​เสร็จแล้วครับ วงจรต้นแบบเครื่องประหยัดไฟพัดลมรุ่น EC-1602 !


.

วันสองวันนี้ กิจกรรมที่ร้านคึกคักพอสมควร ทำให้มีภารกิจจุกจิก ปลีกย่อยแทรกเข้ามาเรื่อยๆ จึงไม่ค่อยมีเวลาโพสต์เรื่องราวที่คิดว่าน่าสนใจ และอีกงานหนึ่งที่ท้าทาย อยากออกแบบและทำต้นแบบให้สำเร็จ ก็คือ เครื่องประหยัดไฟพัดลม รุ่น EC-1602 เพื่อตอบสนองข้อเสนอแนะจากกัลยาณมิตรท่านหนึ่งจากกรุงเทพฯ กล่าวคือท่านต้องการนำไปใช้กับพัดลมบริเวณสนามแบตมินตัน

แค่ฟังโจทย์ก็รู้ทันทีว่ารุ่นเดิมคือ EC-1601 นั้นไม่เหมาะเสียแล้ว กล่าวคือนักกีฬาที่ลงสนามซ้อม หรือแข่งขัน ย่อมต้องการความเย็นจากพัดลมมาก และค่อนข้างต่อเนื่อง จะให้หมุน 20 วินาที พัก 40 วินาทีตาม Spec. ของรุ่นเดิมคงไม่เหมาะ จึงให้คำมั่นไปว่าจะออกแบบทำรุ่นใหม่ให้ลองไปใช้ และกำหนด Spec. คร่าวๆไว้ว่า รุ่นใหม่นี้ จะมีสวิตช์ควบคุม 2 ตัว ตัวแรก เป็นตัวเลือกว่าจะใช้ระบบประหยัดไฟ หรือใช้แบบเดิม คือเมื่อกดสวิตช์ไปทาง Direct จะเป็นการใช้งานธรรมดา ไม่ผ่านเครื่องประหยัดไฟ ถ้ากดไปทาง Auto คือให้ไฟวิ่งผ่านเครื่องประหยัดไฟ ก่อนวิ่งเข้าพัดลม ส่วนสวิตช์ตัวที่สองที่เพิ่มเข้ามานั้น จะให้ทำหน้าที่เลือก Mode ว่าจะใช้ Auto 1 หรือ Auto 2 ซึ่งทั้งสอง Mode จะมีช่วงเวลาการทำงานที่ต่างกัน

จากการทดลองมา 2 วัน ได้ข้อสรุปแล้วว่าควรกำหนดเวลาดังนี้

Auto 1 ... หมุน 10 วินาที หยุด 5 วินาที

Auto 2 ... หมุน 20 วินาที หยุด 10 วินาที

ขณะนี้ วงจรดังกล่าวเสร็จ และทดสอบการทำงานเรียบร้อย ได้ผลตามที่ตั้งใจไว้ทุกประการ เหลือเพียงแต่ การตัดเจาะกล่อง วางอุปกรณ์ต่างๆ และประกอบชิ้นส่วนทั้งหมดลงไป .. พรุ่งนี้น่าจะได้นำมาอวดโฉมก่อนส่งไปให้ท่านที่สั่งทำ นำไปทดลองใช้ครับ

วันนี้ ชมความรุงรังของส่วนประกอบนอกกล่องไปก่อนนะครับ

ในการทำงาน มีเรื่องใคร่แจ้งให้ทุกท่านทราบว่า ผมโชคดี ที่สะสมวัสดุดีๆและหายากไว้มากพอสมควร ตัวอย่างเช่นสวิตช์ตัวดำๆที่เห็นในภาพ เรามีของที่คุณภาพเหนือกว่าที่มีขายอยู่ในตลาดปัจจุบันซึ่งส่วนมากทำในประเทศจีน แต่สวิตช์ที่เห็นในภาพนั้น เป็นของ Matsushita ซึ่งก็คือ National หรือ Panasonic นั่นเอง ที่สำคัญคือ Made in Japan ครับ เคยใช้ทำอะไรมาหลายอย่าง พบว่าทนทานกว่าของทองตลาดทั่วไปมาก .. แค่นั้นยังไม่พอ เพื่อให้ใช้งานได้ทนทาน ยาวนานยิ่งขึ้น เรายังรวมขั้วสวิตช์ 2 ชุดขนานกันเข้าไปด้วย เท่ากับเพิ่มหน้า Contact เป็น 2 ชุด ก็จะยิ่งทำให้สวิตช์ตัวนี้ใช้งานได้แม่นยำ และทนทานยิ่งขึ้นไปอีก

งานช่างนั้น ทำให้เพียงผ่านๆไปก็ได้ แต่คนที่มีวิญญาณช่าง จะทำเช่นนั้นไม่ได้ เขามักจะหาคำตอบเสมอว่า "อย่างไรถึงจะดีที่สุด แน่นอนที่สุด?"

หมายเลขบันทึก: 616251เขียนเมื่อ 29 กันยายน 2016 18:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 กันยายน 2016 19:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สุดยอดจริงๆค่ะ เป็นงานที่อ่านและดูก็รู้ว่าใส่ใจไปเกินร้อย...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท