"การศึกษาไทยเป็นได้แค่ 2.0 ?" ... (ดร.สุพจน์ หารหนองบัว)


การศึกษาไทยเป็นได้แค่ 2.0 ?


ดร.สุพจน์ หารหนองบัว คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ให้สัมภาษณ์ว่าการศึกษาไทยเป็นได้แค่ 2.0 ? พร้อมแสนอทางออกว่าจะทำให้เป็นการเรียนรู้แบบ 4.0 ได้อย่างไร

“การศึกษาไทยอยู่ในอันดับที่ 8 ในกลุ่มประเทศอาเซี่ยน” เป็นหนึ่งในข้อมูลที่ชี้ชัดว่า การศึกษาของประเทศอยู่ในภาวะวิกฤติ ซึ่งหมายถึงคุณภาพของคนวิกฤติ และหมายถึงประเทศอยู่ในภาวะวิกฤติ เพราะคนคือทรัพยากรที่สำคัญที่สุด ซึ่งที่ผลออกมาเช่นนี้เพราะ ในการทดสอบวัดคุณภาพการศึกษา เขาวัดกันด้วยการศึกษา 4.0 แต่การเรียนการสอนของประเทศไทยยังเป็นการศึกษา 1.0 ในขณะที่การศึกษาของประเทศไทยในปัจจุบันส่วนใหญ่ทำได้แค่เพียง 2.0 เท่านั้น"ดร.สุพจน์ หารหนองบัว ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์ กับ“คมชัดลึก”

พร้อมกันนี้ดร.สุพจน์ ได้อธิบายโปสเตอร์ แสดงถึงวิวัฒนาการการศึกษาจาก 1.0 ถึง 4.0 เป็นลำดับคือ 1.0-ครูเป็นผู้ป้อนความรู้ 2.0-ผู้เรียนหาความรู้เองจากสื่อออนไลน์ได้ 3.0-ผู้เรียนสร้างความรู้ได้ 4.0–ผู้เรียนสร้างนวัตกรรมได้ โดยคำว่าสร้างนวัตกรรมครอบคลุมตั้งแต่การนำความรู้จากชั้นเรียนไปแก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน ไปช่วยชุมชน ช่วยสังคม รวมไปถึงการนำความรู้ไปสร้างมูลค่าทางธุรกิจได้

เป็นผลงานวิจัยสะสมมายาวนาน ที่รู้จักทั่วไปในวงการศึกษาในชื่อ ปิรามิดการเรียนรู้ (Learning Pyramid) ที่นักการศึกษาทั่วโลกยอมรับและเป็นสิ่งหลายประเทศนำไปปรับใช้ โดยการวัดผลสัมฤทธิ์ของการศึกษาจากความรู้ที่เหลืออยู่กับผู้เรียนเมื่อสำเร็จการศึกษาไปแล้ว ซึ่งพบว่า การเรียนที่ให้ครูเป็นผู้ป้อนความรู้นั้น มีความรู้เหลือติดตัวผู้เรียนไปเพียง 5% ถ้าผู้เรียนอ่านเพิ่มเติมจะได้ความรู้ติดตัวไป 10% ถ้าป้อนแล้วมีภาพประกอบก็จะเพิ่มช่องทางการเข้าใจ ความรู้ที่ติดตัวไปจะเพิ่มขึ้นเป็น 20% และถ้าครูจัดให้มีการสาธิตประกอบจะทำไห้ได้ความรู้เพิ่มขึ้นเป็น 30%


แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้ยังถือว่าผู้เรียนเป็นเพียงผู้เสพความรู้ โดยดร.สุพจน์ ได้อ้างที่มา: ศาสตราจารย์ นพ. วิจารณ์ พานิช หรืออีกนัยหนึ่งอาจเรียกการเรียนรู้แบบนี้ซึ่งก็ยังเป็นการป้อนความรู้ว่า เป็นแบบจากข้างนอกสู่ข้างใน (Outside in) ซึ่งผลที่ได้ก็คือนกแก้ว-นกขุนทอง

ทั้งนี้เขาได้อธิบายรูปแบบการศึกษา 3.0 ถูกเสนอไว้อย่างง่ายและชัดเจนในฐานปิรามิด โดยแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ 3/1-จัดให้มีการถกเถียง 3/2-ให้ลงมือปฏิบัติ 3/3-ให้สอนผู้อื่น ซึ่งมีผลการวิจัยยืนยันว่า นอกจากจะทำให้ผู้เรียนสามารถสร้างความรู้เองได้แล้ว ยังเหลือความรู้ติดตัวไปกับผู้เรียนถึง 50% 70% และ 90% ตามลำดับเลยที่เดียว

โดยในระดับที่ 1 ซึ่งได้แก่การจัดให้มีการถกเถียง (Debate หรือ Discussion) กันด้วยข้อมูลนั้น ผู้สอนมีหน้าที่ตั้งคำถามที่มีมุมมองในหลายมิติ จัดแบ่งผู้เรียนให้เป็นกลุ่ม ๆ ให้มีการถกเถียงกันด้วยข้อมูลภายในกลุ่ม แล้วนำผลสรุปในแต่ละกลุ่มมานำเสนอและให้ถกเถียงหรือโต้แย้งกันข้ามกลุ่ม หรือแม้แต่ให้เกิดการถกกันระหว่างผู้เรียนและผู้สอน โดยในการหาข้อมูลสามารถเปิดกว้างให้ค้นหาผ่านคอมพิวเตอร์ส่วนตัวหรือแม้กระทั่งผ่านมือถือ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มทักษะด้านสารสนเทศเพื่อให้สามารถค้นหาความรู้ด้วยตนเองซึ่งเป็นคุณลักษณะสำคัญของเยาวชนรุ่นใหม่ในศตวรรษที่ 21

การศึกษา 3.0 ในระดับที่ 2 ที่อยู่ที่ฐานปิรามิด ได้แก่ การให้ผู้เรียนลงมือปฏิบัติ (Practice) หรือทำการทดลองด้วยตนเอง ซึ่งผลการวิจัยระบุว่า ความรู้จะเหลืออยู่ที่ผู้เรียนถึง 70% และสุดยอดของการเรียนรู้ที่ทำให้ผู้เรียนเป็นผู้สร้างความรู้ตามแนวทางของการศึกษา 3.0 คือ การให้ผู้เรียนสอนผู้อื่น (Teach other) หรือติวให้กับเพื่อนหรือการนำเสนอหน้าชั้นเรียน เพราะก่อนที่จะนำเสนอหรือสอนผู้อื่นได้ ผู้เรียนต้องศึกษาให้เข้าใจ ต้องตกผลึกความรู้ ต้องสรุปประเด็น จัดหมวดหมู่ข้อมูลและนำเสนออย่างเป็นระบบ ซึ่งการสอนผู้อื่นโดยการนำความรู้ไปใช้ทันที (Immediate use) นี้ ผลการวิจัยระบุว่า ผู้เรียนจะเก็บความรู้ติดตัวไปได้ถึง 90%


การศึกษาไทยเป็นได้แค่ 2.0 ?


"จะเห็นว่าทั้งใน 3 ระดับของการศึกษา 3.0 นั้น ตลอดระยะเวลาในชั้นเรียน ผู้เรียนจะทำหน้าที่สร้างความรู้ผ่านกระบวนการคิด การค้นหาข้อมูลเพื่อนำมาถกเถียง การแก้ปัญหาในการลงมือปฏิบัติ รวมไปถึงการสรุปข้อมูลเพื่อนำไปเสนอหรือนำไปสอนผู้อื่น วิธีการเรียนรู้รูปแบบนี้ อาจเรียกได้ว่าเป็นการเรียนรู้ชนิดจากข้างในสู่ข้างนอก (Inside out) ซึ่งสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาคือ จะทำให้ผู้เรียนอยากรู้อยากเห็น ทำให้ผู้เรียนค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเอง และในที่สุดก็จะออกมาเป็นแรงบันดาลใจ (inspiration) นำไปสู่การค้นพบตัวเอง" ดร.สุพจน์ กล่าว

ทั้งนี้การที่ผู้เรียนต้องคิด ต้องแก้ปํญหาตลอดกระบวนการที่เกิดขึ้นในชั้นเรียนนั้น ถือเป็นกระบวนการฝึกฝนเพื่อให้คิดหลุดกรอบหรือคิดนอกกรอบ ซึ่งเป็นต้นทางของการคิดสร้างสรรค์ และต้นทางของคำว่า นวัตกรรม ซึ่งหมายถึง สิ่งที่แตกต่างและนำไปสู่การใช้ประโยชน์ การแก้ปัญหาชุมชนหรือการสร้างมูลค่าในทางธุรกิจต่อไป

ดร.สุพจน์ กล่าวต่อว่ามาถึงการศึกษา 4.0 ซึ่งเป็นรูปแบบที่นักการศึกษาทั้งโลกต่างให้ความสำคัญ โดยหวังว่าผู้เรียนต้องสามารถ “สร้างนวัตกรรมได้” โดยแนวทางของการศึกษา 4.0 คือ ไม่แยกการศึกษาออกจากชุมชน นั่นคือ ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ทั้งในและนอกชั้นเรียน โดย การเรียนในชั้นเรียนยังคงเน้นที่การศึกษา 3.0 คือ จัดให้มีการ “แบ่งกลุ่มถกเถียง ลงมือปฏิบัติ และให้สอนผู้อื่นหรือนำเสนอหน้าชั้นเรียน” ซึ่งเป็นกลไกที่จะนำไปสู่การคิดนอกกรอบและการคิดสร้างสรรค์ดังที่กล่าวมาแล้ว

ส่วนการเรียนรู้นอกชั้นเรียนนั้น หมายถึง ให้ผู้เรียนได้ออกปฏิบัติงานจริงในชุมชน ในภาคอุตสาหกรรมและในสถานประกอบการ เพื่อนำความรู้ในชั้นเรียนไปผูกโยงเข้ากับชีวิตจริง และนำสิ่งที่เห็นในชีวิตจริงกลับไปคุยกันในชั้นเรียน เพื่อย้อนกับไปแก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน นำไปช่วยชุมชน ช่วยสังคม รวมไปถึงการนำความรู้ไปสร้างมูลค่าทางธุรกิจต่อไป


การศึกษาไทยเป็นได้แค่ 2.0 ?


แนวทางการปฏิรูปการศึกษา “ให้เด็กที่เรียนเก่ง สอนเพื่อนที่เรียนช้ากว่า” ซึ่งเป็นส่วนของการศึกษาในชั้นเรียน ซึ่งเป็นการศึกษาที่ยิ่งกว่าการศึกษา 4.0 เพราะนอกจากจะเป็นวิธีที่จะทำให้ความรู้เหลือติดตัวผู้เรียนไปมากกว่า 90% ตามปิรามิดการเรียนรู้และไม่แยกโรงเรียนออกจากชุมชนแล้ว ยังจะก่อให้เกิดความรัก ความสามัคคี การช่วยเหลือเกื้อกูล ซึ่งเป็นการสร้างความมั่นคงและยั่งยืนให้กับชุมชนและสังคมอย่างแท้จริง ซึ่งถือได้ว่าเป็นทฤษฎีหรือปรัชญาที่มีความยิ่งใหญ่และสำคัญต่อประชาชนชาวไทยและต่อประชาคมโลก

“ทว่าในความเป็นจริงของสังคมไทย จะเกิดขึ้นได้มากน้อยแค่ไหน ในขณะการเรียนการสอนส่วนใหญ่ เราจะเป็นเพียง 2.0 เสียสวนใหญ่ ถึงเวลาแล้วที่หน่วยงานที่รับผิดชอบจะต้องมาช่วยกันอย่างจริงจังแท้จริงเพื่อช่วยให้สังคมไทยก้าวไปสู่สังคมแห่ง 4.0 อย่างแท้จริง ซึ่งผมเชื่อว่าไม่ยากเกินความเป็นจริง” ดร.สุพจน์ กล่าวทิ้งท้าย


อ้างอิง : http://www.komchadluek.net/news/edu-health/255208#...



..............................................................................................


บทความนี้ ขอเก็บไว้เป็นข้อมูลเบื้องต้นในการพิจารณาพัฒนาการผลิตครูต่อไป

บุญรักษา ทุกท่าน ;)...


..............................................................................................


หมายเลขบันทึก: 621343เขียนเมื่อ 11 มกราคม 2017 22:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มกราคม 2017 18:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณค่ะอาจารย์ที่นำสาระด้านการศึกษามาให้อ่านอย่างสม่ำเสมอค่ะ ...

แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันครับ คุณครูตุ่ม krutoom ;)...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท