“ ระบบ : การเดินทางที่ยาวไกล ”


การคิดเชิงระบบ

ระบบ  :  การเดินทางที่ยาวไกล

 SYSTEMS – A JOURNEY  ALONG  THE  WAY 

 

       “ ระบบ  :  การเดินทางที่ยาวไกล ”  โดย   GENE  BELLINGER ( 2004 – 2005)  มีใจความสำคัญ   ดังนี้  คือ

 1              เนื้อหา                 

                บทความนี้มิได้ตั้งใจจะให้ความคิดเห็นเชิงวิชาการ  แต่ตั้งใจจะให้มองหลายๆอย่างตามแนวคิดของระบบ  เพื่อจะได้เข้าใจเรื่องของระบบได้ชัดเจนมากขึ้นและรายละเอียดของบทความนี้  ถูกเรียบเรียงขึ้น  เพื่อหลีกเลี่ยงแนวคิดด้าน  วิทยาการว่าด้วยระบบ  โดย  LUDWIG  VON  BERTALANFFY  ที่ว่า การศึกษาด้านวิทยาการของระบบด้วยความตั้งใจเดิมที่จะแก้ปัญหาด้านความชำนาญเฉพาะการกลายเป็นการศึกษาทางวิชาการเฉพาะอีกมากมาย                ผู้เขียนได้ให้คำจำกัดความของคำว่า ระบบ  ว่ามีความหมายที่แตกต่างกันอย่างมากมายกว่าคำอื่นๆ  ในปัจจุบัน  แต่คำจำกัดความที่ผู้เขียนใช้ก็คือ  ส่วนประกอบของสิ่งต่างๆที่รวมกันอยู่โดยมีสหสัมพันธ์ซึ่งกันและกันทุกส่วน  อันเป็นแนวคิดของนักชีววิทยาชาวออสเตรีย  LUSWIG  VON  BERTALANPFY  ซึ่งคำจำกัดความนี้มีความหมายลึกซึ้งกว่าการเป็นเหตุเป็นผล  ซึ่งกันและกันตามปกติ  แต่เป็น  สหสัมพันธ์ร่วมกัน  ไม่เป็นเพียงแต่มารวมกัน  หรือจัดมาอยู่ร่วมกัน                จากการมีสหสัมพันธ์ซึ่งกันและกันของส่วนต่างๆทำให้เกิดลักษณะเฉพาะของระบบที่ไม่มีในแต่ละส่วนที่ประกอบกัน  ซึ่งผู้เขียนพบว่าแนวคิดนี้ได้มาจากการเรียนเรื่อง พลังร่วม  (SYNERGY)  ตอนเรียนอยู่ในชั้นมัธยมที่ยืนยันได้ว่า  องค์ประกอบใหญ่ทั้งหมดมีความยิ่งใหญ่กว่า  การรวมเอาผลของส่วนประกอบย่อยๆมารวมกัน  เช่นน้ำ  เป็นส่วนประกอบของก๊าซออกซิเจนกับก๊าซไฮโดรเจน  แต่ทั้งอ๊อกซิเจน  และก๊าซไฮโดรเจน  ไม่มีลักษณะเปียกเหมือนน้ำ                ระบบในทัศนะของผู้เขียนมี  3  ประเภท  คือระบบเอกเทศ (ISOLATED  SYSTEM)  ระบบเปิด (OPEN  SYSTEM)  และระบบปิด (CLOSED  SYSTEM)  โดยที่ระบบเอกเทศเป็นระบบที่อยู่ได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมใดๆ  ในขณะที่ระบบปิดเช่นอะตอมและโมเลกุล  เป็นระบบที่สิ่งแวดล้อมเข้ามามีผลกระทบได้ยาก  ส่วนระบบเปิดซึ่งเป็นระบบที่มีชีวิตและต้องอาศัยสิ่งแวดล้อมจึงจะดำรงอยู่ได้  คนจึงเป็นตัวอย่างที่สำคัญของระบบเปิดเนื่องจากต้องเกี่ยวข้องโดยตรงกับสิ่งแวดล้อมทั้งในด้านอาหาร  น้ำและที่อยู่อาศัย  แล้วคนก็ถ่ายของเสียกลับคืนมาให้แก่สิ่งแวดล้อม                ระบบเปิดแต่ละระบบจะมีสหสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมในด้านการรักษาดุลยภาพ  เพื่อการดำรงอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน  จึงทำให้ระบบย่อยต่างๆ  รวมกันเป็นระบบใหญ่และระบบใหญ่ต่างๆรวมกันเป็นระบบรวม                

                  โบลเดอร์ (BOULDER)  ซึ่งเป็นนักเศรษฐศาสตร์ได้จัดแบ่งระบบในหนังสือ  โลกคือระบบรวม  ว่ามี  5  ประเภทคือ 

1.                   ระบบกาฝาก (PARASITIC  SYSTEM)  เป็นระบบที่สิ่งหนึ่งอาศัยอีกซึ่งหนึ่งเพื่อการดำรงอยู่  ในขณะทำลายสิ่งที่ได้อาศัยนั้นให้เสื่อมสลายในที่สุด 

2.                   ระบบเหยื่อกับนักล่า  (PREY / PREDATOR  SYSTEM)  เป็นระบบที่ต่างต้องอาศัยซึ่งกันและกันเพื่อให้ดำรงอยู่ได้  เช่นหมาป่ากับกระต่าย  ที่แม้ว่าหมาป่าจะต้องจับกระต่ายกินเป็นอาหาร  แต่การจับกระต่ายของหมาป่าก็จะกระตุ้นให้ประชากรของหมาป่าต้องพัฒนาตัวเองให้มีความเข้มแข็งอยู่ตลอดเวลา

3.                   ระบบคุกคามซึ่งกันและกัน  (TREAT  SYSTEM)  เป็นระบบที่ถ้าสิ่งหนึ่งไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขอีกสิ่งหนึ่งก็จะไม่ปฏิบัติด้วยเช่นกัน  เช่นการควบคุมการพัฒนาอาวุธของรัฐเซียกับสหรัฐอเมริกาเป็นต้น

4.                   ระบบการแลกเปลี่ยน  (EXCHANGE  SYSTEM)  อันได้แก่  ระบบทุนนิยมในปัจจุบันที่ฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ส่งมอบสินคค้าและบริการ  ให้แก่อีกฝ่ายหนึ่งที่จะต้องส่งมอบเงินหรือสินค้าและบริการอื่นมาเป็นสิ่งแลกเปลี่ยน  หรือถ้าฝ่ายหนึ่งทำอะไรให้  อีกฝ่ายหนึ่งต้องทำอะไรให้เป็นการตอบแทนเสมอ  จนทำให้ระบบเศรษฐกิจแบบให้ก่อนผ่อนจ่ายคืนภายหลัง  กำลังจะกลายเป็นระบบคุกคามซึ่งกันและกัน  เมื่อฝ่ายหนึ่งเริ่มผิดสัญญา

5.                   ระบบบูรณาการ  (INTEGRATIVE  SYSTEM) เป็นระบบที่  ผู้ที่มีความสนใจหรือผลประโยชน์ร่วมกัน  มาร่วมกันเป็นกลุ่มและจัดตั้งระบบการดำเนินการร่วมกันขึ้นมาเพื่อร่วมกันคิดร่วมกันทำ  ร่วมกันเรียนรู้และร่วมกันสร้างความสำเร็จ

ผู้เขียนได้เพิ่มเติมในตอนท้ายของบทความว่าได้มีการแบ่งระบบออกเป็น  4  ระบบ  ซึ่งอาจจำเป็นที่ต้องศึกษาเพิ่มเติมต่อไป  อันได้แก่  ระบบป้องกัน  (PROTECTION  SYSTEM)  ระบบควบคุม  (REGULATIVE  SYSTEM) ระบบเล็งผลเลิศ (OPTIMISTIC  SYSTEM)  และระบบปรับตัว  (ADAPTIVE  SYSTEM)  

2              ประเด็นของบทความ

2.1                ระบบหมายถึง  ส่วนประกอบของสิ่งต่างๆที่รวมกันอยู่โดยมีสหสัมพันธ์ซึ่งกันและกันทุกส่วน  ทั้งนี้  เมื่อรวมกันเป็นระบบแล้ว  ลักษณะขององค์ประกอบใหญ่ทั้งหมดจะมีความยิ่งใหญ่กว่าการนำเอาลักษณะขององค์ประกอบย่อยมารวมกัน

2.2               ระบบแบ่งออกได้ตามลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งแวดล้อม  เป็น  3  ประเภทคือ  ระบบเอกเทศ  ระบบปิด  และระบบเปิด

2.3               ระบบแบ่งออกตามแนวคิดของนักเศรษฐศาสตร์ (BOULDING)  ได้   5  ประเภท  คือ  ระบบกาฝาก  ระบบเหยื่อกับนักล่า  ระบบคุกคามซึ่งกันและกัน  ระบบแลกเปลี่ยน  และระบบบูรณาการ

2.4                อาจจะมีลักษณะการจัดระบบอีกรูปแบบหนึ่งที่จำเป็นต้องศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม  คือ  ระบบป้องกัน  ระบบควบคุม  ระบบเล็งผลเลิศ  และระบบปรับตัว 

3                     การวิเคราะห์บทความ

3.1               บทความนี้มีความตั้งใจที่จะอธิบายว่า  การศึกษาเรื่องระบบ (SYSTEM)  นั้น  ได้มีการศึกษากันอย่างหลากหลาย  ทั้งในด้านมุมมองของแต่ละความเชี่ยวชาญและได้มีการให้คำจำกัดความแตกต่างกันออกไป  จึงได้ตั้งชื่อบทความว่า  ระบบ การเดินทางที่ยาวไกล  เพื่อจะกระตุ้นให้ผู้ที่ศึกษาได้ค้นคว้ารายละเอียดให้ลึกลงไป

3.2                แม้ว่าผู้เขียนจะจั่วบทนำเอาไว้ว่ามิได้ให้เข้าใจว่าเป็นเรื่องศาสตร์ของระบบ  (THE  REAL  INTENT  HERE  IS  NOT  TO  STUDY  SYSTEMS  AS  A  DISCIPLINE)  แต่วิธีการนำเสนอได้ชักจูงไปอธิบายว่าเรื่องของระบบเป็นเรื่องที่กว้างขวางลึกซึ้งและมีความเกี่ยวข้องกับสิ่งต่างๆ  จำนวนมากจนน่าจะนับเป็นศาสตร์  (DISCIPLINE)  แขนงหนึ่งได้  ที่ผู้เขียนเรียกว่า  SYSTEM  SCIENCE  (ศาสตร์ที่ว่าด้วยระบบ)

3.3               หากนำเอาคำจำกัดความที่ผู้เขียนเลือกนำมาอ้างอิงว่า ระบบ  หมายถึง  ส่วนประกอบสิ่งต่างๆ  ที่รวมกันอยู่โดยมีสหสัมพันธ์ซึ่งกันและกันทุกส่วน  ทั้งนี้เมื่อรวมกันเป็นระบบแล้ว  ลักษณะขององค์ประกอบใหญ่ทั้งหมด  จะมีความยิ่งใหญ่กว่าการนำเอาลักษณะขององค์ประกอบย่อยมารวมกัน  เมื่อวิเคราะห์แล้วจะพบว่า  การที่จะเรียกว่าระบบนั้นจะต้องมี  องค์ประกอบหรือชุดขององค์ประกอบ  (OBJECTS/SUBJECT)  ต้องมีการรวมตัวกันโดยมีสหสัมพันธ์หรือความสัมพันธ์ภายในซึ่งกันและกัน  ตลอดจนมีอิทธิพลต่อซึ่งกันและกัน  และคุณลักษณะของระบบ  จะมีความแตกต่างจากการนำเอาคุณลักษณะขององค์ประกอบต่างๆมารวมกัน  โดยผู้เขียนยกตัวอย่างการรวมตัวกันของ  OXYGEN  กับ  HYDROGEN  จนกลายเป็นน้ำ  ซึ่งน้ำจะมีคุณสมบัติแตกต่างจากก๊าซทั้ง  2  ชนิด  คือเป็นของเหลวและมีลักษณะเปียกเป็นต้น  ก็จะโน้มนำผู้อ่านให้เข้าใจว่า  เรื่องของระบบ  หรือ  SYSTEM  น่าจะกว้างขวางลึกซึ้งและมีเอกลักษณ์เพียงพอที่จะเป็นศษสตร์ที่เรียกว่า  “SYSTEM  SCIENCE”  ได้

3.4                การนำเอาแนวคิดของนักเศรษฐศาสตร์  BOULDER  มาแจกแจงประเภทของระบบทั้ง  5  ไม่ว่าจะเป็น  ระบบกาฝาก  ระบบเหยื่อกับนักล่า  ระบบคุกคาม  ระบบแลกเปลี่ยน  และระบบบูรณาการ  เพื่ออธิบายความหลากหลายของระบบ  พร้อมทั้งยกตัวอย่างประกอบนั้น  หากวิเคราะห์ดูแล้วจะพบว่า  เป็นตัวอย่างด้านวิทยาศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ทั้งหมด  มิได้ประยุกต์ตัวอย่างในด้านสังคมศาสตร์มาประกอบแต่ประการใด  แม้ว่าในตอนท้ายจะพยายามจะชี้ชวนให้ผู้อ่านติดตามเรื่องระบบป้องกัน  ระบบควบคุม  ระบบเล็งผลเลิศและระบบปรับตัว  ซึ่งน่าจะมีแนวโน้มตัวอย่างด้านสังคมศาสตร์บ้าง  แต่ก็ไม่ชัดเจนนัก

 

4                     บทวิจารณ์

 4.1                หากความตั้งใจของผู้เขียน  ต้องการให้ผู้อ่าน  เดินทางไปอีกยาวไกล  เพื่อทำความเข้าใจกับ ศาสตร์ของระบบ เพื่อจะทำความเข้าใจให้ได้ว่า  จริงๆแล้วเรื่องของระบบจะเป็นศาสตร์แขนงหนึ่งได้จริงๆหรือไม่  ก็จะเป็นบทความที่น่าติดตามต่อเป็นอย่างยิ่ง  แต่ในอีกมุมมองหนึ่ง  ถ้าจะมองว่าสิ่งใดจะเป็นศาสตร์ได้นั้น  นอกจากจะมีหลักการและทฤษฎี  (PRINCIPLES  AND  THEORY)  ที่จะต้องผ่านการพิสูจน์แล้วสิ่งนั้นจะต้องมีเอกลักษณ์  (ENTITY)  เฉพาะตัวที่มีลักษณะเป็นศาสตร์อีกด้วย  ยิ่งไปกว่านั้นมิติ  (DIMENSION)  ของรายละเอียดที่ประกอบกันเป็นหลักการและทฤษฎี  จะต้องมีความซับซ้อนเพียงพอที่จะเป็นศาสตร์ในตัวเองได้ในความเห็นของผู้วิจารณ์เห็นว่า  ระบบ  เป็นเพียงองค์ประกอบหรือปัจจัย  (FACTOR)  ที่จะช่วยให้ผู้ประยุกต์ใช้ความรู้เรื่องของ  ระบบ  มีเครื่องมือที่จะมองเห็นปัญหาหรือเป้าหมายของสิ่งที่จะดำเนินการได้อย่างครอบคลุมในรูปแบบขององค์รวมเท่านั้น

4.2               การที่ผู้เขียนได้ใช้แนวคิดของ  BOULDER  ซึ่งเป็นนักเศรษฐศาสตร์ในการจำแนกประเภทของระบบออกเป็น  5  ประเภท  ทำให้ผู้อ่านสามารถแยกความสัมพันธ์ภายในของระบบได้  5  ประการ  ซึ่งเป็นสิ่งที่มีตัวอย่างเป็นรูปธรรม  แต่ถ้าหากได้มีตัวอย่างในเชิงสังคมศาสตร์  เช่นความสัมพันธ์ระหว่างอวัยวะต่างๆของมนุษย์  และอิทธิพลของระบบอวัยวะที่มีต่อพฤติกรรม  (การแสดงออก)  ตลอดจนทัศนคติและความเชื่อของมนุษย์ด้วยแล้ว  ก็จะทำให้การจำแนกลักษณะของระบบมีความครอบคลุมการนำไปประยุกต์ใช้ได้มากขึ้น                อาจจะเป็นเพราะพื้นที่จำกัดด้วยส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้เขียนไม่สามารถยกตัวอย่างในเชิงสังคมศาสตร์และวิทยาการจัด การ  ซึ่งการคิดเชิงระบบ  เป็นปัจจัยที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง 

4.3                หากผู้เขียนได้นำแนวคิดเปรียบเทียบของ  LUDWIG  VON  BERTALANFFY  ซึ่งพยายามอธิบายให้เป็นศาสตร์ของระบบกับแนวคิดของ  BOULDER  ที่เป็นนักเศรษฐศาสตร์และแนวคิดของนักสังคมศาสตร์บางคนมาอธิบายเปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่างที่หลากหลายมุมมองขึ้น  จะทำให้  การเดินทางที่ยาวไกล  ในการทำความเข้าใจกับคำว่า  ระบบ  หรือการนำเอาความเข้าใจเกี่ยวกับระบบไปใช้ก็จะทำให้การเดินทางที่ยาวไกลนั้น  เป็นการเดินทางที่คุ้มค่ายิ่ง

5                     บทสรุป

5.1                หากเอาจำกัดความของ  ระบบ  (SYSTEM)  ตามที่ผู้เขียนยึดถือมาประยุกต์ใช้กับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์  (HRD)  ก็จะพบว่า  เมื่อกระบวนการในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์จะต้องประกอบไปด้วย  ความเข้าใจในธรรมชาติของมนุษย์  ความเข้าใจในสิ่งแวดล้อมทุกปัจจัยของมนุษย์  ความเขาใจในการเปลี่ยนแปลงต่างๆ  ทั้งโดยธรรมชาติและโดยการกระทำของมนุษย์  และความเข้าใจในองค์ความรู้  อันเป็นแก่นสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์แล้ว  จะพบว่า  ถ้าไม่มีการคิดอย่างเป็นระบบ  (SYSTEM  THINKING)  อย่างจริงจัง  จะไม่สามารถดำเนินการได้สำเร็จ  เนื่องจากความสัมพันธ์เกี่ยวโยงขององค์ประกอบต่างๆ มีความซับซ้อนมากประกอบกับหากปฏิบัติผิดพลาด (MALPRACTICE)  ก็จะทำให้เกิดผลเสียและเกิดความเสียหายทั้งระบบจนยากที่จะแก้ไขกลับคืนได้ 

5.2                ในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์นั้น  หากได้นำเอาความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบต่างๆ  ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ในลักษณะกาฝาก  เหยื่อและนักล่า  คุกคามซึ่งกันและกัน  การแลกเปลี่ยน  หรือการบูรณาการ  มาปรับเปลี่ยนหรือปรับแต่งให้เป็นความสัมพันธ์เชิงบูรณาการให้ได้เกือบทั้งหมด  การเรียนรู้แบบการประสานความร่วมมือ  (COLLABORATIVE  LEARNING)  ก็จะเกิดขึ้น  เป็นผลให้กระบวนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์สร้างความสุขให้แก่ทั้งผู้พัฒนาและผู้ที่ได้รับการพัฒนา

5.3                หากจะประยุกต์ใช้แนวคิดเรื่องระบบเอกเทศ  ระบบปิดและระบบเปิด  มาใช้กับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์  จะสามารถเห็นได้ชัดว่าระบบเอกเทศ  (ISOLATION)  มีน้อยมากในกระบวนการและหลักการในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์  ระบบปิด (CLOSED  SYSTEM)  จะเป็นโทษต่อระบบการพัฒนา  ส่วนระบบเปิด  (OPEN  SYSTEM)  เป็นระบบที่จำเป็นอย่างยิ่งในกระบวนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์  เนื่องจากจะต้องเป็นระบบที่มีพลวัต  (DYNAMICITY)  สูงอยู่ตลอดเวลา  จึงจะสามารถรองรับ  (COPE)  กับความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมต่างๆได้อย่างจริงจัง

 ..................................................................... 

คำสำคัญ (Tags): #การคิดเชิงระบบ
หมายเลขบันทึก: 62313เขียนเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2006 11:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 เมษายน 2012 10:14 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท