บทความที่ทำให้บรรณารักษ์ ดูมีค่า


เรียนบรรณารักษ์ จบไปทำอะไร จัดชั้นหนังสือ อยู่ในห้องสมุดหรือ?”

 

ขอนำบทความจากงานแนะแนวโรงเรียนโยธินฯ มาเผยแพร่

คำถามและข้อสงสัยในเชิงว่าเรียนบรรณารักษ์นี้จบไปแล้วจะไปทำอะไรนั้นเป็นคำถามสุดยอดคลาสสิคมาแต่ไหนแต่ไร ซึ่งหากจะตอบให้คลาสสิคก็ต้องตอบว่า
          “เรียนบรรณฯ ก็ต้องเป็นบรรณารักษ์สิ ถามได้!!”
เหมือนเรียนหมอ ก็ต้องเป็นหมอ วิศวะก็ต้องเป็นวิศวะ พยาบาลก็ต้องเป็นพยาบาล แต่นั่นเป็นการตอบพอให้หายรำคาญผ่านๆไปเท่านั้น แท้ที่จริงแล้ว เรียนบรรณารักษ์ สามารถทำงานได้หลากหลาย กว้างขวางมากมาย เลยทีเดียว
          ในยุคปัจจุบัน ถือกันว่าเป็นยุคแห่งสังคมสารสนเทศ ที่ข้อมูล ข่าวสารมีมากมายหลากหลาย ข้อมูลเหล่านี้มีทั้งในรูปที่จับต้องได้เช่น หนังสือ วีดีโอ เทปเสียง ภาพถ่าย แผนที่ และที่เป็นดิจิทัล เช่น อินเทอร์เน็ท ฯลฯ ข้อมูลเหล่านี้ เกิดขึ้นทุกวัน วันละมากๆเสียด้วย บางครั้งก็มีคุณภาพ บางทีก็ด้อยคุณภาพ บางครั้งมีระเบียบแบบแผน บางทีก็กระจัดกระจายไม่เป็นระบบ ทั้งๆที่ข้อมูลเหล่านี้มีคุณค่าต่อการตัดสินใจ ในชีวิตประจำวัน ในการดำเนินธุรกิจ

         แต่บางครั้งเราก็ไม่สามารถนำเอาทรัพยากรสารสนเทศที่มีคุณค่าเหล่านี้มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด อุปมาดังปลาในสระใหญ่ ที่คนไม่มีคนทำอวน ทำแห มาทอดจับไปขาย
ฉันใดก็ฉันนั้น บรรณารักษ์(Librarian)และนักสารสนเทศ(Information Specialist) ก็คือชาวประมงผู้ชาญฉลาด มีเครื่องมือคือแห อวนอันทรงอานุภาพ จับปลาเหล่านั้นมาขาย แล้วไม่ใช่ขายธรรมดา ต้องสามารถจำแนกปลาแต่ละประเภท ได้อีกด้วย เพื่อให้เหมาะกับลูกค้าที่จะมาซื้อหาไปทำการอื่นใดต่อไป

         โลกปัจจุบันและตลาดงานปัจจุบัน ยังขาดคนเหล่านี้อยู่มาก ทางรัฐบาลเองก็ส่งเสริมการสร้างแหล่งเรียนรู้ ทั้งห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ขนานใหญ่ แล้วใครเล่าใครจะไปทำงาน ถ้าไม่ใช่ผู้ที่จบในสาขาเหล่านี้

         บรรณารักษศาสตร์ , บรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์, บรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์ , สารนิเทศศึกษา, สารสนเทศศาสตร์ จะชื่อใดก็ตาม ล้วนแต่มีกำเนิดและมีเนื้อหาหลักวิชาตรงกันทั้งสิ้น คือการสร้าง นักวิชาชีพ หรือ มืออาชีพ ในด้านการจัดการข้อมูลข่าวสารให้เกิดระบบ ตั้งแต่การแสวงหาสารสนเทศ การจัดเก็บ การนำออกมาใช้ การให้บริการ ซึ่งงานลักษณะนี้ สาขาวิชาชีพอื่นๆไม่สามารถจะทำแทนกันได้ ต้องเป็นผู้ที่จบในศาสตร์เหล่านี้จริงๆเท่านั้น

         ดังนั้นหน้าที่จริงๆของบรรณารักษ์จึงไม่ใช่การจัดชั้นหนังสือ แต่เป็นการจัดการให้หนังสือแต่ละเล่มอยู่อย่างเป็นระบบในห้องสมุด โดยการวิเคราะห์และกำหนดสัญลักษณ์ คือเลขหมู่ให้หนังสือที่มีเนื้อหาเดียวกันอยู่ด้วยกัน สร้างเครื่องมือช่วยค้นให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงหนังสือที่ตัวเองต้องการได้ เช่นการค้นจากคอมพิวเตอร์ และให้บริการตอบคำถาม แก่ผู้ใช้ที่สงสัยเกี่ยวกับสารสนเทศต่างๆ

        วิชาในหลักสูตรนี้ จะมีทั้งวิชาด้านการวิเคราะห์เนื้อหา และการจัดการสารสนเทศประเภทต่างๆเป็นวิชาหลักเพื่อให้สามารถจำแนกแยกแยะว่าสารสนเทศเนื้อหาแบบใดควรจะจัดการย่างไรให้เหมาะสมกับผู้ใช้ และวิชาด้านเทคนิคต่างๆ ซึ่งในปัจุบันต้องเรียนวิชาด้านคอมพิวเตอร์ทั้งการทำเว็บไซต์ การวิเคราะห์และพัฒนาระบบสารสนเทศ ฯลฯ รวมถึงวิชาด้านการประชาสัมพันธ์ และการให้บริการอีกด้วย
ด้วยเนื้อหาวิชาลักษณะนี้ผู้ที่จบออกไปจึงสามารถนำเอาความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้กับสารสนเทศที่ไม่ใช่หนังสือได้หลากหลาย ดังนั้นเราจึงพบว่า ผู้ที่จบบรรณารักษ์ สามารถไปทำงานเป็น นักจัดการข้อมูลในศูนย์ข้อมูลต่างๆได้ หรือจะเรียกให้โก้ๆก็ต้องเรียกว่าศูนย์สารสนเทศขององค์กร ต่างๆ มีหลายๆคนก็ไปเป็นนักข่าว , ฝ่ายข้อมูลบริษัทโฆษณา , เว็บมาสเตอร์, เจ้าหน้าที่บริการงานทั่วไป, นักวิชาการสารสนเทศ, อาจารย์ กระทั่งเป็นเจ้าของร้านทอง ก็เป็นร้านทองIT

        จุดเด่นของสาขาบรรณารักษ์ฯ ก็คือการสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการทำงานลักษณะต่างๆได้อย่างหลากหลายนั่นเองอีกทั้งยังเป็นที่ต้องการของตลาดงานมาก โดยเฉพาะตำแหน่งบรรณารักษ์ฯ เนื่องจากคนสนใจน้อยแต่ความต้องการ และการพัฒนาห้องสมุดมีมากนั่นเอง


        คราวนี้มีมหาวิทยาลัยใดบ้างล่ะที่เปิดสอน ในปัจจุบัน หลักสูตรในสาขาด้านนี้ มีอยู่หลายมหาวิทยาลัยและมีชื่อเรียกขานต่างกัน อาจจะแบ่งได้ดังนี้
สาขาบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์หรือ สารสนเทศศาสตร์และบรรณารักษศาสตร์ เช่น คณะอักษรศาสตร์ ม.ศิลปากร, คณะศิลปศาสตร์ มธ. , คณะมนุษยศาสตร์ มศว., คณะมนุษยศาสตร์ฯ ม.ทักษิณ ฯลฯ

        สาขาสารสนเทศศาสตร์ เช่น คณะมนุษยศาสตร์ฯ มข., คณะมนุษศาสตร์ มช., คณะสารสนเทศศาสตร์ ม.มหาสารคาม, คณะมนุษยศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์, คณะเทคโนโลยีสังคม ม.เทคโนโลยีสุรนารี ฯลฯ

        สาขาสารนิเทศศึกษา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ

        ซึ่งทั้งหมดล้วนมีรากเหง้าที่มาจาก สาขาบรรณารักษ์ทั้งสิ้น คณาจารย์ส่วนใหญ่ จะสังกัดภาควิชาบรรณารักษศาสตร์และจบด้านบรรณารักษศาสตร์เป็นส่วนใหญ่
นอกจากระดับปริญญาตรีแล้ว ยังสามารถศึกษาต่อในระดับปริญญาโท เอก ทั้งในและต่างประเทศได้อีกด้วย

        เมื่อรู้เช่นนี้แล้วกรุณาอย่าคิดว่า จบบรรณารักษ์แล้วต้องจัดชั้นหนังสืออีก ไม่เช่นนั้นคราวหน้าจะเอา LC SUBJECT HEADING ฟาดหัวเสียให้เข็ด หุๆๆ

 

แหล่งที่มา http://www.yothinburana.ac.th/Naeneaw/Future%20is/Librarian.htm

หมายเลขบันทึก: 62353เขียนเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2006 13:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 09:27 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

ถูกต้องที่สุด ตอนเรียนปีหนึ่งยังคิดอยู่เลยว่ามีแต่คนถามว่าทำเกี่ยวกะอะไร ห้องสมุดมีบรรณารักษ์แค่คนเดียวเท่านั้นแหละ

แต่ทำไม จะเรียน อ่ะ ตอนนี้จบมาแล้วกลับเป็นว่าเป็นสาขาที่มีแต่คนต้องการตัว

เพราะว่างานของเรามันเป็นงานที่ให้บริการความรู้นี่นา

ทำงานให้สมกับที่จบมาว่างั้นเถอะ

สู้ๆ

sc21mc

21 Dec 2006

      ถ้าอยากรู้ว่า บรรณารักษศาสตร์นั้นทำอะไรได้บ้าง และจะต้องเรียนรู้เกี่ยวกับอะไรบ้าง ให้เข้าไปศึกษา ความรู้ทางบรรณารักษศาสตร์ ตั้งแต่ ปริญญาตรี ถึง ปริญญาเอก ได้ที่ 2 websites นี้ก่อน แล้วค่อยมาอธิบายเพิ่มเติมอีกครั้งนะ

     1. http://www.itcompany.com/inforetriever/

    (INTERNET LIBRARY FOR LIBRARIANS)

     2.http://www.libraryspot.com

         อ่านจบแล้วจะรู้ซึ้งถึง ความรู้ในศาสตร์นี้ ที่บ้านเรายังไปไม่ถึงอีกมากมาย ที่เรียนกันมาในเมืองไทยนั้น ยังแค่ 0.5 % ของสิ่งที่มี แล้วที่นอกเหนือจากนี้ยังมีอีกมากมาย หลายแหล่ง ที่ยังไม่รู้จัก 

นอกจากนี้ บรรณารักษ์ ทุกคนในประเทศไทย ที่ผ่านการศึกษาในขั้นปริญญาทุกระดับชั้น ควรจะต้องอ่านและศึกษา สารานุกรมเฉพาะสาขาที่ชื่อ

 Encyclopedia of Library and Information Science

ปัจจุบันมีเกือบ 60 เล่มชุด ถ้าใครไม่เคยเห็น ไม่เคยอ่าน ก็สมควรรีบกลับไป ลูบๆคลำๆ ให้ดี แต่ถ้า บรรณารักษ์ ระดับปริญญาในบ้านเรา ใครไม่รู้จัก ไม่เคยอ่าน ชีวิตดูจะน่าสงสาร อนาคตบรรณารักษ์ไทยเอามากๆ และถ้ามหาวิทยาลัยไหนยังไม่มี แต่เปิดการเรียนการสอน สาขาบรรณารักษศาสตร์ ถึงขั้นปริญญาตรี-โท-เอก ได้ดูจะ น่าสงสารยิ่งกว่ามากนัก.

อืมก็จริงอ่ะนะ....แต่ก่อนเรียนบริหารยังไม่ใจเย็นเท่ากับเรียนโทบรรณฯเลย...เรียนเอกบรรณฯยังทำให้เป็นคนละเอียดรอบครอบอีกตากหาก....แต่เค้าบอกว่าบรรณฯชอบทำหน้ายุ่งเราก็ไม่ต้องทำยิ้มเข้าไว้เค้าจะได้ไม่ต้องกลัวเรา(อีกอย่าง..ก็ยิ้มสวย อิๆๆ)

หึหึหึ น่าเสียดายจริงๆ ที่เขาปรับปรุงหลักสูตรจาก "บรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์" มาเป็นสารสนเทศศาสตร์แทน อยากจะบอกว่า ในวิชาชีพด้านนี้นั้น ปัจจุบันมีผู้คนให้ความสำคัญน้อยลงมาก ทั้งๆที่โดยเนื้องานแล้ว หาคนที่รู้และเข้าใจอย่างลึกซึ้งได้ยากจริงๆ -*- และ ณ ปัจจุบันผมจะเป็นแค่ "บรรณารักษ์" คนหนึ่งที่ใครๆ ไม่ค่อยจะให้ความสำคัญ แต่อยากให้ห้องสมุดของหน่วยงานตัวเองใหญ่โตเพื่อให้ผ่านการรับรองก็ตาม แต่ผมก็ยังภูมิใจ ที่ได้ทำงานในสาขาวิชาที่ได้จบมา ^__^

และ ยังคิดฝันเอาไว้ว่า หากมีโอกาสจริงๆ ก็ยังคงอยากจะทำงานในสายวิชาชีพและเรียนต่อ ในสายอาชีพนี้อย่างแน่นอนกั๊บ ^^__^^ หุหุหุ

KKU- HS-LIB # The LAst

เบญจภัทร์ จาตุรนต์รัศมี
ขอร่วมแสดงความเห็นด้วยอีกหนึ่งเสียง  บรรณารักษ์ที่ในอดีตมองว่าเป็นคนเก็บหนังสือเข้าชั้นหนังสือ  ปัจจุบันพวกเราในวิชาชีพจะถูกเรียกว่าเป็น  Cybrarian  ( Cyber +Librarian )  ผู้จัดการข้อมูล  (Information Manager  )  นักวิทยาศาสตร์สนเทศ ( Information Scientist)   นักเอกสารสนเทศ  ฯลฯทั้งนี้วิชาชีพนี้สามารถบูรณาการกับวิชาชีพอื่นๆได้ทุกวิชาเป็นสหวิทยาการคะ
  • เก็บหนังสือขึ้นชั้นก็หน้าที่หนึ่ง ต้องรู้ ต้องเป็น .... ไม่เห็นน่าอาย 
  • พิสูจน์  ความมีค่าด้วย  ผลงานและความสามารถ ที่คิดว่าอาชีพอื่นทำไม่ได้แน่ ๆ  (ขาดฉันแล้วเธอจะวุ่นวาย)  ......
  • แล้วก็ไม่แปลกที่คนอาชีพอื่นจะมองเช่นนั้นเพราะมันเคยเป็นเช่นนั้นจริง ๆ 
  • ถ้ารู้สึกว่าไร้ค่า  ก็ต้องสร้างมูลค่าให้ตัวเอง   จะสร้างยังไงก็สุดแล้วแต่  นั่งอยู่กับที่ ไม่มีค่าแน่นอน  
สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

แผนกส่งเสริมสารสนเทศเพื่อการศึกษาวิจัย สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ขอเชิญเข้าร่วมการสัมมนา เรื่อง เทคโนโลยีเว็บ Web 2.0 : สู่ความเป็นเลิศของห้องสมุดดิจิตอล (Web 2.0 Technology : A Guide to Best-Practices in Digital Libraries) ในวันศุกร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ 2552 ณ ห้อง 10303 อาคาร 10 ชั้น 3 (การบรรยาย) และ ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ 7402 อาคาร 7 ชั้น 4 (Workshop) ดูรายละเอียดการสัมมนาพร้อมดาวน์โหลดใบตอบรับเพื่อสำรองที่นั่งได้ที่ http://library.utcc.ac.th สนใจการเข้าร่วมสัมมนา กรุณาสำรองที่นั่ง และแจ้งรายชื่อผู้เข้าร่วมการสัมมนา ภายในวันศุกร์ที่ 23 มกราคม 2552 ได้ที่ : แผนกส่งเสริมสารสนเทศเพื่อการศึกษาวิจัย สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย โทรศัพท์ : 02-697-6260, 02-697-6262 โทรสาร : 02-697-6251 E-mail : [email protected]

ขอเพิ่มเติมสถานที่ที่จัดสอนทางด้านบรรณารักษศาสตร์หน่อยค่ะ

เพราะว่าปัจจุบันเรียนโทที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง

หลักสูตรบรรณารักษ์และสารนิเทศศาสตร์ค่ะ และขอสนับสนุนว่าบรรณารักษ์มีค่ามากมาย เพราะดร.บางคนยังต้องอาศัยข้อมูลจากบรรณารักษ์ไปใช้ในการสอนเลยค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท