แนวคิดการจัดการความรู้เพื่อการพัฒนาฐานความรู้สู่การปฏิบัติทางด้านสุขภาพ


Evidence-based practice

 

แนวคิดการจัดการความรู้เพื่อพัฒนา Evidence-based สู่การปฏิบัติทางด้านสุขภาพ

  • ผู้แปล...ศศิกานต์ กาละ

  •  ดิฉันพบบทความนี้จากวารสารต่างประเทศ และเห็นว่าน่าสนใจจึงได้นำมาแปลเป็นภาษาไทย เพื่อต่อยอดความรู้ให้กับผู้อ่านที่สนใจเรื่องการจัดการความรู้
  • การตัดสินใจทางด้านสุขภาพเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุดในการให้บริการที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ ดังนั้นในปัจจุบันจึงมีการใช้ฐานความรู้ทางการปฏิบัติ (Evidence-based ) เพื่อการตัดสินใจมากขึ้น อย่างไรก็ตามจะพบว่า เหตุการณ์ต่างๆที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพที่เกิดขึ้นแล้วไม่ได้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการปฏิบัติทางคลินิก แม้ว่าหลายหน่วยงานจะพยายามให้เกิดการนำฐานความรู้ไปใช้ในทางปฏิบัติ แต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร โดยพบว่าส่วนใหญ่เป็นเพียงการสร้างแนวทางปฏิบัติจากฐานความรู้ (Evidence-based clinical guidelines) เพื่อการตัดสินใจทางด้านสุขภาพเท่านั้น

  • ปัจจุบันการจัดการความรู้นับว่าเป็นแนวทางหนึ่งที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพขององค์กร แนวคิดนี้ได้รับการยอมรับในองค์กรต่างๆ ที่ไม่ใช่องค์กรด้านสุขภาพมาก่อน โดย พบว่าการจัดการความรู้ช่วยพัฒนาความสามารถทั้งของบุคคลและขององค์กร ดังนั้นแนวคิดการจัดการความรู้จึงมีความสำคัญต่อองค์กรทางด้านสุขภาพเพราะจะช่วยให้การปฏิบัติโดยใช้ฐานความรู้ในองค์กรมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
  • อริสโตเติลเป็นบุคคลแรกที่ได้จำแนกความรู้ออกเป็น 2 ส่วน คือ ความรู้ชัดแจ้ง (Explicit knowledge) กับ ความรู้ฝังลึก (Tacit knowledge) ความรู้ชัดแจ้งเป็นความรู้ที่มีการบันทึกไว้เป็นหลักฐานเพื่อช่วยในการตัดสินใจของบุคลากรทางสุขภาพ แต่ความรู้ฝังลึกเป็นความรู้ที่สะสมอยู่ในตัวบุคคล การตัดสินใจทางด้านสุขภาพของผู้เชี่ยวชาญ ประโยชน์สูงสุดในการปฏิบัติจึงต้องมีการใช้ร่วมกันทั้งความรู้ชัดแจ้งและความรู้ฝังลึก การจัดการความรู้เป็นพลวัตรเพราะช่วยให้เกิดความรู้ใหม่อยู่เสมอ
  • การจัดการความรู้มี 4 ส่วนประกอบหลัก คือ การสร้างความรู้ การเก็บรวบรวมความรู้ การเผยแพร่ความรู้ และการนำความรู้ไปปฏิบัติ
  • 1. การสร้างความรู้ ความรู้ชัดแจ้งสามารถสร้างได้จากการทำวิจัย ส่วนความรู้ฝังลึกนั้นเป็น “ศิลปะ” ทางการปฏิบัติเชิงวิชาชีพที่มีการพัฒนาและสั่งสมมาจากประสบการณ์การปฏิบัติในแต่ละวัน ของบุคคล
  • 2. การเก็บรวบรวมความรู้ ความรู้ที่ชัดแจ้งจะถูกจัดเก็บในหลากหลายรูปแบบ เช่น วารสารต่างๆ หรือแนวทางปฏิบัติทางคลินิก ซึ่งอาจจะมีการเก็บไว้ในชั้นของห้องสมุดหรือเก็บเป็นข้อมูลอิเลกทรอนิก ซึ่งจะต่างกับความรู้ฝังลึกที่จะถูกจัดเก็บในสมองของบุคลากรทางสุขภาพ
  • 3. การเผยแพร่ความรู้ สิ่งสำคัญคือ ต้องเป็นความรู้ที่ถูกต้องและเหมาะสมกับเวลา ปัจจุบันเทคโนโลยีสารสนเทศ เช่นอินเตอร์เนต หรือ อินตราเนตได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่ความรู้ที่เป็นความรู้ชัดแจ้ง อย่างไรก็ตาม วารสารต่างๆ หนังสือ และการสื่อสารส่วนบุคคลก็ยังคงใช้กันอยู่ทั่วไป ส่วนความรู้ฝังลึกนั้น จะถูกเผยแพร่ในรูปแบบการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของบุคลากรเก่าไปสู่ผู้ปฏิบัติใหม่ เช่น การเป็นพี่เลี้ยง การเป็นครูฝึก การจัดประชุม การตรวจเยี่ยมทางคลินิก (grand round) หรือ การทำกิจกรรมอื่นๆทางวิชาการ แต่ส่วนใหญ่ความรู้ฝังลึกจะได้จากประสบการณ์การทำงานในชีวิตประจำวันของบุคคล
  • 4. การนำความรู้ไปใช้ นับว่าเป็นส่วนที่มีความสำคัญมากที่สุด เพราะทั้งความรู้ที่ชัดแจ้งและความรู้ฝังลึกจะไม่มีประโยชน์เลยหากไม่ได้นำความรู้เหล่านี้ไปสู่การปฏิบัติ การแลกเปลี่ยนความเชี่ยวชาญหรือความรู้เฉพาะ(expertise) จึงเป็นปัจจัยหลักของการจัดการความรู้หรือการนำความรู้ไปใช้
  • ชุมชนนักปฏิบัติ (Comunities of practice) คือการที่สมาชิกของกลุ่มที่มีเป้าหมายร่วมกันเข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งรูปแบบของชุมชุนนักปฏิบัติอาจเป็นแบบทางการ เช่น ทีมที่มีการทำโครงการต่างๆร่วมกัน แต่ชุมชุนนักปฏิบัติส่วนใหญ่จะมีรูปแบบที่ไม่เป็นทางการเพราะสมาชิกในเครือข่ายไม่ได้มีพันธะร่วมกันมากนัก
  • การทำงานของชุมชุนนักปฏิบัติบางกลุ่มมีขึ้นเพื่อแก้ปัญหาในการปฏิบัติงานโดยเน้นการใช้ความรู้ฝังลึกมากกว่าความรู้ชัดแจ้ง เช่น ชุมชนนักปฏิบัติด้านเทคนิคการซ่อมเครื่องถ่ายภาพอัดสำเนา กลุ่มนี้พบว่าไม่สามารถใช้เพียงความรู้จากคู่มือเพียงอย่างเดียวเพื่อการแก้ปัญหาที่ยุ่งยากได้ แต่จำเป็นต้องใช้ความรู้ฝังลึกที่เกิดจากประสบการณ์ของบุคคลเข้ามาช่วยแก้ปัญหา ซึ่งการพบกันของชุมชนนักปฏิบัตินี้พบว่ามีประโยชน์มากในการแก้ปัญหาที่พบในชีวิตประจำวัน
  • จากผลการวิจัยในปัจจุบันพบว่าเทคโนโลยีสารสนเทศ ได้แก่ อินเตอร์เนต หรือ ห้องประชุมเสมือน (Virtual) มีประสิทธิภาพในการแลกเปลี่ยนความรู้ในชุมชุนนักปฏิบัติได้เทียบเท่ากับการพบปะพูดคุยแบบตัวต่อตัว (face to face)

สามารถประยุกต์แนวคิดการจัดการความรู้สู่การพัฒนาการปฏิบัติจากฐานความรู้ได้อย่างไร  

  • ประการแรกต้องยอมรับว่าการจัดการความรู้สามารถนำไปใช้ในการปฏิบัติจากฐานความรู้ได้ ตัวอย่างเช่น การส่งสิ่งส่งตรวจเพื่อการวินิจฉัยโรค แพทย์อาจจะไม่แน่ใจการวินิจฉัยโรคที่หน่วยปฐมภูมิ หรือหน่วยทุติยภูมิได้วินิจฉัยไว้ว่าถูกต้องหรือไม่ เพราะอุบัติการณ์ในแต่ละสถานที่จะแตกต่างกัน ดังนั้นหากใช้การจัดการความรู้เข้ามาช่วยแก้ปัญหา โดยการสร้างความรู้จากข้อมูลอุบัติการณ์ของผู้ป่วยในแต่ละสถานที่ มาเก็บไว้ และให้แพทย์เข้าไปดูได้ แพทย์จะได้ใช้ข้อมูลเหล่านี้ในการตัดสินใจทางคลินิกได้
  • ประการที่สองต้องยอมรับการสร้างความรู้จากความรู้ฝังลึกหรือประสบการณ์ส่วนบุคคลว่าเป็นฐานความรู้ในการปฏิบัติได้เช่นกัน เพราะประสบกาณ์การทำงานในชีวิตประจำวันทำให้เกิดความรู้ฝังลึกสะสมในตัวบุคคล
  • ประการที่สาม ชุมชนนักปฏิบัติเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาฐานความรู้สู่การปฏิบัติ ชุมชุนนักปฏิบัติช่วยให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ทั้งที่เป็นความรู้ชัดแจ้งและความรู้ฝังลึก ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแนวทางการปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพการบริการ
  • ประการที่สี่ การจัดการความรู้สู่การปฏิบัติจากฐานความรู้จะพัฒนาได้ต้องเกิดจากองค์กร ซึ่งปัจจัยสำคัญในองค์กรที่ก่อให้เกิดการจัดการความรู้นั้น ประกอบด้วย ภาวะผู้นำทั้งขององค์กรเองและสมาชิกที่ยอมรับคุณค่าการใช้ฐานความรู้สู่การปฏิบัติ วัฒนธรรมขององค์กรโดยเฉพาะความร่วมมือกันของสมาชิกเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญต่อการจัดการความรู้ ระบบสารสนเทศเป็นส่วนที่เปิดโอกาสให้คนมาพบปะแลกเปลี่ยนความรู้ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่มีความสำคัญซึ่งในปัจจุบันเป็นที่ยอมรับว่าเทคโนโลยีสารสนเทศมีบทบาทสำคัญต่อความสำเร็จต่อการจัดการความรู้ของชุมชนนักปฏิบัติ นอกจากนี้การบริหารทรัพยากรบุคคล โดยเฉพาะการยอมรับพันธกิจร่วมกัน การทำงานร่วมกัน การเรียนรู้ร่วมกัน เป็นปัจจัยหลักที่เอื้อต่อการพัฒนาวิชาชีพ ดังนั้นชุมชุนนักปฏิบัติจึงเป็นส่วนหนึ่งของการสอนและการฝึกสมาชิกในองค์กร

บทสรุป

  • วิชาชีพด้านสุขภาพนับว่าเป็นวิชาชีพที่มีการสั่งสมความรู้มาก แต่การสร้างความรู้ การเก็บรวบรวมความรู้ การเผยแพร่ความรู้ และการนำความรู้ไปใช้ในทางปฏิบัติส่วนใหญ่ยังจำกัดอยู่เฉพาะส่วนที่เป็นความรู้ชัดแจ้ง ดังนั้นการประยุกต์ใช้ร่วมกันทั้งความรู้ฝังลึกและความรู้ชัดแจ้งจึงเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้เกิดความมั่นใจต่อความชัดเจนของฐานความรู้ที่นำมาใช้ในการปฏิบัติ ชุมชุนนักปฏิบัติเป็นส่วนสำคัญของการจัดการความรู้ที่ประสบความสำเร็จอย่างชัดเจนในองค์กรต่างๆมาแล้ว การจัดการความรู้สู่การปฏิบัติจากฐานความรู้จึงมีความสำคัญในการประยุกต์ใช้กับองค์กรทางด้านสุขภาพ อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่เอื้อต่อการจัดการความรู้ในองค์กรเป็นสิ่งที่ควรตระหนักเพราะเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้เกิดการนำความรู้สู่การปฏิบัติ

 

  • แปลจาก Sandar, J & Heller, R (2006). Improving the implementation of evidence-based practice: a knowledge management perspective. Journal of Evaluation in clinical practice, 12(3), 341-346.
คำสำคัญ (Tags): #kmclass
หมายเลขบันทึก: 61825เขียนเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2006 16:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 15:52 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท