๒๔ ชั่วโมง


จิตวิวัฒน์ : ๒๔ ชั่วโมง       
เขียนโดย เดวิด สปิลเลน
  


 
สมัยที่ผมยังเป็นนักศึกษาเมื่อนานมาแล้ว พวกเรามักจะดื่มเบียร์และพูดคุยเรื่องสัพเพเหระอยู่ในหอพักชายเกือบตลอดคืน นอกจากเรื่องฟุตบอลและผู้หญิงแล้ว พวกเราจะแลกเปลี่ยนกันเสมอๆ ในเรื่องการเมือง ปรัชญา ครูที่เราชอบและไม่ชอบ สิ่งที่เราอยากเป็นหรืออยากทำในอนาคต อยากเป็นหมอ เป็นนักกฎหมาย เป็นนักธุรกิจ ปัจจุบันเมื่อมองย้อนกลับไปในเวลานั้น มันน่าสนใจว่า มีพวกเราเพียงไม่กี่คนที่ได้ทำงานตามที่ฝันไว้ ยกตัวอย่างเช่น เพื่อนสนิทที่สุดของผมในตอนนั้นซึ่งเรียนวารสารศาสตร์และอยากจะเป็นนักเขียน สุดท้ายไปเป็นนายหน้าค้าหุ้น

 หัวข้อหนึ่งที่พวกเราชอบแลกเปลี่ยนกันเสมอๆ คือถ้าเราสามารถใช้เวลาตลอด ๒๔ ชั่วโมงอยู่กับใครก็ได้ในโลกนี้ คนๆ นั้นคือใคร? เป็นเรื่องธรรมดา ที่ในวัยขนาดนั้นพวกเราส่วนใหญ่จะเลือกดาราภาพยนตร์ที่สวยหรือมีเสน่ห์เย้ายวนใจ ก็เรายังเป็นหนุ่มอยู่นี่ครับ

ณ วันนี้ ถ้าผมถามตัวเองด้วยคำถามเดิมอีกครั้ง คำตอบของผมคือสัตเปรมและสุชาตา ภรรยาชาวอินเดียของเขา ผมแน่ใจว่าพวกคุณส่วนใหญ่ไม่เคยได้ยินชื่อสัตเปรม คุณอาจจะทึกทักเอาจากชื่อสันสกฤตว่าเขาเป็นชาวอินเดีย อาจจะเป็นคุรุของคนบางกลุ่มบางพวก แต่ที่จริงแล้วสัตเปรมเป็นชาวฝรั่งเศส ชื่อ แบร์นาร์ด อ็องจิเนร์ เกิดในปารีสเมื่อปี ค.ศ. ๑๙๒๓ และยังมีชีวิตอยู่อย่างสันโดษกับภรรยาในบริเวณตะวันตกเฉียงใต้ของอินเดีย ผมคิดว่าเขาเป็นคนที่มีเสน่ห์และมีจิตวิญญาณลึกซึ้งที่สุดคนหนึ่งที่ยังมีชีวิตอยู่บนโลกวันนี้

  เมื่อสัตเปรมยังเด็ก ครอบครัวของเขาย้ายบ้านไปอยู่ที่บริตตานี แถบชายฝั่งของฝรั่งเศส เขาเป็นคนหัวรั้นมากมาตั้งแต่เด็กแล้ว ไม่ชอบไปโรงเรียน ไม่ชอบบาทหลวงที่เขาต้องไปฟังเทศน์ในโบสถ์วันอาทิตย์ ไม่ถูกกับพ่อ ผมแน่ใจว่าพ่อแม่ของเขาจะต้องคิดว่าเขาเป็นเด็กมี “ปัญหา”

สัตเปรมหลงใหลการแล่นเรือมาตั้งแต่เด็ก ในวัยสิบขวบต้นๆ เขามีเรือใบเล็กๆ ลำหนึ่งเป็นของตัวเองและมักจะหนีออกไปแล่นเรือในทะเลบ่อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เมื่ออยู่เพียงลำพังกับท้องทะเล ฟ้ากว้าง และเหล่านกนางนวล เขาจะพบความสงบสันติและเข้าสู่สภาวะจิตจักรวาล กลายเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติอยู่เสมอๆ

เมื่อเยอรมันบุกโจมตีและพิชิตฝรั่งเศสได้ในช่วงต้นสงครามโลกครั้งที่ ๒ สัตเปรมเข้าร่วมกับขบวนการต่อต้านเยอรมันอย่างลับๆ (คล้ายเสรีไทย) เมื่ออายุได้ ๑๙ ปี วันหนึ่งเมื่อเขาเดินไปตามถนนในปารีส รถตำรวจคันหนึ่งมาหยุดอยู่ข้างๆ และพวกเกสตาโป (ตำรวจลับของนาซี) ก็จับตัวเขาไปแยกขังเดี่ยวและทรมานอยู่นานกว่า ๑ ปี เพื่อให้เขาบอกชื่อสมาชิกคนอื่นๆ ในขบวนการต่อต้านออกมา แต่เขาไม่เคยเปิดเผยชื่อใดๆ ออกไปเลย จึงถูกตัดสินให้ประหารชีวิต แต่พ่อแม่ของเขาได้มาขอร้องเกสตาโปถึงที่ปารีส พวกนั้นจึงเปลี่ยนคำพิพากษาโดยการส่งสัตเปรมไปยังค่ายใช้แรงงานแทน หนึ่งในเกสตาโปที่เคี่ยวเข็ญทรมานเขายังโน้มน้าวพ่อของเขาให้ไปบอกลูกชายให้เปิดเผยชื่อคนอื่น โดยสัญญาว่าจะผ่อนผันโทษให้ พ่อของเขามองตาชายผู้นั้นและถามว่า คุณทำอย่างนั้นกับลูกคุณได้ไหม?

ในที่สุด สัตเปรมถูกส่งไปที่บูเคนวัลด์ ค่ายกักกันที่น่ากลัวที่สุดแห่งหนึ่งของนาซี เขารอดชีวิตมาได้อย่างน่าอัศจรรย์จนกระทั่งสงครามยุติและได้กลับบ้านเมื่ออายุ ๒๒ ปี พร้อมกับอาการป่วยทั้งทางกาย ใจ และจิตวิญญาณ จากการเป็นประจักษ์พยานและฝืนทนต่อความขนพองสยองเกล้าอย่างสุดๆ ในเวลาต่อมาเมื่อมองย้อนกลับไป สัตเปรมกล่าวว่าในแง่หนึ่งประสบการณ์นั้นเป็นผลดีกับเขาไม่น้อย เพราะหลังจากนั้นเขาไม่เคยสนใจสิ่งที่เรียกว่าชีวิตสามัญ มหาวิทยาลัย อาชีพการงาน และครอบครัวอีกเลย ไม่มีสิ่งใดในโลกนี้ที่น่าดึงดูดใจสำหรับเขา สัตเปรมกล่าวว่าเขาจะแสวงหาสัจจธรรมของชีวิตหรือความตายให้พบ

หลังจากสุขภาพของเขาดีขึ้น สัตเปรมเดินทางไปอียิปต์และอาศัยอยู่ตัวคนเดียวในทะเลทรายใกล้ๆ กับปิรามิดและสฟริงซ์ จากนั้นจึงเดินทางพร้อมกับลูกพี่ลูกน้องซึ่งเป็นข้าราชการไปที่ป็องดิแชร์รี อันเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสทางตะวันออกเฉียงใต้ของอินเดีย และเป็นที่ตั้งของอาศรมศรีอรพินโท แม้ว่าสัตเปรมจะไม่รู้อะไรเลย แต่เมื่อเขาไปถึง ศรีอรพินโทและเดอะ มาเธอร์ หรือ “คุณแม่” ผู้ร่วมก่อตั้งอาศรม กำลังทำพิธีไหว้ครู (darshan) โดยการแสดงความเคารพและรับพรจากครู สัตเปรมเข้าร่วมในพิธีดังกล่าวด้วย เมื่อจบพิธี เขามองเข้าไปในดวงตาของพวกท่านแต่ละคน ช่วงเวลานั้นนานไม่เกิน ๒ นาที แต่มันได้เปลี่ยนชีวิตเขาไปตลอดกาล ทำไมน่ะหรือ? ก็เพราะดวงตาของท่านทั้งสองแตกต่างจากคนทั่วไปมาก (ศรีอรพินโทเป็นชาวอินเดีย คุณแม่เป็นชาวฝรั่งเศส) เขาพบว่าการค้นพบสัจธรรมในชาตินี้เป็นสิ่งที่เป็นไปได้

แม้กระนั้น เขาก็ออกจากอาศรมและกลับไปฝรั่งเศสอย่างรวดเร็ว คนที่เป็นกบฏมาตลอดชีวิตอย่างเขาย่อมไม่อาจทนใช้ชีวิตอยู่ในอาศรมแห่งใดแห่งหนึ่งได้ เขาไปทำงานในป่าที่กิอานา (อาณานิคมของฝรั่งเศสทางตอนเหนือของทวีปอเมริกาใต้) ไปทำไร่ที่อเมริกาใต้ ไปขายพจนานุกรมภาษาฝรั่งเศสที่อาฟริกาตะวันตก แต่ในที่สุด เขาก็กลับไปหาคุณแม่ที่อินเดีย ตอนนั้นศรีอรพินโทได้ถึงแก่กรรมไปแล้ว

เขาได้เป็นศิษย์ของคุณแม่ แม้หลายปีที่ผ่านมาเขาจะไม่ชอบอาศรมที่ตนเคยจากไปก็ตาม อันที่จริง ครั้งหนึ่งเขาเคยเป็นสันยาสีและท่องเที่ยวไปตามท้องถนนในอินเดียและศรีลังกานาน ๒ ปี แต่ในที่สุดเขาก็กลับไปเป็นศิษย์และคนสนิทของคุณแม่ในช่วง ๑๒ ปีสุดท้ายของชีวิตท่าน เมื่อสัตเปรมพูดคุยกับเธอตามลำพัง เขาได้บันทึกการสนทนาเหล่านั้นเอาไว้ หลังจากคุณแม่ถึงแก่กรรมในปี ๑๙๗๓ เมื่ออายุ ๙๕ ปี สัตเปรมตีพิมพ์การสนทนาเหล่านั้นเป็นหนังสือ ๑๓ เล่ม ชื่อ The Mother's Agenda ลองจินตนาการถึงการสนทนาตามลำพังกับคุรุทางจิตวิญญาณวัย ๙๐ ปีคนหนึ่งที่เริ่มปฏิบัติมาตั้งแต่อายุ ๑๕ จะต้องเป็นหนังสือที่พิเศษอย่างแน่นอน ใจความย่อๆ ของหนังสือเหล่านั้นหาอ่านได้ในหนังสือของสัตเปรมเรื่อง The Mind of the Cells

ในปี ๑๙๘๒ สัตเปรมอยู่อย่างสันโดษ เขาปฏิเสธการเป็นคุรุหรือการสร้างอาศรม แม้ว่าจะเขียนและตีพิมพ์หนังสือจำนวนมากอย่างต่อเนื่องทั้งในภาษาฝรั่งเศสและอังกฤษ แต่เขาไม่ต้อนรับผู้มาเยี่ยมเยือน เมื่อ ๒-๓ ปีก่อน ผมสามารถติดต่อทางจดหมายกับเขา ๓ ครั้ง ทำให้มีความสุขมาก แต่ผมก็ยังไม่สามารถใช้เวลา ๒๔ ชั่วโมงกับเขาได้ ถ้าทำได้ผมจะไปอย่างแน่นอน

แล้วคุณล่ะ คุณต้องการใช้เวลา ๒๔ ชั่วโมงกับใคร?


เดวิด สปิลเลน
๑๑ สิงหาคม ๒๕๔๙
วรพงษ์ เวชมาลีนนท์ แปล
แผนงานพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
www.jitwiwat.org
ตีพิมพ์ใน มติชนรายวัน ๑๖ กันยายน ๒๕๔๙

 

 

คำสำคัญ (Tags): #จิตวิวัฒน์
หมายเลขบันทึก: 62621เขียนเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2006 06:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:29 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท