ชีวิตที่พอเพียง : 163. หนังสือ "ชีวิตพอเพียง"


                                 

          หนังสือเล่มนี้ แจกในสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ๒๕๔๙ เรื่อง เศรษฐกิจพอเพียง สู่สังคมอยู่เย็นเป็นสุข    เป็นการรวบรวมเรื่องราว "นวัตกรรมการสร้างสุขภาพ" ที่ดำเนินชีวิตด้วยหลัก เศรษฐกิจพอเพียง

          เป็นหนังสือที่รวบรวมเรื่องราว ของ "ชีวิตพอเพียง" รูปแบบต่างๆ ถึง ๒๘ กรณี     มีทั้งที่เป็นองค์กรธุรกิจ   องค์กรพัฒนาเอกชน    สถาบันการศึกษา    ชุมชน    สถาบันศาสนา    และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

         ผมติดใจเรื่องห้องเรียนเรือนแพแก่งก้อ  ต. ก้อ  อ. ลี้  จ. ลำพูน    ที่ครูคิดใหม่ ทำใหม่     แทนที่จะรอให้เด็กนักเรียนเดินทางไปหาโรงเรียนเหมือนที่อื่น     ครูยอมรับว่าในกรณีของเด็กด้อยโอกาส ลูกชาวประมงเคลื่อนที่ เป็นไปไม่ได้ที่เด็กจะเดินทางไปโรงเรียน     จึงเปลี่ยนเป็นโรงเรียนเคลื่อนที่ไปหาเด็กนักเรียน     จากการเปลี่ยนความคิดเช่นนี้ จึงเกิดการเรียนรู้ใหม่ๆ ที่น่าชื่นชมมากมาย

         เศรษฐกิจพอเพียงของครูและนักเรียนโรงเรียนบ้านเปือย  ต. บ้านเปือย  อ. เชียงยืน  จ. อุบลราชธานี     นอกจากมีผลด้านความสุขจากชีวิตที่พอเพียงแล้ว    ยังส่งผลต่อการเรียนรู้ของเด็ก    เด็กเรียนดีกว่าโรงเรียนอื่นที่อยู่ใกล้เคียง ทั้งๆ ที่เด็กต้องทำงานแปลงเกษตรสำหรับเป็นอาหารกลางวัน

         หลายชุมชนใน จ. น่าน มีเรื่องราวของเศรษฐกิจพอเพียง     และการรวมตัวกันเรียนรู้ร่วมกันผ่านการปฏิบัติของชาวบ้าน     ซึ่งก็คือการทำ KM ระดับชุมชนนั่นเอง     ผมชื่นใจที่ภาคีของ สคส. ที่จังหวัดน่านมีทักษะในการใช้ KM เพื่อชีวิตที่พอเพียงเป็นอย่างดี

         ผมติดใจกลุ่มเลี้ยงโค-กระบือ  ต. ส้าน  อ. เวียงสา  จ. น่าน  ที่ตกลงกันให้เอาวัวควายมานอนรวมกันในแปลงนาของสมาชิกเพื่อเอาขี้เยี่ยววัวควายเป็นปุ๋ย     เจ้าของแปลงนาต้องจ่ายเงินให้เจ้าของวัวควายตัวละ ๒ บาทต่อคืน      ในที่ ๑ ไร่ ถ้าเอาวัวควาย ๗๐ ตัวมานอน    ใช้เวลา ๔ - ๕ คืน ก็เพียงพอ     เมื่อเอาน้ำจุลินทรีย์ราด จะได้ปุ๋ยอินทรีย์ ทำให้ดินดีมาก   ไม่ต้องใช้ปุ๋ยเคมีเลย แต่ต้นไม้งามกว่า และได้ผลผลิตมากกว่าในอดีต ที่ใช้ปุ๋ยเคมี     รวมทั้งระบบนิเวศน์ก็ฟื้นขึ้นมา     มีกบเขียดหอยปูปลากลับมาอีกด้วย               

         หนังสือเล่มนี้ สอนผมว่า     KM เป็นเครื่องมือสำคัญยิ่ง ต่อชีวิตพอเพียง      เพราะชีวิตพอเพียงนั้นต้องเป็นชีวิตที่เรียนรู้อย่างไม่หยุดยั้ง

วิจารณ์ พานิช
๓๑ ตค. ๔๙

หมายเลขบันทึก: 62647เขียนเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2006 09:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 14:06 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

หนังสือน่าสนใจมากค่ะ แต่ยังไม่มีโอกาสได้อ่านหนังสือเล่มนี้เลย ในฐานะเป็นคน(ต่างจังหวัด)ที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ อยากให้หน่วยงาน สื่อ และอื่นๆเสนอเรื่องความพอเพียงของคนเมืองให้มากขึ้นอีกหน่อย เพราะว่าภาพที่ออกมา มักเน้นย้ำชีวิตคนต่างจังหวัด (โดยเฉพาะเกษตรกร) เสียมาก

 โดยส่วนตัวแล้ว คิดว่าสิ่งแวดล้อมในต่างจังหวัด น่าจะโน้มนำให้คนหันกลับไปวิถีพอเพียงได้ไม่ยาก แต่คนในเมืองหลวง แม้ว่าจะทำได้ ก็ไม่ง่ายดายนัก

แล้วต้องขอบคุณจริงๆค่ะที่แนะนำหนังสือดีๆให้อ่านกัน

เรียนอาจารย์วิจารณ์

มาช้าดีกว่าไม่มาครับ ผมลูกศิษย์อาจารย์ครับ MSE รุ่น 6 ผมไปได้อ่านหนังสือเล่มนี้เมื่อต้นเดือนนี้เอง เนื่องจากไปนั่งรอเวลาในห้องคณบดี มน. (ห้อง อ.ศุภสิทธิ์) ระหว่างรออาจารย์พาไปเยี่ยมชมผู้เข้าอบรมการเขียนผลงานวิจัยที่ทรัพย์ไพรวัลย์

อ่านเรื่องห้องเรียนลอยแพแล้ว รู้สึกเหมือนอย่างอาจารย์เลยครับ พอ อ.ศุภสิทธิ์เดินมาเลยเอ่ยปากขอดื้อ ๆ อาจารย์ก็ให้ดื้อ ๆ ด้วย (ใจดีจัง)

ปกติทุกปีกลุ่มเพื่อน ๆ ผมจะไปแจกหนังสือ + ผ้าห่ม + อุปกรณ์การเรียน + ทุนการศึกษา ที่ รร.กันดาร ๆ หน่อย ทำมา10 ปีติดต่อกันแล้ว (เคยตั้งชื่อโครงการเล่น ๆ ว่า น้องได้ทุน พี่ได้เที่ยว) ผมกะว่าจะเอาไปเล่าให้เพื่อน ๆ ในก๊วนฟัง ว่าปีนี้ได้หมายตาโรงเรียนที่จะไปแจกอุปกรณ์การเรียนตอนปีใหม่แล้ว (ปกติกว่าจะหาโรงเรียนได้ยากมาก ต้องให้เพื่อน ๆ ช่วยกันหาข้อมูล และ survey กว่าจะได้เรื่องกลางธันวาทุกที) ถ้าประสานไปทางครูแล้วได้ไปจริง ๆ จะมา F/U ให้ฟังฮะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท