โหราศาสตร์ชาติพันธุ์ในแอ่งสกลนคร : มุมมองที่น่าสนใจ


ทิศทางที่ค้นหารากเหง้าทางความจิตวิญญาณของผู้คนในแอ่งสกลนคร

1) โหราศาสตร์ชาติพันธุ์ในแอ่งสกลนครเป็นโหราศาสตร์ที่มีพื้นฐานความรู้ทางดาราศาสตร์และโหราศาสตร์และกำหนดเป็นปฏิทินเพื่อใช้บอกช่วงเวลาที่เหมาะสมและใช้ในการดำรงชีพของมนุษย์ตลอดจนการพยากรณ์และการดำเนินทางสังคมอย่างมีระบบแบบแผนที่ดีงาม โดยชุดความรู้ในการกำหนดปฏิทินนี้มีที่มาสำคัญ จาก 2 แหล่งที่มา คือ 1) โหราศาสตร์จากอินเดียผ่านทางโหราศาสตร์ไทยและเขมร ศาสตร์เหล่านี้มาจากการกำหนดด้วยการใช้ดวงอาทิตย์และดวงจันทร์เป็นสำคัญ ทำให้เกิดระบบปฏิทิน 2 ระบบคือ ระบบสุริยคติและระบบจันทรคติ ซึ่งระบบทั้งสองนี้ได้กำหนดช่วงแบ่งช่วงเวลา เพื่อใช้จนเป็นที่ยอมรับและใช้กันในแอ่งสกลนครคือ การกำหนดวันทั้ง 7 ในรอบสัปดาห์ตามระบบสุริยคติ และกำหนดวันข้างขึ้นและข้างแรมตามระบบจันทรคติ ทั้งนี้การกำหนดวันเหล่านี้มีจุดเริ่มแรกของการกำหนดเกณฑ์หรือกติกาต่าง ๆ ของโหราศาสตร์ชาติพันธุ์ในแอ่งสกลนคร 2)โหราศาสตร์จีนซึ่งมีหลายแขนงที่ใช้งานในจีน แต่การกำหนดวันของจีนโบราณนั้นมีระบบกิ่งก้านที่เรียกว่า “ก้านจื่อ” ที่เป็นระบบปฏิทินของจีนมาแต่เดิม ทั้งนี้ ประเสริฐ ณ นคร (2541, หน้า 550-551) กล่าวว่า การกำหนดช่วงเวลาและวันในแบบแม่มื้อลูกมื้อ-แม่ปีลูกปี เป็นระบบที่ใช้งานกันมานานจนเข้าใจว่าคนไทและคนจีนน่าจะมีความสัมพันธ์ทางเชื้อชาติหรือทางวัฒนธรรมกันมานานกว่าสองพันปีที่แล้ว นอกจากการนำเอาระบบนี้มากำหนดเป็นปฏิทินดำรงชีวิตแล้วยังนำมาใช้เป็นข้อกำหนดในการคำนวณและพยากรณ์ในทางโหราศาสตร์โดยปรากฏพบตำราในกลุ่มชาติพันธุ์ไทญ้อ ไทพวน และโส้ อีกด้วย

2) ตำราโหราศาสตร์ที่เป็นตำราพื้นฐานที่มีความเก่าแก่ที่สุดที่ใช้งานกันในแอ่งสกลนครคือ วันจมวันฟู และโคลงช้างแก้ว โดยบางกลุ่มชาติพันธุ์ถือเป็นตำราหลักในการคำนวณฤกษ์ทุกกิจกรรม กลวิธีการวิเคราะห์ความเก่าใหม่นั้นได้อ้างอิงวิธีการสืบทราบจากข้อมูลเอกสารพยานดังวิธีของเรณู วิชาศิลป์ (2541, หน้า 493) ได้กล่าวไว้ว่า ตำราโหราศาสตร์ใดของคนกลุ่มไท (Tai) ที่มีเนื้อความซ้ำกันหรือใช้อันเดียวกันในหลายพื้นที่นั้นอาจกล่าวได้ว่าตำราโหราศาสตร์นั้นเป็นตำราพื้นฐานและมีความเก่าแก่มากกว่าตำราอื่น และเมื่อได้ตรวจสอบเนื้อหากับตำราพรหมชาติฉบับที่ตรวจชำระของปัทมากร บุลสถาพร (2539) พบว่า ตำราทั้ง 2 ที่กล่าวมาข้างต้นไม่ปรากฏใช้ในตำรา พรหมชาติจึงกล่าวได้ว่า ตำราวันจมวันฟู และโคลงช้างแก้ว เป็นตำราพื้นฐานทางโหราศาสตร์ชาติพันธุ์ในแอ่งสกลนครก่อนที่จะมีตำราโหราศาสตร์อื่นเผยแพร่เข้ามาในปัจจุบัน

3) โหราศาสตร์ชาติพันธุ์ในแอ่งสกลนครมีรูปแบบคตินิยมที่พบว่าส่งผลต่อการสร้างสรรค์ตำราโหราศาสตร์ กล่าวคือ โหราศาสตร์ชาติพันธุ์ในแอ่งสกลนครนั้นไม่จำเพาะต่ออำนาจของดวงดาวและเวลาเท่านั้น จากการศึกษานั้นพบว่ามีคติความเชื่ออื่นที่มีอำนาจต่อการคำนวณฤกษ์และพยากรณ์ คือ นาคาคติ ทิศาคติ พุทธาคติ คติภูตผี และปรากฏการณ์ธรรมชาติ ดังอธิบายข้อค้นพบต่อไปนี้

“นาคาคติ” ในตำราโหราศาสตร์ชาติพันธุ์ในแอ่งสกลนครมีความเชื่อเรื่องอำนาจของนาคที่เป็นความเชื่อพื้นฐานที่เชื่อว่านาคมีส่วนสัมพันธ์กับมนุษย์ผ่านโหราศาสตร์อยู่ 2 กลุ่มคือ 1.นาครักษาดินเป็นการกล่าวถึงความเชื่อว่านาคอยู่รักษาในดินฉะนั้นเมื่อจะขุดหลุมเพื่อฝังเสาปลูกบ้านนั้นจะต้องระวังนาคเป็นสำคัญว่าจะขุดเสาเบื้องใดจึงไม่ถูกเบื้องหัวของนาคเพราะอาจถูกพิษนาคและถูกนาคทำร้ายได้ 2. นาคพยากรณ์เพื่อการครองคู่โดยถือว่านาคมีส่วนสำคัญต่อการคำนวณการครองคู่ด้วยการใช้เกณฑ์วัน เดือน และปี เป็นเกณฑ์และใช้นาคเป็นข้ออธิบายว่าเมื่อคำนวณแล้วจะอยู่นาคตัวเดียวกันหรือไม่และอยู่ส่วนใดของนาค ความเชื่อเหล่านี้กลายเป็นข้อพยากรณ์หลักต่อการครองคู่ของคนในสังคมแอ่งสกลนครสืบต่อกันเรื่อยมา

“ทิศาคติ” ตำราโหราศาสตร์ในแอ่งสกลนครนอกจากจะเชื่อในอำนาจของดวงดาว เวลา และนาคแล้ว ทิศที่ยึดตามการขึ้นและตกของพระอาทิตย์เป็นหลักกำหนดเป็นเป็นเส้นตั้งและมีเส้นตัดเป็นด้านเหนือและใต้ของจุดตัดนั้นจะได้ทิศหลักจำนวน 4 ทิศ จากนั้นแบ่งช่องกลางของทั้ง 4 ทิศ ออกอีกรวมเป็น 8 ทิศ ที่มีปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ส่งผลต่อการคำนวณและการพยากรณ์ทางโหราศาสตร์เพราะเชื่อว่าทิศแต่ละทิศย่อมมีอำนาจที่แตกต่างกัน โดยเชื่อว่าทิศต่าง ๆ มีเทวาประจำทิศที่จะให้คุณหรือโทษได้ รวมทั้งยังให้พลังที่มีความแตกต่างกันด้วยทั้งนี้ต้องอาศัยปัจจัยอื่นประกอบคือ ยาม วัน และเดือน เป็นขอบ่งชี้ความเป็นมงคลและอวมงคลของทิศเหล่านั้น การให้ความสำคัญทิศนี้มีปรากฏในหลายตำรา อาทิ วันจมวันฟู โคลงตัวเพิ่ง แฮกขุดเสาเฮือน เป็นต้น นอกจากนี้ยังผูกโยงช่วงเวลากับทิศเช่น วันกับทิศ ยามกับทิศ เดือนกับทิศ เป็นต้น คติการเชื่อในอำนาจของทิศนี้เองเป็นการสร้างตำราโหราศาสตร์และใช้เพื่อการดำเนินการได้ในทิศทางที่เหมาะสมตามเกณฑ์ที่กำหนดเพื่อความสวัสดิมงคลของตนเองและคนแวดล้อม

“พุทธาคติ” นอกจากจะมีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตและระบบทางสังคมของคนในแอ่งสกลนครแล้วยังมีคติความเชื่อในพลังอำนาจของพระพุทธศาสนาที่จะสามารถอำนวยความดีและปัดเป่าความโชคร้ายได้ คติความเชื่อในอำนาจของพระพุทธศาสนานี้ปรากฏในตำราทำนายฝันโดยมีเกณฑ์บางข้ออธิบายการฝันที่ไม่เป็นมงคลจะต้องไหว้พระสวดมนต์ การบูชาพระพุทธรูปโดยเชื่อว่าอำนาจของพระพุทธศาสนาจะช่วยบรรเทาได้ พุทธาคติจึงเป็นคตินิยมอีกประการที่เป็นคติที่ใช้เพื่อหาทางออกแก่ปัญหาที่เกิดจากการพยากรณ์ในทางที่ร้าย หรือเพื่อส่งเสริมให้ตนเองดีขึ้นเพราะเชื่อว่าสามารถเกื้อหนุนให้ตนเองดีขึ้น

“คติภูตผี” เป็นคตินิยมที่ปรากฏในโหราสาสตร์ในแอ่งสกลนครโดยเกิดจากความเชื่อในเรื่องภูตผีโดยเชื่อว่าช่วงเวลาบางช่วงอาจเกิดจากอำนาจของผีหรือป้องกันการที่จะเกิดอำนาจของผีที่จะกระทำให้เกิดผลร้ายต่อตนเองและครอบครัว ด้วยความเชื่อนี้เองจึงทำให้เกิดตำราโหราศาสตร์ในแอ่งสกลนครเกิดขึ้นอาทิ วันผีกิน ผีกินผี เป็นต้น ตำราโหราศาสตร์เหล่านี้มุ่งชี้แจงช่วงเวลาหรือกิจกรรมที่จะกระทำในเบื้องหน้าจะสามารถหลีกจากอำนาจของภูตผีทำให้เกิดสวัสดิมงคลต่อชีวิตประจำวัน ทั้งนี้คำว่า “ผี” กินความไปถึงความหมายที่อธิบายถึงความชั่วร้ายหรือความโชคร้ายต่าง ๆ ที่จะนำมาซึ่งความเสื่อมทรามในการประกอบกิจกรรมเหล่านั้น

“ปรากฏการณ์ธรรมชาติ”เป็นคตินิยมอีกประการหนึ่งที่เกิดขึ้นแล้วโยงเป็นเกณฑ์การคำนวณหรือบทพยากรณ์ทางโหราศาสตร์โดยปรากฏการณ์เหล่านี้ไม่ได้เกิดจากอำนาจของดวงดาวหรือห้วงเวลาแต่อย่างใด แต่เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเองและโยงไปสู่ความเชื่อทางโหราศาสตร์ อาทิ ฝนตก ฟ้าร้อง ไฟไหม้ เป็นต้น ปรากฏเป็นตำราโหราศาสตร์ที่ใช้ในแอ่งสกลนคร เช่น ตำราโคลงฟ้าไขปักตู โคลงแสงไฟตก เป็นต้น การยึดเอาปรากฏการณ์ธรรมชาติเหล่านี้มาเป็นเหตุทางโหราศาสตร์ช่วยให้เกิดการสังเกตและการเรียนรู้ธรรมชาติผ่านความเชื่อถือและปฏิบัติตามเกณฑ์ที่กำหนดเหล่านั้นจะทำให้การดำเนินชีวิตดีขึ้น


(ที่มา-สถิตย์ ภาคมฤค. (2559). โหราศาสตร์ชาติพันธุ์ในแอ่งสกลนคร : ภูมิปัญญาทางภาษาและคุณค่าทางวัฒนธรรม วิทยานิพนธ์ ศศ.ด. (ภาษาไทย). พะเยา: คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา)

คำสำคัญ (Tags): #แอ่งสกลนคร
หมายเลขบันทึก: 619636เขียนเมื่อ 3 ธันวาคม 2016 23:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 ธันวาคม 2016 23:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท