เรื่องเล่าจากฮิเมจิ ญี่ปุ่น(2)


เป็นทุนจากความร่วมมือของคุณพ่ออัลฟอนโซ่ บ้านเซเวียร์และคุณหมอนิชิกาว่า จากสมาคมแพทย์แห่งเมืองฮิเมจิ แต่รุ่นผมเป็นรุ่นสุดท้าย รุ่นที่ 10 เนื่องจากคุณหมอนิชิกาว่าได้เสียชีวิตแล้ว

จากการที่ผมได้รับรางวัลแพทย์ดีเด่นในชนบทของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลเมี่อปี 2547 ทำให้ได้รับทุนไปศึกษาดูงานที่เมืองฮิเมจิ ประเทศญี่ปุ่น ร่วมกับน้องแพทย์จบใหม่อีก 2 ท่านคือคุณหมอปราง(ปัจจิมา)และคุณหมอชนจันทร์เมื่อ 7-13 เมษายนที่ผ่านมา โดยเป็นทุนจากความร่วมมือของคุณพ่ออัลฟอนโซ่ บ้านเซเวียร์และคุณหมอนิชิกาว่า จากสมาคมแพทย์แห่งเมืองฮิเมจิ  แต่รุ่นผมเป็นรุ่นสุดท้าย รุ่นที่ 10 เนื่องจากคุณหมอนิชิกาว่าได้เสียชีวิตแล้วเมื่อเดือนพฤษภาคม 2547 ไม่มีผู้ที่จะมีพลังพอในการสานต่อเรื่องนี้ ก็เป็นที่น่าเสียดายมาก เนื่องจากเป็นการดูงานกันแบบเอกชนจัดทำให้เราได้ไปดูทั้งคลินิกส่วนตัว โรงพยาบาลรัฐบาล โรงพยาบาลเอกชน ศูนย์โรคหัวใจ ศูนย์โรคทางจิต ศูนย์พัฒนารังสีเพื่อประโยชน์ของประเทศญี่ปุ่น รวมทั้งสมาคมแพทย์แห่งเมืองฮิเมจิที่เปรียบเสมือนศูนย์รวมของแพทย์เกือบ 1,000 คนในฮิเมจิ ที่มาใช้ทรัพยากรเครื่องมือ บุคลากรทางการแพทย์ร่วมกันโดยไม่ต่างคนต่างซื้อ ส่วนในด้านสถานที่เที่ยวก็ได้ไปที่เกียวโตกับเมืองเล็กๆชายทะเล(จำชื่อไม่ได้แล้ว)

                โรงพยาบาลจิตเวชที่ไปดูชื่อTakaoka Hospital มี Dr. Takuo Nagao เป็นpresident ซึ่งเขาเป็นรองประธานของสมาคมโรงพยาบาลจิตเวชของญี่ปุ่นด้วย

            ศูนย์โรคหัวใจที่ได้ไปดูเป็นศูนย์ที่ใหญ่มากมีชื่อว่า Himeji Cardiovascular Center อยู่ที่ Saiso,Himeji city,Hyogo มี Dr. Shida ศัลแพทย์โรคหัวใจเป็นผู้อำนวยการอายุราว 50 กว่าๆ เป็นคนน่ารักมาก ท่าทางใจดี ยิ้มสดชื่น แจ่มใส มารับพวกเราที่โรงแรมแล้วเป็นไกด์พาดูงานในศูนย์ในทุกแผนกทั้งผู้ป่วยนอก หอผู้ป่วย ห้องพักฟื้น ห้องICU ทั้งอายุรกรรมและศัลยกรรม ได้ดูอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ที่ใช้กับผู้ป่วยโรคหัวใจ และได้ดูการรักษาผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดโดยการรักษาในห้องผ่าตัดโดยวิธีการทำบัลลูน การก่อสร้างอาคารโรงพยาบาลของญี่ปุ่นจะเน้นความปลอดภัยและความสะดวกของผู้ป่วยมาก นอกจาหหมอชิดะแล้วยังมีอีกคนหนึ่งที่ตามเป็นไกด์ให้เราตลอดทั้งวันคือDr. Kazuo Mizutani อายุคงไม่เกิน 40 ปี เป็นคนท้วมขาว คุยสนุก ร่าเริง สร้างรอบยิ้มและเสียงหัวเราะได้ตลอดเวลา เป็นอายรแพทย์โรคหัวใจ พวกเราเรียกว่าคุณหมอซูโม่ หลังจากดูงานครึ่งวัน คุณหมอชิดะได้พาเราไปรับประทานอาหารกลางวันที่ปราสาทฮิเมจิ ใต้ต้นซากูระที่ออกดอกเต็มต้น สวยงามมาก มีคุณหมออีก 2 คนไปร่วมด้วยคือคุณหมอKumagai เป็นอายุรแพทย์โรคหัวใจ และคุณหมอAnri เป็นอายุรแพทย์ทางเดินอาหาร ทั้งสองคนเป็นสามีภรรยากัน น่ารักเหมาะสมกันทั้งคู่ และคุณหมอแองรีมีคุณพ่อเป็นเจ้าของโรงพยาบาลเอกชนขนาด 60 เตียง และทำให้เรามีโอกาสได้ไปดูโรงพยาบาลเอกชนที่อยู่นอกโปรแกรมแต่ก็เป็นประโยชน์มาก พอรับประทานอาหารกลางวันเสร็จก็ได้เดินเที่ยวที่ปราสาทฮิเมจิที่มีความสวยงาม สง่าและมีอยู่ 7 ชั้น พอเดินขึ้นถึงชั้นที่ 7 ก็เย็นพอดี คุณหมอชิดะและคุณหมอซูโม่ก็พาเราไปร่วมงานเลี้ยงรับรองจากทีมแพทย์ของเมืองฮิเมจิ เป็นงานเลี้ยงแบบเป็นทางการหน่อยแต่ก็สนุกสนานเป็นกันเอง มีการแนะนำทีมงานและแนะนำตัวของทีมงานจากเมืองไทย พร้อมทั้งมีการแสดงโดยคุณหมอชนเป่าขลุ่ยเพลงซุบารุ คุณหมอปรางเป็นคนร้อง ปรากฎว่าถูกใจคุณหมออิซูมิมาก ต่อจากนั้นก็มีการร้องเพลงรำวงและรำวงกันทั้งกลุ่มด้วยเพลงลอยกระทงโดยมีพี่ตาลเล่นกีตาร์ และในงานนี้มีคุณหมอโยชิซาว่าเพื่อนสนิทของคุณหมอนิชิกาว่าได้มาร้องเพลงและเล่นกีตาร์เพลงที่เขาแต่งระลึกถึงคุณหมอนิชิกาว่า แม้จะฟังไม่ออกแต่ก็ไพเราะมาก  เสร็จจากงานเลี้ยง  พวกเราก็ยังไม่รู้สึกง่วงคุณหมออิซูมิและทีมงานจึงพาเราไปเที่ยวคาราโอเกะกันต่อ พอไปถึงก็พบว่าคาราโอเกะของญี่ปุ่นจะเป็นบรรยากาศสบายๆ เพลงเบาๆและมีแต่ผู้ใหญ่วัยทำงานแล้วมาเที่ยวกัน ไม่มีวัยรุ่นมาเที่ยวเหมือนบ้านเราเลย  ไม่มีการแต่งกายวับๆแวมๆ ไม่มีสาวชวนดริ้งค์ที่พร้อมจะไปต่อที่ไหนก็ได้แบบเมืองไทย ไม่มีวัยรุ่นมานั่งคอยรับแขก ไม่มีสิงห์มอเตอร์ไซด์มาวุ่นวาย

                ตอนไปดูคลินิกเอกชนนั้นเราแยกกันไป โดยผมไปที่Nakamuragekaichuka Clinic อีก 2 คนไปที่คลินิกของหมอUsida, Hamashima เราทั้งสามคนประทับใจกับคลินิกและการปฏิบัติตัวของแพทย์ทั้งสามท่านมาก แม้จะเป็นแพทย์เฉพาะทางทั้งสามท่านแต่ก็มีความเป็นแพทย์เวชปฏิบัติครอบครัวสูงมาก

                สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับคุณหมอโยชิกิ นิชิกาว่า นั้น สามารถดูได้จากเว็บไซต์ของโรงเรียนทรัพย์ม่วงวิทยาที่คุณหมอได้มาช่วยเหลือโรงเรียนและนำนักเรียนไปแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมที่ญี่ปุ่นหลายรุ่น ตอนผมไปที่บ้านของคุณหมอนิชิกาว่า ท่านเสียชีวิตแล้ว ได้ดูรูปเก่าๆสมัยที่ท่านมาออกค่ายที่เมืองไทย ได้ดูกิจกรรมีที่ท่านทำก็ประทับใจมาก ตอนผมไปจึงได้เจอกับภรรยาของท่านที่เป็นเภสัชกร ท่าทางใจดีมากๆแต่เนื่องจากพูดภาษาอังกฤษไม่ได้จึงสื่สารกันได้น้อย และมีลูกสาวอีก 2 คน ลูกชาย 1 คน (ติดเรียนจึงไม่ได้พบกัน) ลูกสาวคนโตเรียนแพทย์ปี 5 ชื้อMana ลูกสาวคนเล็กชื่อMika สามารถพูดคุยกันเป็นภาษาอังกฤษได้จึงสื่อสารกันเป็นส่วนใหญ่และถือเป็นไกด์คนสำคัญในการพาเราเที่ยว คุณมิกะเรียนทางด้านโภชนาการ หากผมสามารถค้นหาประวัติของคุณหมอนิชิกาว่ามาได้จะได้นำเสนอต่อไปครับ

               

หมายเลขบันทึก: 6174เขียนเมื่อ 31 ตุลาคม 2005 22:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:04 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท