วิธีคิดตามหลักพุทธธรรม


การรู้จักคิดหรือคิดเป็น เป็นตัวนำที่ชักพาหรือเปิดช่องทางไปสู่การดำเนินชีวิตที่ถูกต้องหรือชีวิตที่ดีงามทั้งหมด

พระธรรมปิฎก ได้อธิบายวิธีคิดแบบต่างๆ ตามหลักพุทธธรรม (โยนิโสมนสิการ) เพื่อการดำเนินชีวิตอย่างถูกต้อง ไว้ในหนังสือ ชื่อ วิธีคิดตามหลักพุทธธรรม ความตอนหนึ่งว่า

การคิดถูกต้อง รู้จักคิด หรือ คิดเป็น เป็นศูนย์กลางที่บริหารการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องทั้งหมด  เพราะเป็นหัวหน้าที่ชี้นำ  นำทาง และควบคุมปฏิบัติถูกต้องในแง่อื่นๆ ทั้งหมด เมื่อคิดเป็นแล้วก็ช่วยให้พูดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น ช่วยให้ดูเป็น  ฟังเป็น  กินเป็น  ใช้เป็น  บริโภคเป็น  และคบหาเสวนาเป็น ตลอดไปทุกอย่าง คือดำเนินชีวิตเป็นนั่นเอง จึงพูดได้ว่า การรู้จักคิดหรือคิดเป็น เป็นตัวนำที่ชักพาหรือเปิดช่องทางไปสู่การดำเนินชีวิตที่ถูกต้องหรือชีวิตที่ดีงามทั้งหมด

วิธีโยนิโสมนสิการเท่าที่พบในบาลี พอประมวลเป็บแบบใหญ่ ได้ดังนี้

  1. วิธีคิดแบบสืบสาวเหตุปัจจัย
  2. วิธีคิดแบบแยกแยะส่วนประกอบ
  3. วิธีคิดแบบสามัญลักษณ์
  4. วิธีคิดแบบอริยสัจจ์/คิดแบบแก้ปัญหา
  5. วิธีคิดแบบอรรถธรรมสัมพันธ์
  6. วิธีคิดแบบเห็นคุณโทษและทางออก
  7. วิธีคิดแบบรู้คุณค่าแท้-คุณค่าเทียม
  8. วิธีคิดแบบเร้าคุณธรรม
  9. วิธีคิดแบบอยู่กับปัจจุบัน
  10. วิธีคิดแบบวิภัชชวาท
คำสำคัญ (Tags): #วิธีคิด
หมายเลขบันทึก: 6178เขียนเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2005 06:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 15:35 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)
อยากรู้ การยกตัวอย่าง 10 วิธีค่ะ

ขอบคุณมากค่ะ ที่สนใจ ถ้างั้น จะลองทยอยสรุปให้ใน Blog นะคะ กรุณาติดตามค่ะ

          ต้องออกตัวอย่างมากๆ ก่อนนะคะว่า ดิฉันไม่มีความรู้ในเรื่องที่นำมาบันทึกข้างต้นอย่างแจ่มแจ้ง  จนสามารถให้คำอธิบาย หรือยกตัวอย่างเองได้ทั้งหมด ได้แต่หยิบยกมาจากหนังสือต่างๆ ที่พยายามอ่าน และบางครั้งประกอบกับการปฏิบัติเพื่อความเข้าใจ 

          ดิฉันยังพยายามอยู่อย่างมากเพื่อที่จะเข้าใจให้ถ่องแท้ เพราะฉะนั้น ข้อคิดเห็นจากคุณไม่แสดงตน จึงเป็นเครื่องช่วยเตือนสติดิฉันได้เป็นอย่างดี ถึงความสำคัญของการทบทวนเรื่องที่เขียนมานานแล้ว ให้กระจ่างมากขึ้น         

          ตอนแรกดิฉันกะว่า จะเพิ่มบันทึกใหม่ โดยเขียนขยายความเรื่องวิธีโยนิโสมนสิการ ทีละข้อ

          แต่วันนี้เปลี่ยนใจแล้วค่ะ เขียนต่อบันทึกนี้เลยดีกว่า ต่อไปภายภาคหน้าจะได้สืบค้นได้ง่าย

..................................................

1. วิธีคิดแบบสืบสาวเหตุปัจจัย

      อาจเรียกว่าวิธีคิดแบบอิทัปปัจจยตา หรือคิดตามหลักปฏิจจสมุปบาท  จัดเป็นโยนิโสมนสิการแบบพื้นฐาน  ดิฉันเคยขยายความและยกตัวอย่างไว้แล้ว ที่นี่

.................................................. 

2. วิธีคิดแบบแยกแยะส่วนประกอบ

      เป็นวิธีที่ช่วยให้มองเห็นความเป็นอนัตตา แต่ต้องอาศัยวิธีคิดแบบที่ 1 คือวิธีคิดแบบสืบสาวเหตุปัจจัยและวิธีคิดแบบสามัญลักษณ์ ร่วมด้วย โดยพิจารณาไปพร้อมๆ กัน กล่าวคือ

      เมื่อแยกแยะส่วนประกอบออก ก็เห็นภาวะที่องค์ประกอบเหล่านั้นอาศัยกันและขึ้นต่อเหตุปัจจัยต่างๆที่เกี่ยวข้อง 

      นอกจากนี้ องค์ประกอบเหล่านั้น ล้วนเป็นไปตามกฎของการเกิดดับอยู่ตลอดเวลา ไม่เที่ยงแท้ ไม่คงที่ ไม่ยั่งยืน

      ตัวอย่างการใช้ความคิดนี้ในแนวบาลี

      "ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ช่องว่าง อาศัยเครื่องไม้ เถารัด ดินฉาบและหญ้ามุงล้อมเข้า ย่อมถึงความนับว่าเรือน ฉันใด      ช่องว่าง อาศัยกระดูก เอ็น เนื้อ และหนังแวดล้อมแล้ว ย่อมถึงความนับว่ารูป ฉันนั้น.....เวทนา....สัญญา....สังขาร....วิญญาณ....การคุมเข้า การประชุมกัน การประมวลเข้าด้วยกันแห่งอุปาทานขันธ์ 5 เหล่านี้ เป็นอย่างนี้" 

3. วิธีคิดแบบสามัญลักษณ์

      คือวิธีคิดแบบรู้เท่าทันความเป็นไปของสิ่งทั้งหลายว่าจะต้องเป็นไปอย่างนั้นเป็นธรรมดา 

      ธรรมดาที่ว่า คือ

  • สิ่งทั้งหลายทั้งปวง เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็จะต้องดับไปเป็นธรรมดา เรียกว่าเป็น อนิจจัง
  • สิ่งทั้งหลายทั้งปวง เมื่อเกิดขึ้นแล้ว และมาสัมพันธ์กัน จะเกิดความขัดแย้งกัน ทำให้คงอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้  เรียกว่า ทุกข์
  • สิ่งทั้งหลายทั้งปวง เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ไม่อาจเป็นของใคร และไม่อาจเป็นตัวตนของมันเองด้วย มันเป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่ใช่เป็นไปตามใจอยากของใคร เรียกว่าเป็น อนัตตา

ตัวอย่างพุทธพจน์ แสดงการคิดแบบสืบสาวเหตุปัจจัย ต่อด้วยการคิดแบบสามัญลักษณะ เพื่อรู้เท่าทันตามความเป็นจริง ให้ใจเป็นอิสระ มิให้เกิดทุกข์ ดังนี้

      "ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเป็นผู้มีตนเป็นที่พึ่ง  มีตนเป็นสรณะ ไม่มีสิ่งอื่นเป็นสรณะ  จงมีธรรมเป็นที่พึ่ง มีธรรมเป็นสรณะ  ไม่มีสิ่งอื่นเป็นสรณะอยู่เถิด  เมื่อเธอทั้งหลายจะเป็นผู้มีตนเป็นที่พึ่ง  มีธรรมเป็นสรณะ  ไม่มีสิ่งอื่นเป็นสรณะ  เป็นอยู่ก็พึงพิจารณาโดยแยบคายว่า โสกะ ปริเวทะ  ทุกข์  โทมนัส และความผิดหวังคับแค้นใจทั้งหลาย เกิดจากอะไร มีอะไรเป็นแดนเกิด?"

      "ภิกษุทั้งหลาย โสกะ ปริเวทะ  ทุกข์  โทมนัส และความผิดหวังคับแค้นใจทั้งหลาย เกิดจากอะไร มีอะไรเป็นแดนเกิด?" 

      (พึงเข้าใจดังนี้) ปุถุชนในโลกนี้ ผู้ขาดสุตะ (ไม่ได้เรียนรู้) มิได้พบเห็นอริยชน  ไม่ฉลาดในอริยธรรม  ไม่ได้รับการฝึกอบรมในอริยะธรรม มิได้พบเห็นสัตบุรุษ ไม่ฉลาดในสัปปุริสธรรม ไม่ได้รับการฝึกอบรมในสัปปุริสธรรม ย่อมมองเห็นรูปเป็นตน มองเห็นตนมีรูป  มองเห็นรูปในตน หรือมองเห็นตนในรูป รูปของเขานั้นผันแปรไป กลายเป็นอย่างอื่น โสกะ ปริเวทะ  ทุกข์  โทมนัส และความผิดหวังคับแค้นใจย่อมเกิดขึ้นแก่เขา  เพราะการที่รูปผันแปรกลายเป็นอื่น เขามองเห็นเวทนา  สัญญา  สังขาร  วิญญาณ  (เป็นอัตตา เป็นต้น ) โสกะ ปริเวทะ  ทุกข์  โทมนัส และความผิดหวังคับแค้นใจย่อมเกิดขึ้นแก่เขา เพราะการที่เวทนา  สัญญา  สังขาร  วิญญาณ ผันแปรกลายเป็นอื่น"

      "ส่วนภิกษุรู้ชัดว่า รูป  เวทนา  สัญญา สังขาร  วิญญาณ  เป็นสิ่งไม่เที่ยง แปรปรวนได้ จางหายดับสิ้นได้  มองเห็นความเป็นจริงด้วยสัมมนาปัญญาอย่างนี้ว่า  รูป  เวทนา  สัญญา สังขาร  วิญญาณ  ทั้งปวง ล้วนไม่เที่ยง ถูกปัจจัยบีบคั้น มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา  ทั้งในกาลก่อน ทั้งในบัดนี้ก็เช่นเดียวกัน  เธอย่อมละโสกะ ปริเวทะ  ทุกข์  โทมนัส และความผิดหวังคับแค้นใจทั้งหลายได้  เพราะละโสกะเป็นต้นนั้นได้ เธอย่อมไม่ต้องหวั่นหวาดเสียวใจ เมื่อไม่หวั่นหวาดเสียวใจ ย่อมอยู่เป็นสุข ภิกษุผู้อยู่เป็นสุข เรียกได้ว่าตทังคนิพพานแล้ว"

วิธีคิดแบบอริยสัจจ์/คิดแบบแก้ปัญหา

      วิธีคิดแบบนี้ต่อเนื่องกับวิธีคิดแบบที่ 3 (วิธีคิดแบบสามัญลักษณ์) กล่าวคือ

      เมื่อประสบปัญหา ได้รับความทุกข์ และเมื่อสามารถวางใจวางท่าทีต่อสถานการณ์ได้อย่างถูกต้องแล้ว ต่อจากนั้นก็ให้คิดแก้ปัญหา โดย

  1. คิดตามเหตุผล 
  2. คิดตรงจุดตรงเรื่อง

      การคิดตามเหตุผล ให้สืบสาวจากผลไปหาเหตุ จัดเป็น 2 คู่ คือ

คู่ที่1 : ทุกข์เป็นผล  เป็นตัวปัญหา เป็นสถานการณ์ที่ประสบ ซึ่งไม่ต้องการ

           สมุทัยเป็นเหตุ เป็นที่มาของปัญหา เป็นจุดที่ต้องกำจัด หรือแก้ไข จึงจะพ้นจากปัญหาได้

คู่ที่2 : นิโรธเป็นผล  เป็นภาวะสิ้นปัญหา เป็นจุดหมายซึ่งต้องการจะเข้าถึง

           มรรคเป็นเหตุ เป็นวิธีการ เป็นข้อปฏิบัติที่ต้องกระทำในการแก้ไขสาเหตุเพื่อบรรลุจุดมุ่งหมาย คือความดับทุกข์

 

   

5. วิธีคิดแบบอรรถธรรมสัมพันธ์

      คือคิดตามหลักการและความมุ่งหมาย  เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่าง ธรรม กับ อรรถ  หรือ หลักการ กับ ความมุ่งหมาย

      ในการปฏิบัติธรรมหรือหลักการใดใดก็ตาม จะต้องเข้าใจความมุ่งหมายของธรรมหรือหลักการนั้นๆ  ว่าปฏิบัติหรือทำไปเพื่ออะไร  ธรรมหรือหลักการนั้นกำหนดไว้เพื่ออะไร  จะนำไปสู่ผลหรือที่หมายใดบ้าง ทั้งจุดหมายปลายทางสุดท้าย และเป้าหมายระหว่างทางที่จะส่งต่อไปยังธรรมหรือหลักการข้ออื่นๆ  นำไปสู่การปฏิบัติถูกต้องที่เรียกว่า  ธรรมานุธรรมปฏิบัติ

      ตัวอย่างเช่น ศีล สมาธิ และปัญญา ต่างมีจุดหมายสุดท้ายเพื่อนิพพานเหมือนกัน  แต่เมื่อมองจำกัดเฉพาะตัว แต่ละอย่างมีขีดขั้นขอบเขตของตนที่จะต้องไปเชื่อมต่อกับอย่างอื่น จึงจะบรรลุจุดหมายสุดท้ายได้  ลำพังอย่างหนึ่งอย่างเดียวหาสำเร็จผลล่วงตลอดไม่  แต่จะขาดอย่างหนึ่งอย่างใดเสียทีเดียวก็ไม่ได้  จึงมีหลักว่า

      ศีลเพื่อสมาธิ  สมาธิเพื่อปัญญา  ปัญญาเพื่อวิมุตติ 

      ถ้าปฏิบัติศีลขาดเป้าหมาย ก็อาจกลายเป็นสีลัพพตปรามาส  ช่วยส่งเสริมอัตตกิลมถานุโยค เช่น ผู้ปฏิบัติอาจมองศีลเป็นสภาวะสมบูรณ์ในตัว ซึ่งตั้งอยู่โดดๆ ไม่คำนึงถึงความหมายและความมุ่งหมายของศีล ยึดติดถือมั่นในรูปแบบ  หรือเคร่งครัดเข้มงวดโดยเข้าใจว่าเมื่อทำได้อย่างนั้นๆ แล้วก็จะดีเองจะสำเร็จเอง เป็นต้น 

      ถ้าบำเพ็ญสมาธิโดยไม่คำนึงอรรถ  ก็อาจหมกติดอยู่ในฤทธิ์ปาฏิหาริย์  ส่งเสริมมิจฉาทิฏฐิบางอย่าง หรือส่งเสริมติรัจฉานวิชาบางประเภท

      ถ้าเจริญปัญญาชนิดที่ไม่เป็นไปเพื่อวิมุตติ  ก็เป็นอันคลาดออกนอกมัชฌิมาปฏิปทา  ไม่ไปสู่จุดหมายของพุทธศาสนา อาจหลงอยู่ข้างๆระหว่างทาง หรือติดค้างในมิจฉาทิฏฐิแบบใดแบบหนึ่ง

6. วิธีคิดแบบเห็นคุณโทษและทางออก

      วิธีนี้เน้นการยอมรับความจริงตามที่สิ่งนั้นๆ เป็นอยู่ทุกแง่ทุกด้าน  ทั้งด้านดีและด้านเสีย เข้าใจปัญหาอย่างชัดเจน  ก่อนที่จะหาทางออกที่ดีงามจริง  ซึ่งเป็นหนทางที่ไม่ขึ้นต่อข้อดีข้อเสียหรือสิ่งที่เป็นปัญหานั้นอีก

      ตัวอย่างจากบาลี

      "ดูกรมหานาม  ก่อนสัมโพธิ เมื่อยังเป็นโพธิสัตว์ผู้ยังมิได้ตรัสรู้  เราได้เห็นเป็นอย่างดีด้วยสัมมาปัญญาตามเป็นจริงว่า  กามทั้งหลายมีอัสสาทะ (คุณ)น้อย มีทุกข์มาก มีความคับข้องมาก  อาทีนวะ (โทษ) ในกามนี้ยิ่งนัก แต่เรานั้นยังมิได้ประสบปีติสุขอันปลอดจากกาม  ปลอดจากอกุศลธรรมทั้งหลาย หรือปีติสุขอื่นที่ปราณีตยิ่งกว่านั้น  เราจึงยังปฏิญาณ (ยืนยัน) มิได้ก่อนว่า จะเป็นผู้ไม่วกเวียนมาหากามทั้งหลาย

      แต่เมื่อใดเราได้มองเห็นอย่างดีด้วยสัมมาปัญญาตามเป็นจริงอย่างนี้  ว่ากามทั้งหลายมีอัสสาทะ (คุณ) น้อย...และเรานั้นได้ประสบปีติสุขอันปลอดจากกาม  ปลอดจากอกุศลธรรมทั้งหลาย พร้อมทั้งปีติสุขอื่นที่ปราณีตยิ่งกว่านั้น  เมื่อนั้น  เราจึงปฏิญาณได้ว่าเป็นผู้ไม่วกเวียนมาหากามทั้งหลาย"

      ในทางปฏิบัติระดับชีวิตประจำวัน โดยมากเป็นเพียงการเลือกระหว่าง  สิ่งที่มีคุณมากและโทษน้อย กับ สิ่งที่มีคุณน้อยและโทษมาก

      สำหรับทางออก ก็มักเป็นทางออกแบบสัมพัทธ์  คือทางออกที่ดีที่สุดในกรณีนั้นๆ 

      ในภาวะเช่นนี้ ก็ไม่ควรลืมวิธีคิดแบบเห็นคุณโทษและทางออก คือยอมรับส่วนดีของสิ่งที่ไม่ได้เลือกมาใช้ประโยชน์  และรับรู้หรือยอมรับส่วนเสียของสิ่งที่เลือก เพื่อหลีกเลี่ยงหรือแก้ไขด้วย 

7. วิธีคิดแบบรู้คุณค่าแท้-คุณค่าเทียม

      เป็นวิธีคิดแบบสกัดหรือบรรเทาตัณหา  เป็นขั้นฝึกหัดขัดเกลากิเสสหรือตัดทางไม่ให้กิเลสเข้ามาครอบงำจิตใจแล้วชักจูงพฤติกรรมต่อๆไป

      วิธีคิดแบบนี้ใช้มากในชีวิตประจำวัน เพราะเกี่ยวข้องกับการบริโภคใช้สอยปัจจัย 4

      มุ่งให้เข้าใจและเลือกเสพสิ่งที่เป็น คุณค่าแท้ ที่เป็นประโยชน์กับชีวิตอย่างแท้จริง เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขทั้งแก่ตนและผู้อื่น ทั้งยังเกื้อกูลแก่ความเจริญงอกงามของกุศลกรรม เช่น ความมีสติ ทำให้พ้นจากความเป็นทาสของวัตถุ เพราะเป็นการเกี่ยวข้องด้วยปัญญา และมีขอบเขตอันเหมาะสม

      ตรงกันข้าม คุณค่าเทียม จะพอกเสริมด้วยตัณหา ซึ่งไม่เกื้อกูลแก่ชีวิต ทำให้เกิดอกุศลธรรม เช่น ความโลภ ความมัวเมา ความริษยา  มานะ ทิฏฐิ ตลอดจนการยกตนข่มผู้อื่น  ไม่มีขอบเขตและเป็นไปเพื่อการแก่งแย่งเบียดเบียน

      ตัวอย่างเช่น อาหารที่กินด้วยปัญญาเพื่อคุณค่าแท้มื้อหนึ่งราคา 10 บาท อาจมีคุณค่าแก่ชีวิตร่างกายมากกว่าอาหารมื้อเดียวราคา 1000 บาท ที่กินด้วยตัณหา เพื่อสนองความอยากหรือเพื่อเสริมราคาของตัวตน และหนำซ้ำอาจเป็นอันตรายแก่ร่างกาย     

8. วิธีคิดแบบเร้าคุณธรรม

      เป็นวิธีคิดในแนวสกัดกั้นหรือบรรเทาและขัดเกลาตัณหา  ส่งเสริมความเจริญงอกงามแห่งกุศลธรรม  และสร้างเสริมสัมมาทฏฐิที่เป็นโลกิยะ

      โดยการทำใจตั้งต้น และชักนำความคิดให้เดินไปในทางที่ดีงามและเป็นประโยชน์ ช่วยแก้นิสัยความเคยชินแบบร้ายๆ ของจิตที่ได้สั่งสมไว้แต่เดิม พร้อมกับสร้างนิสัยความเคยชินใหม่ๆ  ที่ดีงามให้แก่จิตไปในเวลาเดียวกันด้วย

      ในทางตรงกันข้ามหากปราศจากอุบายแก้ไขเช่นนี้  ความคิดและการกระทำของบุคคลก็จะถูกชักนำให้เดินไปตามแรงชักจูงของความเคยชินเก่าๆ  ที่ได้สั่งสมไว้เดิมเพียงอย่างเดียว  และช่วยเสริมให้มีความเคยชินอย่างนั้นให้มีกำลังแรงยิ่งขึ้นเรื่อยไป

      ตัวอย่างเช่น  การคิดถึงความตาย ถ้าคิดไม่ถูกวิธี อกุศลธรรมก็จะเกิดขึ้น เช่น คิดถึงความตายแล้วสลดหดหู่ เกืดความเศร้าและเหี่ยวแห้งใจบ้าง เกิดความกลัวความหวาดเสียวใจบ้าง  เป็นต้น

      แต่ถ้ามีโยนิโสมนสิการ คือทำใจหรือคิดให้ถูกวิธี ก็จะเกิดกุศลธรรม คือเกิดความรู้สึกตื่นตัว เร้าใจ ไม่ประมาท เร่งขวนขวายปฏิบัติกิจหน้าที่  ทำสิ่งดีงามเป็นประโยชน์  ประพฤติปฏิบัติธรรม ตลอดจนรู้เท่าทันความจริงที่เป็นคติธรรมดาของสังขาร

9.วิธีคิดแบบอยู่กับปัจจุบัน

      ความหมายที่ควรเข้าใจเกี่ยวกับปัจจุบัน อดีต และอนาคต สำหรับการใช้ความคิดแบบนี้ คือ

      ลักษณะสำคัญของความคิดชนิดที่ไม่เป็นอยู่ในปัจจุบัน  คือ  ความคิดที่เกาะติดกับอดีตและเลื่อนลอยไปในอนาคตนั้น เป็นไปในแนวทางของตัณหา  หรือคิดด้วยอำนาจตัณหา โดยมีอาการอาวรณ์กับสิ่งที่ล่วงไปแล้ว หรือเคว้งคว้างเลื่อนลอยฟุ้งซ่านไปในภาพที่เพ้อปรุงแต่งซึ่งไม่มีฐานแห่งความเป็นจริงในปัจจุบัน เพราะอึดอัดไม่พอใจสภาพที่ประสบอยู่ ปรารถนาจะหนีจากปัจจุบัน

      ส่วนความคิดชนิดที่อยู่ในปัจจุบัน มีลักษณะเป็นการคิดในแนวทางของความรู้ หรือคิดด้วยอำนาจปัญญา ถ้าคิดในแนวทางของความรู้ หรือคิดด้วยอำนาจปัญญาแล้ว  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่เป็นไปอยู่ในขณะนี้ หรือเป็นเรื่องล่วงไปแล้ว หรือเป็นเรื่องของกาลภายหน้า  ก็จัดเข้าในการเป็นอยู่ในปัจจุบันทั้งนั้น

      โดยความหมายทางธรรม  ขั้นการฝึกอบรมทางจิตที่แท้จริง คำว่า อดีต ปัจจุบัน และอนาคต ก็ไม่ตรงกับความเข้าใจของคนทั่วไป 

      คำว่า ปัจจุบัน ตามที่คนทั่วไปเข้าใจ มักครอบคลุมกาลเวลาช่วงกว้างที่ไม่ชัดเจน

      ส่วนในทางธรรม ปัจจุบัน หมายถึงขณะเดียวที่กำลังเกิดขึ้นเป็นอยู่  ในความหมายที่ลึกซึ้งนี้ เป็นอยู่ในปัจจุบันหมายถึงมีสติตามทันสิ่งที่รับรู้เกี่ยวข้อง หรือต้องทำอยู่ในเวลานั้นๆ  แต่ละขณะทุกๆ ขณะ ถ้าจิตรับรู้สิ่งใดแล้วเกิดความชอบใจหรือไม่ชอบใจขึ้น ติดข้องวนเวียนอยู่กับภาพของสิ่งนั้นที่สร้างซ้อนขึ้นในใจ  ก็เป็นอันตกไปอยู่ในอดีต  ตามไม่ทัน หลุดหลงไปจากขณะปัจจุบันแล้ว หรือจิตหลุดลอยจากขณะปัจจุบันไปเกาะเกี่ยวกับภาพสิ่งที่ยังไม่มา ก็เป็นอันฟุ้งไปในอนาคต โดยนัยนี้ แม้แต่อดีตและอนาคตตามความหมายทางธรรม ก็อาจยังอยู่ในขอบเขตแห่งเวลาปัจจุบัน ตามความหมายของคนทั่วไป

      สิ่งที่ตามความหมายของคนทั่วไปว่าเป็นอดีตหรืออนาคต  ก็อาจกลายเป็นปัจจุบันตามความหมายทางธรรมได้ เพราะปัจจุบันในทางธรรม ไม่ได้เพ่งที่เหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในโลกภายนอก แต่หมายถึงสิ่งที่เกี่ยวข้องในขณะนั้นๆ ที่เชื่อมโยงต่อกันมาถึงสิ่งที่รับรู้ กำลังพิจารณา เกี่ยวข้องต้องกระทำอยู่ เกี่ยวข้องกับหน้าที่ กับการกระทำกิจ การปฏิบัติหรือปฏิบัติได้

10. วิธีคิดแบบวิภัชชวาท

      วิภัชชวาท  มาจาก วิภัชช+วาท 

      วิภัชช แปลว่า แยกแยะ แบ่งออก จำแนก หรือแจกแจง  ใกล้เคียงกับคำที่ใช้ในปัจจุบันว่า วิเคราะห์

      วาท แปลว่า การกล่าว การพูด การแสดงคำสอน

      วิภัชชวาท จึงแปลว่า การแสดงคำสอนแบบวิเคราะห์ 

      ดังนั้น วิภัชชวาท ไม่ใช่วิธีคิดโดยตรง แต่เป็นวิธีพูด หรือการแสดงหลักการแห่งคำสอนแบบหนึ่ง เพราะการคิดกับการพูด เป็นกรรมใกล้ชิดกันที่สุด ก่อนที่จะพูดต้องคิดก่อน สิ่งที่พูดล้วนสำเร็จมาจากความคิดทั้งสิ้น

      ลักษณะสำคัญของความคิดและการพูดแบบนี้คือ การมองและแสดงความจริง โดยแยกแยะออกให้เป็นแต่ละแง่ละด้าน  ครบทุกแง่ทุกด้าน ไม่ใช่จับเอาแง่หนึ่งแง่เดียว  หรือบางแง่ขึ้นมาวินิจฉัยตีคลุมลงไปอย่างนั้นทั้งหมด

      แนวคิดของวิภัชชวาท จำแนกลักษณะต่างๆ ได้ดังนี้

  • จำแนกโดยแง่ของความจริง
  • จำแนกโดยส่วนประกอบ (ตรงกับวิธีคิดแบบแยกแยะส่วนประกอบ)
  • จำแนกโดยลำดับขณะ
  • จำแนกโดยความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย (ตรงกับวิธีคิดแบบสืบสาวเหตุปัจจัย)
  • จำแนกโดยเงื่อนไข
  • จำแนกโดยทางเลือกหรือความเป็นไปได้อย่างอื่น
  • วิภัชชวาในฐานะวิธีตอบปัญหาอย่างหนึ่ง

ดีมากๆเลยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท