บทเรียนสำหรับผู้นำ


อย่าโกง
บทเรียนสำหรับผู้นำ
ในการประชุมคณะ อกพร. ปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ เมื่อวันที่ ๓๑ ตค. ๔๘    ประธาน (คุณธรรมรักษ์ การพิศิษฏ์) ได้นำเสนอสรุปบทเรียนจากหนังสือ Winners Never Cheat     ผมได้ขออนุญาตท่านนำมาเผยแพร่ใน บล็อก ขอขอบพระคุณท่านธรรมรักษ์ และทาง กพร. ไว้ ณ โอกาสนี้ 
   การสรุปบทเรียนจากหนังสือ  Winners  Never Cheat
-------------------------------
1.  ที่มา
                 ประธาน  อ.ก.พ.ร. เกี่ยวกับการส่งเสริมการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ฯ
(นายธรรมรักษ์  การพิศิษฎ์)   ได้รวบรวมบทเรียนการเรียนรู้จากประสบการณ์กรณีของ
John  M.  Huntsman  จากหนังสือ  WINNERS  NEVER  CHEAT  เสนอต่อ อ.ก.พ.ร. เกี่ยวกับการส่งเสริมการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ฯ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับระบบราชการไทย

 

2.   การเรียนรู้จากประสบการณ์กรณีของ John  M.  Huntsman  จากหนังสือ   
      WINNERS   NEVER  CHEAT 
·       John M. Huntsman เป็นเจ้าของและประธาน บริษัท Huntsman ซึ่งเป็น
บริษัท เคมีภัณฑ์  ของเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยเริ่มต้นธุรกิจจากศูนย์จนสามารถตั้งตัวเป็นมหาเศรษฐีที่ติดอันดับคนรวยที่สุดของสหรัฐอเมริกา  ตามการจัดอันดับของนิตยสาร Forbes
·       Mr. John M. Huntsman  เล่าให้ฟังเป็นกรณีศึกษา
                        เหตุผลสำคัญที่ทำให้เขาสามารถประกอบธุรกิจจนประสบความสำเร็จได้ก็เพราะเขาประกอบธุรกิจอย่างซื่อสัตย์  สุจริต  ไม่คดโกง โดยยึดถือหลักการสำคัญ ๆ ดังนี้
                             1. การยึดถือในค่านิยมที่ได้รับการสั่งสอนอบรมกันมาตั้งแต่เด็ก (Lessons From the Sandbox)  ค่านิยมที่เราเรียนรู้กันมาตั้งแต่เด็ก ๆ    ล้วนแล้วแต่เป็นหลักการง่ายๆ และยุติธรรม ค่านิยมเหล่านี้ยังคงคุณค่า สามารถนำมาใช้ในการประกอบธุรกิจให้ประสบความสำเร็จได้อยู่เสมอ ซึ่งค่านิยมที่ได้รับการอบรมสั่งสอนมาตั้งแต่เด็ก คือ
      ความยุติธรรม (Be fair)
      รู้จักแบ่งปันกัน (Share and share alike)
      ไม่โกง (Don’t cheat)
      ไม่โกหก (Tell  the  truth)
      เล่นกันให้เรียบร้อย (Play nicely)
          ปัจจุบันนี้แม้ดูเหมือนว่าผู้ประสบชัยชนะในที่สุด คือ ผู้ที่คดโกงคนอื่น    หลอกลวงคนอื่นโดยไม่มีใครเขาจับได้ไล่ทัน     แต่ความสำเร็จจากวิธีการคดในข้องอในกระดูกนั้นไม่ยั่งยืน  ผู้ประสบความสำเร็จในชีวิตในบั้นปลาย คือผู้ที่ปฏิบัติตามค่านิยม    ขั้นพื้นฐานที่ได้รับการอบรมมาตั้งแต่เด็ก
2.  เล่นตามกติกา  (Play by rules)
- สันดาน หรือลักษณะประจำตัว (Character) ของคนเรานั้นกำหนดขึ้นจากการประพฤติตาม หรือไม่ประพฤติตามกฎเกณฑ์ กติกาต่าง ๆ ที่วางไว้
- ส่วนใหญ่แล้ว สันดาน หรือลักษณะประจำตัวของคนเราเกิดขึ้นจากการยึดมั่นในความซื่อสัตย์ สุจริต และความกล้าหาญ
- ความมีชื่อเสียงของคนเราขึ้นอยู่กับว่าผู้อื่นมองเราเป็นคนอย่างไร   แต่สันดานของเรา คือ วิธีการประพฤติตัวของเราในขณะที่ไม่มีใครเฝ้ามองดู
- เมื่อไรก็ตามที่เกิดการประพฤติอย่างขาดความสุจริต การเจรจาตกลง หรือการคบหาสมาคมระหว่างกันในอนาคตจะขาดความน่าเชื่อถือลงไปโดยสิ้นเชิง
- นักปรัชญาชาวสก๊อตในศตวรรษที่ 18 Francis Hutcheson กล่าวไว้ว่า
 “Without staunch adherence to truth-telling, all confidence in communication would be lost”
 “หากไม่ยึดมั่นในสัจจะอย่างเคร่งครัดแล้ว ความไว้วางใจในการคบหาสมาคมกันจะหมดไป”
- การให้สินบาทคาดสินบนในการประกอบธุรกิจ แม้จะทำให้เกิดความได้เปรียบกันในตอนแรก สามารถสร้างความร่ำรวยให้แก่คนโกงไม่กี่คน แต่มีต้นทุนที่สูงมากมหาศาล
- เมื่อประมาณปี 2523 บริษัท Huntsman Chemical  เข้าร่วมทุนกับบริษัท มิซูบิชิ ในการสร้างโรงงานเคมีภัณฑ์แห่งที่สองในประเทศไทย วงเงิน 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ     วันหนึ่ง Huntsman ได้รับโทรศัพท์จากผู้บริหารบริษัท มิซูบิชิ ที่รับผิดชอบการปฏิบัติการในประเทศไทย จากโตเกียวว่า กิจการลงทุนจะต้องจ่ายสินบนให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐในการประกอบธุรกิจทุกๆ ปี และ Huntsman ต้องจ่ายในส่วนของตนเป็นเงิน 250,000 ดอลลาร์สหรัฐในปีนั้น
- บริษัท Huntsman ตอบปฏิเสธไปว่าจะไม่ยอมเสียเงินแม้แต่ห้าเซ็นต์ กับเรื่องของการรีดไถกันเช่นนี้  และแจ้งมิซูบิชิว่าขอขายผลประโยชน์ที่จะได้รับให้แก่มิซูบิชิไป
- ในที่สุดบริษัท Huntsman ก็ตกลงถอนตัวออกมา โดยมิซูบิชิยอมซื้อสิทธิจากผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับของ Huntsman จากการลงทุนในราคาที่ได้รับส่วนลดแล้วเหลือ  3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
- แม้ว่า Huntsman จะเสียเงินไป 3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในระยะสั้น แล้วก็เป็นโชคดี (Blessing in disguise) เพราะเมื่อเกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจขึ้นในเอเชียในอีกหลายปีต่อมา อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ทั้งหมดต้องประสบกับความล้มละลายลงไปโดยสิ้นเชิง
-  เมื่อใดก็ตามที่บริษัทใดบริษัทหนึ่งละทิ้งค่านิยมที่ดี  ยอมใช้วิธีการติดสินบาทคาดสินบน  บริษัทนั้นจะเสื่อมเสียชื่อเสียง  ขาดความน่าเชื่อถือ ซึ่งจะรื้อฟื้นให้กลับมาใหม่ได้ยาก
- การแข่งขันกันนั้นเป็นจิตวิญญาณที่ฝังลึกอยู่ในตัวของผู้ประกอบการในตลาดเสรี แต่การโกหก คดโกง  นั่นไม่ใช่
- ถ้าหากเราไม่รู้สึกตะขิดตะขวงใจกับการกระทำที่ปราศจากศีลธรรม  จริยธรรม แล้วต้องคิดให้ดีเพราะในที่สุดแล้วจะประสบความล้มเหลว
- การสร้างแบบอย่างที่ดีงามเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง เด็กมักทำตามผู้ใหญ่  ลูกจ้างทำตามนายจ้าง  ประชาชนเฝ้าดู ผู้นำทางการเมืองของตน  ถ้าผู้นำสร้างแบบอย่างที่เลวๆ ผู้อื่นก็ทำตาม
- ในธุรกิจและชีวิตจริงมีคนอยู่ 3 ประเภทเท่านั้น คือ (1) ผู้ประสบความสำเร็จ  (2) ผู้ยังไม่ประสบความสำเร็จ และ (3) ผู้ที่ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน           ความแตกต่างอยู่ที่สันดานของคนเท่านั้น (Character)
3. การทำตัวเป็นแบบอย่าง  (Setting the example)
- สุภาษิตที่ว่า “หว่านพืชอย่างไรก็ได้ผลเช่นนั้น”  (what ever a man sowed, that shall he also reap) ใช้อธิบายความรับผิดชอบของผู้นำได้อย่างกระชับชัดเจนยิ่งขึ้น
- ลักษณะประจำตัวของผู้นำ
1. ความซื่อสัตย์ สุจริต            (Integrity)
 มีศักดิ์ศรียึดมั่นในหลักการ
2. ความมีวิสัยทัศน์                (Vision)
3. ความเข้าใจ เห็นอก เห็นใจ   (Empathy)
 เอื้ออาทร
4. ความมั่นใจในตนเอง          (Confidence)
5. ความเข้มแข็ง                    (Energy)
6. ความกล้าหาญ                  (Courage)
7. ความนอบน้อมถ่อมตน        (Humility)
8. ความจริงจัง ขยันหมั่นเพียร  (Engargement)
       - ผู้นำต้องตัดสินใจดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรู้ข้อมูลข้อเท็จจริง
มีที่ปรึกษา ผู้ร่วมงานที่มีความสามารถ  รู้จักรับฟังผู้อื่น
- ผู้นำต้องจัดการกับความเสี่ยง คนเราหากไม่เคยล้มเหลวมาก่อน ย่อมเป็นผู้นำที่ดีไม่ได้ ผู้ที่ไม่ยอมเสี่ยงจะยิ่งเสี่ยง
- ผู้นำต้องรู้จักพลิกวิกฤตให้กลายเป็นโอกาส รู้จัดคิดใหม่ ทำใหม่     มีความนอบน้อมถ่อมตน
- ผู้นำต้องมีความกล้าหาญ อดทนต่อคำวิพากษ์วิจารณ์ ติฉินนินทา   ยึดมั่นในเข็มทิศทางด้านศีลธรรมของตนเองอย่างเคร่งครัด
                   4. ผู้นำต้องรักษาคำพูดของตนเองอย่างเคร่งครัด 
เมื่อ ปี 1986  บริษัท Chemical Great Lakes ตกลงจะซื้อร้อยละ 40 ของหุ้นบริษัท Huntsman Chemical   ในราคา  54  ล้านดอลลาร์สหรัฐ  มีการตกลงกันด้วยวิธีการจับมือกัน  อีก 4 เดือนต่อมาทนายความของ Great Lakes โทรศัพท์มาว่าอยากจะทำข้อตกลงกันเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งต้องใช้เวลาร่วม 3 เดือน ในระหว่างนั้นราคาของวัตถุดิบได้ลดลงไปเป็นอันมากแล้ว  ผู้บริหารของบริษัท Chemical Great Lakes โทรศัพท์มาบอกว่าราคาหุ้นของ Huntsman Chemical ได้เพิ่มขึ้นมามากในระยะเวลานั้น เขาพร้อมที่จะเพิ่มเงินครึ่งหนึ่งของราคาที่สูงขึ้น Huntsman ตอบไปว่าไม่ต้องเพราะได้ตกลงราคากันไปแล้ว ถึงแม้ทาง Great Lakes จะขอแจ้งว่าไม่ยุติธรรม แต่ Huntsman ก็ยังยืนยันตามข้อตกลงเดิมที่จับมือกันไว้
                   5.  ผู้นำต้องฉลาดในการเลือกที่ปรึกษา
- ต้องรู้จักเลือกเพื่อนร่วมงานที่มีจริยธรรม จงรักภักดีต่อองค์กร       มีความรู้ความสามารถ
- ต้องให้แน่ใจว่าเพื่อนร่วมงานที่เลือกมา มีส่วนร่วมในค่านิยม  ปรัชญาทำงานของเรา
- เวลาจ้างผู้จัดการอย่าเพียงแต่ขอดูผลการสอบ GPA หรือผลการเรียนในห้องเรียนของเขา
- แทนที่จะสนใจกับผลการเรียน ความเป็นเลิศทางวิชาการ ควรเสาะหาเครื่องชี้วัด สัญญาณต่าง ๆ ของความเป็นคนที่มีความซื่อสัตย์ สุจริต  ยึดมั่นในหลักการและความกล้าหาญ ในการยืนหยัดที่จะทำในสิ่งที่ถูกต้อง
- ความกล้าที่จะทำในสิ่งที่ถูกวัดได้จากผู้ที่รู้ว่าถ้าทำอะไรลงไปแล้วมันจะส่งผลกระทบมากกว่าที่เราต้องการจะจ่าย (Cost more than we want to pay)
                  
6.  ผู้นำต้องไม่เป็นคนคิดพยาบาทอาฆาต เก็บกดความคับแค้นใจ
- ต้องไม่คิดอาฆาตพยาบาท สิ่งที่แล้วมาก็ให้มันแล้ว ๆ กันไป ให้คิดต่อไปข้างหน้า  ใช้พลังไปในทางสร้างสรรค์มากยิ่งขึ้น
- ทุกคนล้วนแล้วแต่มีเรื่องบาดหมางใจกันทั้งนั้น ผู้ชนะ คือผู้ที่ลืมมันได้เร็ว และหันมาให้ความสนใจกับแรงบันดาลใจในเชิงบวกของตน
                    7.  ผู้นำต้องเป็นคนโอบอ้อมอารีเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่
- โลกปัจจุบันมีการแข่งขันกันสูง  พฤติกรรมดีงามทั้งหลายมักจะขาดหายกันไป ไม่ว่าจะในวงการธุรกิจ การเมือง กีฬา ฯลฯ
- หลายคนในสังคมกล่าวว่า ในโลกแห่งการแข่งขันกันในเชิงธุรกิจ การเมือง กีฬา การก้าวไปสู่ผู้ชนะเป็นเรื่องที่สำคัญกว่าอย่างอื่น ซึ่งไม่จริง
- คนที่มีพฤติกรรมไม่ดี แม้จะประสบความสำเร็จก็เป็นเพียงผิวเผิน ชั่วคราว ไม่ยั่งยืน
- การล่มสลายของ Enron, Tyco, WorldCom และอื่นๆ ชื้ให้เราเห็นว่า ความคดโกง ความโลภ ความไม่ดีงามต่าง ๆ ไม่ก่อให้เกิดความอยู่รอดได้อย่างยั่งยืน
- การประกอบธุรกิจสามารถสร้างชื่อเสียงในด้านการยึดมั่นในหลักการ การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้าและพนักงาน การมีความคิดที่สร้างสรรค์ โอบอ้อมอารีเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่
- ความสำเร็จที่สร้างความอิ่มใจที่แท้จริงให้แก่ผู้นำขององค์กร ไม่ใช่แค่การได้มาซึ่งความร่ำรวยมีเงินทองแต่อย่างเดียว  จะต้องได้รับการยอมรับนับถือจากสังคมด้วย
- คนทุกคนต้องการได้รับทั้งความสำเร็จและการยอมรับนับถือ         การบรรลุเป้าหมายนี้ได้จะต้องมีความเมตตากรุณา  เอื้ออาทรต่อผู้อื่น  อยากเห็นผู้อื่น      มีความสุข
- มีงานวิจัยชี้ให้เห็นชัดเจนถึงความสัมพันธ์กัน ระหว่างความประพฤติ   ที่ดีงาม กับการเกิดความรุนแรง
- ผู้นำต้องเป็นผู้ปลูกฝังความดีงามให้กับผู้อื่น และมีความภาคภูมิใจ   อิ่มใจ ในกุศลกรรมที่เกิดขึ้น
                   8. ผู้นำต้องให้ความสำคัญต่อพนักงานทุกคน
- ผู้นำให้ความสำคัญต่อความสุขของครอบครัวของเพื่อนร่วมงานทุกคน
- ต้องสร้างวัฒนธรรมให้เกิดชัดให้ได้ว่าพนักงานมีความสำคัญสูงสุด    ให้ความเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของทุกๆ คน
                   9.  ผู้นำต้องเป็นผู้รู้จักการเสียสละ
- ยิ่งเป็นผู้ให้ก็ยิ่งเป็นผู้รับ
- การทำบุญสุนทานเป็นธุรกิจที่ดี  ควรแบ่งปันกำไรคืนแก่สังคมอยู่เสมอ
- ไม่มีการกระทำใด ๆ ที่ทำให้มนุษย์เกิดความอิ่มใจได้เท่ากับการโน้มตัวเองลงมาเพื่อยกผู้อื่นให้สูงขึ้น (No exercise is better for the human heart than reaching down and  lifting another up)
วิจารณ์ พานิช
๑ พย. ๔๘
คำสำคัญ (Tags): #knowledge#sharing#ธรรมะ
หมายเลขบันทึก: 6212เขียนเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2005 18:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 12:26 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท