ความฝัน - ที่มาคืออะไรและมาได้อย่างไร?


จิตวิวัฒน์ : ความฝัน - ที่มาคืออะไรและมาได้อย่างไร?       
เขียนโดย ประสาน ต่างใจ
 


  
มนุษย์เราดำรงอยู่ท่ามกลางมหาสมุทรแห่งข้อมูลโดยไม่รู้ตัว เมื่อไม่รู้ตัวก็ไม่รู้ จึงต้องอยู่กับอวิชชาที่เราคุ้นกับมันและจะโกรธหากมีใครมาพูดว่าเราเช่นนั้น เหมือนปลาน้อยที่ว่ายวนเวียนอยู่ในทะเลเพื่อค้นหาว่าทะเลอยู่ที่ไหน ในความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน เชื่อว่านั่นเป็นเจตนาของจักรวาลที่ทำให้เรามัวเมาอยู่กับความรู้สึกที่ได้จากผัสสะสฬายตนะ “มายา” ที่เป็นด้านโลกียะของความเป็นสอง ความเป็นสีสันทุกข์สุขที่เราคุ้นเคยดำรงอยู่กับมัน ทำให้เราคิดว่านั่นคือธรรมชาติของชีวิตหรือของมนุษย์ (human nature) นั่นคือความจริงที่เราไม่มีทางเลือก และต้องอยู่กับมันจนวันตาย และเป็นเพราะอวิชชาความไม่รู้อีกด้านหนึ่งของความเป็นสองเช่นนั้นเอง ที่ทำให้เราต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารวัฏ ทำให้เราต้องเดินทางเพื่อเรียนรู้ความจริงที่อยู่อีกด้านหนึ่งของความเป็นสองนั้น เป็นการเรียนรู้ที่ มาร์กาเร็ต มีด เรียกว่า “การเรียนรู้หมดทั้งกระบวนการ” (whole process learning) ความรู้อีกด้านหนึ่งที่อยู่รอบๆ ตัวเรา ที่ปรากฏออกมาเป็นครั้งๆ คราวๆ ในรูปของโค้ดหรือสัญลักษณ์ หรือเหตุการณ์ที่พ้องต้องกัน (synchronicity) หรือความฝัน ฯลฯ ประสบการณ์ที่นักวิชาการ โดยเฉพาะนักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อว่าเป็นเรื่องไร้สาระ ไม่จริง หรือบังเอิญ โดยบทความนี้ ผู้เขียนจะชี้เฉพาะที่มาของความฝันไปอีกทาง โดยมีหลายอย่างตรงข้ามกับที่เชื่อกันอย่างที่ว่ามานั้น เป็นต้นว่าความฝันเกิดจากคิดมาก อาหารไม่ย่อย อั้นปัสสาวะ หรืออะไรง่ายๆ ของคนขี้เกียจคิด ผู้เขียนเชื่อว่ามันมีอะไรมากกว่านั้น

ผู้เขียนเชื่ออย่างมีหลักฐานหรือมีเหตุผลที่เปิดกว้างสำหรับผู้ที่มีหลักฐานหรือเหตุผลที่ดีกว่า ที่ต้องการโต้แย้งหรือคัดค้านความเห็น และ/หรือข้อมูลของผู้เขียนที่มีว่า ความฝัน อย่างน้อยส่วนหนึ่งที่เป็นส่วนใหญ่เสียด้วยมีความสัมพันธ์กับ “ความจริงแท้ หรือมหาปัญญาอันสากลของจักรวาล” ดังที่ คาร์ล จี. จุงเชื่อ หรือแม้แต่ เคน วิลเบอร์ เองก็พูดไปในทำนองเดียวกัน

 ความคิดเห็นของ คาร์ล จุง ในเรื่องของความฝันมีดังนี้ “ ความฝันเป็นประหนึ่งประตูเล็กๆ ที่ซ่อนอยู่ข้างในสุดเร้นลับที่สุดของจิตไร้สำนึก (psyche = unconsciousness as consciousness) ประตูที่เปิดสู่จักรวาลยามค่ำคืนที่มืดมิด หรือสู่แหล่งที่มาของจิตไร้สำนึกก่อนที่มันจะเปลี่ยนเป็นจิตแห่งอหังการ์ในมนุษย์ – ที่จะยังคงเป็นจิตไร้สำนึกของจักรวาลตลอดไปไม่ว่าจักรวาลจะขยายไปถึงไหน ... จิตนั้นอาจมีหลากหลายรูปแบบ แต่ในฝันเราจะเป็นเสมือนมนุษย์ที่มีความเป็นสากลจริงๆ เป็นความจริงที่แท้จริงกว่านิรันดร ที่ดำรงอยู่ในความมืดสลัวของ “แสงแรกแห่งจักรวาล” (primordial light) มนุษย์ที่เป็นส่วนย่อยของทั้งหมดเท่าๆ กับมีทั้งหมดอยู่ในส่วนย่อย และเป็นสิ่งเดียวกับ “ธรรมชาติที่ไร้อหังการ์” จากหนึ่งที่เป็นทั้งหมด - ทั้งหมดที่เป็นหนึ่งนี้เองที่ความฝันอุบัติขึ้นมา ไม่ว่าความฝันนั้นๆ จะดูไร้เดียงสาหรือว่าจะโอ่อ่าโอฬารหรือว่าจะไร้สิ้นซึ่งคุณธรรมมนุษยธรรมแค่ไหนก็ตาม” (Carl Jung : Memeries, Dreams, Reflections; 1963)

นั้นเป็นการนำเอาความฝันเข้าไปเกี่ยวพันกับไซคี (psyche) หรือจิตไร้สำนึกร่วมสากลของจักรวาลเป็นครั้งแรกในทางจิตวิทยา แต่จริงๆ แล้ว ผู้ที่พูดเรื่องจิตไร้สำนึกที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมเป็นคนแรก คือซิกมันด์ ฟรอยด์ ที่เราทุกคนรู้จักชื่อเสียงของเขาดี ความสัมพันธระหว่าง คาร์ล จุง กับ ซิกมันด์ ฟรอยด์ นั้นล้ำลึกยิ่งนัก เมื่อฟรอยด์ตั้งใจและพยายามที่จะทำให้ประชาชนคนทั่วไปโดยเฉพาะนักวิชาการของยุโรปเข้าใจว่า คาร์ล จุง คือทายาททางวิชาการของเขา หรือยิ่งกว่านั้นเป็นลูกบุญธรรมของเขา ส่วนจุงเองในช่วงหนึ่งก็นับถือ ซิกมันด์ ฟรอยด์ มากประหนึ่งเป็นครูเป็นบิดาของตน จุงนับถือวิธีการของฟรอยด์ในการวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วย (psychoanalysis) ที่นำไปสู่การแปลความฝัน ที่ฟรอยด์ตีพิมพ์เป็นหนังสือ Interpretation of Dreams จุงบอกว่านี่เป็นหนังสือที่ดีที่สุดของฟรอยด์ แต่จุงก็ไม่เห็นด้วย นั่นคือฟรอยด์ได้นำเอาเรื่องของจิตใต้สำนึก (ไร้สำนึก) ที่กำหนดพฤติกรรมของมนุษย์มาเขียนเป็นครั้งแรกในโลกแห่งวิชาการ เพียงแต่ฟรอยด์เอาเรื่องของกามารมณ์เพียงอย่างเดียวไปผูกไว้กับพฤติกรรมของมนุษย์ที่เกิดตามมาจากจิตไร้สำนีกที่ถูกกดดันเอาไว้ในอดีต

ก่อนที่จุงจะแต่งงานกับเอ็มมา – คนละคนกับคนไข้ของฟรอยด์ที่ชื่อเอ็มมาเหมือนกันที่ทำให้ ฟรอยด์สร้างทฤษฎีความฝันขึ้นมา (Emma’s dream) ทีแรกจุงทำท่าจะรับเป็นทายาท แต่สาเหตุหนึ่งที่ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองคนไม่อาจลุล่วงเช่นนั้นได้ เพราะตอนนั้นจุงต้องการจะเป็นจิตแพทย์ จึงต้องการการรับรองจากสภานักวิชาการที่ไม่ชอบฟรอยด์เท่าไรนัก เพราะ ซิกมันด์ ฟรอยด์ เป็นคนหยิ่งที่อหังการ์ ผู้ไม่เชื่อในเรื่องของพระเจ้าและจิตวิญญาณอย่างเปิดเผย ช่วงนั้นจุงยังปรารถนาการยอมรับจากวงวิชาการ จึงทำให้ความสัมพันธ์ฉันท์พ่อลูกระหว่างทั้งสองต้องถูกชะลอเอาไว้ก่อน หลังจากนั้นไม่นานนัก ทั้งสองก็เดินทางมาประชุมที่สหรัฐอเมริกานานถึงสามสัปดาห์โดยอยู่ด้วยกันตลอดเวลา และช่วงนั้นเองที่คาร์ล จุง รู้ว่า นอกจากตนจะสืบทอดเจตนารมณ์ของฟรอยด์ไม่ได้แล้ว - โดยหลักการ – แม้โลกทัศน์ของทั้งสองคนก็ดูเหมือนจะอยู่ตรงข้ามกันและกัน การรู้เช่นนั้นเป็นผลจากความฝันของฟรอยด์ที่ตัวฟรอยด์เองต้องการให้จุงช่วยแปล ปรากฏว่าความเห็นในเรื่องของการตีความจิตไร้สำนีกเป็นไปคนละทาง สำหรับฟรอยด์ความฝันเป็นประเด็นทางจิต ความปรารถนาที่ไม่สามารถทำให้สำเร็จได้ในชีวิตจริง จึงหวังจะให้มันสำเร็จในฝัน พฤติกรรมเช่นนั้นฟรอยด์บอกว่าเป็นผลของความเก็บกดทางเพศในขณะยังเป็นเด็ก นั่นคือ พฤติกรรมทั้งหมดเป็นผลของจิตใต้สำนึกของความกดดันทางเพศเท่านั้นและเท่านั้น สัญลักษณ์ที่ปรากฏเป็นความฝันคือความปรารถนาทางเพศในอดีต ซึ่งสำหรับจุง พฤติกรรมที่แสดงออกในฝัน ไม่น่าจะได้มาหรือมีที่มาจากความกดดันทางเพศอย่างเดียวเท่านั้นและเท่านั้น แต่อาจเป็นความทรงจำที่ฝังใจทุกอย่าง เช่นความไม่เป็นธรรม การถูกเหยียดหยามซ้ำซาก ฯลฯ และความทรงจำก็ไม่ได้ยุติที่อดีตที่เกิดขึ้นในชีวิตนี้เท่านั้น แต่ความทรงจำนั้นๆ ยังอาจจะไล่กลับไปถึงแหล่งความจำของเผ่าพันธุ์ (archetype) และไล่ต่อไปถึงสนามจิตไร้สำนึกร่วมอันเป็นสากลของจักรวาล (universal unconscious continuum)

ในกรณีความฝันของฟรอยด์ที่กล่าวมานั้น เป็นฟรอยด์เองที่ต้องการให้จุงแปลสัญลักษณ์ของจิตไร้สำนึกที่ว่านั่น จุงจึงบอกกับฟรอยด์ว่าข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับอดีตของฟรอยด์มีไม่พอ จึงขอให้ฟรอยด์ช่วยเล่าประวัติทั้งหมดที่จำได้มาให้ด้วย และตรงนี้เองที่ฟรอยด์ตอบจุงไปว่า “ในฐานะที่เป็นผู้รอบรู้ที่มีศักดิ์ศรีของนักวิชาการ ผมไม่ยอมเสี่ยงกับการเอาความเป็นอาญาสิทธิ์และศักดิ์ศรีมาแลกกับความเป็นส่วนตัวของผมหรอก” จุงรับการปฏิเสธเช่นนี้ไม่ได้ สำหรับจุงแล้ว ความจริงทางวิชาการอยู่เหนือตัวคนและอหังการ์ หรือเหนือ “อาญาสิทธิ์หรือศักดิ์ศรี”มากนัก

และเรื่องที่ฟังดูแล้วอาจไม่สำคัญกับเรา แต่สำหรับจุงแล้ว เรื่องของตัวตนอหังการ์จะสำคัญกว่าข้อเท็จจริงได้อย่างไร? ในเมื่อเราเอง – ไม่ว่าจะยิ่งใหญ่แค่ไหนก็ตาม – ก็เป็นนักวิทยาศาสตร์ผู้แสวงหาความจริง อย่างไรก็ตาม คาร์ล จี. จุง เก็บเรื่องนี้ไว้ในใจและนำมาเล่าไว้ในหนังสือที่อ้างถึงข้างบน โดยตีพิมพ์หลังจากที่ ซิกมันด์ ฟรอยด์ได้จากโลกไปแล้วหลายทศวรรษ

หากเราเข้าใจที่มาและกระบวนการวิวัฒนาการทางชีววิทยาของสมอง (กายภาพ) หรือ (the trune brain theory) โดยเฉพาะวิวัฒนาการของจิต (spectrum of consciousness) และเชื่อในทฤษฎีว่าด้วยที่มาหรืออุบัติการณ์ของความรู้ เป็นต้นว่า เราได้สูตรคณิตศาสตร์ (หรือวิทยาศาสตร์ หรือญาณทัสสนะ ฯลฯ) มาจากไหนและอย่างไร? ทฤษฎีที่ อมิต โกสวามี นักฟิสิกส์แห่งมหาวิทยาลัยโอเรกอนอธิบายที่มาของความรู้ (เช่น มาจากโลกแห่งคณิตศาสตร์ของพลาโต้) ที่ อมิต โกสวามี เชื่อว่ามาจากจิตจักรวาลหรือมหาปัญญาจักรวาล(the science within consciousness theory –SWC) ที่ทั้ง อมิต โกสวามี และ เคน วิลเบอร์ รวมทั้งนักคิดคนอื่นๆ ใช้อธิบายที่มาและกระบวนการของความรู้ (valid knowledge accumulation) เราก็จะสามารถแปลความฝันหรือสามารถถอดรหัสสัญลักษณ์ของงานศิลปะที่ไม่ต่างไปจากการแปลความฝันได้ทั้งหมด

ทฤษฎีแรกเชื่อว่าผู้อ่านทุกคนต่างเคยได้ยินได้ฟังมา นั่นคือทฤษฎีสมองสามส่วนของ พอล แม็คคลีน (Paul McLene’s Triune Brain) ที่เป็นที่ยอมรับกันอย่างเป็นเอกภาพ ว่าด้วยวิวัฒนาการทางกายภาพของสมองที่เป็นมาตลอดเวลาของไบโอเจเนสิสกระทั่งมาเป็นสมองของมนุษย์อย่างไร ส่วนทฤษฎีว่าด้วยวิวัฒนาการของจิตนั้นมีนักคิดโดยเฉพาะนักปรัชญาว่าด้วยธรรมจิต หรือจิตวิญญาณมากมาย ไม่ว่า พลาโต้ โพลตินัส ศรีอรพินโท และคนอื่นๆ ที่ผู้เขียนนำมาเขียนในช่วงหลายปีมานี้ นั่นคือสเปคตรัมของจิตที่หากพูดโดยหลวมๆ -ก็มีสามระดับ คือ หยาบ ละเอียด และละเอียดอย่างยิ่ง ที่แต่ละระดับก็แยกย่อยต่อไป รวมกันแล้วจะมี ๘ ระดับ (ดู Ken Wilber : Spectrum of Consciousness, 1973)

 ส่วนที่มาและกระบวนการแห่งความรู้ (validity of knowledge) ที่รวมเอาญาณทัสสนะเอาไว้ด้วยนั้น มีสามระดับคือ หนึ่ง การหาข้อมูลให้ได้มากที่สุด (injunction) สอง การนำข้อมูลมาชงมาวิเคราะห์จนถึงทางตัน (apprehension or incubation) และสาม ความรู้ที่ว่านั้น (สูตรคณิตศาสตร์-วิทยาศาสตร์-ปัญญาญาณทัสสนะก็จะปรากฏขึ้น (intuition – manifestation or confirmation- Aha…Eurada…etc.) มาของมันเอง

การแปลความฝัน หรือการถอดรหัสสัญลักษณ์ที่ประกอบเป็นความฝันนี้ – โดยหลักการ - ไม่ได้ต่างไปจากการแปลงานศิลปะใดๆ ไม่ว่าภาพวาดหรือบทกวี แต่ผู้แปลต้องมีข้อมูลรอบด้านพอ และอย่าลืมว่า การแปลหรือการตีความหมายอะไรก็ตามมีทักษะของศิลปะบูรณาการเป็นบริบทที่สำคัญ หัวใจสำคัญของความฝันคือสัญลักษน์ของความฝันนั้นๆ เช่น เรือ รถ หรือพาหะหนึ่งใด รวมทั้งการเดินไปในที่ต่างๆ ทั้งหมดคือการเดินทาง รวมทั้งเดินทางไปปรภพ ดอกไม้สวยหรือเทียนไขสุกสว่าง คือความเป็นมิตรคือความก้าวหน้า นั่นเป็นภาพรวมๆ ที่จริงๆ แล้ว การแปลความฝันแต่ละความฝัน มันละเอียดและซับซ้อน เป็นองค์รวมกว่านั้น เคน วิลเบอร์ บอกว่าความฝันทุกๆ ความฝันมีสัญลักษณ์เป็น “พาหะ” ที่นำพา “ความหมาย” โดยแต่ละระดับและทุกๆ ระดับของจิต ล้วนให้ความหมายภายใต้สัญลักษณ์เดียวกันแต่มีความแตกต่างกัน (ในภาพรวมของธรรมชาติจะมีสามระดับคือ หยาบ ละเอียด และละเอียดอย่างยิ่ง ในพุทธศาสนาโดยมหาสติปัฏฐานสี่ แยกหยาบเป็นสองคือกายกับเวทนา ละเอียดหนึ่งคือจิต (จิตใจ) กับละเอียดอย่างยิ่งอีกหนึ่งคือธรรม เคน วิลเยอร์ แยกระดับหลักใหญ่ๆ ออกเป็นสี่ระดับเหมือนกัน คือ – physical – emotional – mental or self-rational – และสุดท้าย ระดับจิตไร้สำนึกที่เป็น จิตเหนือสำนึกหรือธรรมจิต (spiritual) ที่แยกต่ออีกเป็นสี่ระดับย่อย – สู่นิพพาน)

การแปลความฝันหนึ่งใดนั้น เราต้องไล่แปลไปตามลำดับเพื่อค้นหา “ความหมาย” ที่ซ่อนอยู่ในความฝัน ให้คล้องจองหรือสอดคล้องกับสเปคตรัมของจิตแต่ละระดับนั้น ไล่ขึ้นไปและเชื่อมโยงเป็นบูรณาการ (from physical meaning to emotional meaning to mental meaning to spiritual meaning) แต่ละระดับจะมีบริบทของมันที่จะต่อเนื่องและคลี่ขยาย – เหมือนวงคลื่นที่ทับซ้อนกัน และแต่ละวงคลื่นนั้นๆ จะประกอบด้วยระลอกน้อยๆ ที่เต็มไปด้วยความหมายทั้งสิ้น

 

ประสาน ต่างใจ

 แผนงานพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์

สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

www.jitwiwat.org

คำสำคัญ (Tags): #จิตวิวัฒน์
หมายเลขบันทึก: 62620เขียนเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2006 05:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 14:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท