เก็บความรู้และข้อคิดจากตลาดนัดเครือข่าย


นวัตกรรมนั้น ต้องอาศัยของเดิม 99 % เติมของใหม่เข้าไปอีกเพียง 1 % แล้วสามารถทำให้สิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

          อย่างที่บอกว่าจะตามไปเก็บบรรยากาศของการจัด ตลาดนัดเครือข่ายการจัดการความรู้มูลนิธิข้าวขวัญ ในวันที่ 20-21 พ.ย.ที่ผ่านมา ก็ปรากฏว่าในสองสามวันนั้นเป็นวันที่ชีวิตของตัวเองเกิดความโกลาหลและอลหม่านเป็นอย่างมาก ด้วยเรื่องของรถที่ตัวเองใช้อยู่ประจำ และรถของป๊าที่ดิฉันใช้ขับแทนรถของตัวเอง กลับมีเหตุบังเอิญเกิดขัดข้องในเวลาใกล้เคียงพร้อม ๆ กัน จนเป็นเหตุให้เดินทางเข้าไปที่ มขข. ล่าช้ามาก ๆ

          จัดการกับปัญหาเรื่องรถแล้ว เวลาประมาณบ่ายสามโมงดิฉันก็ได้เดินทางไปถึงที่ มขข. ไม่ทันได้เดินดูบรรยากาศอะไรมากนัก ก็ถึงเวลาของเวทีเสวนา
การจัดการความรู้กับสังคมไทย ซึ่งมีผู้ร่วมเสวนาบนเวที คือ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช, คุณเดชา ศิริภัทร ประธาน มขข., ดร.ทิพวัลย์ ศรีจันทร์ อาจารย์จาก ม.เกษตรศาสตร์ และคุณชำนาญ จากบริษัทปูนซิเมนต์ไทย (แก่งคอย) จำกัด โดยมีคุณอภิรัช คำวัง เป็นผู้ดำเนินรายการ

                                  

          ทุกท่านได้กรุณาสะท้อนมุมมองโดยให้ข้อความรู้และแง่คิดมากมายซึ่งดิฉันพอจะสรุปได้ดังนี้ ท่านแรก คือ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ได้พูดถึงการจัดการความรู้ไว้
2 ประเด็น

          ประเด็นแรก คือ เราทุกคนมีความรู้อยู่ในตัวกันอยู่แล้ว การจัดการกับความรู้ถ้ายิ่งให้เราจะยิ่งได้รับ ยิ่งให้ความรู้กับเพื่อน เราก็ยิ่งได้ซึมซับความรู้นั้นกลับมา ยิ่งให้ก็ยิ่งเพิ่ม จึงถือได้ว่าการแลกเปลี่ยนนั้นยิ่งทำให้ความรู้ขยายตัวมากขึ้น และการจัดการความรู้จะยิ่งทำให้ความรู้ชัดเจนมากขึ้น

          ประเด็นที่สอง การจัดการความรู้มีอยู่
3 ระนาบ คือ 1) การจัดการความรู้ที่เกิดจากการปฏิบัติของชาวบ้าน ระนาบนี้สำคัญมาก 2) การจัดการความรู้ในขั้นวิชาการ ซึ่งต้องทำความเข้าใจกับความรู้ในระนาบของชาวบ้าน แล้วนำทฤษฎีหลักการมาจับเข้ากับความรู้ของชาวบ้าน นำเสนอตีแผ่ออกมาในเชิงวิชาการ จะทำให้ขยายความรู้ของชาวบ้านได้มากขึ้น 3) การจัดการความรู้ในระนาบของหน่วยงาน องค์กรทั้งภาคราชการและเอกชน จะช่วยให้เกิดการส่งเสริมองค์ความรู้ในทั้ง 2 ระนาบมีความมั่นคงยั่งยืนได้มากยิ่งขึ้น

          จากการสะท้อนความคิดมุมมองของท่านช่วงหนึ่งที่ดิฉันติดใจและจะรอคอยสิ่งที่ท่านกำลังผลักดันให้เกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ คือ
สื่อไฮเทค ของชาวบ้าน ซึ่งท่านเรียกว่า “KM ทางไกล ฉบับชาวบ้าน ซึ่งจะเป็นการนำเสนอเรื่องราวของผู้ปฏิบัติเรื่องต่าง ๆ ได้ประสบผลสำเร็จผ่านสื่อ VCD นำไปฉายให้แต่ละชุมชนได้ดูและเรียนรู้นำไปปรับใช้ โดยไม่ต้องเดินทางมาพบกันด้วยตนเองบ่อยครั้งนัก จะช่วยให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทางได้ โดยอาจจัดตั้งเป็นศูนย์แลกเปลี่ยน ชีวิตที่พอเพียง ของทุกจังหวัด โดยจัดให้เป็นศูนย์แลกเปลี่ยนไม่ใช่แจกจ่ายเพียงอย่างเดียว ซึ่งกิจกรรมนี้จะเป็น KM ขยายวงกันได้ทั่วเมืองไทย

          ท่านที่สอง คือ คุณเดชา ศิริภัทร ท่านบอกว่า
2 ปีที่ผ่านมาไม่คาดคิดว่า มขข.จะจัดการความรู้ได้ผลเกินคาดแบบนี้ คือ นอกจากจะทำให้ชาวบ้านเกิดความรู้แล้วยังได้รับศักดิ์ศรีของชาวนากลับคืนมา เห็นได้ชัดที่โรงเรียนชาวนาใน อ.บางปลาม้า และ อ.อู่ทอง ที่มีการฟื้นประเพณีเดือนสิบ อันเป็นประเพณีดั้งเดิมของชาวนาที่ถูกทิ้งร้างไปนานกลับมา การทำงานของท่านไม่ยึดติดทฤษฎี ไม่ทำอะไรเพื่อเชื่อมโยงเข้าหาทฤษฎี ซึ่งท่านออกปากว่าตัวเองรู้จักทฤษฎีน้อยมาก หัวปลา-ตัวปลา-หางปลา ไม่รู้เรื่องเลย

          ท่านได้จัดหลักสูตรให้กับนักเรียนชาวนาไว้เป็น
3 หลักสูตร (การกำจัดศัตรูพืชโดยชีววิธี การปรับปรุงบำรุงดินโดยไม่ใช้สารเคมี และการพัฒนาพันธุ์ข้าวให้เหมาะสมกับระบบเกษตรกรรมยั่งยืน) ทำงานเพื่อชาวนามาจนกระทั่งได้รับการคัดเลือกจาก สกว.ให้เป็นโครงการวิจัยดีเด่น ปี 2548 (นวัตกรรมการจัดการความรู้) ซึ่งมีตัวบ่งชี้ 3 ข้อ คือ เป็นนวัตกรรม บรรลุผล และส่งผลต่อสังคมหรือชุมชนโดยรวม

          นวัตกรรมที่ได้รับการยอมรับของ มขข. คือ การจัดการความรู้ให้ชาวนาสามารถคัดพันธุ์ข้าวนำไปปลูกแล้วเพิ่มปริมาณจากที่เคยได้ข้าว
40 ถัง เป็น 160 ถังต่อไร่ สามารถขยายเชื้อจุลินทรีย์จากใบไผ่นำไปใช้ในแปลงนาเพื่อลดปัญหาโรคพืชและเพิ่มการเจริญเติบโตของต้นข้าว

          ซึ่งในเรื่องนี้ท่านได้แสดงทัศนะว่า การพัฒนาสิ่งใดให้เป็นนวัตกรรมนั้น ต้องอาศัยของเดิม
99 % เติมของใหม่เข้าไปอีกเพียง 1 % แล้วสามารถทำให้สิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และที่สำคัญคือ สามารถแก้ปัญหาได้ ซึ่งท่านยกตัวอย่างให้ชาวนาได้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมว่า เปรียบได้กับ อภิชาตบุตร คือ ดีเกินพ่อเกินแม่ พ่อก็แก้ปัญหาไม่ได้ แม่ก็แก้ปัญหาไม่ได้ แต่ลูกแก้ปัญหาได้เป็นอภิชาตบุตร ซึ่งในที่นี้อาจเรียกได้ว่า เป็นอภิชาตผล

                               


          สรุปว่าช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมาจากประสบการณ์ที่ มขข.จัดการความรู้ให้ชาวนาสามารถบอกได้ว่าหากห่วยงานใดสามารถจัดการความรู้ได้ถูกทางแล้วจะเกิดผล 3 สิ่ง คือ 1) นวัตกรรม 2) อภิชาตผล และ 3) กระบวนทัศน์

          ดร.ทิพวัลย์ ให้แง่คิดจากการทำงานของตัวเองว่าเวลาลงไปทำงานในพื้นที่ ต้องเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของชาวนา เพราะถ้าเราคิดว่าเราเป็นนักวิชาการแล้วเราต้องเก่งกว่าชาวบ้าน เราจะทำงานล้มเหลว เพราะถ้าลงมือปฏิบัติแข่งกันแล้วเราสู้ชาวนาไม่ได้ นอกจากนี้จะจัดการความรู้ได้สำเร็จ เราต้องมีหัวใจในการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา ทำ สุ-จิ-ปุ-ลิ อย่างสม่ำเสมอ และยึดถือหลัก ทุกข์-สมุทัย-นิโรจ-มรรค เป็นหลักในการทำงาน ท่านฝากว่าหากเรารู้จัก
รู้เขา-รู้เรา-รู้เท่า-รู้ทัน-รู้กัน-รู้แก้ วันหนึ่งเราก็จะลืมตาอ้าปากได้

          สุดท้ายท่านได้สะท้อนถึงความขัดแย้งในทางปฏิบัติของมหาวิทยาลัยหลายแง่ เช่น นิสิตของมหาวิทยาลัยที่เข้ามาร่ำเรียนเพื่อจะนำความรู้ไปพัฒนาด้านการเกษตร แต่เมื่อจบการศึกษาแล้วส่วนใหญ่กลับออกไปประกอบอาชีพเป็นเซลล์ขายปุ๋ยขายยา หรือในขณะที่เรากำลังมุ่งหวังให้สถาบันระดับอุดมศึกษาทำหน้าที่เป็นที่พึ่งและคอยให้ความช่วยเหลือแก่ผู้คนในสังคม แต่ตอนนี้ด้วยเพราะกำลังออกนอกระบบ วิธีที่จะเลี้ยงตัวเองให้อยู่รอดคือขึ้นค่าหน่วยกิต เป็นผลกระทบให้ผู้มีรายได้น้อย ไม่สามารถส่งเสียลูกหลานของตัวเองเข้าเรียนได้ตลอดรอดฝั่ง ต้องกู้หนี้ยืมสินไปเรียน มองว่าเรากำลังเข้าสู่สภาพการขายปริญญา

          ทุกหน่วยงานจะปักธง
KM โดยต่างคนต่างปัก แต่ยังไม่เคยมองว่าทุกข์โดยรวมของสังคมคืออะไร แล้วมาคุยกันเพื่อปักธงร่วมกัน แก้ปัญหาหรือพัฒนาร่วมกัน ทำให้เกิดคำถามว่า ทำอย่างไร เราจึง รู้ตื่น-รู้เบิกบาน

          ท่านสุดท้ายคือ คุณชำนาญ ได้เล่าถึงเส้นทางที่ทำให้ปูนซิเมนต์เข้ามาร่วมเรียนรู้กับโรงเรียนชาวนาว่าเป็นเพราะบริษัทต้องการทำกิจกรรมเพื่อพัฒนาบุคลากรโดยจัดเป็นโครงการให้มาใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน
6-7 สัปดาห์ แบ่งการเรียนเป็นคอร์ส และมีช่วงที่เข้ามาร่วมเรียนรู้กับนักเรียนชาวนา ซึมซับกระบวนการในการจัดการความรู้ของชาวนาไปปรับประยุกต์ใช้กับการทำงานของตัวเอง โดยให้แต่ละคนเสนอโครงงานที่เป็นปัญหาไปเสนอผู้บังคับบัญชาให้รับทราบ ในโครงการ OK-Do it ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จ คือ เสนอไป 7 เรื่อง ได้รับอนุมัติให้ดำเนินการ 5 เรื่อง ทำให้เกิดบรรยากาศการทำงานโฉมใหม่ซึ่งเปลี่ยนไป โดยไม่ต้องรอให้ผู้ใหญ่สั่งลงมา แต่สามารถเริ่มจากพนักงานระดับล่างได้ ทำให้เกิดพลังในการทำงานและรู้สึกได้ถึงความเป็นเจ้าขององค์กร ปัจจุบันนี้ปูนซิเมนต์เป็นพันธมิตรกับ มขข.จับมือกันทำ KM เป็นรุ่นที่ 16 แล้ว

          จากการที่ดิฉันได้มีโอกาสเข้าร่วมฟังการเสวนาในครั้งนี้ ได้มองเห็นทิศทางที่ มขข.จะได้ต่อยอดความรู้ คือการจัดการความรู้เพื่อการดำรงตนตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพราะเมื่อได้ใช้นวัตกรรมเพื่อเพิ่มผลิตผลให้ชาวนาแล้ว ทำให้ฐานะทางเศรษฐกิจของชาวนากระเตื้องขึ้นแล้ว แต่ถ้าชาวนายังไม่รู้จักการบริหารชีวิต ทุกข์ของชาวนาก็จะกลับมาอีก

          ซึ่งในช่วงท้ายผู้ดำเนินรายการก็ได้ป้อนคำถามให้ทุกท่านได้พูดคุยในเรื่องนี้ สรุปสาระสำคัญจากทุกท่านที่พูดคุยเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตบนหลักของเศรษฐกิจพอเพียง ว่า เศรษฐกิจพอเพียง อยู่ที่ความสมดุล รู้จักพอ รู้จักให้ ต้องลงมือปฏิบัติจริง ช่วยกันปฏิบัติ ความพอเพียงจึงจะเกิด ชีวิตที่รู้จริง จึงรู้พอ และความพอเพียงจะยั่งยืนหากเรารู้จักความพอดี

          และดิฉันเองเชื่อว่าหากนักเรียนชาวนาสามารถจัดการความรู้ของตนเองบนหลักของความพอเพียงได้….พวกเขาจะมีความสุขในชีวิตอย่างยั่งยืนค่ะ….หลังช่วงเสวนา พี่จิ๋ม-จันทนา หงษา และน้องชมพู่-ชลสรวง พลแสน ได้มาชักชวนพวกเราร่วมกันบริจาคเงินเข้าร่วมโครงการถวายข้าวอินทรีย์และพันธุ์พืชพื้นเมือง แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสืบต่อเป็นทานแผ่นดิน โดยเครือข่ายกสิกรรมไร้สารพิษแห่งประเทศไทย

   

          ดิฉันรี่เข้าไปร่วมบริจาคด้วยและรีบตามทุกคนไปดูการสาธิตการดำนาด้วยเครื่อง ไม่นานดวงอาทิตย์ก็เริ่มลับแสง เนื่องจากเป็นเวลาเย็นมากแล้ว ดิฉันเองเสียดายมากที่ไม่ได้อยู่ร่วมซึมซับบรรยากาศในช่วงภาคค่ำอีก ต้องขอตัวพี่น้องผองเพื่อนกลับไปปฏิบัติภารกิจเร่งด่วนต่อ ทราบว่าคุณหญิงและคุณจ๋า (น้องคนเก่งจาก สคส.) ทั้งสองท่านยังอยู่ร่วมกิจกรรมกับ มขข.ตลอดรายการ ก็เลยมีความหวังว่าคงจะได้ติดตามเรื่องราวที่เราอยากรู้ได้จากบล็อกของเธอทั้งคู่ค่ะ

หมายเลขบันทึก: 62630เขียนเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2006 07:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:39 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)
  • ใจตรงกันเลย ขอแลกเลปี่ยนเรียนรู้ผ่านบล็อกด้วยนะคะ
  •  ดีใจคะที่ได้เจอกันอีก และทุกครั้งที่พบกันถึงแม้จะเป็นเวลาพูดคุยกันน้อยนิดแต่ก็รู้สึกดีทุกครั้งที่ได้พูดคุยกัน (คอเดียวกัน...ไม่ใช่คอทองแดงนะคะ อิอิอิ)
  • จ๋าได้บันทึกในวันที่ 21 พ.ย. ด้วย...ก็วันที่พี่ปวีณาไม่ได้มานะคะ เก็บมาเล่าสู่กันฟัง 
  • ตามไปอ่านบันทึกทุกตอนแล้วค่ะ ขอบคุณคุณจ๋าเป็นอย่างมาก
  • อ่านแล้วเหมือนได้ไปอยู่ในเหตุการณ์ด้วย...คุณจ๋าถ่ายทอดได้ดีเยี่ยมเลยค่ะ
  • ชอบตอนที่ 3 ค่ะ แถมได้เรียนรู้วิธีการนำเสนอเรื่องราวที่เราได้ไปพบเห็นมาลงสู่บล็อกด้วย
  • ขอบคุณมาก ๆ ค่ะ
  • ขอบคุณมากครับที่นำมาเล่าให้ฟัง
  • เหมือนผมไปด้วยเลย
  • มีอะไรให้พอช่วยได้บอกนะครับ
  • ขอบคุณมากครับ
  • ขอบคุณอาจารย์ขจิตค่ะ
  • น่ารักเหมือนเดิมไม่เคยเปลี่ยนเลยนะคะ....ตามไปเยี่ยมที่บันทึกของอาจารย์มา ได้รู้จักเกมสนุก ๆ ช่วยฝึกทักษะทางภาษา....ต้องขอขอบคุณมากค่ะ
  • เราคงได้พบกันในวันที่ 1-2 ธ.ค.นี้นะคะ
  • ขอบคุณมากค่ะ
  • ขอบคุณมากครับ
  • ดีใจที่จะได้พบตัวเป็นๆครับ

ขอขอบคุณเป็นอย่างสูงครับ

อ่านสรุปแล้วเห็นภาพเหมือนดูvcd KM ชาวนาไทยเลยครับ ประหยัดจริงๆครับ ทั้งเวลา ทั้งค่าใช้จ่าย แต่ถ้าได้สัมผัสบรรยากาศคงจะได้รายละเอียดด้านอื่นๆ

เฮ้อ...เสียดายจัง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท