ใครกำลังหวั่นไหว ยกมือขึ้น


จิตวิวัฒน์ : ใครกำลังหวั่นไหว ยกมือขึ้น       
เขียนโดย สุมน อมรวิวัฒน์
   
 

           ก่อนอื่นขอแจ้งว่าบทความนี้ไม่เกี่ยวกับนักการเมืองสัปดาห์นี้ เราสนทนากันถึงสภาวะของจิตที่ฟุ้งซ่าน ร้อนใจ กระวนกระวาย และกลุ้ม กังวล

                 นิสิตปริญญาเอกกำลังจะเข้าสอบเพื่อการรับรองดุษฎีนิพนธ์ เขาเดินเข้าไปในห้องใหญ่ เงียบสนิท ไฟสว่างจ้า มีกรรมการสอบ ๕ คน นั่งเคร่งขึมจ้องมองมาที่ตัวเขา

                  นิสิตคนนั้นรู้สึกหวั่นไหว จำเป็นต้องตั้งสติให้ดี มิฉะนั้นอาจมีกิริยาปากกล้าขาสั่น

                 หญิงสาวนั่งอยู่ในร้านอาหาร มีความรู้สึกว่ามีใครคนหนึ่งกำลังจ้องเธออยู่ เหลียวไปพบชายหนุ่มกำลังมองมา ทำหน้ายิ้มๆ เธอรู้สึกหวั่นไหว ไม่แน่ใจว่าหนุ่มคนนี้จะมาไม้ไหน

               พนักงานบริษัทหนึ่ง ย้ายที่ทำงาน ๓ บริษัทแล้ว เขาไปอยู่ที่ไหน ประธานบริษัทล้มละลายทุกแห่ง ขณะที่งานของเขากำลังรุ่งอยู่ในขณะนี้ ประธานบริษัทก็เชื่อมือเขามาก แต่อยู่ๆ บริษัทก็มีลางบอกเหตุว่ากำลังจะซวดเซ เขาจึงรู้สึกหวั่นไหว ไม่กล้าออกมาวางก้ามเป็นผู้ใกล้ชิดผู้ใหญ่เหมือนเช่นเคย

                  นักกีฬาคนหนึ่งเป็นแชมเปี้ยนมาทุกเกมแข่งขัน เขามั่นใจว่าไม่มีใครมาชนะเขาได้ แต่แล้ววันหนึ่งก็มีคนเก่งโนเนมมาเป็นคู่แข่ง แสดงฝีมือตอนซ้อมชนะสถิติที่เขาเคยทำมา เขารู้สึกหวั่นไหว ใจหนึ่งก็คิดหาเหตุผลที่จะไม่ลงแข่งครั้งนี้ แต่เสียงเชียร์ให้เขาสู้ตายก็ดังมาไม่ขาดระยะ เขาก็เริ่มลังเลไม่แน่ใจ เขาเชื่อว่าคนที่เชียร์เขาต้องเป็นคนที่รักเขา ดังนั้นจิตที่อ่อนไหวก็เริ่มฮึกเหิม เขาพร้อมที่จะลงสนามแข่ง เป็นอย่างไรก็เป็นกัน

            ที่ยกตัวอย่างมาข้างต้น ผู้เขียนประสงค์จะอธิบายสภาวะหนึ่งของจิตที่ตกอยู่ในนิวรณ์

               นิวรณ์ ๕ เป็นหัวข้อธรรมที่กั้นขวางจิตไม่ให้บรรลุความดี เป็นอกุศลธรรม ที่ทำให้จิตเศร้าหมอง และทำให้ปัญญาอ่อนกำลัง

                จิตที่ถูกนิวรณ์ครอบงำ จะลุ่มหลงอยู่ในความปรารถนา มีความขัดเคือง หดหู่ เซื่องซึม บางครั้งมีอารมณ์ฟุ้งซ่าน ร้อนใจ กลุ้ม กังวล มีความไม่แน่ใจในเหตุการณ์อนาคต ไม่มั่นใจและมักจะออกอาการลังเล สงสัย วันนี้เป็นอย่างหนึ่ง พรุ่งนี้เป็นอีกอย่างหนึ่ง เขามักจะโทษว่าคนอื่นผิด ตนเองทำถูก คนที่คิดประเภทนี้ ทางจิตวิทยาถือว่าเป็นพวก I am O.K., you are not O.K.

               ใครที่รู้ตัวว่ากำลังมีสภาวะหวั่นไหวเช่นนี้ วิธีการแก้ไขอย่างรีบด่วน คือการแสวงหากัลยาณมิตร ที่จะชี้แนะ และช่วยเหลือให้รู้จักวิเคราะห์ตนเอง เข้าถึงความจริงเพื่อเกิดสติ และใช้ปัญญา

               คนที่โชคดี คือคนที่มีกัลยาณมิตรแวดล้อมอยู่ กัลยาณมิตรเป็นเพื่อนแท้ ที่ไม่หวังฉกฉวยผลประโยชน์จากเพื่อน คอยเตือนให้รู้จักผิดชอบชั่วดี ไม่ชักนำไปในทางที่เสื่อม

               กัลยาณมิตร มีความจริงใจและพูดตรงไปตรงมา เมื่อพบว่าเพื่อนมีสภาพจิตที่หวั่นไหว เขาจะมาช่วยหาสาเหตุ และช่วยชี้ทางธรรมเพื่อปรับปรุงตน คือ สังวร ๕ ประการ ซึ่งจะช่วยให้มีวินัยในตนเอง สำรวมกายวาจาใจ ใช้สติ มีความอดทนอดกลั้น พากเพียรในการเลี้ยงชีพอย่างสุจริต และใช้ปัญญาญาณ คือความรู้ในการพิจารณาตนเองท่ามกลางเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิต ในที่สุด จิตก็จะผ่องใสขึ้น คลายทุกข์ได้

                 คนที่โชคร้ายก็คือคนที่นอกจากไม่มีกัลยาณมิตรแล้ว เขายังถูกแวดล้อมด้วยปัจจามิตร คือ ศัตรูที่แฝงมาในร่างของมิตร เพียงเพื่อตักตวงผลประโยชน์ และอำนาจวาสนา

                 พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตโต) อธิบายคำ “มิตตปฏิรูปก์” หรือ “มิตรเทียม” ไว้ใน พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ว่าเป็นคนที่พึงทราบว่าเป็นศัตรูผู้มาในร่างของมิตร ซึ่งผู้เขียนคิดว่ามีความหมายคล้ายกับปัจจามิตรนั่นเอง มิตรประเภทนี้มี ๔ ลักษณะ คือ (๑) คนปอกลอก (๒) คนดีแต่พูด (๓) คนหัวประจบ (๔) คนชวนฉิบหาย

              เฉพาะลักษณะที่ ๓ นั้นน่าสนใจเป็นพิเศษ พระคุณเจ้าอธิบายคำ “คนหัวประจบ” ไว้ ๔ ประการ คือ

                     ๑) จะทำชั่วก็เออออ

                    ๒) จะทำดีก็เออออ

                    ๓) ต่อหน้าสรรเสริญ

                    ๔) ลับหลังนินทา

              พวกศัตรูในร่างมิตรนี้อันตรายอย่างยิ่ง คนพวกนี้นอกจากจะปากหวาน พินอบพิเทา กราบไหว้แล้ว ยังอาจจะใช้อุปกรณ์และวิธีการต่างๆ มาประกอบ เช่น การมอบดอกไม้ ของกำนัล ร้องเพลงเชียร์ เพื่อตอกย้ำความรู้สึกมั่นใจ ฮึกเหิม ลืมตัว จนกว่าจะรู้ซึ้งว่าหลงผิดก็สายเกินจะกลับตัว

              สังคมไทยขณะนี้เป็นสังคมข่าวสารและสังคมตรวจสอบอย่างเข้มข้น ประชาชนเริ่มค้นหาความดีและคนดี และเริ่มจำแนกได้ว่าใครดีแท้ และใครดีปลอมๆ เกิดโครงการในองค์กรต่างๆ เพื่อทำแผนที่คนดี และค้นพบว่าคนดีๆ มีอยู่ทั่วไปเต็มแผ่นดิน เขาเป็นคนธรรมดา พระธรรมดา ข้าราชการธรรมดา แต่ชีวิตของเขาดำเนินไปอย่างสังวร มีสติ ใช้ปัญญา และเอื้อประโยชน์แก่ผู้อื่น

                ความชั่วและคนชั่วก็ยังมีอยู่ และมักจะเป็นข่าวบอกเล่ากันทุกวัน สำรวจดีๆ บางทีอาจพบว่าคือตัวเราเอง เมื่อใดที่ตระหนักรู้ว่าตนเองกำลังทำไม่ดี จงเร่งตั้งสติ ปรึกษากัลยาณมิตร แสวงหาหนทางที่ช่วยให้รู้คิดอย่างมีโยนิโสมนสิการ

                จิตที่หวั่นไหวนั้นเกิดขึ้นได้กับทุกคน ทุกที่ ทุกเวลา หลายครั้งที่มีเหตุการณ์ไม่คาดฝัน จนทำให้จิตหวั่นไหว สภาวะของจิตจึงต้องได้รับการฝึกฝน ภาวนาอย่างพากเพียรต่อเนื่องจนเกิดภูมิคุ้มกันที่แข็งแกร่ง พอที่จะต้านกับแรงกดดันในชีวิตได้

              ถ้าต้องการพัฒนาจิตด้วยตนเอง วิธีง่ายๆ นั้น ทำได้โดยฝึกสติสังวร หรืออินทรีย์สังวร เป็นการสำรวมสติ ตั้งมั่น ไม่ถูกอารมณ์ครอบงำ เมื่อตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ได้สัมผัสกับสิ่งที่พึงประสงค์ หรือไม่พึงปรารถนา กำหนดรู้ว่าสิ่งที่ได้เห็นได้ยินนั้นจะเกิดผลดีหรือร้าย ก็แล้วแต่อารมณ์จะปรุงแต่งให้เป็นไป เมื่อกำหนดรู้เท่าทันแล้ว จิตก็ไม่หวั่นไหวโดยง่าย

               การตั้งสติสำรวมตนให้กำหนดรู้ ทำให้บุคคลมีเวลาหยุดยั้งสักนิด เพื่อคิดก่อนพูด คิดอย่างตริและตรอง ก็จะไม่เป็นคนปากไว มือไว ท้าตีท้าต่อย เพื่อกลบเกลื่อนความหวั่นไหวของตนเอง

              การสำรวมจิต นำไปสู่พฤติกรรมที่สำรวม สุขุม ซึ่งเป็นกิริยาที่ดีตามวิถีวัฒนธรรมไทย แต่ทั้งนี้มิได้หมายความว่าจะต้องเป็นคนเฉื่อยชา เชื่องช้า ซึมเซา ซึ่งเป็นท่วงท่าที่สุดโต่งไปอีกทางหนึ่ง

               ในสังคมที่กำลังเร่งรีบ แข่งขันกันอยู่อย่างบ้าคลั่ง จนทำให้จิตใจของผู้คน ฟุ้งซ่าน ระส่ำ   ระสาย บทความนี้เป็นเพียงเสียงเตือนค่อยๆ ของกัลยาณมิตร ที่หวังให้เพื่อนร่วมทุกข์ได้พบทางสร้างสุขในจิตใจ

                ปัจจุบันนี้วงการศึกษาไทยได้เริ่มคิดถึงการพัฒนาปัญญา และกระบวนการเรียนรู้ที่สมดุลมากขึ้น เราเริ่มตระหนักว่าการเรียนเพื่อรู้เรื่องภายนอกตัว การเรียนศาสตร์หรือความรู้ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโลกกว้างเท่านั้นไม่เพียงพอ เราจำเป็นต้องศึกษาและพัฒนาความรู้ภายในตนควบคู่กันไป เกิดความเข้าใจ ความคิด ความรู้สึก วิธีการรับรู้ของตน วิเคราะห์ตน แล้วหมั่นฝึกจิตของตนให้เข้มแข็งมั่นคงขึ้น การภาวนา การปฏิบัติฝึกฝนขัดเกลาจิต จะทำให้มนุษย์สามารถก้าวพ้นนิวรณ์ ๕ เกิดศีลสังวร คือความสำรวมระวังตน เพื่อปิดกั้นบาปและอกุศลทั้งปวง

                ความสำรวมกาย วาจา ใจ จึงเป็นภูมิคุ้มกันความหวั่นไหว เป็นต้นทางของสติ เป็นที่มาของศรัทธา และเป็นแนวนำสู่ปัญญา เกิดสภาวะจิตที่ตั้งมั่น สงบ และสง่างาม

                ท่ามกลางมิตรเทียมที่ห้อมล้อมอยู่ บุคคลใดสำนึกได้ จงรีบเสาะหากัลยาณมิตรสักคนหนึ่ง เพื่อสนทนาและฟังเขาอย่างลึกซึ้ง จิตที่หวั่นไหวจะผ่อนคลายลง

                 ลองเป็นคนธรรมดาสักระยะเวลาหนึ่ง ไม่มีอำนาจ ไม่มีผลประโยชน์ ให้คุณให้โทษใครไม่ได้ อยู่อย่างสันโดษและสำรวมตน ทำได้เช่นนี้ ไม่นานปัจจามิตรที่ตามติดอยู่จะถอยไป เหลือไว้แต่เพื่อนแท้ไม่กี่คน

                    ถึงเวลานั้น จิตไม่หวั่นไหว ใจก็เป็นสุข

 

สุมน  อมรวิวัฒน์
แผนงานพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ มูลนิธิสดศรี - สฤษดิ์วงศ์
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
www.jitwiwat.org
ตีพิมพ์ใน มติชนรายวัน ๒๖ สิงหาคม ๒๕๔๙
 

คำสำคัญ (Tags): #จิตวิวัฒน์
หมายเลขบันทึก: 62464เขียนเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2006 18:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:28 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท