kajeab
นางสาว นางสาวเบญจวรรณ เจี๊ยบ สังข์ทอง

การจัดการความรู้ในองค์กร


การจัดการความรู้ในองค์กร
Best Practice

การจัดการความรู้ในองค์กรภายในประเทศ 
        มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์       

 คณะแพทยศาสตร์และโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ไว้ว่าได้มีการใช้การจัดการความรู้มานานแล้วแต่ทำกันเองแบบธรรมชาติ โดยคณะแพทยศาสตร์และโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ได้เริ่มพัฒนาการจัดการความรู้ให้เป็นระบบตั้งแต่ พ.ศ. 2545 - 2546 ซึ่งทางโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ได้รับรายงานป้อนกลับ (Thailand Quality Award -2003) จากสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ซึ่งได้กล่าวชมถึงจุดแข็งของการจัดการความรู้ไว้ว่า "โรงพยาบาลสงขลานครินทร์มีการจัดการด้านความรู้ขององค์กรโดยการสนับสนุนด้านการแสวงหาความรู้จากแหล่งต่างๆ มีการทบทวนความรู้มาบูรณาการ และประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับทรัพยากรและมีการถ่ายทอดแลกเปลี่ยนความรู้ (knowledge sharing) และแลกเปลี่ยนแนวทางวิธีการปฏิบัติงานที่ดี (best practice) นอกจากนี้โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ยังเป็นแหล่งศึกษาดูงานจากสถาบันภายนอกที่ได้รับการประเมินว่ามีความพร้อม และเต็มใจในการเปิดเผยแลกเปลี่ยนข้อมูลในการเข้าศึกษาดูงาน"

    •           อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการผู้ประเมินรางวัลคุณภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2546 ได้กล่าวถึงโอกาสในการปรับปรุงไว้ด้วยว่า "โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ไม่ได้แสดงให้เห็นถึงการจัดการอย่างเป็นระบบในการรวบรวมและถ่ายทอดความรู้ของบุคลากร ผู้ใช้บริการ ผู้ส่งมอบและผู้ร่วมให้บริการ ให้มาเป็นความรู้ขององค์กร" ซึ่งเรื่องนี้คณะกรรมการพัฒนาและบริหารความรู้ของคณะแพทยศาสตร์จะได้ร่วมกันวางแผนที่ยุทธศาสตร์ (strategy map) เพื่อดำเนินการปรับปรุงและพัฒนาการจัดการความรู้ของคณะแพทยศาสตร์และโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ให้เป็นระบบต่อไป

  Best Practice เป็นเครื่องมือของ KM Tool ตัวหนึ่ง ซึ่งศาสตราจารย์นายแพทย์วิจารณ์ พานิช ได้เล่าเรื่อง Best Practice ไว้ว่า "มีคนถามว่าที่เรียกว่า Best Practice นั้นมีระดับไหม จะประเมินระดับให้แม่นยำได้อย่างไรนั้นไม่ใช่ประเด็นสำคัญ เพราะเป้าหมายที่แท้จริงไม่ใช่การระบุว่าใครเด่นกว่าใคร เราเอา Best Practice มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน โดยเป้าหมายใช้ Best Practice เป็น tool หรือเป็น mean ไม่ใช่ end และในความเป็นจริงแล้ว พอแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน สมาชิกก็จะบอกได้เองว่าเป็น Best Practice ระดับ 2 Star, 3 Star, 4 Star หรือ 5 Star" เมื่อได้ฟังจากการเล่าเรื่องของอาจารย์ ทำให้พวกเราที่คิดว่างานของเราไม่ทราบว่าจะเป็น Best Practice หรือไม่นั้น ไม่ต้องกังวล หลายครั้งที่เราคิดว่าผลงานของเรายังไม่ดีพอ แต่เมื่อไปฟังคนอื่นเขาเล่าเรื่องเดียวกับที่เราทำอยู่ เราจึงรู้ได้เลยว่า Best Practice ของเขาในความคิดของเราเป็นเพียงแค่ 3 Star เพราะเราผ่านการทำเรื่องนี้มานานและทำได้ดีกว่า แต่คนที่ไม่เคยทำเรื่องนี้มาก่อน หรือพึ่งเริ่มจะเรียนรู้ความคิดของเขาอาจให้ดาวเขา 4 - 5 Star ก็ได้
จุดเริ่มต้น
         Best Practice เริ่มต้นจากวงการแพทย์ เป็นวิธีการปฏิบัติงานที่ดี ไม่ว่าจะนำไปปฏิบัติที่ไหน อย่างไร ซึ่งผลงานที่ปฏิบัตินั้นได้นำไปสู่ผลสำเร็จ หน่วยงานจำเป็นต้องมีการแลกเปลี่ยนวิธีการปฏิบัติงานที่ดีกับหน่วยงานย่อย และมีการแลกเปลี่ยนระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอก ผลสุดท้าย คือ การนำ Best Practice นั้นไปใช้จนเป็นมาตรฐาน ตัวอย่างโปรแกรมที่ได้รางวัล คือ โปรแกรมการเชิญชวนผู้ดูแลผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก ของกลุ่มแพทย์เฮนรี่ฟอร์ด โดยให้ผู้ป่วยสามารถดูแลตนเองได้ที่บ้านร่วมกับการรักษาที่ศูนย์การรักษา โดยดำเนินกิจกรรมในลักษณะการวิจัย ผลของโปรแกรมพบว่า 90% ของผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยส่วนใหญ่เป็นมะเร็งในระยะแรกเท่านั้น ผู้ป่วยมีความพึงพอใจในการดูแลรักษาจากโปรแกรมดังกล่าวที่เป็น Best Practice
คำที่มีความหมายใกล้เคียงกับ Best Practice
         Good Practice เป็นคำที่มีความหมายค่อนข้างกว้าง ใช้ในความหมายเกี่ยวกับการปฏิบัติงานที่มีประสิทธิภาพ แต่ยังไม่มีหลักฐานแน่ชัด หรือแสดงความถูกต้องอย่างชัดเจน จะต้องใช้ข้อมูลเชิงประจักษ์มายืนยันผลงาน และมีผู้ให้ความเห็นเกี่ยวกับ Good Practice คือ
  • เป็นข้อเสนอแนะ คำแนะนำ แนวทาง
  • การปฏิบัติงานที่อยู่บนพื้นฐานของความสำเร็จของงาน
  • เป็นเรื่องเกี่ยวกับ "Why" และ "What"
  • เป็นความคาดหวังของการปฏิบัติงานโดยทั่ว ๆ ไป
         Innovative Practice หมายถึง จุดเน้นและแนวทางการทำงานที่น่าสนใจ แต่ขณะนี้ยังไม่มีตัวชี้วัดใดจะบอกความสำเร็จได้
Best Practice ของคณะแพทยศาสตร์
         แม้ว่าหน่วยงานต่าง ๆ ส่วนใหญ่ยังไม่มีการจัดทำ Best Practice อย่างเป็นระบบ แต่แท้ที่จริงแล้วมีหน่วยงานในคณะแพทยศาสตร์ ที่ได้ดำเนินการ Best Practice มาบ้างแล้ว และมีมากมายที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการแก่ผู้รับบริการ เช่น เทคนิควิธีการดูแลผู้ป่วย เทคนิคการผ่าตัด เทคนิควิธีการสอน และมีการปฏิบัติอีกหลายเรื่องที่ยังไม่ปรากฏออกมาอย่างชัดเจน ส่วนใหญ่มักจะรู้กันในหน่วยงาน หรือวงการที่เกี่ยวข้อง ยังมีรูปแบบเทคนิค วิธีการปฏิบัติงานต่าง ๆ ที่หลบซ่อนอยู่ในหน่วยงานของคณะ ยังไม่ได้มีโอกาสมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอย่างแพร่หลาย แม้จะมีเวทีให้เสนอผลงาน ก็ยังมีจำนวนไม่มากนัก แต่เชื่อว่ามี Best Practice กระจัดกระจายหลบซ่อนอยู่จำนวนมากเช่นเดียวกัน เพียงแต่ยังไม่มีการบันทึกรายงานให้รับทราบกันอย่างกว้างขวางเท่านั้น
Best Practice ในหน่วยงาน
         การทำให้เกิด Best Practice สามารถทำให้เกิดขึ้นได้หลายช่องทาง เช่น
  1. เกิดจากบุคคล อันมาจากการเรียนรู้หรือประสบการณ์ เป้าหมายของหน่วยงานที่คาดหวังความสำเร็จ ผู้ปฏิบัติงานเรียนรู้จากการปฏิบัติ ริเริ่มสร้างสรรค์ แก้ปัญหาการทำงาน เสนอแนะวิธีการทำงาน อาจเกิดแนวคิด การรับรู้จากข้อแนะนำของผู้บริหาร วิทยากร เพื่อนร่วมงาน หน่วยงานอื่น และผู้รับบริการ ก่อให้เกิดการสร้างสรรค์วิธีการใหม่หรือวิธีการที่ดีกว่า
  2. เกิดจากปัญหาอุปสรรคในการปฏิบัติงานที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ความกดดันของผู้รับบริการ การแข่งขัน การขับเคลื่อนนโยบายขององค์กร ภาวะข้อจำกัดของทรัพยากร ภาวะวิกฤติทำให้มีการแสวงหาแนวทาง กระบวนการ วิธีการที่ดีกว่า เพื่อให้ได้ผลสำเร็จสูงสุด
  3. เกิดจากแรงขับเคลื่อนการพัฒนา ค้นหาวิธีการใหม่ สร้างความพึงพอใจของผู้รับบริการ เสริมสร้างประสิทธิภาพขององค์กร
คุณลักษณะงานของ Best Practice
         การวินิจฉัย Best Practice เป็นพลังที่ช่วยกันยกระดับความคิด สามารถมีมุมมองที่แตกต่าง หลากหลาย ยอมรับมุมมองที่แตกต่างจากมุมมองของตนได้ดีขึ้น มีประเด็นในการพิจารณาเป็นสังเขปดังนี้
  1. เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับภารกิจโดยตรงของหน่วยงาน
  2. สนองต่อนโยบายการแก้ปัญหา การพัฒนา ประสิทธิภาพของหน่วยงาน
  3. ลดขั้นตอน ลดรอบระยะเวลาการทำงาน
  4. ลดทรัพยากร ลดค่าใช้จ่าย
  5. การนำเทคโนโลยีมาใช้ประกอบการทำงาน
  6. วิธีการริเริ่มสร้างสรรค์ขึ้นมาใหม่ หรือประยุกต์ขึ้นใหม่
  7. สามารถทำแผนผังเชิงเปรียบวิธีการเก่าและใหม่ และสิ่งที่เป็นวิธีใหม่จะให้ประโยชน์อะไรที่ดีกว่าวิธีเก่า
  8. อำนวยความสะดวกในการใช้
  9. วางระบบในการให้บริการ และมีช่องทางที่หลากหลายในการให้บริการดังกล่าว
  10. สามารถเทียบเคียงวิธีการทำงานลักษณะเดียวกันกับหน่วยงานอื่นได้
  11. ผลผลิต/ความสำเร็จเพิ่มขึ้น
  12. ความพึงพอใจของผู้รับบริการ หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
  13. สามารถนำไปใช้เป็นมาตรฐานการทำงานต่อไปได้ยั่งยืนพอสมควร
  14. การพัฒนาปรับปรุงต่อไป
    เป็นต้น
การดำเนินงาน Best Practice
         หน่วยงานสามารถจะดำเนินการได้หลายกระบวนการ เช่น ตามแนวทางวงจรเดมมิ่ง (Demming Circle) ซึ่งประกอบด้วย
         P : การวางแผน
         D : การปฏิบัติ
         C : การตรวจสอบประเมินผล
         A : การปรับปรุงพัฒนา กำหนดกิจกรรมใหม่ และอาจนำเทคนิคต่าง ๆ ที่สามารถเลือกมาใช้ให้เหมาะสมกับบริบทงานของหน่วยงาน เช่น CQI (Continuous Quality Improvement) , RCA (Root Cause Analysis), FMEA (Failure Mode Evaluation Analysis) อื่น ๆ มาช่วยในการดำเนินงานจนเกิด Best Practice

สรุป
         Best Practice เป็นวิธีการทำงานที่ดีที่สุดในแต่ละเรื่อง ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกหน่วยงาน จากหลายช่องทาง ทั้งตัวผู้นำ ผู้ร่วมงาน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือภาวะปัญหา และการริเริ่มสร้างสรรค์ พัฒนาที่มีขั้นตอน เมื่อมีวิธีการทำงานที่ดีต้องทำผ่านการเล่าเรื่องที่เป็นการทำงานของตนเองมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ในลักษณะของการแลกเปลี่ยนข้ามสายงาน ข้ามหน่วยงานโดยเกิดขึ้นในระดับบุคคล ระดับกลุ่มคน และระดับหน่วยงานย่อย Best Practice ที่ได้ควรมีการบันทึก เขียนรายงานเพื่อการศึกษาพัฒนา และเผยแพร่ได้ ซึ่งจะเกิดประโยชน์อย่างยิ่ง (วิญญาณของ KM คือ รีบเข้าสู่การปฏิบัติ ยึดถือหลักการช่วยเหลือตนเอง แต่คอยเสาะหาวิธีการจากทุกแห่ง) หลังจากนั้นจะมี Knowledge Management ตัวจริงเกิดขึ้นในคณะแพทย์แห่งนี้
จาก
http://medinfo.psu.ac.th/KM/news/KM%20NEWS%2003.htm

---------------------------------------------------
---------------------------------------------------

การจัดการความรู้ในองค์กรต่างประเทศ 
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนีกาตะ ประเทศญี่ปุ่น

โครงการก่อตั้ง "สถาบันส่งเสริมการปฏิรูประบบยุติธรรมและความเป็นธรรมทางสังคม" (สปรย.)
ความยากจน กับกฎหมาย: ความยากจนก่อให้เกิดความทุกข์ยากแก่ผู้คนทั้งแผ่นดิน และเชื่อมโยงกับปัญหาอื่น ๆ เช่น ความอยุติธรรม ปัญหาอาชญากรรม ปัญหาโสเภณี ยาเสพติด โรคเอดส์ การใช้ทรัพยากรอย่างไม่เป็นธรรมและยั่งยืน ระบบการศึกษา ระบบกฎหมาย และการเสียเปรียบต่างชาติ เป็นต้น ถ้าแก้ปัญหาความยากจนได้ ก็จะแก้ปัญหาอื่น ๆ พร้อมกันไปเกือบหมดทุกอย่าง การเอาชนะความยากจนจึงเป็นวาระแห่งชาติที่สังคมทั้งปวงควรจะเข้ามาร่วมกันเคลื่อนไหวเพื่อแก้ไขให้ได้

ปัญหาความยากจน ปัญหาคนจนเป็นปัญหาที่กว้างและซับซ้อนกว่าเรื่องเงิน เกี่ยวข้องกับโครงสร้างและเรื่องต่าง ๆ ที่ทำให้คน "อับจน" ไม่ใช่เรื่องเงินอย่างเดียว

โครงสร้างกฎหมายทำให้คนจนเสียเปรียบ ให้อำนาจและโอกาสกับคนรวยและรัฐที่จะทำกับคนจนมากกว่า รัฐเอาสิทธิในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติของชุมชนไปเป็นของรัฐ เอาสิทธิของคนส่วนใหญ่ไปให้กับคนส่วนน้อย
(ประเวศ วะสี, ยุทธศาสตร์เพื่อเอาชนะความยากจน, สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา, สิงหาคม, ๒๕๔๕)

จำต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม: การปฏิรูประบบยุติธรรมเพื่อเศรษฐกิจพอเพียงและความเป็นธรรมในสังคม เป็นงานที่ต้องใช้ระยะเวลาที่ยาวนานมาก เพราะไม่ใช่เพียงแค่การปฏิรูปกฎหมายเท่านั้น หากยังรวมไปถึงการปฏิรูป กลไก ระบบ และกระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวข้องอีกมากมาย ซึ่งล้วนรอการแก้ไขปรับปรุงอีกด้วย ดังนั้น การดำเนินงานจึงต้องทำอย่างเป็นขบวนการ (Movements)

ภารกิจดังกล่าวจะต้องมีสถาบันหรือองค์กรที่ทำเรื่องนี้โดยตรง:
- มีอิสระ
- มีศักยภาพอย่างสูงในการจัดการความรู้
- เชื่อมโยงกระบวนการเชิงนโยบาย
- มีกระบวนการเคลื่อนไหวสังคมอย่างมีพลังเข้ามาเสริมตลอดเวลา จึงต้องมีเครือข่ายการทำงานที่กว้างขวางและมีพลังเป็นฐานในการขับเคลื่อนภารกิจ

ในระยะเฉพาะหน้านี้ ยังไม่มีความจำเป็นจะต้องรีบร้อนในการจัดตั้งสถาบันฯ "สปรย." อย่างเป็นกิจจะลักษณะให้เกิดความถาวรตายตัวแต่อย่างใด

การจัดองค์กรใน รูปแบบโครงการ ที่มีวัตถุประสงค์ เป้าหมายและระยะเวลาโครงการที่แน่นอน เพื่อดำเนินงานในระยะเตรียมการก่อตั้งสถาบัน จึงเป็นรูปแบบการบริหารจัดการที่มีความยืดหยุ่นตัวสูงกว่า

ต่อเมื่อมีความถึงพร้อมด้วยเหตุปัจจัยต่าง ๆ ทั้งในด้านองค์ความรู้ เครือข่ายสนับสนุน และกระแสความตื่นตัวของสังคม เมื่อนั้น การก่อตั้งสถาบันจะมีความมั่นคง และสามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพในระยะยาว

วัตถุประสงค์:
1. ส่งเสริมกระบวน การศึกษา และ สร้างนวัตกรรมกฎหมาย เฉพาะเพื่อการแก้ปัญหาความยากจน
2. ส่งเสริมกระบวนการศึกษาและพัฒนารูปแบบวิธีการ ในการ ใช้ประโยชน์จากรัฐธรรมนูญ และ กฎหมายที่มีอยู่ เพื่อปฏิรูปกลไกระบบยุติธรรม และกลไกงานพัฒนาของ ทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น ให้เอื้อต่อการแก้ปัญหาความยากจน
3. เตรียมการจัดตั้ง "สถาบัน" เพื่อทำหน้าที่เป็นกลไกการทำงาน ที่สามารถดำเนินงานอย่างต่อเนื่องในการส่งเสริมการปฏิรูประบบยุติธรรม เพื่อเศรษฐกิจพอเพียงและความเป็นธรรมในสังคมในระยะยาว

หลักการทำงานของ สปรย. ๓ ประการ:
1. ใช้การเคลื่อนไหวทาง ปัญญาและสันติวิธี
2. เดินแนวทาง สายกลางทางการเมือง (มัชฌิมาปฏิปทา) ไม่สุดโต่ง ไม่แบ่งขั้ว - แยกฝ่าย
3. ยึดหลัก "มีเหตุผล-ได้ประโยชน์-รู้ประมาณ" และเป็นไป เพื่อประโยชน์สาธารณะเท่านั้น

แนวทางหลักการขับเคลื่อน ๒ แนวทาง:
1. มุ่งใช้ประโยชน์จากรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่มีอยู่ เพื่อปฏิรูปกลไกยุติธรรมและการพัฒนาทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น เพื่อแก้ปัญหาความยากจน
2. มุ่งสร้างนวัตกรรมกฎหมายเฉพาะขึ้นใหม่ เพื่อแก้ปัญหาความยากจน


- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

๒. ชาติต่าง ๆ ในโลกเขียนกฎหมายแก้ความยากจนกันอย่างไร
แหล่งข้อมูล: International Center for Law in Development (ICLD)
United Nation Plaza, New York
ผู้เรียบเรียง: พิเชษฐ เมาลานนท์
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนีกาตะ (ญี่ปุ่น)
พรทิพย์ อภิสิทธิวาสนา / นิลุบล ชัยอิทธิพรวงศ์
สำนักวิจัยกฎหมายไทยกับการพัฒนา (TLD-RI)

ICLD เป็นองค์กรระหว่างประเทศ บริหารงานโดยนักกฎหมายโลกที่สาม เพื่อประสานงานเครือข่ายองค์กรทั่วโลก ในการทำงานวิจัยและเคลื่อนไหว ในด้านการใช้กฎหมายภายในบริบทการพัฒนาโลกที่สาม ให้เอื้อประโยชน์ต่อคนยากคนจน และคนด้อยโอกาส โดยยึดหลักการประชาธิปไตย ในแนวทางสหประชาชาติ เหตุนี้ ICLD จึงเป็นองค์กรที่ให้ข้อมูลได้ดีที่สุดว่า ชาติต่าง ๆ ในโลกเขียนกฎหมายแก้ความยากจนกันอย่างไร

1. ใช้วิธีเขียน Poverty Law ฉบับเดียว: ประเทศที่ใช้วิธีนี้ มีแต่ประเทศตะวันตก เช่น อังกฤษ และสแกนดิเนเวีย ส่วนการสอนวิชา Poverty Law ก็มีมากใน American Law School ขณะที่โลกที่สามมักไม่มีกฎหมายเรื่องความยากจนฉบับเดียว และไม่สอนเรื่องนี้ในมหาวิทยาลัย

2. ใช้วิธีเขียนกฎหมายแต่ละฉบับแยกกัน: ประเทศโลกที่สามส่วนใหญ่ รวมทั้งประเทศตะวันตกหลายชาติใช้วิธีนี้ แต่ต้องประกอบกับการปฏิรูปกฎหมายทั้งระบบให้เอื้อประโยชน์กับคนจนด้วย เช่น การสร้างการรับรู้และการตระหนักถึงปัญหาความยากจนโดยผ่านกระบวนการ Human Rights Education เป็นต้น

3. ใช้วิธีให้นักกฎหมายร่วมงานกับนักเศรษฐศาสตร์: ขณะนี้มีโลกที่สามบางชาติไม่เริ่มต้นจากการแก้กฎหมาย แต่พยายามเริ่มจาก Macroeconomic Reform เพื่อสร้าง Pro-Poor Macroeconomic Policy แล้วนักกฎหมายจึงเข้ามาต่อสู้แก้ไขกฎหมาย ให้ตรงกับนโยบายเศรษฐกิจเพื่อคนจนดังกล่าว

4. ใช้วิธีคุมการกำหนดงบประมาณที่รัฐสภาให้ Pro-Poor: วิธีนี้คือการคุมการจัดสรรงบประมาณในด้านต่าง ๆ โดยถือหลักว่า ทุก ๆ ปี คุณภาพชีวิตของคนยากจนจะต้องพัฒนาขึ้น วิธีการนี้ต้องมีการเก็บข้อมูลสถิติและตัวชี้วัดคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยให้ภาคประชาสังคมมีบทบาทหลักในการบริหารงานสถิติเพื่อให้ได้ตัวเลขที่ไม่เอนเอียงเข้าข้างรัฐบาล จากหลักการ Progressive Quality of Life ทำให้สามารถคุมงบประมาณได้ว่า ถ้าคุณภาพชีวิตด้านใดตกลงไปเมื่อปีที่แล้ว งบประมาณเพื่อคุณภาพชีวิตด้านนั้นในปีต่อไปจะต้องเพิ่มขึ้น

5. ใช้วิธี Social Action Litigation: วิธีนี้หมายถึง การไม่ยึดติดกับการแก้ปัญหาสังคมโดยไปศาล ดังที่นิยมกันในประเทศตะวันตก แต่ใช้ความคิดเรื่อง "การร้องทุกข์" โดยออกกฎหมายกำหนดวิธีให้ผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาทางสังคม เขียนจดหมายร้องทุกข์ถึงศาลฎีกา ว่าต้องประสบปัญหาความไม่เป็นธรรมอย่างไร ซึ่งศาลฎีกาก็จะตั้งอนุกรรมการขึ้นมาจากคนหลายฝ่าย (ประชาสังคม-ผู้พิพากษา-ข้าราชการ เป็นต้น) เพื่อให้พิจารณาว่าคำร้องทุกข์นั้นมีมูลความจริงเพียงใด ถ้าพบว่ามีมูลความจริง ก็ถือว่าเป็นการฟ้องคดีต่อศาล และมีการพิจารณาคดีต่อไป แต่ใช้วิธีพิจารณารวดเร็ว โดยไม่ผ่านขบวนการปกติทั้งสามศาล เพราะถือว่า ความไม่เป็นธรรม โดยเฉพาะต่อคนกลุ่มใหญ่ และไร้อำนาจทางการเมืองและการเงิน เป็นสิ่งเร่งด่วนที่ศาลฎีกาจะต้องเข้ามาดูแลให้จบลงโดยเร็ว

6. ใช้วิธี Charter on Justice for the Poor: วิธีนี้ไม่เริ่มต้นจากการเขียนกฎหมาย แต่เป็นการให้เวทีสาธารณะร่วมกันออก "ธรรมนูญเพื่อความเป็นธรรมสำหรับคนยากจน" เพื่อใช้เผยแพร่ให้คนยอมรับทั้งประเทศ และหลังจากนั้นก็จะถือธรรมนูญนี้เป็นเสมือนหางเสือ (นโยบาย) ในการแก้ไขกฎหมายเดิม หรือออกกฎหมายใหม่

จาก http://www.midnightuniv.org/midnight2545/document992.html

คำสำคัญ (Tags): #kmclass
หมายเลขบันทึก: 62640เขียนเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2006 08:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 เมษายน 2012 14:42 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท