การค้นหาความรู้ทางสุขภาพ


ประเมินว่าประชาชนมีความต้องการทางด้านสุขภาพ (Health Needs) อะไรบ้าง ทั้งจากข้อมูลในโรงพยาบาลและในชุมชน เพื่อหาความต้องการ (Training Needs) และนำมาจัดทำแผนงานโครงการและวิธีการ
เป็นการประเมินความต้องการด้านสุขภาพของประชาชนและชุมชนโดยประเมินว่าประชาชนมีความต้องการทางด้านสุขภาพ (Health Needs) อะไรบ้าง ทั้งจากข้อมูลในโรงพยาบาลและในชุมชน เพื่อหาความต้องการ (Training  Needs) และนำมาจัดทำแผนงานโครงการและวิธีการ ทั้งนี้ เพื่อทำให้ประชาชนมีความรู้ทางด้านสุขภาพในการดูแลตนเอง ดูแลครอบครัวและชุมชน 
             บุคลากรสาธารณสุขเป็นผู้มีสำคัญในการช่วยให้ประชาชนมีสุขภาพดี โดยการดูแลประชาชนแบบผสมผสาน (Comprehensive Care) ทั้งกิจกรรมด้านการส่งเสริมสุขภาพ การควบคุมป้องกันโรค การรักษาพยาบาลและการฟื้นฟูสภาพ ขึ้นอยู่กับว่าสถานะทางสุขภาพของบุคคลนั้นๆอยู่ในกลุ่มปกติ กลุ่มป่วยหรือพิการและกลุ่มเสี่ยง โดยต้องดูแบบครบถ้วนทุกเรื่องที่เรียกว่าแบบองค์รวม (Holistic Care) ที่ต้องทำให้ประชาชนมีสุขภาวะทั้งด้านร่างกาย (Physical) จิตใจ (Mental) สังคม (Social) และเชาว์ปัญญาหรือจิตวิญญาณ (Intellectual/Spiritual) การที่บุคลากรสาธารณสุขจะดูแลแบบผสมผสานและองค์รวมได้นั้นจะต้องมีองค์ความรู้ที่พอเพียงและเหมาะสมกับปัญหาของชุมชนและประชาชนในเขตที่รับผิดชอบอย่างแท้จริง มีความสามารถวินิจฉัยชุมชน (Community and Family Diagnosis)ได้ และรู้ถึงความต้องการทางด้านสุขภาพของชุมชน (Health Needs)
          แนวทางการค้นหาความต้องการด้านสุขภาพของชุมชน สามารถจัดทำได้ 2 แนวทาง คือ
                1.1 ข้อมูลจากการให้บริการในโรงพยาบาล (Hospital based Data) เป็นการค้นหาจากข้อมูลการให้บริการของประชาชนที่มีข้อมูลอยู่ในรูปของแฟ้มประวัติผู้ป่วยแต่ละราย (Person) ในแต่ละช่วงเวลา (Time) ที่มีภูมิลำเนาอยู่ที่ต่างๆกัน (Place) ทั้งในกรณีของผู้ป่วยหรือผู้มารับบริการทั่วไป ในปัจจุบันโรงพยาบาลหลายแห่งได้นำเอาโปรแกรมระบบปฏิบัติการประจำวัน(Trans-processing system : TPS) ซึ่งเป็นข้อมูล (Data) ที่สามารถค้นหาได้สะดวกและรวดเร็วขึ้นโดยต้องนำข้อมูลเหล่านี้มาผ่านกระบวนการประมวลผลให้ได้เป็นข่าวสารหรือสารสนเทศ (Information) ในรูปของรายงานที่สำคัญต่อการบริหารจัดการ (Managerial Reporting System : MRS) ซึ่งจะแสดงให้เห็นได้ในรูปแบบของรายงานต่างๆเช่น รายงาน 0110 รง. 5 ซึ่งมีทั้งรายงานกิจกรรมและรายงานทางการเงิน เมื่อนำสารสนเทศที่สำคัญมาคัดเลือกให้เป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจ (Decision Supporting System) ก็จะได้ความรู้สำคัญของประชาชนหรือชุมชนโดยเฉพาะการพิจารณา 10 อันดับของผู้ป่วยในหรือผู้ป่วยนอกและ 10 อันดับโรคที่ต้องเฝ้าระวังทางระบาดวิทยา ข้อมูลเหล่านี้จะทำให้บุคลากรทางสาธารณสุขรู้ว่าความรู้ที่สำคัญทางสุขภาพในพื้นที่มีอะไรบ้าง
                1.2 ข้อมูลจากการให้บริการในชุมชน (Community based Data) เป็นการค้นหาในชุมชนเนื่องจากโรงพยาบาลไม่ได้ดูแลแค่ผู้ป่วยแต่ต้องดูแลประชาชนทุกกลุ่มในพื้นที่ การที่จะได้มาซึ่งข้อมูลส่วนนี้คือการเยี่ยมบ้าน (Home Visit) ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะเก็บข้อมูลมาจัดทำให้เป็นหมวดหมู่ในรูปของแฟ้มครอบครัวและชุมชน (Family Folders) ทั้งที่เป็นแฟ้มกระดาษและแฟ้มข้อมูลอิเล็กโทรนิกส์ เช่น จากโปรแกรม Wintho ของกระทรวงสาธารณสุข เป็นต้น ข้อมูลที่จะได้ก็คือข้อมูลเกี่ยวกับประชาชน (Host) ข้อมูลเกี่ยวกับเชื้อโรคหรือสารก่อโรค (Agent) และข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม (Environment) ซึ่งทั้ง 3 ส่วนนี้ถือเป็นปัจจัยสำคัญของการเกิดโรคตามแนวทางของระบาดวิทยา ( Epidemiology)
                ข้อมูลเหล่านี้จะทำให้บุคลากรทางสาธารณสุขรู้ว่าปัญหาของชุมชนหรือความต้องการด้านสุขภาพของชุมชนคืออะไร สามารถไปถึงความรู้ที่สำคัญทางสุขภาพในพื้นที่ว่ามีอะไรบ้าง ดังนั้น เมื่อทราบว่ามีอะไรและต้องการรู้อะไร ก็จะสามารถสร้างความรู้นั้นขึ้นมาใช้ได้
 
หมายเลขบันทึก: 6191เขียนเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2005 10:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 พฤษภาคม 2012 11:28 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท