลอดภัยจากคุณสมบัติหรือประสิทธิภาพของรถในการเดินทาง เจ้าของรถจึงให้ความสำคัญแก่การซ่อมบำรุงรถ เราจึงพบว่า อุบัติเหตุที่เกิดจากความพร้อมของรถยนต์ส่วนบุคคลมีน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับรถโดยสารสาธารณะ

ในส่วนของการซ่อมบำรุง เจ้าของรถยนต์ส่วนบุคคลจะนำรถไปซ่อมยังอู่ที่ไว้วางใจและเชื่อใจกันเท่านั้น ดังจะเห็นได้ว่าในช่วงเทศกาลต่าง ๆ แม้กรมการขนส่งทางบกจะกำหนดโครงการตรวจรถก่อนใช้ โดยเชิญชวนให้เจ้าของรถยนต์ส่วนบุคคลนำรถไปตรวจเช็คสภาพรถฟรีไม่เสียค่าใช้จ่าย ที่สถานตรวจสภาพรถเอกชนหรือ ตรอ. แต่ในความเป็นจริง มีเจ้าของรถนำรถไปตรวจเช็คความพร้อมที่ ตรอ. น้อยมาก ในบางจังหวัดไม่มีเจ้าของรถนำรถของตนไปตรวจเช็คสภาพเลย เพราะเจ้าของรถยนต์ส่วนบุคคลไม่มีความมั่นใจในความสามารถของช่างเหล่านั้น

ปัญหาของรถยนต์ส่วนบุคคลส่วนใหญ่จึงมิได้เกิดจากการซ่อมบำรุงรักษารถ หากแต่มาจากขีดความสามารถหรือประสิทธิภาพของรถกับอายุการใช้งานของรถ เช่น การนำรถยนต์ส่วนบุคคลที่เป็นรถขนาดเล็กสำหรับใช้ในเมืองและถนนที่เป็นพื้นราบไปใช้ในทางคดเคี้ยวขึ้นเขาลงเขา ซึ่งจะทำให้อัตราเร่งรถขึ้นเขาลงเขาทำได้ช้ากว่าปกติสำหรับรถที่มีอัตราเร่งหรือแรงม้าสูงขึ้น เมื่อเป็นเช่นนี้ รถคันที่ตามหลังรถเล็กคันนั้นก็จะตามติดกันเป็นทางยาว และอาจส่งผลให้รถคันหลังเกิดอุบัติชนท้ายกันได้ ซึ่งสาเหตุของอุบัติมิได้มาจากรถเล็กคันนั้น หากแต่เป็นผลที่ต่อเนื่องมากจากคุณสมบัติหรือประสิทธิภาพในการใช้งานเฉพาะที่ของรถเล็กคันนั้น

ปัญหาของรถยนต์ส่วนบุคคลที่สำคัญอีกประการ คือ ไฟบอกสัญญานต่าง ๆ ของรถ เช่น ไฟส่องสว่างหน้ารถ ไฟหยุดรถ ไฟเลี้ยว เป็นต้น ที่มีการคัดแปลงเปลี่ยนหลอดไฟให้เป็นแบบอื่น มีความสว่างมากกว่าปกติมีสีที่แสบตาแก่รถสวนทางและรถที่อยู่ข้างหน้า ใช้หลอดไฟกะพริบ รวมถึงรถยนต์รุ่นใหม่ที่มีไฟหน้ารถติดในช่วงกลางวัน โดยใช้หลอดที่มีแสงขาวจ้าส่องตาผู้ขับรถคันหน้าและที่สวนทาง เช่นกัน ซึ่งในทัศนะของผู้เขียนเห็นว่า กรมการขนส่งทางบกไม่ควรอนุญาตให้ใช้ไฟแบบนี้ เพราะเมืองไทยไม่ได้มีหมอกทุกวันหรือเกิดขึ้นเป็นประจำเหมือนต่างประเทศ

ในด้านของอายุรถ แม้เมืองไทยจะเป็นประเทศที่มีอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์และส่งออกไปขายต่างประเทศ แต่ราคาของรถยนต์ต่าง ๆ ที่ผลิตในประเทศก็มีราคาจำหน่ายที่สูงมาก เพราะฐานภาษีสูง จึงทำให้เป็นอุปสรรคสำคัญในการกำหนดอายุใช้งานของรถยนต์ส่วนบุคคล ทำให้เรายังสามารถพบเห็นรถรุ่นเก่า ๆ ที่ประเทศอื่นๆ เขาปลอดระวางกันหมดแล้ว ยังมีวิ่งอยู่ในประเทศไทย

ประสิทธิภาพของรถยนต์เก่าจะมีความแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับรถยนต์ใหม่ โดยเฉพาะในด้านของอะไหล่ซ่อมบำรุงที่ไม่มีของแท้จำหน่าย ช่างที่รับซ่อมจะต้องใช้การดัดแปลงอะไหล่ของรถรุ่นอื่น ๆ หรือใช้ของเทียม ซึ่งประสิทธิภาพการใช้งานจะไม่ดีเหมือนกับของแท้ที่ผลิตจากโรงงานของผู้ผลิตรถยนต์โดยตรง ด้วยเหตุนี้ จึงพบรถยนต์เก่าจอดเสียกีดขวางทางเดินรถอยู่เป็นประจำ และส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุแก่รถอื่น ๆ

2.2 ปัญหาความพร้อมของรถโดยสารสาธารณะ

รถโดยสารสาธารณะ จะมีความเกี่ยวข้องกับบุคคล 2 ฝ่าย คือ ผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตประกอบการกับเจ้าของรถ โดยผู้ประกอบการมีสิทธิใช้รถคันนั้นทำการขนส่งผู้โดยสารในนามของผู้ประกอบการ ส่วนเจ้าของรถแม้จะเป็นเจ้าของผู้ถือกรรมสิทธิ์รถ แต่ก็เป็นการใช้รถขนส่งผู้โดยสารในนามของผู้ประกอบการมิใช่ในนามของตนเอง ทั้งนี้เพราะกฎหมายรถยนต์และกฎหมายการขนส่งทางบก กำหนดให้การใช้รถยนต์รับจ้างรับส่งผู้โดยสารด้วยรถสาธารณะทุกประเภทจะต้องมีผู้ประกอบการ หรือดำเนินการในนามของผู้ประกอบการ เพื่อให้ผู้ประกอบการทำหน้าที่และรับผิดชอบในการใช้รถขนส่งส่งผู้โดยสารตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด เพื่อให้เกิดประโยชน์โดยรวมต่อประชาชน เช่น รถแท็กซี่ ก็จะมีทั้งรถแท็กซี่เข้าร่วมกับสหกรณ์หรือเข้าร่วมบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนกับแท็กซี่ส่วนบุคคล ซึ่งสหกรณ์หรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนหรือบุคคล ก็จะต้องมีใบอนุญาตประกอบการรถแท็กซี่จากนายทะเบียน จึงจะจดทะเบียนรถเป็นรถยนต์แท็กซี่สาธารณะได้ หรือกรณีรถโดยสารประจำทาง ก็จะมีนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เป็นผู้ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบการ จึงจะมีสิทธิจดทะเบียนรถยนต์เป็นรถโดยสารประจำทางได้ ส่วนรถที่นำมาจดทะเบียนนั้นจะเป็นรถของผู้ประกอบการหรือรับรถของบุคคลอื่นมาเป็นรถร่วมก็ได้ เช่น รถร่วม ขสมก. รถร่วม บขส. เป็นต้น

ในสถานการณ์ปัจจุบันอาจกล่าวได้ว่า อุบัติจากรถโดยสารสาธารณะส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความไม่พร้อมของรถ เช่น หม้อลมเบรกไม่มีลม เบรกหมด ยางระเบิด เป็นต้น และอุบัติที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่มักสร้างความเสียหายให้แก่ชีวิตและทรัพย์สินของผู้โดยสารและผู้อื่นเป็นจำนวนมาก ปัญหาความไม่พร้อมดังกล่าวนี้ เกิดขึ้นจากการไม่ทำหน้าที่อย่างมีความรับผิดชอบของผู้ประกอบการและเจ้าของรถร่วมกัน เช่น ไม่มีแผนการตรวจซ่อมบำรุงรักษารถ ไม่มีแผนการเปลี่ยนรถใหม่แทนรถเก่าที่สภาพไม่เหมาะแก่การใช้งาน ไม่มีแผนควบคุมการใช้ความเร็วของผู้ขับรถทั้งที่กฎหมายกำหนดให้ต้องมีแผนนี้ เป็นต้น รวมถึง ปัญหาการเห็นแก่รายได้ของผู้ประกอบการและการซ่อมรถแบบขอไปทีของเจ้าของรถ ด้วย

ในด้านของกรมการขนส่งทางบก ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในการควบคุมและกำกับดูแลผู้ประกอบการรถโดยสารสาธารณะ ก็ทำหน้าที่อย่างไม่สมบูรณ์ใช้กฎหมายไม่ครบถ้วน แม้จะมีการลงโทษ แต่ก็เป็นการลงโทษเฉพาะผู้ขับรถ มิได้ลงโทษผู้ประกอบการและเจ้าของรถ จึงเป็นเหตุสำคัญให้ผู้ประกอบการไม่ทำหน้าที่ของตนเองในการเตรียมความพร้อมของรถ ซึ่งกรมการขนส่งทางบกจะต้องปรับเปลี่ยนการดำเนินงานแบบเชิงรุกให้มากขึ้น ออกไปตรวจสอบการจัดเดินรถของผู้ประกอบการโดยไม่มีการบอกกล่าว ต้องออกไปตั้งจุดตรวจตามถนนสายต่าง ๆ บังคับใช้กฎหมายให้ครบถ้วนและจริงจัง และในประการสำคัญ กรมการขนส่งทางบกจะต้องเปิดช่องทางร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับรถโดยสารสาธารณะโดยตรงที่มีประสิทธิภาพมากกว่า ศูนย์ 1584 โดยเฉพาะในส่วนกลางของกรมการขนส่งทางบก

ในด้านของการลงโทษ ลำพังการลงโทษด้วยการปรับและถอนรถคันที่เกิดเหตุออกจากประกอบการดังที่กรมการขนส่งดำเนินการอยู่ในขณะนี้ มิได้ทำให้ผู้ประกอบการเกิดความเกรงกลัวหรือกระตุ้นให้ผู้ประกอบการทำหน้าที่ของตนเองแต่อย่างใด เพราะใบอนุญาตประกอบการยังคงเป็นชื่อของผู้ประกอบการนั้นอยู่ ผู้ประกอบการสามารถนำรถมาบรรจุทดแทนได้ และยังคงมีรายได้จากการประกอบการอยู่ตามเดิม

โดยหลักการตามกฎหมายของการออกใบอนุญาตประกอบการ เป็นกรณีที่กรมการขนส่งทางบกคัดเลือกบุคคลที่มีคุณสมบัติครบถ้วนและมีความสามารถอย่างเพียงพอในการประกอบการขนส่ง หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า ผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตนั้น เป็นบุคคลที่กรมการขนส่งทางบกพิจารณาตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายแล้วเห็นว่า บุคคลนั้นเป็นผู้มีมีความสามารถและความเหมาะสมที่สุดในการเป็นผู้ประกอบการ ดังนั้น เมื่อเกิดเหตุเพราะความบกพร่องจากการกระทำหรือไม่กระทำของผู้ประกอบการนั้น กรมการขนส่งทางบกก็ไม่ควรปล่อยให้ผู้ประกอบการนั้นเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการอีกต่อไป กรมการขนส่งทางบกจึงควรเพิกถอนใบอนุญาตประกอบการที่ออกให้แก่บุคคลนั้นโดยทันที เพราะเหตุที่เกิดขึ้นทำให้ประชาชนต้องเสื่อมประโยชน์จากการใช้บริการ

ดังนั้น กรมการขนส่งทางบกจึงต้องปรับเปลี่ยนการบังคับใช้กฎหมายและการลงโทษ จากการลงโทษที่เล็กน้อยและไม่มีผลถึงการถือครองใบอนุญาตประกอบการ เป็น ลงโทษตามอัตราสูงสุดของกฎหมายและให้มีผลต่อการถือครองใบอนุญาตประกอบการด้วย

ปัญหาสำคัญอีกประการในด้านความพร้อมของรถโดยสารสาธารณะคือ เรื่อง การตรวจสภาพรถแม้ว่ากรมการขนส่งทางบกจะได้กำหนดให้มีการตรวจสภาพรถโดยสารสาธารณะปีละ 2 ครั้ง แต่ก็ยังพบเห็นความชำรุดบกพร่องของรถโดยสารสาธารณะให้เห็นกันอยู่เป็นประจำ ในด้านของวิธีการตรวจสภาพรถก็เป็นการตรวจสภาพรถเปล่าที่จอดอยู่กับที่ แม้จะใช้เครื่องมือในการทดสอบระบบหยุดรถ แต่ก็ไม่สามารถยืนยันพิสูจน์ได้ว่า หากรถคันนั้นมีน้ำหนักบรรทุกอยู่บนรถและวิ่งด้วยความเร็ว ระยะหยุดจะเป็นไปตามที่ตรวจวัดได้จากการตรวจสภาพ

ในด้านของความมั่นคงแข็งแรงของตัวรถ จะพบว่า รถโดยสารสาธารณะทั้งรถใหม่และรถเก่า มีสภาพไม่มั่นคงแข็งแรง อุปกรณ์ส่วนควบต่าง ๆ ชำรุด แต่ก็ยังคงวิ่งให้บริการอยู่ตามท้องถนน ซึ่งบ่งบอกว่า การตรวจสภาพรถของกรมการขนส่งทางบก เป็นกระบวนการของการทำงานตามหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด โดยไม่มีกระบวนการติดตามตรวจสอบหลังจากการตรวจสภาพรถผ่านไปแล้วแต่อย่างใด ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้รถไม่มีความพร้อมที่จะใช้เป็นรถโดยสารสาธารณะได้ ซึ่งกรมการขนส่งทางบกจะต้องเพิ่มกระบวนการติดตามและตรวจสอบสภาพของรถหลังจากการตรวจสภาพไปแล้วด้วย โดยต้องให้ผู้ประกอบการเข้ามาทำหน้าที่ของผู้ประกอบการและลงโทษโดยทันทีหากพบว่ามีการเพิกเฉยหรือฝ่าฝืน

ในการเตรียมความพร้อมของรถโดยสารสาธารณะ กรมการขนส่งทางบกใช้มาตรการตรวจสอบรถโดยสารสาธารณะ ณ สถานีขนส่งผู้โดยสารต่าง ๆ เพื่อให้รถมีความพร้อมบริการในช่วงเทศกาลต่าง ๆ แต่หน้าที่ในการตรวจรถเพื่อเตรียมความพร้อมของรถไม่ว่าจะเป็นในช่วงปกติหรือช่วงเทศกาล เป็นหน้าที่โดยตรงของผู้ประกอบการรถโดยสารสาธารณะที่มีกำหนดไว้ในกฎหมายการขนส่งทางบก แต่ที่ผ่านมากรมการขนส่งทางบกมิได้ใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในควบคุมและกำกับดูแลผู้ประกอบการให้ทำหน้าที่นี้ หากแต่กรมการขนส่งทางบกไปทำหน้าที่ผู้ประกอบการในการตรวจความพร้อมของรถเสียเอง ดังจะเห็นว่า การตรวจความพร้อมของรถที่สถานีขนส่งผู้โดยสาร จะมีเฉพาะเจ้าหน้าที่ของกรมการขนส่งทางบก ไม่มีผู้ประกอบการรถโดยสารสาธารณะไปร่วมทำการตรวจด้วยแต่อย่างใด ในกรณีนี้ หากกรมการขนส่งทางบกจะได้ดำเนินมาตรการตามกฎหมายอย่างจริงจังไม่ปล่อยปะละเลย ผู้ประกอบการก็จะทำหน้าที่ของตนเอง รถโดยสารสาธารณะก็จะมีความพร้อมต่อการให้บริการ อุบัติเหตุจากความบกพร่องของรถก็จะเกิดขึ้นน้อยลง ในทางที่ถูกต้องเหมาะสมกรมการขนส่งทางบกจะต้องไปตั้งจุดตรวจตามถนนและตรวจสอบรถระหว่างให้บริการ ซึ่งจะทำให้ได้ข้อมูลความชำรุดบกพร่องที่แท้จริง

หากนำจำนวนครั้งที่เกิดอุบัติเหตุอันเนื่องมาจากความไม่พร้อมของรถยนต์ส่วนบุคคลและรถโดยสารสาธารณะ มาเปรียบเทียบกับจำนวนรถยนต์ส่วนบุคคลและจำนวนรถโดยสารสาธารณะ คาดว่าจะมีจำนวนไม่มาก ซึ่งในปัจจุบันกรมการขนส่งทางบกยังมิได้มีการจัดทำข้อมูลสถิติทางด้านนี้แต่อย่างใด

ดังที่กล่าวมานี้ ผู้เขียนจึงมีความเห็นว่า ความพร้อมของรถยนต์ มิได้เป็นสาเหตุสำคัญที่มีเหตุผลเพียงพอที่กรมการขนส่งทางบกจะต้องเปลี่ยนแปลงการอบรมและทดสอบเพื่อการขอรับใบอนุญาตขับขี่รถยนต์แต่อย่างใด และมิได้มีความเกี่ยวเนื่องกับการอบรมและทดสอบเพื่อขอรับใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ด้วย

3.ผู้ขับขี่รถยนต์

ผู้ขับขี่รถยนต์เป็นสาเหตุหลักของการทำให้เกิดอุบัติเหตุทางถนน เพราะรถยนต์ทุกคันแม้ว่าจะมีสมรรถนะหรือใช้เทคโนโลยีดีเพียงใด รถคันนั้นก็ไม่สามารถวิ่งได้ด้วยตัวของมันเอง หากแต่วิ่งไปได้ด้วยการควบคุมของผู้ที่ทำหน้าที่เป็นผู้ขับรถ หากผู้ขับรถขับรถด้วยความประมาทก็จะทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่ายกว่าการขับรถด้วยความระมัดระวัง ผู้ขับรถจึงมีส่วนสำคัญที่สุดต่อการให้เกิดหรือไม่เกิดอุบัติเหตุทางถนน

ปัญหาจากผู้ขับขี่รถยนต์ ผู้เขียนขอจำแนกเป็น 3 ประเด็น กล่าวคือ

3.1 ปัญหาข้อมูลผู้กระทำผิดกฎหมายจราจรทางบก

จากข้อมูลการเกิดอุบัติเหตุทางถนน พบว่า มีผู้กระทำผิดส่วนหนึ่งเป็นผู้ที่ไม่มีใบอนุญาตขับรถยนต์ตามกฎหมาย แต่หากเปรียบเทียบจำนวนผู้กระทำผิดทั้งหมดโดยแยกเป็นประเภทมีใบอนุญาตขับรถกับไม่มีใบอนุญาตขับรถ เชื่อได้ว่า จำนวนผู้กระทำผิดกฎจราจรที่มีใบอนุญาตขับรถจะมีจำนวนมากกว่าผู้กระทำความผิดกฎจราจรที่ไม่มีใบอนุญาตขับรถ และในทุกวันนี้ก็ยังไม่มีหน่วยงานใดแยกประเภทของผู้ขับขี่รถยนต์ที่กระทำผิดดังที่กล่าวมานี้

ความผิดตามกฎหมายจราจรทางบกมีหลายประเภทความผิด ซึ่งความผิดที่มีผู้ขับขี่กระทำความผิดมากที่สุดโดยนับจากการสั่งปรับของเจ้าพนักงานในแต่ละปี ยังไม่มีหน่วยงานใดรวบรวมแยกเป็นประเภทความผิดเป็นรายปีไว้ ซึ่งข้อมูลนี้เป็นข้อมูลสำคัญที่สามารถนำไปใช้ในการวิเคราะห์ถึงวิธีการแก้ปัญหาเพื่อป้องกันมิให้ผู้ขับขี่รถยนต์กระทำผิดฝ่าฝืนกฎจราจรนั้น ๆ อีกต่อไป ลำพังการสันนิฐานว่าเกิดจากกรณีที่ผู้ขับขี่รถยนต์ ไม่มีวินัย ไม่มีจิตสำนึก นั้น เป็นเพียงการคาดการณ์ที่ไร้เหตุผลสนับสนุน

จากข้อมูลของ กลุ่มสถิติ กองแผนงาน กรมการขนส่งทางบก ทำให้ทราบว่า จำนวนผู้มีใบอนุญาตขับรถทุกชนิดทุกประเภททั้งประเทศ ณ วันที่ 31 มกราคม 2560 มีถึงจำนวน 31,146,896 ฉบับ ซึ่งยังไม่มีหน่วยงานใดทำข้อมูลให้เห็นว่า จำนวนผู้กระทำผิดโดยแยกตามข้อหาความผิดของแต่ละปี เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนของผู้มีใบอนุญาตขับรถยนต์ทั้งหมดแล้ว จะเป็นสัดส่วนหรือร้อยละเท่าไร ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญสำหรับการนำไปวางแผนป้องกันมิให้ผู้ขับขี่รถยนต์กระทำผิดฝ่าฝืนกฎจราจร

3.2 กระบวนการอบรมและทดสอบเพื่อขอรับใบอนุญาตขับรถยนต์

ตามกฎหมาย ผู้ที่มีสิทธิขับรถยนต์ได้ ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ชนิดใดก็ตาม ผู้นั้นจะต้องมีใบอนุญาตขับรถที่ตรงตามประเภทของรถยนต์นั้น จึงเป็นหน้าที่ของกรมการขนส่งทางบกในการกำหนดกระบวนการและวิธีการในการออกใบอนุญาตขับรถ เพื่อเป็นหลักฐานของทางราชการว่า ผู้ที่มีชื่อปรากฏตามใบอนุญาตขับรถนั้น เป็นผู้มีสิทธิขับรถยนต์ตามประเภทที่ระบุไว้ได้ตามกฎหมาย

เป้าหมายของการออกใบอนุญาตขับรถที่กรมการขนส่งทางบกดำเนินการอยู่ในขณะนี้ มีเป้าหมายเพื่อเป็นการให้สิทธิแก่บุคคลที่ได้รับอนุญาตภายในช่วงระยะเวลาที่กำหนด และหากผู้นั้นต้องการมีสิทธิเป็นผู้ขับรถยนต์ได้ต่อไปก็ต้องไปขอต่ออายุใบอนุญาตขับรถตามวิธีการที่กฎหมายกำหนด จะเห็นว่า กระบวนการออกใบอนุญาตขับรถหรือใบขับขี่ของไทย มี 2 ระยะ คือ

ระยะแรกการอบรมและทดสอบเพื่อขอรับใบอนุญาตขับรถครั้งแรก โดยจะมีการทดสอบคุณลักษณะของบุคคลก่อน เช่น การทดสอบตาบอดสี เป็นต้น เมื่อผ่านการทดสองคุณลักษณะของบุคคลแล้ว ก็จะเข้าสู่การอบรมและทดสอบข้อเขียนกับการขับรถ กรณีที่เป็นรถโดยสารสาธารณะจะมีการตรวจสอบประวัติอาชญากรจากกองทะเบียนประวัติอาชญากร สำนักงานตำรวจแห่งชาติด้วย และเมื่อผู้ขอรับใบอนุญาตผ่านการอบรมและทดสอบแล้วก็จะได้รับใบอนุญาตขับรถยนต์ โดยมีระยะเวลาตามที่กำหนดในใบอนุญาตขับรถนั้น

ระยะทางสองการต่ออายุใบอนุญาตขับรถ เมื่อใบอนุญาตฉบับแรกจะหมดอายุ ผู้ถือใบอนุญาตจะต้องไปขอต่ออายุใบอนุญาตขับรถยนต์ก่อนถึงกำหนดหมดอายุ เพื่อรับใบอนุญาตฉบับต่อไปและมีสิทธิขับรถยนต์ได้ตามช่วงเวลาที่กำหนด ซึ่งขั้นตอนการต่ออายุใบอนุญาตขับรถยนต์จะเหมือนกับขั้นตอนการขอรับใบอนุญาตขับรถยนต์ครั้งแรก ต่างกันตรงที่ไม่มีการทดสอบข้อเขียนและการสอบขับรถเท่านั้น

กระบวนการอบรมและทดสอบเพื่อขอรับใบอนุญาตขับรถครั้งแรกกับการต่ออายุใบอนุญาตขับรถยนต์ที่กรมการขนส่งทางบกดำเนินการอยู่นี้ เป็นการอบรมและทดสอบขั้นพื้นฐานที่ผู้ขับรถยนต์ทุกคนทุกชนิดประเภทของรถจะต้องรู้และมีความเข้าใจ ถือเป็นพื้นฐานของผู้ที่มีหน้าที่ในการขับรถยนต์จะต้องรู้เพื่อการปฏิบัติให้ถูกต้องในการขับรถและใช้ทางร่วมกันกับผู้อื่น การประเมินผลว่า กระบวนการอบรมและทดสอบเพื่อรับใบอนุญาตขับรถยนต์ที่กรมการขนส่งทางบกดำเนินการอยู่นี้มีประสิทธิภาพหรือไม่ สามารถส่งผลให้ผู้ขับรถปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมายหมายจราจรทางบกหรือมีการฝ่าฝืนหรือไม่ ก็โดยการวิเคราะห์จากข้อมูลที่กล่าวไว้ในข้อ 3.1

3.3 กระบวนการบังคับใช้กฎหมายจราจรทางบก

กฎหมายจราจรทางบก เป็นกฎหมายที่มีไว้สำหรับควบคุมความประพฤติของผู้ที่ทำหน้าที่ขับรถยนต์ เพื่อมิให้กระทำหรือฝ่าฝืนต่อข้อกำหนดของกฎหมาย โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยของประชาชนในการใช้ถนนร่วมกัน และเป็นหลักในการตัดสินข้อพิพาทที่เกิดขึ้นจากการใช้ถนนหรือทางสาธารณะ กฎหมายจราจรทางบกจึงเป็นกฎหมายที่มีไว้เพื่อประโยชน์โดยรวมของประชาชน

การบังคับใช้กฎหมายจราจร จึงมีใน 2 มิติ กล่าวคือ

ประการแรก มิติของการป้องกันและป้องปรามมิให้มีการกระทำผิดฝ่าฝืนต่อกฎหมาย เช่น ป้ายสัญญานจราจร ป้ายบังคับ ป้ายบอกทาง การใช้กล้องจับความเร็วของรถ ไฟสัญญานจราจร เป็นต้น โดยผู้ขับรถมีหน้าที่ตามกฎหมายจะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดต่าง ๆ ของกฎหมายจราจรทางบกอย่างเคร่งครัด เพราะการฝ่าฝืนหรือละเลยต่อการปฏิบัติตามกฎหมายจราจรนอกจากจะเป็นความผิดตามกฎหมายจราจรแล้ว ยังอาจเป็นสาเหตุให้เกิดอุบัติเหตุหรือความไม่ปลอดภัยแก่ชีวิตและทรัพย์สินของผู้ใช้ทางร่วมกันและผู้อื่นอีกด้วย

ประการที่สอง มิติของการลงโทษ การลงโทษเป็นเครื่องมือสำคัญของรัฐ ในการจัดระเบียบและควบคุมกรอบความประพฤติของบุคคลในสังคมเพื่อมิให้มีการฝ่าฝืน เพื่อให้สังคมโดยรวมอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข เพราะหากรัฐไม่มีกฎหมายที่มีสภาพบังคับในการลงโทษ บุคคลในสังคมก็จะทำอะไรตามความต้องการของตัวเอง ไม่สนใจต่อความต้องการของส่วนรวม และก็จะมีการฝ่าฝืนต่อกฎหมายซึ่งเป็นกฎเกณฑ์ทางสังคม สังคมก็จะมีเดือดร้อนและไม่มีความสุข เกิดความเสียหายแก่ประชาชนโดยรวม กฎหมายจราจรทางบกได้กำหนดการกระทำที่เป็นความผิดไว้หลายข้อหา ซึ่งผู้ที่ฝ่าฝืนกระทำผิดก็จะต้องถูกลงโทษตามเงื่อนไขที่กฎหมายจราจรทางบกกำหนด ซึ่งมีโทษปรับหรือจำคุก และทั้งจำทั้งปรับ รวมถึงการพักใช้ใบอนุญาตขับรถ

จะเห็นได้ว่า การบังคับใช้กฎหมาย ใน 2 มิติ ดังที่กล่าวมานี้ หากกรมการขนส่งทางบกและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ต่อเนื่อง ตรงไปตรงมา ลงโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้อย่างเคร่งครัดและในอัตราที่สูง ปัญหาผู้ขับรถฝ่าฝืนหรือละเลยต่อการปฏิบัติตามกฎหมายจราจรทางบกก็จะลดน้อยลง ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ขับรถขับรถอย่างมีวินัยและมีจิตสำนึกมากขึ้น เพราะผู้ขับรถจะมีความกลัวต่อการถูกลงโทษโดยเฉพาะในเรื่องของการถูกจำคุกและถูกถอนใบอนุญาตขับรถ

ในอดีตที่ผ่านมาจะพบว่า เมื่อใดที่ภาครัฐหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินนโยบายอย่างเข้มงวด การขับรถของผู้ขับรถก็จะถูกต้องมีระเบียบวินัยมากขึ้น เช่น นโยบาย 5 จริง (ยกจริง ล็อคจริง จับจริง ขังจริง สุภาพจริง) หรือนโยบาย 6 จอม (จอมล้ำ จอมปาด จอมขวาง จอมย้อน จอมปลอม และจอมแชท) หรือนโยบายโครงการจัดระเบียบจราจรที่ต้องการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ขับขี่ โดยการบันทึกการกระทำผิดกฎจราจรของผู้ขับขี่ ด้วยการตัดคะแนน หากทำความผิดในข้อหาเดียวกัน 2 ครั้งในกำหนด 1 ปี จะต้องเข้ารับการอบรมวินัยจราจรเป็นเวลา 3 ชั่วโมง ถ้าทำความผิดซ้ำในข้อหาเดียวกัน 2 ครั้งใน 1 ปี และมีคะแนนรวมเกิน 60 คะแนน จะต้องถูกพักใบขับขี่ไปพร้อมกับ เข้ารับการอบรมวินัยจราจร ก่อนที่จะไปสอบเพื่อรับใบขับขี่คืนหากไม่ผ่านก็จะต้องสอบใหม่ ซึ่งมาตรการต่าง ๆเหล่านี้เป็นเรื่องที่ดี เสริมสร้างวินัยของผู้ขับขี่รถยนต์ แต่พอเจ้าหน้าที่ไม่เข็มงวด ผู้ขับรถก็จะกลับมามีพฤติกรรมขับรถที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายจราจรทางบก เช่นเดิม

ตามที่กล่าวมานี้ กระบวนการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ตรวจการ จึงมีส่วนสัมพันธ์โดยตรงต่อกระทำผิดฝ่าฝืนต่อกฎหมายจราจรทางบกของผู้ขับขี่รถยนต์ ถ้าเจ้าหน้าที่เข้มงวด ผู้ขับรถก็จะกระทำผิดน้อยลง แต่ถ้าเจ้าหน้าที่ไม่เข้มงวด ผู้ขับรถก็จะกระทำผิดมากขึ้น

ดังที่กล่าวมาในข้อ 1. สภาพถนน ข้อ 2. ความพร้อมของรถยนต์ และข้อ 3. ผู้ขับขี่รถยนต์ จะพบว่า ผู้ขับขี่รถยนต์เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุทางถนนมากที่สุด

แต่ การที่ผู้ขับขี่รถยนต์กระทำผิดฝ่าฝืนต่อกฎหมายจราจรทางบก เป็นเพราะ มาตรการบังคับใช้กฎหมายจราจรทางบก หรือเป็นเพราะ กระบวนการออกใบอนุญาตขับรถ

ผู้เขียนมีความเห็นว่า สาเหตุที่ทำให้ผู้ขับรถฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ไม่มีวินัย ไม่มีจิตสำนึก ส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุนั้น เกิดขึ้นจากการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ทั้งหมด ที่หละหลวม ไม่จริงจัง และไม่ต่อเนื่อง ซึ่งหากการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ก็จะส่งผลให้ผู้ขับรถยนต์ไม่กล่ากระทำผิดที่เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายจราจรทางบก และอุบัติเหตุทางถนนก็จะเกิดขึ้นน้อยลง

และผู้เขียนมีความเห็นว่า กระบวนการออกใบอนุญาตขับรถยนต์ ไม่เกี่ยวข้องกับการเกิดอุบัติเหตุทางถนน แต่อย่างใด

สรุป กรมการขนส่งทางบกไม่ควรออกกฎกระทรวง กำหนดให้ ผู้ที่ขอออกใบขับขี่ใหม่จะต้องเข้ารับการอบรมจากโรงเรียนสอนขับรถจำนวน 15 ชั่วโมง

ขอเสนอแนะ

กรมการขนส่งทางบกกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ควรบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง และเก็บข้อมูลทางสถิติที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อนำมาวิเคราะห์เปรียบเทียบและใช้ในการวางแผนแก้ไขปัญหาต่อไป.

...............................................

หมายเลขบันทึก: 627367เขียนเมื่อ 10 เมษายน 2017 16:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 เมษายน 2017 16:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท