​อำเภอสองพี่น้อง กับ อำเภอบางลี่ ใครเก่ากว่าใคร


อำเภอสองพี่น้อง กับ อำเภอบางลี่ ใครเก่ากว่าใคร

โดย ครูพิสูจน์ ใจเที่ยงกุล



พอดีผมได้รับข้อมูลเพิ่มเติม จากท่านเจ้าคุณ พระศรีธวัชเมธี ภมรพล(Phra Sithawatchamethi Phamonphon)(ชนะ ธมฺมธโช) พระสงฆ์ยอดนักปราชญ์ทางโบราณคดีเลือดเนื้อเชื้อไข ของจังหวัดสุพรรณบุรี ว่า อำเภอบางลี่ เปลี่ยนเป็นอำเภอสองพี่น้อง ราวพ.ศ.๒๔๔๕ และหลวงเทพบุรี (เอี่ยม สถาปิตานนท์)ที่มีชื่อเป็นนายอำเภอคนแรกในทำเนียบนายอำเภอสองพี่น้อง ก็เปลี่ยนราชทินนามเป็นหลวงอุภัยภาติกเขต ก่อนที่จะเลื่อนบรรดาศักดื์เป็น พระ และพระยาอุภัยภาติเขตต์(เขียนตามทำเนียบนายอำเภอ)ตามลำดับ และผมได้ความรู้และแนวคิดเกี่ยวกับความหมายของคำในราชทินนาม ของนายอำเภอสองพี่น้อง(เอี่ยม สถาปิตานนท์) เพิ่มเติม ผมจึงนำเรื่องราวที่ผมเขียนไว้ว่า อำเภอบางลี่กับอำเภอสองพี่น้องใครเก่ากว่ากันมานำเสนอไว้อีกครั้งหนึ่งดังนี้ครับ(ผมเพิ่งเข้าใจว่าทำไมหลวงเทพบุรี ต้องเปลี่ยนราชทินนามเป็น หลวงอุภัยภาติกเขต ก็เพราะเหตุผลที่ผมจะแสดงไว้ตอนท้ายของบันทึกนี้)

จากประวัติของอำเภอสองพี่น้อง กล่าวว่าอำเภอสองพี่น้องตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๙ แต่ไม่ระบุว่าแรกตั้งมีชื่อว่าอำเภอสองพี่น้องหรือไม่ แต่ในหนังสือราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๖ น่า(เขียนสะกด น่า ไม่ใช่หน้า)๑๖๗ วันที่ ๒๕ มิถุนายน ๑๑๘ (ขอขอบคุณครูอภิชัย เสาร์แสง(ครูขลุ่ย)ส่งมาให้) ระบุว่า
"เมืองสุพรรณบุรี แบ่งเปน(ไม่เขียนว่าเป็นใช้เปนตลอด) ๔ อำเภอ อำเภอเมือง หลวงอินธานีเปน นายอำเภอ รักษาการต่อติดกับเมืองอ่าง ทอง สิงคบุรี(สะกดแบบนี้จริงๆ) อำเภอบางปลาม้า ขุนรจนาเปนนายอำเภอ รักษาการต่อติดกับแขวงกรุงเก่า อ่างทอง อำเภอบางลี่ หลวงบรรเทาทุกขราษฎร์ เปนนายอำเภอ รักษาการ ต่อติดกับแขวงนครไชยศรี ราชบุรี กาญจนบุรี ประทุมธานี อำเภอบ้านทึง หลวงพรหมสุภาเปนนายอำเภอ รักษาการต่อติดกับเมืองสรรคบุรี สิงหบุรี(สะกดแบบนี้) กาญจนบุรี"
จากราชกิจจานุเบกษาหน้า(ซึ่งใช้ว่าน่า)๑๖๗นี้ ระบุปีเป็น ๑๑๘ ซึ่งน่าจะเป็นศักราช ที่เรียกว่ารัตนโกสินทร์ศก ที่นับตามปีที่ตั้งกรุงเทพฯเป็นราชธานี คือปี พ.ศ.๒๓๒๕ นับเป็นร.ศ. ๑ ดังนั้น ร.ศ.๑๑๘ ก็จะตรงกับปี พ.ศ.๒๔๔๒ เมื่อเปรียบเทียบกับประวัติอำเภอสองพี่น้อง ที่ตั้งเมื่อ พ.ศ.๒๔๓๙ ก็ห่างกันเพียง ๓ ปี อย่างไรก็ดี เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ คือพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราช
ผมจึงมีคำถาม ถามชาวสองพี่น้องว่า
๑. "เมื่อปีพ.ศ.๒๔๓๙ อำเภอของเราชื่ออำเภอสองพี่น้องหรืออำเภอบางลี่
๒. อำเภอสองพี่น้อง กับอำเภอบางลี่ เป็นอำเภอเดียวกันหรือไม่
๓. อำเภอบางลี่ กับอำเภอสองพี่น้อง อำเภอชื่อไหนเกิดก่อน
๔. ถ้าเป็นอำเภอเดียวกัน ทำไมจึงต้องเปลี่ยนชื่อ
ถามแค่นี้ก่อนนะครับ แล้วผมจะมาคุยกับท่านต่อไป
เมื่อเกิดความสงสัยครูพิสูจน์ จึงพยายามไปหาคำตอบ สถานที่แรกคือที่ ที่ว่าการอำเภอสองพี่น้อง ครูพิสูจน์ เดินทางไปที่เชิงบันไดที่ว่าอำเภอสองพี่น้อง ตรงนั้นมีทำเนียบนายอำเภอสองพี่น้อง จึงเอากระดาษแผ่นเล็กไปยืนลอกดังนี้
ทำเนียบนายอำเภอสองพี่น้อง
๑. พระยาอุภัยภาติเขตต์ (เอี่ยม สถาปิตานนท์) ดำรงตำแหน่ง ปี พ.ศ.๒๔๓๙-๒๔๖๐
๒.หลวงศิริเกษตรบริรักษ์(กรณ์ อัยยสานนท์)ดำรงตำแหน่ง ปี พ.ศ.๒๔๖๐-๒๔๖๓
๓.หลวงธรรมราษฎรบริหาร(แอร่ม สุนทรสารทูล)ดำรงตำแหน่ง ปี พ.ศ.๒๔๖๓-๒๔๖๕
๔.ขุนแจ้งประสาสน์(แจ้ง สกุลวงษ์)ดำรงตำแหน่ง ปี พ.ศ.๒๔๖๕-๒๔๖๗
๕.พระเทพคีรี(ซุ่นฮวด ทัพนานนท์)ดำรงตำแหน่ง ปี พ.ศ.๒๔๖๗-๒๔๖๙
๖.หลวงทำนุนิกรณ์ราษฎร์(เพลง ณ นคร)ดำรงตำแหน่ง ปี พ.ศ.๒๔๖๙-๒๔๗๑
๗.ขุนสมพลประศาสน์(เอก พรามพันธ์)ดำรงตำแหน่ง ปี พ.ศ.๒๔๗๑-๒๔๗๙
๘.ขุนอำนวยมงคลราษฎร์(สวัสดิ์ มงคลกูล)ดำรงตำแหน่ง ปี พ.ศ.๒๔๗๙-๒๔๘๐
๙.พระวรภักดิพิบูลย์(มล.นภา ชุมสาย)ดำรงตำแหน่ง ปี พ.ศ.๒๔๘๐-๒๔๘๒
๑๐.นายสะอาด ปายะนันท์ ดำรงตำแหน่ง ปี พ.ศ.๒๔๘๒-๒๔๘๕
๑๑.นายเฉลิม สุวรรณเนตร ดำรงตำแหน่ง ปี พ.ศ.๒๔๘๕-๒๔๘๖
๑๒.นายรักษ์ ช่วยจุลจิตร์ ดำรงตำแหน่ง ปี พ.ศ.๒๔๘๖-๒๔๙๐
๑๓.นายสุดใจ กรรณเลขา ดำรงตำแหน่ง ปี พ.ศ.๒๔๙๐-๒๔๙๑
๑๔.ขุนศิริรัฐเขตต์(พิชัย ศิริสมบัติ)ดำรงตำแหน่ง ปี พ.ศ.๒๔๙๑-๒๔๙๔
๑๕.นายอยู่ สุรพลชัย ดำรงตำแหน่ง ปี พ.ศ.๒๔๙๔-๒๔๙๔
๑๖.นายทัพ ทองอุดม ดำรงตำแหน่ง ปี พ.ศ.๒๔๙๔-๒๔๙๗
๑๗.นายเฉลิม สุวรรณเนตร ดำรงตำแหน่ง ปี พ.ศ.๒๔๙๗-๒๕๐๔
๑๘.นายลิขิต รัตน์สังข์ ดำรงตำแหน่ง ปี พ.ศ.๒๕๐๔-๒๕๐๗
๑๙.นายประมวล สุวรรณเกิด ดำรงตำแหน่ง ปี พ.ศ.๒๕๐๗-๒๕๑๕
๒๐.นายโกวิท รามนัฏ ดำรงตำแหน่ง ปี พ.ศ.๒๕๑๕-๒๕๒๑
๒๑.นายเชาว์ ธีระกุล ดำรงตำแหน่ง ปี พ.ศ.๒๕๒๑-๒๕๒๒
๒๒.นายเสงี่ยม ภูเขาทอง ดำรงตำแหน่ง ปี พ.ศ.๒๕๒๒-๒๕๒๔
๒๓.นายจำรัส พรรังสฤษฎ์(ป้ายเขียน สฤษ์ฎ)ดำรงตำแหน่ง ปี พ.ศ.
๒๕๒๔-๒๕๒๘
๒๔.นายประเสริฐ เปลี่ยนรังสี ดำรงตำแหน่ง ปี พ.ศ.๒๕๒๘-๒๕๓๐
๒๕.นายกำจร วิชพันธ์ ดำรงตำแหน่ง ปี พ.ศ.๒๕๓๐-๒๕๓๐
๒๖.นายไพบูลย์ สุนทรวิภาต ดำรงตำแหน่ง ปี พ.ศ.๒๕๓๐-๒๕๓๒
๒๗.ร.ต.เจริญ อุปราคม ดำรงตำแหน่ง ปี พ.ศ.๒๕๓๒-๒๕๓๒
๒๘.ร.ต.ประเสริฐ สุคนธมาน ดำรงตำแหน่ง ปี พ.ศ.๒๕๓๒-๒๕๓๔
๒๙.นายพิงค์ รุ่งสมัย ดำรงตำแหน่ง ปี พ.ศ.๒๕๓๔-๒๕๓๙
๓๐.นายทรงฤทธิ์ พิมพ์โพธิ์ ดำรงตำแหน่ง ปี พ.ศ.๒๕๓๙-๒๕๔๓
๓๑.นายอำนวย ตั้งเจริญชัย ดำรงตำแหน่ง ปี พ.ศ.๒๕๔๓-๒๕๔๕
๓๒.ว่าที่ร.ต.สุพีร์พัฒน์ จองพานิช ดำรงตำแหน่ง ปี พ.ศ.๒๕๔๕-๒๕๔๘
๓๓.นายสุรพงษ์ แก้วปาน ดำรงตำแหน่ง ปี พ.ศ.๒๕๔๘-๒๕๕๐
๓๔.นายปรีชา โชติทวีวัฒน์ ดำรงตำแหน่ง ปี พ.ศ.๒๕๕๐-๒๕๕๐
๓๕.นายนิธิภัทร เสนาะดนตรี ดำรงตำแหน่ง ปี พ.ศ.๒๕๕๐-๒๕๕๒
๓๖.นายทวีชัย พลายชุมพล ดำรงตำแหน่ง ปี พ.ศ.๒๕๕๓-๒๕๕๔
๓๗.นายปรีชา โชติทวีวัฒน์ ดำรงตำแหน่ง ปี พ.ศ.๒๕๕๔-๒๕๕๗
๓๘.นายวิศิษฐ์ อนันต์วรปัญญา ดำรงตำแหน่ง ๒๐ มกราคม พ.ศ.
๒๕๕๘-ปัจจุบัน
เมืออ่านทำเนียบนายอำเภอสองพี่น้องจบ ก็ทำให้ได้แง่คิดทันทีเพราะจากหนังสือราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๖ น่า(ไม่ใช่หน้า) ๑๖๗ ลงวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๑๑๘(น่าจะเป็นร.ศ. จึงตรงกับปีพ.ศ. ๒๔๔๒ คือ พ.ศ.๒๓๒๔+๑๑๘ = ๒๔๔๒) พ.ศ.๒๔๔๒ นั้นนายอำเภอบางลี่ชื่อหลวงบรรเทาทุกขราษฎร์ ซึ่งมีผู้รู้วงเล็บชื่อของท่านว่า "เทียน ภมรพล" ส่วนในทำเนียบนายอำเภอสองพี่น้อง ช่วงเวลา พ.ศ.๒๔๓๙-๒๔๖๐ นายอำเภอสองพี่น้องชื่อ พระยาอุภัยภาติเขตต์(เอี่ยม สถาปิตานนท์) ถ้าข้อมูลไม่ผิดพลาด ในช่วงเวลาเดียวกันชื่ออำเภอสองชื่อนี้ มีนายอำเภอคนละชื่อ คนละคน
เรารู้ประวัติว่าอำเภอสองพี่น้องตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๙ แต่ไม่รู้ว่าอำเภอบางลี่ ตั้งขึ้นเมื่อปีใด แต่ทราบแน่ว่า ปี พ.ศ.๒๔๔๒ มีชื่ออำเภอบางลี่ เป็นอำเภอหนึ่ง ในเมืองสุพรรณบุุรี
มีเรื่องที่น่าสังเกตว่า ท่านอดีตรองนายกรัฐมนตรีทองหยด จิตตวีระ ซึ่งท่านเคยเป็นนายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลสองพี่น้อง มาก่อนหลายสมัย ท่านเล่าว่า เดิมที่ว่าการอำเภอสองพี่น้องตั้งอยู่ใกล้ๆตลาดบางลี่ เป็นไปได้ไหมที่ทำให้เรียกว่า อำเภอบางลี่ ในตอนนั้น แต่ต่อมาที่ว่าการอำเภอได้ย้ายไปอยู่ที่บ้านปากคอก และใช้บ้านของพระยาอุภัยภาติเขตต์(เอี่ยม สถาปิตานนท์)นายอำเภอคนแรก (ในทำเนียบนายอำเภอสองพี่น้อง)เป็นที่ว่าการเพราะท่านบริจาคให้ ปัจจุบันบริเวณนี้เรียกว่า "บ้านอำเภอเก่า" ยังมีร่องรอยซากเสาอาคารเหลืออยู่ ๒ ต้น
จากประวัติอำเภอสองพี่น้องกล่าวว่า อำเภอสองพี่น้องเดิมมีพื้นที่กว้างขวางมากกินพื้นที่อำเภออู่ทองในปัจจุบัน ในปีพ.ศ.๒๔๔๓ ได้มีการแบ่งพื้นที่การปกครองใหม่ โดยแยกท้องทีด้านเหนือไปตั้งเป็นอำเภอใหม่ชื่อว่าอำเภอจรเข้สามพัน(ปัจจุบันคืออำเภออู่ทอง) สังเกตว่าการแยกพื้นที่การปกครองใหม่ อยู่ในระยะเวลาใกล้เคียงกับการอธิบายเขตการปกครองอำเภอบางลี่ในราชกิจจานุเบกษาคือ ปี พ.ศ.๒๔๔๒
ในปี พ.ศ.๒๔๔๗ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสเมืองสุพรรณเป็นครั้งแรก สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพก็กล่าวถึงอำเภอสองพี่น้องที่พระองค์เสด็จล่วงหน้ามาประทับแรมคอยรับเสด็จที่อำเภอสองพี่น้อง ไม่ได้กล่าวถึง อำเภอบางลี่ แต่ในหนังสือจดหมายเหตุประพาสต้น กล่าวถึงบางลี่ว่า เป็นบ้านบางลี่
ในเรื่องนี้ครูพิสูจน์ได้รับความเมตตาจากคุณวิศาล ตันติไพจิตร ประธานคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานโรงเรียนบางลี่วิทยา ได้มอบหนังสือภาพเก่าเล่าเรื่อง..ตามรอยเสด็จประพาสต้น ซึ่งมีคุณพลาดิศัย สิทธิธัญกิจ เป็นบรรณาธิการ ในหนั งสือได้นำข้อความในจดหมายเหตุเสด็จพระพาสต้น ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ มาแสดงไว้ ว่า "วันที่ ๒ สิงหาคม ๒๔๔๗ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ ได้นำเรือล่องล่วงหน้าขึ้นมาก่อน"
" ด้วยมีกำหนดการว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ ๕)จะเสด็จถึงบ้านสองพี่น้องเวลาประมาณบ่าย ๒ โมง แล้วจะประพาส บ้านสองพี่น้องและบ้านบางลี่ในตอนเย็นวันนั้น พอรุ่งขึ้นตอนเช้าพระองค์จึงจะออกขบวนเรือไปจากบ้านสองพี่น้อง เพื่อไปประทับแรมที่เมืองสุพรรณบุรีทีเดียว"
แต่ปรากฏว่ากำหนดการดังกล่าวไม่เป็นไปตามที่กำหนดเพราะเสด็จแวะที่คลองภาษีทำให้ต้องเปลี่ยนแปลงรายการเสด็จ ในจดหมายเหตุเสด็จประพาสต้น วันที่ ๓ สิงหาคม ๒๔๔๗ กล่าวถึงรัชกาลที่ ๕ เสด็จประพาสบ้านสองพี่น้องว่า
"เวลาเช้า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ ๕)เสด็จประพาสบ้านสองพี่น้องแล้วจึงจะเดินทางต่อในเวลากลางวันให้ไปถึงเมืองสุพรรณบุรีในวันนั้น ปรากฏว่าเวลาไม่ได้จะต้องจัดที่ประทับแรมระหว่างบ้านสองพี่น้องกับเมืองสุพรรณบุรีเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งแห่ง"
ที่ประทับแรมในครั้งนั้นคือวัดบางบัวทอง ซึ่งชาวสองพี่น้องได้ทุ่มเทแรงกายแรงใจสร้างให้อย่างรวดเร็ว โดยไม่ขอรับค่าตอบแทนสิ่งใดจากพระเจ้าน้องยาเธอผู้ทรงได้รับมอบหมายให้มาจัดเตรียมที่ประทับ
ในจดหมายเหตุกล่าวว่ารัชกาลที่ ๕ เสด็จประพาสปลายคลองสองพี่น้อง ไม่มีใครทราบว่าพระองค์ประพาสที่ใดบ้าง เล่ากันว่าขุนนางและเชื้อพระวงศ์ชั้นผู้ใหญ่มารับเคราะห์ที่สองพี่น้องนี้ถึง ๒ ท่านคือเจ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์ถูกสุนัขกัด ส่วนสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธทรงตกท้องร่อง ทำให้เกิดฟกช้ำนิดหน่อย ที่วัดบางสาม กล่าวว่าเมื่อประพาสคลองสองพี่น้องเสร็จแล้วเรือพระที่นั่งจึงล่องมาจอดเรือพักทำครัวเย็นที่วัดบางสาม ในขณะทำครัวคนในขบวนเสด็จไปตกเบ็ดได้ปลาเทโพมา ๑ ตัว ดังนั้นอาหารเย็นจึงมีการแกงปลาเทโพ รสชาติอร่อยมาก เมื่อเสวยอาหารเย็นแล้วขบวนเรือพระที่นั่งได้ล่องต่อมาจนถึงที่ประทับแรม(วัดบางบัวทอง)ประมาณ ๒ ทุ่ม
นี่คือเรื่องราวที่กล่าวถึง บ้านสองพี่น้อง ส่วนบ้านบางลี่เอ่ยชื่อไว้เท่านั้น
แง่คิดที่ครูพิสูจน์ ได้คือ บ้านสองพี่น้องกับบ้านบางลี่ อยู่ในย่านใกล้ชิดติดกัน ดังที่รัชกาลที่ ๕ มีกำหนดการจะเสด็จประพาสบ้านสองพี่น้องและบ้านบางลี่ในตอนเย็นวันที่ ๒ สิงหาคม ๒๔๔๗ ฉะนั้นแน่นอนว่าบ้านทั้งสองอยู่ในอำเภอเดียวกัน แล้วจะชื่ออำเภอสองพี่น้องหรืออำเภอบางลี่
แต่ถ้าย้อนกลับมาอ่านหนังสือนิทานโบราณคดีพระนิพนธ์ ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพที่กล่าวมาข้างต้น พระองค์กล่าวไว้อย่างชัดเจนมากว่าเป็นอำเภอสองพี่น้อง ดังนี้
" เมื่อพ.ศ.๒๔๔๗ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จประพาสเมืองสุพรรณครั้งแรก ครั้งนั้นฉันไปล่วงหน้าวันหนึ่ง เพื่อจะตรวจทางและที่ประทับ ไปคอยรับเสด็จอยู่ที่อำเภอสองพี่น้อง.....สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จไปเมืองสุพรรณครั้งแรก เสด็จขึ้นไปทางลำน้ำนครชัยศรี ประพาสอำเภอสองพี่น้องก่อน แล้วเสด็จขึ้นไปยังเมืองสุพรรณบุรี"
ขอวนมาพูดอีกว่า แล้วเหตุไฉนราชกิจจานุเบกษาในปี พ.ศ.๒๔๔๒(ร.ศ.๑๑๘) จึง กล่าวถึงชื่ออำเภอบางลี่ ไม่ใช่ อำเภอสองพี่น้อง หรือว่า แรกตั้งชื่อว่าอำเภอบางลี่ หลังปี ๒๔๔๒ มาจึงเปลี่ยนชื่อเป็น อำเภอสองพี่น้อง
แต่ชื่อนายอำเภอนี่สิ หลวงบรรเทาทุกขราษฎร์(อาจชื่อเทียน ภมรพล) นายอำเภอบางลี่ ดำรงตำแหน่งปีพ.ศ. ๒๔๔๒ กับพระยาอุภัยภาติเขตต์(เอี่ยม สถาปิตานนท์) นายอำเภอสองพี่น้อง ดำรงตำแหน่ง ปีพ.ศ.๒๔๓๙-๒๔๖๐ นี่เป็นคนเดียวกันหรือเปล่า
ตกลงเราก็ยังหาข้อสรุปที่แน่นอนไม่ได้ว่าอำเภอสองพี่น้อง กับอำเภอบางลี่ ใครเก่ากว่าใคร

การค้นคว้าเรื่องอำเภอสองพี่น้อง กับอำเภอบางลี่ ของผมยังดำเนินต่อไปครับ

อันที่จริง ราชทินนาม "บรรเทาทุกขราษฎร์ " นี้เริ่มมีใช้ในสมัยรัชกาลที่ ๔ (ข้อมูลเขียนโดย ส. พลายน้อย)เป็นต้นมา ฉะนั้น หลวงบรรเทาทุกขราษฎร์ จึงมีได้หลายคน เหมือนกับบรรดาศักดิ์และราชทินนาม "พระยาศรีสุนทรโวหาร" ซึ่งจากประวัติของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) พี่ชายคนใหญ่ของท่านก็เคยเป็นหลวงบรรเทาทุกขราษฎร์ กรมการเมืองฉะเชิงเทรา

แต่ก็มีเรื่องที่น่าสนใจคือวันนี้ ๑๘ มีนาคม ๒๕๖๐ ผมเปิดเฟซบุ๊ค ของผู้ใช้นามว่า "เรื่องเก่าเล่าใหม่" ท่านลงภาพของหลวงบรรเทาทุกขราษฎร์ โดยระบุข้อมูลดังนี้ว่า " หลวงบรรเทาทุกขราษฎร์ (เทียน ภมรพล) บิดาของพระยาสุรศักดิเสนา (โต๊ะ ภมรพล)" ผมจึงขออนุญาตนำภาพมาเผยแพร่นะครับ

นอกจากนี้ยังมีข้อมูลของ "นามสกุล ภมรพล" จากเฟซบุ๊ค ของPhudit Surattirangkakulดังนี้

นามสกุลพระราชทาน ภมรพล (Bhamarabala) อักษรโรมัน วันที่ที่ลงในใบพระราชทานนามสกุล ๒๐ ก.พ.๒๔๕๖ ลำดับ ตามสมุดทะเบียฬ ๑๐๓๔ นายร้อยโทโต๊ะ ผู้รั้งผู้บังคับกองร้อยที่ ๒ กรมทหานนาบที่ ๑๒มณฑลนครไชยศรี กับหลวงบรรเทาทุกขราษฎร์(เทียน) นอกราชการ(บิดา) เป็นบุตรพระยาสยามพลภักดี(ภู่) (ที่มา : หนังสือ ทะเบียฬนามสกุล ที่เราได้ให้ไป ล้นเกล้า รัชกาลที่๖) พระอาจารย์ : พระสยามพลภักดี (ภู่) เคยเป็นหลวงไชย รองปลัด (ภู่) คิดว่าเป็นคนเกิดราว ๒๓๕๐ ไม่มีหลักฐาน คำนวณจากบุตรชายคนโต ที่ระบุว่าเกิด พ.ศ.๒๓๘๗ ภู่ มีลูกชื่อ ๑.หลวงไชย รองปลัด (โต) ๒.หลวงบรรเทาทุกขราษฎร์ (เทียน) ๓.หลวงสง่างำเมือง (ธูป) ๔.หลวงอินอาญา (จ่าง) ๕.นางแจ่ม ๖.นายจิ๋ว ภมรพล

ครูพิสูจน์ สังเกตว่า นามสกุล "ภมรพล" นี้ในโรงเรียนบางลี่วิทยา ของครูพิสูจน์ ซึ่งอยู่ในอำเภอสองพี่น้องก็มีลูกศิษย์ที่นามสกุล ภมรพล ครับ เช่นนาย นนธวัช ภมรพล นักเรียนชั้น มัธยมศึกษาปีที่ ๔/๕ ปีการศึกษา ๒๕๕๙ ดูๆไปก็เกี่ยวโยงกับอำเภอสองพี่น้อง หรืออำเภอบางลี่อยู่ทีเดียว

คราวนี้มาศึกษาเกี่ยวกับนายอำเภอคนแรกของอำเภอสองพี่น้อง บ้าง ในเอกสารบรรยายสรุปของอำเภอสองพี่น้องที่ครูพิสูจน์ได้มาหลายปีแล้ว กล่าวถึงประวัติความเป็นมาของอำเภอสองพี่น้อง ตอนหนึ่งได้กล่าวว่า "ระยะแรกตั้งที่ว่าการอำเภอได้อาศัยบ้านพักของหลวงเทพบุรี(เอี่ยม สถาปิตานนท์)เป็นที่ทำการ อยู่บ้านปากคอก ริมคลองสองพี่น้อง"

ความตอนนี้ ทำให้ทราบว่า พระยาอุภัยภาติเขตต์(เอี่ยม สถาปิตานนท์) เมื่อมีบรรดาศักดิ์เป็นหลวงได้รับพระราชทานราชทินนามว่า เทพบุรี คือเป็นหลวงเทพบุรี แต่นายอำเภอบางลี่ เป็นหลวงบรรเทาทุกขราษฎร์ เป็นอันได้ข้อสรุปว่า ทั้งสองคนนี้ไม่ใช่คนเดียวกันอย่างแน่นอน เพราะบรรดาศักดิ์หลวงเหมือนกันแต่ราชทินนามต่างกัน ภายหลังหลวงเทพบุรี ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์ เป็นถึงพระยาอุภัยภาติเขตต์

ลูกหลานของท่านพระยาอุภัยภาติเขตต์(เอี่ยม สถาปิตานนท์)ที่มีชื่อเสียง คือคุณนิธิ สถาปิตานนท์ ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะสถาปัตยกรรม (แบบร่วมสมัย) ปีพุทธศักราช2545 ท่านเป็นหลานปู่
ท่านกล่าวถึงพระยาอุภัยภาติเขตต์(เอี่ยม สถาปิตานนท์)ปู่ของท่านดังนี้
“นามสกุล สถาปิตานนท์ เป็นนามสกุลพระราชทานมาตั้งแต่สมัยคุณปู่ผม คือพระยาอุภัย ภาติเขตร์ สมัยนั้นคุณปู่ท่านไปเป็นนายอำเภออยู่ที่อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี นายอำเภอเองก็ไม่ได้ใกล้ชิดในหลวงเท่าไร แต่ด้วยความที่คุณปู่ชอบทำบ้านทรงไทย ชอบทำพลับพลา เวลาในหลวงเสด็จพระราชดำเนินไปที่อำเภอสองพี่น้อง คุณปู่ท่านจะเป็นคนทำพลับพลาที่ประทับทำด้วยไม้ที่ไปหามาจากในป่า ซึ่งในหลวงท่านก็ประทับใจมาก จึงเรียกคุณปู่ผมมาพบ

“ตามจริงคุณปู่น่าจะเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นเจ้าเมืองสุพรรณบุรี แต่ท่านก็บอกไม่เอา อยากอยู่อำเภอสองพี่น้อง แล้วท่านก็ได้พระยา พร้อมนามสกุลพระราชทาน สถาปิตานนท์ ซึ่งต้องเกี่ยวข้องกันกับสถาปัตยกรรม นี่คือต้นตระกูล แต่ว่าครอบครัวผมตั้งแต่คุณปู่มาจนถึงคุณพ่อผมก็ไม่มีใครเป็นสถาปนิก จนกระทั่งมาถึงตัวผม"

คุณNicky Nick ได้แสดงความคิดเห็นไว้ในPANTIP.COM เกี่ยวกับพระยาอุภัยภาติเขตต์ ไว้ผมขออนุญาต นำมาเผยแพร่ต่อประกอบข้อมูลของผมนะครับ

" พูดถึงคำว่า “เขต” เลยนึกถึงบรรดาศักดิ์ของบุคคลสำคัญในอดีตท่านหนึ่งของเมืองสุพรรณขึ้นมา

ท่านคือ หลวงเทพบุรี ครับ ท่านชื่อ เอี่ยม เป็นต้นสกุล สถาปิตานนท์อดีตนายอำเภอสองพี่น้อง แขวงเมืองสุพรรณบุรี ช่วงปี ๒๔๓๙ – ๒๔๖๐
เมื่อคราวสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จตรวจราชการเมืองสุพรรณ เมื่อ ร.ศ. ๑๑๗ (พ.ศ.๒๔๔๑) พระองค์ก็ยังทรงชมถึงความขยันขันแข็งของท่าน

เมื่อคราวล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ เสด็จประพาสดอนเจดีย์ครั้งแรกพร้อมกับเสือป่า ก็ยังทรงชมถึงความสมบูรณ์ของงานที่ท่านรับผิดชอบให้เราทราบในบันทึกอยู่เนืองๆ

ท่านผู้นี้ภายหลังได้รับพระราชทานยศเป็น หลวงอุภัยภาติกเขตร์
และก่อนเกษียณอายุราชการ ก็เป็นถึง พระยาอุภัยภาติกเขตร์ เป็นนายอำเภอที่เป็นถึงพระยาเชียวนะครับ น้อยคนที่จะได้รับโอกาสนี้

ตำแหน่ง หลวง- หรือ พระยาอุภัยภาติกเขตร์ ตามที่ค้นเจอในหนังสือเก่าๆ เขียนเป็นได้หลายอย่าง แล้วแต่เราจะเจอจากบันทึกเล่มไหน ตั้งแต่
– อุภัยภาติกเขต
– อุภัยภาติกเขตร หรือ
– อุภัยภาติกเขตร์ "
แต่ของครูพิสูจน์ ลอกจากทำเนียบนายอำเภอสองพี่น้องขอใช้ พระยาอุภัยภาติเขตต์ นะครับ

ผมยังค้นคว้าหาข้อมูลต่อไป ข้อมูลของสำนักงานจังหวัดสุพรรณบุรีกล่าวถึงการปฏิรูปการปกครอง ในรัชกาลที่ ๕ มีระบบมณฑลเทศาภิบาลขึ้น ดังนี้

“ในการปกครองระบบมณฑลเทศาภิบาลดังกล่าว ในปีพ.ศ.๒๔๓๘ จังหวัดสุพรรณบุรีได้ถูก
กําหนดให้อยู่ในเขตปกครอง “มณฑลนครชัยศรี” การกําหนดเขตการปกครองของมณฑลนครชัยศรี
ในครั้งนั้นได้กําหนดให้ลุ่มน้ํานครชัยศรี (ท่าจีนตอนล่าง ) เป็นเขตปกครองประกอบไปด้วย เมือง
สุพรรณบุรี เมืองนครชัยศรี และเมืองสมุทรสาคร และจังหวัดสุพรรณบุรีในยุคนี้แบ่งการปกครอง
ออกเป็น ๔ อําเภอในเบื้องต้นและได้มีการปรับปรุงเขตปกครองอําเภอต่างๆภายหลังดังนี้
อําเภอพิหารแดง (ต่อมาเปลี่ยนเป็นอําเภอท่าพี่เลี้ยง, อําเภอเมืองฯ ตามลําดับ)
อําเภอบ้านทึง (ต่อมาเปลี่ยนเป็นอําเภอนางบวช, อําเภอสามชุก, และอําเภอเดิมบางนาง
บวช ตามลําดับ)
อําเภอสองพี่น้อง (ต่อมาแยกพื้นที่บางส่วนไปตั้งอําเภอจระเข้สามพัน และเปลี่ยนเป็นอําเภอ
อู่ทอง ตามลําดับ)
อําเภอบางปลาม้า

การแบ่งพื้นที่สอดคล้องกับราชกิจจานุเบกษาข้างต้น แต่ชื่ออำเภอ ไม่มีชื่ออำเภอบางลี่ มีแต่ชื่ออำเภอสองพี่น้อง ส่วนอำเภออื่นๆมีการบอกชื่อที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างชัดเจน อำเภอสองพี่น้องบอกว่ามีการแยกพื้นที่บางส่วนไปตั้งเป็นอำเภอจระเข้สามพัน(บางทีจรเข้เขียนไม่มีสระอะ) แต่ไม่บอกว่ามีการเปลี่ยนชื่อ

การศึกษาเกี่ยวกับชุมชน "บางลี่" นั้นในทางวิชาการเคยมีผู้ศึกษาและทำเป็นวิทยานิพนธ์ระดับมหาบัณฑิตไว้ เมื่อปี ๒๕๔๑ เจ้าของผลงานคือคุณสกุณา ฉันทดิลก นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา หัวข้อวิทยานิพนธ์คือ

บางลี่ : กรณีศึกษาการเปลี่ยนแปลงของชุมชนการค้าในลุ่มน้ำท่าจีน

ในวิทยานิพนธ์นี้ผู้วิจัยได้กล่าวถึงประวัติศาสตร์การก่อตัวและสภาพทั่วไปของชุมชนบางลี่ ว่าเป็นชุมชนชาวจีนแต้จิ๋วขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในแถบลุ่มน้ำท่าจีน

และได้กล่าวถึงประวัติและเรื่องเล่าเกี่ยวกับอำเภอสองพี่น้อง ว่าก่อตั้งเมื่อปี ๒๔๓๙ เป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดสุพรรณบุรีอยู่ในมณฑลนครชัยศรี กล่าวว่ามีพื้นที่กว้างขวาง และก็กล่าวถึงการแยกพื้นที่ออกไปตั้งเป็นอำเภอใหม่ชื่อว่าอำเภอจระเข้สามพัน ว่าเพราะการเดินทางมาติดต่อราชการที่อำเภอสองพี่น้องลำบากเพราะอยู่ริมคลองสองพี่น้อง เป็นที่ลุ่มหน้าน้ำเดินทางลำบาก ทางราชการจึงแยกตำบลต่างๆมาจากพื้นที่รอบๆบ้านจระเข้สามพัน มาตั้งเป็นอำเภอจระเข้สามพัน เมื่อปีพ.ศ. ๒๔๔๓
ท่านผู้อ่านสังเกตไหมครับว่า ผู้วิจัยไม่พบข้อมูลว่าชุมชนชื่อบางลี่ เคยเป็นชื่ออำเภอ และในข้อมูลตั้งอำเภอใหม่ก็ไม่บอกว่า แยกจากอำเภอบางลี่ ทั้งๆที่ในราชกิจจานุเบกษา ปีพ.ศ.๒๔๔๒ ยังเป็นชื่ออำเภอบางลี่ เมื่อคิดย้อนไปถึงการกำหนดเขตปกครองมณฑลนครชัยศรี เมืองสุพรรณก็มีแต่อำเภอสองพี่น้อง และไม่ได้กล่าวว่า เคยเปลี่ยนชื่อ เป็นอำเภอบางลี่

ล่าสุดผมได้อ่านข้อมูลที่เขียนโดย

ผู้ที่ใช้นามว่าโดย: สะพานเขียว IP: 202.28.52.221 วันที่: 6 มกราคม 2553 เวลา:13:53:12 น.และโดย: สะพายเขียว IP: 202.28.52.221 วันที่: 12 มกราคม 2553 เวลา:11:17:12 น.(สังเกตว่าสะกดไม่เหมือนกันคือ สะพานกับสะพาย)

ในhttp://www.bloggang.com/viewblog.php?id=twojay&dat...
กล่าวว่า
"อยากจะเล่าสายหลวงบรรเทาทุกขราษฎร์ (จะขอเรียกสั้นๆ ว่าหลวงเทียน ภมรพล) เท่าที่ทราบมาก่อน ดังนี้

หลวงเทียน เป็นบุตรของนายภู่ นางคำ เกิดราวประมาณ พ.ศ.๒๓๙๕ (+-๑๐) เพราะนางแข ภรรยาใหญ่ตายอายุครบ ๘๐ ปี ราวปี ๒๔๗๕ ส่วนหลวงเทียนตายก่อนนางแข เมื่อราวปี ๒๔๖๑

หลวงเทียน สร้างวัดสะแกย่างหมู ร่วมกับกำนันผู้ใหญ่บ้านหลายคน เมื่อปี ๒๔๒๔ และเมื่อปี ๒๔๓๑ (ก่อนปีนี้ก็มีบุตรแล้วหลายคน) ให้กำเนิดบุตรชายคนหนึ่งชื่อ ด.ช.โต๊ะ ภมรพล นำไปฝากเรียนหนังสือที่วัดโพธิ์ กรุงเทพฯ เมื่อ ด.ช.โต๊ะ อายุได้ ๙ ขวบกว่า คือราวปี ๒๔๓๙ มีหลักฐานคือรูปภาพที่ถ่ายร่วมกันในห้องถ่ายภาพโดยมีหลวงเทียน นางแข และ ด.ช.โต๊ะ ยังไม่ตัดจุกถ่ายร่วมกัน

หลักฐานอำเภอสองพี่น้อง มักจะทราบกันผิดๆ ว่า นายอำเภอคนแรกชื่อ หลวงเทพบุรี หรือ นายอำเภอเอี่ยม สถาปิตานนท์ ซึ่งต่อมาเลื่อนเป็นพระยาอุภัยภาติกเขต แต่จากหลักฐานคำบอกเล่าของบรรพบุรุษภมรพล บอกว่า นายอำเภอคนแรกของอำเภอบางลี่ ซึ่งก็คือสองพี่น้องนั้น ชื่อ หลวงบรรเทาทุกขราษฎร์ (เทียน ภมรพล) ซึ่งเป็นนายอำเภอคนแรกจริงๆ หาอ่านดูได้จากราชกิจจานุเบกษา ช่วง พ.ศ.๒๔๓๙ และลาออกกลับมาอยู่บ้านในราวปี ๒๔๔๑ หลังจากนั้น นายอำเภอเอี่ยม กับคุณหญิงเยื้อน ซึ่งมีบุตรชายชื่อ นายชาญ และนายอ้อน สถาปิตานนท์ ก็ปกครองดูแลลำคลองสองพี่น้องสืบต่อมา จนได้ดิบได้ดีเป็นถึงพระยา แต่หลวงเทียนยังเป็นหลวงเทียนจนถึงอนิจกรรมที่บ้านสะแกย่างหมู แต่บุตรชายที่ชื่อ ด.ช.โต๊ะนั้น ได้เติบโตเป็นข้าราชการกรมมหาดเล็กรักษาพระองค์ เมื่ออายุได้ ๒๐ ปี ก็เข้ารับราชการเจริญก้าวหน้าโดยลำดับ จนเมื่อปี ๒๔๕๖ ก็ได้นามสกุลพระนามทานให้แก่หลวงบรรเทาฯ ผู้บิดา และนายร้อยโทโต๊ะ ว่า "ภมรพล"
จากร้อยโท เลื่อนยศโดยลำดับจนถึง ติดยศพันเอก เมื่อปี ๒๔๗๔ จากคนสามัญได้บรรดาศักดิ์เป็น หลวง และจมื่น และพระยา เมื่ออายุ ๔๔ ปีเอง หนุ่มฟ้อหล่อเฟี้ยว บวชเป็นพระระยะหนึ่งที่วัดกุฏีทอง หน้าที่การงานตำแหน่งหน้าที่เป็นทั้งยศพันเอกและพระยาสุรศักดิเสนา (โต๊ะ ภมรพล) จนปี ๒๔๗๕ ปฏิเสธเข้าร่วมปฏิวัติด้วยเหตุผลว่า "ผู้บังคับบัญชากรมวังรักษาพระองค์เป็นขบถไม่ได้" ไม่ยอมเข้าร่วมการเปลี่ยนแปลงการปกครองกับพระยาพหลฯ และหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี) ก็ถูกปลดจากหน้าที่การงาน และมาถูกกล่าวหาว่าเป็นกบฏพระยาทรงสุรเดช (กบฏ ๑๘ ศพ) แต่อาศัยบารมีและยังมีบุญอยู่บ้าง จึงเป็นหนึ่งในเจ็ดคน ที่ได้รับการปล่อยตัวให้พ้นจากการถูกประหารชีวิตและจำคุกตลอดชีวิต ใช้ชีวิตครอบครัวที่นครปฐมบ้าง สุพรรณบ้าง เมืองนนท์บ้าง มีความสุขกับลูกๆ หลานๆ จนถึงแก่อนิจกรรมเมื่อปี ๒๕๑๗ อายุ ๘๖

ชีวิตส่วนตัวของหลวงเทียน ผู้บิดานั้นบ้าง มีภรรยาหลวงชือนางแข ภมรพล อยู่บ้านกุฏีทอง เป็นบ้านหลังที่ ๑ มีภรรยาน้อยหลังที่ ๒ อยู่ที่บ้านสะแกย่างหมู บางปลาม้า และมีบ้านหลังที่ ๓ อยู่ที่หัวโพธิ์ อำเภอสองพี่น้อง อาจจะมีมากกว่านี้ก็ได้ เพราะยังมีก๊กอู่ทองแถวาจรเข้ และก๊กสองพี่น้องแถวบางสะแก ใช้ภมรพลกันเกลื่อนกลาด อันเป็นผลมาจากเป็นนายอำเภอคนแรกของสองพีน้อง

ขอบ่นนิดเกี่ยวกับข้อมูลของราชการไทยเรา ไปยืนดูรายชื่อของอำเภอ ๔ อำเภอที่ตั้งในสมัยปลาย ร.๕ คือ อำเภอเมือง ดูแลส่วนกลาง มีขุนอินธานี เป็นนายอำเภอ, บางปลาม้า ดูแลส่วนใต้ มีขุนรจนาเป็นนายอำเภอ, บางลี่ ดูแลส่วนตะวันตก มีหลวงบรรเทาทุกขราษฎร์เป็นนายอำเภอ และบ้านทึง ดูแลส่วนเหนือ หลวงพรหมสุภา (รอด) เป็นนายอำเภอ ทั้ง ๓ อำเภอคือเมือง บางปลาม้า และสองพี่น้อง ไม่ได้เขียนชื่อนายอำเภอยุคแรกไว้ครบถ้วน เมืองไปเริ่มที่หลวงสุพรรณนครเขต ร.ศ.๑๒๑ บางปลาม้าก็ไปเริ่มที่คนอื่น สองพี่น้องก็ไปเริ่มที่พระยาอุภัยภาติกเขต มีแต่สามชุกที่เขียนเริ่มต้นไว้ถูกต้อง แต่ชื่อหลวงพรหมสุภา เขียนเป็น หลวงพรมสุภา (บุญรอด) หลวงพรหมนี้แต่งงานกับนางถมยา ของนางคลี่เป็นลูกสาว

จากข้อมูลนี้ถ้าเป็นความจริง ก็ทราบได้แล้วว่า อำเภอบางลี่กับอำเภอสองพี่น้อง เป็นอำเภอเดียวกัน และหลวงบรรเทาทุกขราษฎร์ที่ชื่อเทียน ภมรพล เป็นนายอำเภอคนแรกของอำเภอสองพี่น้องหรืออำเภอบางลี่ นั่นเอง ซึ่งหลักฐานในทำเนียบนายอำเภอสองพี่น้องไม่ได้บันทึกไว้ ส่วนหลวงเทพบุรี (เอี่ยม สถาปิตานนท์)ภายหลังได้เป็นพระยาอุภัยภาติเขตต์(หรือภาติกเขต)เป็นนายอำเภอสองพี่น้องหรืออำเภอบางลี่คนถัดมา แต่ข้อมูลระบุว่าหลวงบรรเทาทุกขราษฎร์(เทียน ภมรพล)ลาออกจากนายอำเภอปี ๒๔๔๑ แล้วนายอำเภอหลวงเทพบุรี(เอี่ยม สถาปิตานนท์)รับตำแหน่งต่อมา ทั้งๆที่ในราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๑๑๘(น่าจะเป็นรศ.ตรงกับพ.ศ.๒๕๔๒ )ยังระบุชื่อนายอำเภอบางลี่ ชื่อหลวงบรรเทาทุกขราษฎร์ จึงดูขัดกันเล็กน้อย และผู้เขียนได้บ่นถึงข้อมูลทางราชการว่า อำเภอสองพี่น้องเป็นอำเภอหนึ่งที่ไม่ได้บันทึกเขียนชื่อนายอำเภอยุคแรกไว้ครบถ้วน แต่ไปเริ่มบันทึกนายอำเภอคนแรกเป็น หลวงเทพบุรี(เอี่ยม สถาปิตานนท์) อย่างนี้กระมังที่ทำให้ทำเนียบนายอำเภอสองพี่น้อง มีชื่อพระยาอุภัยภาติเขตต์เป็นนายอำเภอคนแรก โดยไม่มีการบันทึกชื่อหลวงบรรเทาทุกขราษฎร์(เทียน ภมรพล)ไว้ในทำเนียบนายอำเภอ และสันนิษฐานว่าอำเภอบางลี่ คงจะมาเปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอสองพี่น้องในสมัยที่หลวงเทพบุรี ขึ้นเป็นนายอำเภอนั่นเอง

ทีนี้ ลองมาพิจารณาคำถามที่ผมถามไว้ ในตอนต้น ๔ ข้อว่า

๑. "เมื่อปีพ.ศ.๒๔๓๙ อำเภอของเราชื่ออำเภอสองพี่น้องหรืออำเภอบางลี่
๒. อำเภอสองพี่น้อง กับอำเภอบางลี่ เป็นอำเภอเดียวกันหรือไม่
๓. อำเภอบางลี่ กับอำเภอสองพี่น้อง อำเภอชื่อไหนเกิดก่อน
๔. ถ้าเป็นอำเภอเดียวกัน ทำไมจึงต้องเปลี่ยนชื่อ

ผมขอสันนิษฐานดังนี้

ข้อ ๑ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๙ อำเภอเราน่าจะชื่อ อำเภอบางลี่ มาจนอย่างน้อย ปี พ.ศ.๒๔๔๒ ตามราชกิจจานุเบกษา คือรศ.๑๑๘ โดยมีนายอำเภอชื่อหลวงบรรเทาทุกขราษฎร์ เป็นนายอำเภอคนแรก และคนเดียวของอำเภอชื่อนี้ จากนั้นหลวงบรรเทาทุกขราษฎร์ก็ลาออก ทำไมอำเภอนี้จึงชื่ออำเภอบางลี่ ก็เป็นเพราะอำเภอนี้ ตั้งอยู่ในย่านตลาดบางลี่ ในท้องถิ่นบ้าน ชื่อบ้านบางลี่ ดังที่กล่าวไว้ในจดหมายเหตุเสด็จประพาสต้น ปี พ.ศ.๒๔๔๗ ผมสันนิษฐานว่าที่ตั้งที่ว่าการอำเภอบางลี่ในย่านตลาดบางลี่ คงจะคับแคบ ทางราชการคงคิดว่าย้ายออกไปหาที่ใหม่ พอดีหลวงเทพบุรี(เอี่ยม สถาปิตานนท์) มีที่ดินอยู่ที่บ้านปากคอก พร้อมจะบริจาคให้จึงย้ายมาอยู่ที่บ้านปากคอกในที่ของหลวงเทพบุรี แต่การย้ายคงต้องทยอยมาและรอการก่อสร้างอาคารที่ว่าการหลังใหม่เสร็จ

ข้อ ๒ ชื่ออำเภอสองพี่น้อง คงจะเปลี่ยนเมื่อย้ายมาอยู่สถานที่ใหม่ ในท้องที่ย่านหมู่บ้านสองพี่น้อง(ในจดหมายเหตุเสด็จประพาสต้น ปี พ.ศ.๒๔๔๗ มีชื่อบ้านสองพี่น้องล่าวไว้คู่กับบ้านบางลี่) บ้านปากคอก คงอยู่ในย่านบ้านสองพี่น้อง อำเภอบางลี่จึงเปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอสองพี่น้อง และนายอำเภอก็ชื่อหลวงเทพบุรี ซึ่งต่อมาเป็นถึงพระยาอุภัยภาติเขตต์(เอี่ยม สถาปิตานนท์) เป็นนายอำเภอต่อจากหลวงบรรเทาทุกขราษฎร์ และอาจกล่าวได้ว่าเป็นนายอำเภอคนแรก หลังจากเปลี่ยนชื่อมาเป็น อำเภอสองพี่น้อง ฉะนั้นคงไม่ผิดที่จะกล่าวว่าหลวงบรรเทาทุกขราษฎร์ เป็นนายอำเภอคนแรกของ อำเภอบางลี่ ส่วนหลวงเทพบุรีหรือพระยาอุภัยภาติเขตต์(เอี่ยม สถาปิตานนท์) เป็นนายอำเภอคนแรกของอำเภอชื่ออำเภอสองพี่น้อง

ข้อ ๓ - ข้อ ๔ สองข้อนี้อธิบายพร้อมกันไปดังนี้ ชื่ออำเภอบางลี่ น่าจะ เกิดก่อน อำเภอสองพี่น้อง เพราะหลวงบรรเทาทุกขราษฎร์ เป็นนายอำเภอบางลี่ก่อนลาออก แล้ว หลวงเทพบุรีมารับตำแหน่งต่อแล้วย้ายไปแถบบ้านปากคอก ย่านบ้านสองพี่น้อง ทำให้ชื่ออำเภอเปลี่ยนเป็นอำเภอสองพี่น้อง

ท่านผู้อ่านเชื่อข้อมูลเหล่านี้เพียงใดและได้คำตอบหรือยังครับ ว่าอำเภอบางลี่กับอำเภอสองพี่น้องอำเภอใดเก่ากว่ากัน

ล่าสุดของล่าสุด ครูพิสูจน์ ใจเที่ยงกุล ได้ความรู้และแนวคิดเกี่ยวกับ ราชทินนามของนายอำเภอคนแรกของอำเภอสองพี่น้อง คือ พระยาอุภัยภาติเขตต์(เขียนตามทำเนียบนายอำเภอสองพี่น้อง)ดังนี้

ตามที่ค้นเจอในหนังสือเก่าๆราชทินนามนี้ เขียนเป็นหลายอย่าง แล้วแต่เราจะเจอจากบันทึกเล่มไหน ตั้งแต่
– อุภัยภาติกเขต
– อุภัยภาติกเขตร หรือ
– อุภัยภาติกเขตร์ "
ซึ่งต่างจากทำเนียบนายอำเภอสองพี่น้องปัจจุบันซึ่งใช้ อุภัยภาติเขตต์
ถามว่าน่าจะใช้คำใด ลองพิจารณาดูความหมายของคำต่อไปนี้

อุภัย แปลว่า ทั้งสอง,ทั้งคู่(ในที่นี้ขอแปลว่า สอง)
ภาติก(ภาติกะ) แปลว่า พี่ชายน้องชาย(ก็คือชายสองพี่น้อง)
เขต(โบราณเขียนว่า เขตร ,ภาษาบาลี ว่า เขตฺต)แปลว่า แดนที่กำหนดขีดคั่นไว้

ฉะนั้น คำว่า อุภัยภาติกเขตร หรืออุภัยภาติกเขตร์ หรือ อุภัยภาติกเขต ถ้าสะกด๓ อย่างนี้ จะแปลว่า
"แดนแห่งชายพี่น้องทั้งสอง หรือพูดสั้นๆว่า แดนสองพี่น้อง นั่นเอง"
แต่ถ้าสะกดตามทำเนียบนายอำเภอสองพี่น้อง จะมีความหมายดังนี้

อุภัย แปลว่า ทั้งสอง,ทั้งคู่
ภาติ แปลว่า ส่องแสง
เขตต์ แปลว่า แดนที่กำหนดขีดคั่นไว้

อุภัยภาติเขตต์ แปลว่า แดนที่ส่องแสงทั้งสอง

ท่านผู้อ่านว่า น่าใช้ คำใดมากกว่าครับ

เมื่อพิจารณา มาถึงตรงนี้ ทำให้ผมคิดถึง ชื่อโรงเรียนเอกชนเก่าแก่ของอำเภอสองพี่น้อง ที่เดิมเป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาที่สร้างศิษย์จนได้ดีเป็นศิลปินแห่งชาติ เป็นนายทหารชั้นผู้ใหญ่ เป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่มากมาย ในปัจจุบันยังมีโรงเรียนนี้อยู่แต่เหลือเพียงระดับประถมศึกษา นั่นคือโรงเรียน อุภัยภาดาวิทยาลัย ซึ่งคำว่า ภาดา ก็แปลเหมือน ภาติก คือพี่ชายน้องชาย เพราะฉะนั้น โรงเรียนนี้ จึงแปลว่า แหล่งวิชาของสองพี่น้อง นั่นเอง(วิทยาลัย แปลว่า แหล่งวิชา)

หมายเลขบันทึก: 626097เขียนเมื่อ 18 มีนาคม 2017 13:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 พฤศจิกายน 2019 14:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท