ชีวิตที่พอเพียง : 161. อายเพื่อน


        เที่ยงวันที่ ๒๘ ตค. ๔๙  หลังกินอาหารเที่ยงอิ่มหมีพีมันดีแล้ว  พี่ๆ น้องก็คุยระลึกความหลังเรื่องสนุกๆ กัน     น้องชายที่อยู่ที่เชียงรายเห็นน้องอีกคนหนึ่งเอาหมวกยอดแหลมคล้ายหมวกเวียดนามมาสวม     ก็ถามว่าซื้อจากที่ไหน    น้องสะใภ้ (เจ้าของบ้าน) บอกว่าซื้อจากเชียงราย  ที่แม่สาย (เราก็หัวเราะกัน ว่าน้องชายหน้าแตก)     ผมว่านี่ของเวียดนาม ลักษณะคล้ายหมวกกุยเล้ยที่พวกเราสวมกันฝนตอนเด็กๆ    

        น้องชายบอกว่าตอนนั้นสวมหมวกกุยเล้ย (บางทีเราเรียก หมวกเจ๊ก) ทีไรอายเพื่อนทุกที     เพราะเพื่อนๆ เขาใช้วิธีแก้ผ้าเอาห่อใบตองแล้ววิ่งตากฝนกลับบ้าน     ลองนึกดูเถิดครับว่าสมัยเด็กๆ พวกผมอยู่ในสภาพแวดล้อมชนบทแค่ไหน     น้องบอกว่าตนเองจะไม่ยอมสวมหมวก     เพราะอายเพื่อนดังกล่าวแล้ว แต่แม่ไม่ยอม กลัวลูกเป็นหวัด

                       

                                       หมวกกุยเล้ย

        เรื่องอายเพื่อนนี่แปลกมากนะครับ    เด็กๆ จะต้องการทำอะไรเหมือนๆ เพื่อน    ถ้าแปลกออกไปจากที่คนอื่นๆ เขาปฏิบัติ เรารู้สึกอาย และอิดออดที่จะทำ      จำได้ว่าสมัยเรียนหนังสืออยู่ที่กรุงเทพ ชั้นมัธยม เตรียมอุดม จุฬา  พวกผู้ชายจะไม่กางร่ม     เวลาฝนตกมีแต่พวกผู้หญิงที่กางร่ม     พวกผู้ชายใช้วิธีวิ่งเอาบ้าง  ทนตากฝนบ้าง     หนุ่มๆ ถือร่มเป็นเรื่องแปลก

         ตอนผมเรียนหนังสือระดับมัธยมที่โรงเรียนชุมพร "ศรียาภัย" ในตัวจังหวัด     แม่ให้ผมทำ ๒ อย่าง ที่ผมรู้สึกอายเพื่อน     เรื่องแรกคือสวมเสื้อกันฝน     ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นของแพง และต้องถือว่าโก้มาก     แต่มันไม่เหมือนเพื่อน    พวกนักเรียนไม่มีใครเขาสวมกัน    มีสวมก็แต่ครู ๒ - ๓ คน     

         แต่ที่อายสุดๆ คือการ "คดข้าวห่อไปกินที่โรงเรียน" (ภาษาปักษ์ใต้)      แม่ซื้อกล่องอะลูมิเนียมอย่างดี ใส่ข้าวและกับข้าวให้ผมใส่กระเป๋าหนังสือหนีบท้ายรถจักรยาน เอาไปกินเป็นอาหารเที่ยง     ผมไม่อยากคดข้าวห่อไปโรงเรียนแต่ก็ขัดแม่ไม่ได้     แม่ไม่ให้เงินผมไปซื้อข้าวเที่ยงกินที่โรงเรียน     บอกว่าสู้คดข้าวห่อไปกินไม่ได้     ได้อาหารที่มีประโยชน์ดีกว่า     ซึ่งตอนนี้ผมว่าแม่ทำถูกที่สุด     แต่ตอนผมอายุ ๑๑ - ๑๕ ขวบ โดนแม่บังคับอย่างนี้ ผมอายเพื่อนครับ แต่ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร      ผมตกอยู่ในกลุ่มนักเรียนที่ไม่มีเงินซื้อข้าวเที่ยงกิน     ต้องกินข้าวคดห่อจากบ้าน     ซึ่งส่วนใหญ่เขาห่อกาบหมากรองใบตอง     บางคนก็ห่อใบบัว  ซึ่งตอนนั้นถือว่าเป็นเด็กที่ยากจน  และรู้สึกอายเพื่อน

       เด็กๆ นี่ชอบล้อเลียนกัน     ใครทำตัวต่างไปจากเพื่อนๆ ก็จะถูกเพื่อนล้อ     ผมเป็นเด็กขี้อาย และมีปมด้อยว่าเป็นเด็กบ้านนอก ความรู้รอบตัวไม่ดีเหมือนเด็กตลาด     พูดกับครูด้วยภาษากลางสำเนียงปักษ์ใต้     ไม่ใช่ภาษากลางแบบเด็กตลาด     ทำอะไรก็ต้องระมัดระวังกลัวเพื่อนดูถูก

วิจารณ์ พานิช
๒๘ ตค. ๔๙
บ้านท่ายาง   อ. เมือง  จ. ชุมพร

หมายเลขบันทึก: 62097เขียนเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2006 13:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 15:15 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
   อ่านแล้วนึกถึงครั้งไปใช้ชีวิตอยู่ 1 ปี ที่ Chiba University อาจารย์ Chonan และ อาจารย์ Hoshino ที่เป็นผู้ใหญ่ เป็นหัวหน้าศูนย์เทคโนฯ และเป็น Advisor ของผม ต่างก็คดข้าวห่อจากบ้านครั้งพาพวกเราไปชมงาน Expo'85 ที่เมือง Tsukuba ดูน่ารักดี
   หลายอย่างในบ้านเราเป็นความเชื่อ ความรู้สึกที่ทำตามๆกัน แล้วทำให้เสียโอกาสที่จะได้รับสิ่งดีๆไปไม่น้อย รวมทั้งเรื่องอายที่จะคดข้าวห่อด้วย

อ่านแล้วทำให้นึกถึงตัวเองที่เป็นเด็กบ้านนอกแต่เป็นเด็กตลาดที่ไม่รวย     เวลากินอาหารกลางวันก็ซื้อค่ะเพราะไม่มีใครห่อมา

เมื่อเป็นผู้อำนวยการเคยถามหมอจุรี  ปุณโนทกอดีตผู้อำนวยการที่สถาบันโรคทรวงอกที่บอกว่าเอาข้าวจากบ้านมาทานก็รู้สึกแปลกๆค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท