Children of Heaven: เด็กๆของพระเจ้าและรองเท้าที่หายไป


ผมได้ดูหนังเรื่องนี้นานมากประมาณก่อนสอบกลางภาคปี 59 คือประมาณเดือนตุลาคม แต่เผอิญว่าผมต้องทำงานอื่นๆโดยเฉพาะเรื่องการสอนก่อน ก็เลยไม่มีเวลารีวิว (review)

เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์จากประเทศอิหร่าน ซึ่งผลงานการกำกับของ Majid Majidi ที่เคยเข้าชิงรางวัลออสการ์ในสาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยมมาแล้ว หนังเข้าชิงในปี 1997 (พ.ศ. 2540) โครงเรื่องเป็นเรื่องความรักระหว่างพี่น้อง โดยที่อาลี (ที่มีนัยน์ตาแสนเศร้า) ทำรองเท้าของน้องสาวซาร่าหายไปในตอนที่เขานำรองเท้าไปซ่อม และไปวางอยู่ที่ร้านขายไปผัก จู่ๆก็มีชายเก็บขยะมาเอารองเท้านั้นไป อาลีกลับมาไม่เห็น เพียรพยายามหาเท่าไหร่ก็ไม่มีทางเจอ เขากลับบ้านไปด้วยความสิ้นหวัง ในเมื่อน้องสาวไม่มีรองเท้าใส่ไปเรียน อาลีตกลงกับน้องสาวว่า ให้เธอยืมรองเท้าผ้าใบคู่เก่าของเขาไปใส่ในตอนเช้า พอเลิกเรียนปุ๊บ ให้วิ่งมาเปลี่ยนรองเท้ากับเขาเพื่อไปเรียนในตอนบ่าย โดยห้ามให้พ่อรู้เป็นเด็ดขาด ครอบครัวของอาลีและซาร่าอยู่นอกเมือง พ่อทำอาชีพรับจ้าง ทำสวน ฉีดยา แม่ก็ท้องแก่แต่ก็ต้องทำงานอย่างหนัก ซาร่าก็ต้องช่วยเหลือแม่ แถมยังมีน้องสาวคนเล็กที่ยังเป็นเด็กทารกอยู่

อยู่มาวันหนึ่งทางโรงเรียนประกาศรับสมัครตัวแทนไปแข่งวิ่งมาราธอน ทีแรกอาลีบอกปฏิเสธไม่สนใจไปวิ่งแข่ง แต่เผอิญเขารู้มาว่าคนที่ได้ที่ 3 จะได้รับรางวัลเป็นรองเท้าผ้าใบคู่ใหม่ เขาได้ไปขอครูพละครั้งแรกครูพละไม่ยอม จนเห็นสายตาที่เศร้าของอาลีนั้นแหละจึงให้เขาได้ทดสอบ ในที่สุดได้รับคัดเลือกและได้เป็นตัวแทนโรงเรียน เขาวิ่งเพียงเพื่อหวังรางวัลที่ 3 นั่นก็คือ รองเท้าผ้าใบคู่ใหม่เอี่ยม ความพยายามเพื่อน้องสาวที่รักและทักษะการวิ่งที่เขาฝึกฝนอย่างไม่รู้ตัวในระหว่างการสลับเปลี่ยนรองเท้าทุกๆวัน ผลที่ได้เกิดคาดที่อาลีคิด เขาชนะแข่งวิ่งเป็นที่ 1 แน่นอน เขาผิดหวัง น้ำตานองหน้าด้วยความเสียใจ ทั้งๆที่ถือถ้วยรางวัลอยู่ในมือ เขาไม่ต้องการรางวัลที่ 1 ซึ่งคือ ชุดกีฬา การสรรเสริญจากผู้คนรอบข้าง ความต้องการอันแสนบริสุทธิ์จากใจของเด็กชายตัวเล็กๆก็เพียงรองเท้าคู่ใหม่คู่เดียวเท่านั้น

จากที่ผมชมหนัง ขอบอกเสียก่อนว่าแก่นเรื่องก็คือความรักระหว่างพี่น้อง อาลีมีความต้องการที่จะวิ่งเพื่อให้ได้ที่ 3 แต่อะไรจะเกิดขึ้นหากเด็กผู้หญิงคนหนึ่งที่ไม่มีรองเท้าต้องใช้รองเท้าผ้าใบเก่าๆสลับเปลี่ยนกับพี่ทุกวัน สถานการณ์ดำเนินจากเหตุการณ์กระทบที่เบาๆแล้วค่อยหนักหน่วง กล่าวคือ ในวันแรกที่ไปเรียน น้องสาวเกิดความไม่มั่นใจเวลาที่เห็นเพื่อนใส่รองเท้าสวยและใหม่กว่า ต่อมาในคาบวิชาพละ คุณครูก็ย้ำนักย้ำหนาว่า หากใส่รองเท้าหลวมแล้ว เวลากระโดดไกลก็จะหกล้มได้ง่ายๆแบบเพื่อนคนก่อนหน้านี้ วันต่อมาคราวที่น้องต้องทำข้อสอบ เธอกระวนกระวายรีบออกจากห้องสอบก่อนเพราะกลัวจะไปสลับรองเท้ากับพี่ไม่ทัน วันต่อมาอีกซาร่าได้เห็นรองเท้าสีชมพูที่เป็นของตน ถูกเพื่อนอีกคนสวมใส่อยู่ (เกิดจากการแลกเกลือกับของ)

ส่วนพี่เองก็ได้รับผลกระทบเองเช่นกัน อาลีมาสายสองครั้งจนครูใหญ่ตำหนิเขา แต่เขาเองก็ไม่ปริปากเรื่องรองเท้านั้นกับใคร เขายอมรับความผิดเองแต่โดยดี จนสุดท้าย น้องเผอิญทำรองเท้าตกท่อ รองเท้าเปียกและสกปรกมาก จนเธอบอกว่า "ไม่อยากใส่รองเท้าแบบนี้อีกแล้ว?

ลักษณะของการเน้นย้ำแบบนี้เกิดขึ้นในเรื่อง จึงช่วยให้คนดูเกิดการระลึกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไปแล้วและนำมาสู่อารมณ์ร่วมในตอนท้าย ในฉากสำคัญคือ "อาลีวิ่งเพื่อน้อง" ขณะที่เขาวิ่งไป ภาพของน้องสาวขณะวิ่งเปลี่ยนรองเท้าผุดขึ้นมาในหัวร่วมกับเสียงของน้องที่บ่นว่าเธอหมดความอดทนกับรองเท้าที่เก่าและขาด แบบนี้แล้ว นั่นทำให้เขาฮึดสู้ แม้จะถูกผลักล้มลง อาลีลุกขึ้น และวิ่งเข้าเส้นชัยเป็นคนแรก

ข้อขัดแย้งของเรื่องนอกจากจะเป็นเรื่องหากต้องการจะหารองเท้าคู่ใหม่ให้น้องสาวแล้ว ผมยังมองว่ายังมีอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งเปิดเผยให้เห็นตลอดทั้งเรื่อง นั่นคือ ความเหลื่อมล้ำระหว่างกรุงเตหะราน กับ นอกเมือง โดยที่ กรุงเตหะราน เป็นเมืองหลวงที่ศิวิไลซ์ ครบเครื่องด้วยสถาปัตยกรรมและการคมนาคมสุดไฮเทค ตอนที่อาลีตามพ่อไปหางานทำในกรุงเตหะราน ซึ่งพ่อก็จะทำสวน ฉีดยาฆ่าแมลง ระหว่างไปหางานบ้านที่อยู่แบบตัวใครตัวมัน โดยมีกำแพงสูงท่วมหัว (หากฟูโกต์มาเห็นต้องเรียกสิ่งเหล่านี้ว่าคุกแน่นอน) แสดงถึงการป้องกันอย่างแน่นหนาจากขโมย วิถีการดำรงอยู่ในเมืองแบบนี้ย่อมไม่ปลอดภัย แต่บ้านที่ยอมให้พ่อกับอาลีเข้าไปทำงาน ก็มีอยู่แค่ 2 คน นั่นคือปู่กับหลาน เพราะพ่อแม่ไปทำงาน เมื่อเห็นอาลีจึงไม่มีรอที่จะชวนอาลีเล่นด้วย ภาพของพ่ออาลี พรวนดิน ฉีดยาฆ่าแมลงอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ตัดสลับกับภาพเด็กชายผิวขาวลูกผู้ดีที่กำลังนั่งเก้าอี้แกว่งไกวอย่างสนุกกับอาลี แสดงให้เห็นความเหลื่อมล้ำในสภาพความเป็นมนุษย์ ช่างไม่ต่างกับสภาพสังคมไทยในปัจจุบันเลย ผมคิดว่าชาวบ้านก็ต้องการที่จะเกาะกระแสทุนนิยมนี้ให้ได้เหมือนกัน ดังจะเห็นได้จากเมื่อพ่อของอาลีได้เงินก้อนใหญ่จากการทำสวน เขาวางแผนการใช้เงินว่า จะไปซื้อโต๊ะเครื่องแป้ง ซื้อมอเตอร์ไซค์ หรือซื้อรองเท้าคู่ใหม่ให้น้องก็ได้ และหากหาเงินได้เช่นนี้จะกลับมาอีก

ในอีกด้านหนึ่งสภาพความเป็นอยู่ของคนในชนบทที่มีแต่ความใกล้ชิดกัน ทุกคนต่างช่วยเหลือกันในการทำงาน ถึงแม้จะไม่ค่อยมีเงิน เช่น พ่อแม่อาลีคุยกันเรื่องเพื่อนบ้านที่มีเมียไม่สบาย และแบ่งปันซุปที่ทำเองไปให้อีกบ้าน ส่วนเพื่อนบ้านก็ถามไถ่สารทุกข์สุกดิบและส่งเมล็ดลูกเกดมาเป็นสิ่งตอบแทน อีกฉากหนึ่งคือตอนที่น้องสาวทำรองเท้าตกท่อ ลุงใจดีคนหนึ่งรีบวิ่งออกมาช่วยเหลือด้วยความเต็มใจ

แม้ Children of Heaven เด็กๆของพระเจ้าและรองเท้าที่หายไป จะทิ้งท้ายแบบเป็นคำถามปลายเปิด สร้างอารมณ์หดหู่โดยไม่ขมวดอารมณ์ให้จบแบบจบแบบมีความสุข (happy ending) สรุปแล้วน้องสาวจะได้รองเท้าคู่ใหม่หรือไม่ ชีวิตของพวกเขาจะเป็นอย่างไรต่อไป รวมถึงฉากสุดท้ายที่เด็กชายถอดถุงเท้าแล้วเอาเท้าจุ่มลงในบ่อน้ำให้ปลาสีส้มตอดขา แต่ผมขอตีความว่า อาลีพักเหนื่อยเสียก่อน ค่อยรวบรวมเรี่ยวแรงไปสู้ในวันใหม่เถิดนะ






หมายเลขบันทึก: 627077เขียนเมื่อ 5 เมษายน 2017 19:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 เมษายน 2017 19:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ชอบใจเรื่องนี้

เข้าใจผูกเรื่อง

ขอบคุณอาจารย์ต้นมากๆครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท