ดร.อุทัย อันพิมพ์
ดร. อุทัย ดร.อุทัย อันพิมพ์ อันพิมพ์

เทคนิคการคัดพันธุ์ข้าวจากข้าวกล้อง


การคัดพันธุ์ข้าว ข้าวกล้อง การจัดการความรู้ ความยั่งยืน

พันธุ์ข้าวหายพันธุ์ (Seed)  พันธุ์เป็นหัวใจสำคัญอีกประการหนึ่งไม่ว่าจะเป็นการผลิตพืชหรือสัตว์ ดังนั้นเมื่อเราต้องการผลผลิตที่ดีเราก็ต้องใช้พ่อ แม่พันธุ์ที่ดีจึงจะได้ผลผลิตตรงกับความต้องการ ซึ่งบรรพบุรุษของเราค่อนข้างที่จะย้ำนักย้ำหนาและพร่ำสอนเกี่ยวกับการเก็บเมล็ดพันธุ์มาโดยตลอด โดยเฉพาะในเรื่องของข้าวที่เป็นพืชอาหารหลักของคนไทยเราจนกระทั่งมีคนเขาเอาไปแต่งเป็นเพลง  นาดีๆ ต้องใช้ข้าวปลูกพันธุ์ดี  ข้าวปลูกไม่ดีแล้วมันจะเสียที่นา แต่คนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยให้ความสนใจเท่าที่ควร หรืออาจจะกล่าวได้ว่า มักง่าย ก็คงจะไม่ผิด เนื่องจากไม่ค่อยมีการคัดพันธุ์เพื่อการผลิตเอง พอถึงฤดูกาลทำนาที ก็ต้องซื้อเขาอย่างเดียว จนกระทั่งพันธุ์ข้าวที่ดีๆ ของตนเองเริ่มหายไป

 การคัดเมล็ดพันธุ์แบบแกะเปลือก  หรือเรียกอีกอย่างว่า การคัดเมล็ดพันธุ์จากข้าวกล้อง ซึ่งเป็นเทคนิคของโรงเรียนชาวนา มูลนิธิข้าวขวัญ จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งนับว่าเป็นการคัดคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ที่ดี แทนที่จะดูเฉพาะลักษณะภายนอก (Physical) เพียงอย่างเดียว ซึ่งจะเป็นการดูที่ละเอียดกว่าจึงส่งผลให้ได้เมล็ดพันธุ์ที่ดีกว่า คุณสุขสรรค์   กันตรี เจ้าหน้าที่ของโรงเรียนชาวนาสุพรรณบุรี ได้เล่าให้กับพวกเราเหล่านักเรียนที่มีความสนใจในการคัดเมล็ดพันธุ์ข้าว เนื่องในโอกาสวันงานตลาดนัดเครือข่ายการจัดการความรู้มูลนิธิข้าวขวัญ เมื่อวันที่ 20 – 21 พ.ย. 49 ที่ผ่านมาว่า ในการคัดเมล็ดพันธุ์ข้าวจากข้าวกล้องมีด้วยกัน 9 ขันตอน ดังนี้

1. การกะเทาะข้าวกล้อง เป็นการกะเทาะโดยใช้เครื่องสี หรือแกะด้วยมือ เพื่อแยกเปลือกออกจากข้าวกล้อง

2. การเลือกเมล็ดพันธุ์ดีจากข้าวกล้อง โดยการคัดเอาเฉพาะเมล็ดที่ตรงตามพันธุ์  ท้องไม่ไข่ เมล็ดเต่งตึง ตรง เรียว สวยงาม

3. การเพาะกล้า  นำเมล็ดเพาะเพาะในกระบะ หรือกระถาง โดยใช้ทรายน้ำจืดเป็นวัสดุเพาะ ประมาณ 4 – 5 วันเมล็ดก็จะงอก

4. การปักดำกล้าต้นเดียว  เมื่อต้นกล้าอายุประมาณ 2 สัปดาห์ ให้ทำการถอนแยกไปปักดำโดยใช้เพียง 1 ต้น ต่อ 1 หลุม โดยใช้ระยะห่างประมาณ 30 x 30 ซม. เพื่อประหยัด และสะดวกในการคัดแยกต่อไป

5. การคัดเลือกกอที่สมบูรณ์ ตรงตามพันธุ์ ให้ผลผลิตสูง หลังจากปักดำไปแล้วให้เราสังเกตดูต้นข้าวที่มีความสวยงามสม่ำเสมอ ทนโรค แมลง ให้เก็บไว้ ส่วนที่มีลักษณะตรงข้าม และไม่ตรงตามพันธุ์ให้ถอนทิ้ง

6. การเก็บเกี่ยว  การเก็บเกี่ยวควรใช้แรงงานคนในการเก็บเกี่ยวเพื่อจะได้ดูการปนเปื้อน (พันธุ์ปน) ไปด้วย และทำการคัดแยกออกหากมี

7. การนวด ในการนวดควรใช้แรงงานคนในการนวด หรือหากใช้เครื่อง ต้องทำความสะอาดเครื่องให้ดีเสียก่อนเพื่อป้องกันการปอมปน

8. การตากเมล็ดข้าว  หลังนวดเสร็จเรียบร้อยก็จะทำการตากเมล็ดพันธุ์เพื่อลดความชื้น ประมาณ 2 – 3 วัน

9. การเก็บเมล็ดพันธุ์  เป็นการเก็บเพื่อไว้ในการขยายพันธุ์ในฤดูกาลต่อไป โดยเก็บในที่ร่ม อากาศมีการถ่ายเท

 

หลังจากนั้นจะทำการเพาะปลูก และคัดต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าพันธุ์จะนิ่ง โดยปกติก็อยู่ประมาณรุ่นที่ 8 พันธุ์ก็จะนิ่ง จึงกำหนดชื่อพันธุ์เองต่อไป

 การจัดการความรู้มุ่งสู่การทำนาแบบยั่งยืน จากแนวทางดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการจัดการความรู้(KM) เรื่องอาชีพการทำนา  ของพี่น้องโรงเรียนชาวนาสุพรรณบุรีได้อย่างเหมาะสมที่สามารถมีพันธุ์ข้าวเป็นของตนเอง นอกจากนั้นโรงเรียนชาวสุพรรณบุรียังสามารถผลิตปุ๋ย จุลินทรีย์ สารสกัดกำจัดศัตรูพืช ใช้เอง โดยไม่ต้องพึ่งปัจจัยภายนอก แต่อย่างใด ตลอดทั้งการจัดการความรู้ในเรื่องระบบนิเวศน์ (Ecological) ในแปลงนาได้อย่างเหมาะสมอีกด้วย ผมจึงพิจารณาเห็นว่าน่าจะมีการขยายผลต่อไป เพื่อเป็นแบบอย่างสำหรับพี่น้องชาวนาทั่วประเทศ ซึ่งผมมีความเชื่อเหลือเกินว่า หากพี่น้องชาวนาเราสามารถพึ่งตนเองได้ เราก็จะมีความมั่นคงและยั่งยืนในอาชีพ ต่อไปอาชีพชาวนาเราจะไม่ได้เป็นแค่กระดูกสันหลังของของชาติเพียงอย่างเดียว เราจะสามารถเป็นได้ทั้งเนื้อและผิวหนังอันสมบูรณ์ พร้อมกับยืนหยัดอยู่บนผืนแผ่นดินไทยได้อย่างสง่างาม

ขอบคุณครับ

อุทัย   อันพิมพ์

22 พ.ย. 2549

หมายเลขบันทึก: 62173เขียนเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2006 16:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 10:43 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท