นักเรียนชาวนาสุพรรณบุรี สอนให้ผมเข้าใจ เกษตรพอเพียง


วันอังคารที่ 21  พฤศจิกายน  49  ผมได้เข้าไปเรียนรู้วิชา  "ทำนา"   กับนักเรียนชาวนาสุพรรณบุรี     เขาออกแบบฐานการเรียนรู้  3 ฐาน

ฐานที่ 1   เป็นฐานเรียนรู้เรื่อง  การคัดพันธุ์ข้าว     ในฐานนี้ผู้เข้าร่วมได้ลองตั้งแต่สีข้าวกล้อง     แล้วนำเอาข้าวกล้องมาคัดหาเมล็ด  ข้าวที่ยาว  ใส  รูปร่างเสมอหัว เสมอท้าย   ไม่มีท้องปลาซิว    ไม่มีร่อง (หรือมีแต่น้อย)    ไม่หัก  ไม่แตก  ไม่ร้าว   จมูกข้าวยังไม่หลุดหาย  

ไม่ง่ายเลยนะครับว่าจะได้  เมล็ดข้าวที่มีคุณสมบัติที่ว่า    คัดรอบแรกออกมาก่อน   จัดเรียงแถวเมล็ดข้าวอีกที   แล้วคัดอีกรอบ  เหมือนคัดนางงามรอบสุดท้ายอย่างนั้นเลย   ต้องสวยจริงๆ

แล้วเอาเมล็ดที่ได้ไปเพาะในกระถางทราย   เขาบอกว่าทิ้งไว้ประมาณ 3 วัน  แล้วค่อยย้ายไปปลูกในแปลงอีกที   จนกว่าจะได้ต้นกล้า ที่เอาไปปักดำได้    แล้วค่อยเอาไปดำต้นเดียว   เพื่อคัดเอาเมล็ดพันธุ์อีกที

ฐานที่ 2   เรียนรู้เองการบำรุงดิน   โดยเลี้ยงจุลินทรีย์เอาไปใส่ในดิน    ชาวนาที่นี้ขาทดลองกันจนพบความรู้ชิ้นนี้  และนำมาให้เราได้เรียนต่อ   เขาไปเก็บเศษซากไม้ผุๆเปื่อยๆ  ที่มีราขาวๆ  เขียวๆ ซากไม้ที่เปื่อยยุ่ย     เอามาขยำให้ละเอียดนำมาคลุกกับใบไผ่แห้ง    กากน้ำตาลที่ละลายน้ำแล้ว   และรำละเอียด   ทิ้งเอาไว้ 2-3 วัน  จนเชื้อมันขยายตัวดี  สังเกตเห็นเป็นฝ้า ราสีขาว   คลุมทั่วกองใบใผ่   ทิ้งไว้ประมาณ 7 วัน   แล้วนำใบใผ่เหล่านั้น  ห่อผ้าไนล่อนเอาไปหมักในน้ำเปล่าผสมกากน้ำตาล    7  วันเอาไปใช้ผสมน้ำราดต้นไม้  หรือใส่ในนาข้าวได้

ฐานที่ 3   เรียนรู้เรื่องแมลง     ทุกคนไปลงในแปลงนา   ใช้สวิงจบแมลงแล้วเอามาแยกประเภทดูว่ามีแมลงดีกับแมลงร้ายในสัดส่วนเท่าไร    เพื่อให้รู้ว่าในสัดส่วนที่เหมาะสมนั้น    ธรรมชาติจะคุมกันเองโดยทีเราไม่ต้องไปฉีดอะไรเลย

จบทั้ง  3 ฐาน  เลยถึงบางอ้อว่า

พันธุ์ข้าวก็ชาวนาทำได้เอง     ปุ๋ยก็ทำได้เอง  แมลงก็ควบคุมได้เองอีก    โดยสิ่งเหล่านี้ที่ทำได้เอง   ผมเรียกว่า   "ความรู้"  ที่ชาวนาที่นี่เขาสร้างขึ้นเอง  

ผมเลยหาคำตอบ (คิดเอาเอง) ความสัมพันธ์ของ  เกษตรพอเพียง  กับ  การจัดการความรู้  ได้ว่า   หากชาวนาจัดการความรู้ได้  เขาก็จะมีความรู้ของเขาเอง   ที่เหมาะกับการทำมาหากินของเขาเอง     แล้วเมื่อนั้น   เขาก็หลุดจากวัฏจักรการพึ่งพา  "ความรู้"  ที่ต้องซื้อหาจากภายนอก   เช่น  ซื้อปุ๋ย  ซื้อยา  และซื้อพันธุ์ข้าว   จากคนอื่น    ทั้งๆ ที่ศักยภาพของชาวนาเอง  ก็สามารถผลิตความรู้เหล่านั้นเองได้

แต่ที่สำคัญ   หากเขาเรียนรู้กันแบบเดี่ยวๆ  บ้านใคร บ้านมัน  นาใคร นามัน   ก็คงจะมาถึงวันนี้ได้ยาก   พลังการเรียนรู้เป็นกลุ่ม  มันได้อะไรมากกว่า "ความรู้"  เพียงอย่างเดียวจริงๆ

หมายเลขบันทึก: 62009เขียนเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2006 10:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:27 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • ขอบคุณ "โรงเรียนชาวนา" และ "คุณธวัช" ผู้เขียน
  • ผมไปโรงเรียนชาวนาที่จังหวัดพิจิตรครับ..เขาคัดชาวบ้านที่มีความรู้เรื่องต่างๆ คัดเป็นรอบๆ เอาที่คิดว่าเก่งที่สุด "ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง" อยู่แถวหนึ่ง แล้วคัดให้ได้หลายๆ แถว เพื่อเป็นตัวตายตัวแทนกัน...โดยท่านเหล่านี้ยกให้เป็นปราชญ์ชาวบ้าน..และเป็นวิทยากรในโรงเรียนชาวนาครับ
  • ถ้าคนไทย เปิดใจเรียนรู้ ความรู้ก็หาได้ในที่ทุกๆ แห่งครับ (ความรู้จากการปฏิบัติครับ
  • คุณธวัชเข้าไปอ่านในส่วนที่เป็นคำถามด้วยนะครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท