สรุปบทเรียนการจัดการความรู้ กรมส่งเสริมการเกษตร


ก่อนอื่นต้องอย่าสับสนระหว่างคำว่า “ไร้กระบวนท่า” กับ “ไม่เป็นท่า” หรือ “มวยวัด” เพราะสภาวะ “ไร้กระบวนท่า” จะมาหลังจากที่เราได้ฝึกปรือกระบวนท่าต่างๆ มาอย่างช่ำชองดีแล้วเท่านั้น

หลังจากที่กรมส่งเสริมการเกษตรได้ทดลองใช้การจัดการความรู้ตาม Model ของ สคส. ใน 9 จังหวัดมาตั้งแต่เดือน มีนาคม 2548 แล้วนั้น ในวันที่ 25-26 ตุลาคม 2548 ทางกรมฯ ได้จัดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อ สรุปบทเรียนการจัดการความรู้และวางแนวทางการดำเนินงานต่อไปในอนาคต และได้ทำพิธีมอบใบประกาศเกียรติบัตรแก่จังหวัดนำร่องทั้ง 9 จังหวัด

ในงานนี้กรมฯ ได้เชิญ คุณทรงพล  เจตนาวณิชย์  เป็นวิทยากรกระบวนการเพื่อถอดบทเรียนการจัดการความรู้ของจังหวัดนำร่องทั้ง 9 จังหวัด โดยมีเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบทั้งจากส่วนกลางและจากจังหวัดต่างๆเข้าร่วมกระบวนการจำนวน 75 คน  คุณทรงพลได้ใช้เทคนิค AAR (After Action Review) เพื่อใช้ทบทวนและสรุปบทเรียนการดำเนินงานที่ผ่านมา เพื่อใช้เป็นข้อมูลให้กรมฯ วางแผนดำเนินงานด้าน KM ต่อไป

ผมเองได้มีส่วนเข้าไปให้ข้อเสนอแนะ และตอบข้อข้องใจให้ผู้ปฏิบัติงานบางประการ พอสรุปประเด็นที่เห็นว่าสำคัญต่อการจัดการความรู้ได้ ดังต่อไปนี้:

(1) หลายจังหวัดได้นำเทคนิคการประเมินตนเองไปใช้ และพบว่าเวลาใช้กับเจ้าหน้าที่ได้ผลไม่ค่อยจะดีนัก เจ้าหน้าที่จะเกร็งและกลัวไม่กล้าประเมินตนเองต่ำ แต่พอเอาไปใช้กับชาวบ้านหรือเกษตรกร จะไม่มีปัญหาดังกล่าว ชาวบ้านจะประเมินไปตามความเป็นจริง ในเรื่องนี้ผมได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การประเมินตนเองเพื่อนำข้อมูลมาทำ ธารปัญญา นั้น จริงๆ แล้วควรจะเป็นการประเมินศักยภาพของกลุ่มหรือหน่วยงาน การเอามาใช้ประเมินตัวบุคคลอาจมีปัญหาดังที่ได้กล่าวมา แต่ก็แปลกใจเหมือนกันที่เห็นว่าบางจังหวัดสามารถนำไปใช้ประเมินตัวบุคคลและได้ผลเป็นที่น่าพอใจ

(2) มีผู้ถามว่า ...น่าจะจัดการความรู้ที่อยู่ในตัวเจ้าหน้าที่ของกรมฯ หรือควรไปจัดการความรู้ที่อยู่ในตัวชาวบ้าน (เกษตรกร) ?  ผมได้ให้แง่คิดว่าน่าจะไปจัดการความรู้ในตัวชาวบ้านก่อน โดยที่เกษตรตำบล/ อำเภอ ทำหน้าที่เป็นคุณอำนวย/คุณลิขิต  หลังจากทำตรงนี้แล้ว จังหวัดก็น่าจะจัดการความรู้ในจังหวัด โดยเอาตัวเจ้าหน้าที่/เกษตรตำบล/ เกษตรอำเภอ มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน โดยที่จังหวัดเล่นบทบาทเป็นคุณอำนวย/ คุณลิขิตเมื่อผ่านไประยะหนึ่ง จึงให้ทางกรม (ส่วนกลาง) ทำเช่นเดียวกัน คือเอาจังหวัดนำร่องทั้ง 9 จังหวัด มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน โดยทีม KM ส่วนกลางของกรมทำหน้าที่เป็น คุณอำนวย ถ้าทำได้อย่างนี้ก็จะได้มี KM เกิดขึ้นในหลายระดับ แต่เป็นการเริ่มจาก คุณกิจ ตัวจริงซึ่งก็คือตัวเกษตรกรก่อนเป็นลำดับแรก

(3) หลายจังหวัดมีความเห็นว่า การเดินตาม Model ของ สคส. และการใช้เครื่องมือชุด ธารปัญญา นั้น ทำให้กระบวนการจัดการความรู้ไม่เป็นธรรมชาติ โดยได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ...จริงๆ แล้วในๆหลายที่ก็มีการจัดการความรู้กันอยู่แล้วไม่น่าจะมาเดินตามขั้นตอน หรือใช้เครื่องมือเหล่านี้เลย... ในประเด็นนี้ผมได้อธิบายเพิ่มเติมว่า  Model ของ สคส. หรือ “Model ปลาทู นั้น เป็นเพียงกุศโลบาย ที่ทำให้เกิดการจัดการความรู้อย่างครบวงจร คือ เริ่มต้นด้วย หัวปลา เพื่อให้แน่ใจว่าประเด็นหรือ ตัวเดินเรื่อง ที่ใช้นี้สอดคล้องกับเป้าหมาย วิสัยทัศน์ของกรมฯ   ส่วน ตัวปลา ก็เป็นการเน้นให้เห็นความสำคัญของการ Share Tacit knowledge ที่อยู่ในตัวผู้ปฏิบัติงาน... จะต้องใช้การประเมินตัวเองหรือไม่นั้น... ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ  ประเด็นหลักอยู่ที่ว่า จะต้องจัดกลุ่มที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้เหมาะสม คือต้องมีทั้งผู้ที่ พร้อมให้ และผู้ที่ ใฝ่รู้ อยู่ด้วยกันจึงจะได้ประโยชน์  ส่วน หางปลา นั้นก็เป็นกุศโลบายเพื่อให้มีการสรุป หรือถอดความรู้ ที่ได้จากการ Share เก็บไว้ให้คนอื่นได้ใช้ต่อไปในวงกว้างนั่นเอง

(4) มีคำถามต่อไปว่า... ขุมความรู้ (Knowledge Asset) ที่ได้ เอาไปทำอะไร หรือว่าเก็บไว้เฉยๆ  เอาลง Web ไว้เท่านั้นหรือ? ผมได้อธิบายว่า ขุมความรู้ เป็นเพียงผลพลอยได้ (By Product) ของกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ไม่ใช่เป้าหมายที่แท้จริง เพราะเป้าหมายที่แท้จริงของการทำ Knowledge Sharing คือการที่ผู้ที่เข้ากระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สามารถ ปิ๊ง อะไรบางสิ่งได้ และสามารถนำไปสู่การปฏิบัติต่อไป  พูดง่ายๆ ก็คือเกิด Action เกิดการพัฒนา รู้ว่าจะต้องกลับไปทำอะไร เพื่อทำให้งานดีขึ้น ตรงนี้คือเป้าหมายที่แท้จริงของการ Share ความรู้ เล่าสู่กันฟัง และนี่คือ ตัวชี้วัดที่แท้จริง

(5) หลายจังหวัดได้พูดถึงข้อดีของกระบวนการ Sharing ว่าทำให้ได้เห็นศักยภาพของเจ้าหน้าที่ ซึ่งวิธีการ Sharing Knowledge นี้ ดีว่าวิธีการแบบดั้งเดิม ที่มักจะให้นักวิชาการเป็นผู้นำเสนอความรู้แต่เพียงฝ่ายเดียว นอกจากนั้นยังได้เห็นพลังของการที่ KM ใช้ ความสำเร็จ เป็นตัวตั้ง ซึ่งต่างจากรูปแบบทั่วๆไปที่เรามักจะใช้แต่ ปัญหา เป็นตัวตั้ง อีกทั้งได้ตั้งข้อสังเกตว่า สิ่งที่เห็นว่ายังยากอยู่ก็คือ การบันทึกเรื่องเล่าและการถอดองค์ความรู้ เพื่อสร้างเป็น คลังความรู้

(6) บางจังหวัดได้กล่าวว่า การสร้างเกณฑ์ใน ตารางอิสรภาพ ทำให้ตนรู้สึกไม่ Happy เท่าใดนัก รู้สึกว่าติดรูปแบบมากเกินไป ในเรื่องนี้ผมได้ให้ข้อคิดเพิ่มเติมว่า เครื่องมือที่ชื่อว่า ตารางแห่งอิสรภาพ นี้ ก็เป็นกุศโลบายเช่นกัน  ทำให้เกิดกระบวนการคิดเชิงระบบ (Systems Thinking) จะเห็นได้ว่าการสร้างตารางแห่งอิสรภาพนั้น จริงๆ แล้วก็เป็นการเริ่มจัดการความรู้ไปล้วโดยไม่รู้ตัว... ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าจังหวัดนำร่องพยายามเดินตามขั้นตอนอย่างเคร่งครัด (เกินไป) และพยายามใช้เครื่องมือที่ สคส. นำเสนอทุกตัว เรียกได้ว่า เป็นการเดินตามกระบวนการ เป็นการฝึกวิทยายุทธ์ตาม กระบวนท่า จะเห็นได้ว่า วิธีการนี้ เหมาะสำหรับผู้ที่เริ่มต้นที่เป็น มือใหม่หัดขับ เท่านั้น ผู้ที่ชำนาญหรือมีประสบการณ์มาบ้างแล้ว ไม่จำเป็นต้องทำตามสนั้น ไม่จำเป็นต้อง ติดกระบวนท่า เหล่านี้ หากข้าใจ แก่น ก็สามารถ ประยุกต์ใช้ หรือก้าวไปสู่สภาวะ ไร้กระบวนท่า ได้ พูดง่ายๆก็คือเป็นการเข้าสู่สภาวะที่เรียกว่า กระบี่อยู่ที่ใจ  ต้องไม่ติดกับตัวเครื่องมือ หรือขั้นตอนใดๆอีกต่อไป

(7) มีคำถามตามมาว่า ....แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าขณะนี้ เราอยู่ในสภาวะ ไร้กระบวนท่า แล้วหรือยัง? ... ซึ่งในเรื่องนี้ผมได้อธิบายเพิ่มเติมว่า.... ก่อนอื่นต้องอย่าสับสนระหว่างคำว่า ไร้กระบวนท่า กับ ไม่เป็นท่า หรือ มวยวัด เพราะสภาวะ ไร้กระบวนท่า จะมาหลังจากที่เราได้ฝึกปรือกระบวนท่าต่างๆ มาอย่างช่ำชองดีแล้วเท่านั้น หากยังไม่แตกฉานในกระบวนท่า สิ่งที่ออกมาก็คือ มวยวัด ส่วนที่ถามว่าจะรู้ได้อย่างไรว่าได้เข้าสู่สภาวะนั้นแล้ว ...ผมได้ตอบไปว่า ให้สังเกตช่วงที่วิกฤต ช่วงที่มีปัญหา ถ้าสามารถผ่านวิกฤต/ ปัญหาไปได้อย่างที่ไม่คาดคิดมาก่อน นั่นแหละตัวชี้วัดว่าท่านเข้าสู่สภาวะ ไร้กระบวนท่า แล้ว

(8) มีคำตอบต่อไปว่า จะทำอย่างไรดีกับผู้บริหาร (CKO) ที่ไม่ยอมขยับ ผู้ถามเปิดช่องให้ผมด้วยว่าถ้าตอบไม่ได้หรือไม่ต้องการตอบก็ไม่เป็นไร... แต่ผมก็ตอบไปว่า ถ้าไม่ขยับ หมายถึงอยู่เฉยๆ ผมคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร ที่น่ากลัว คือพวกที่ ขยับเข้ามาขวาง คือ ไม่เห็นด้วย และไม่ยอมให้ทำ ต่างหาก
               

(9) หลายจังหวัดบอกว่าไม่แน่ใจ ไม่รู้ว่าเจ็ดเดือนที่ผ่านมานี้ พวกเขาเดินหลงทางกันหรือเปล่า... ผมตอบไปเป็นประโยคสุดท้ายว่า เดินหลงทาง ยังดีกว่า พวกที่ไม่ออกเดิน  ครับ !!

คำสำคัญ (Tags): #knowledge#management
หมายเลขบันทึก: 6152เขียนเมื่อ 31 ตุลาคม 2005 15:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 10:46 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

อาจารย์คะ  หลังการสัมมนามีผู้เข้าสัมมนาหลายท่านได้เขียนข้อความแสดงความรู้สึกในการเข้าร่วมการสัมมนาครั้งนี้มีรายหนึ่งเขียนว่า   

 "ดีใจที่ได้มาร่วมสัมมนาครั้งนี้ เพราะได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่อง KM ได้เรียนรู้จากอาจารย์และประสบการณ์ของเพื่อน ๆ จังหวัดต่าง ๆ ที่ทำ KM ทำให้มีความเข้าใจการจัดกระบวนการเรียนรู้ KM ชัดเจนขึ้นและขอให้กรมฯมีการจัดเวทีสรุปบทเรียนอย่างนี้ 6 เดือนครั้ง เพื่อสร้างสรรค์ความรู้ใหม่ ๆ และนำ KM ไปใช้ประโยชน์ได้มากยิ่งขึ้น สำหรับวันนี้ วิทยากรดีมาก มีประสบการณ์ความรู้ดีมาก บรรยากาศการสัมมนาเป็นกันเองดี การบริหารของคณะผู้จัดการสัมมนาจัดได้ดีมาก" 

 นี่เป็นตัวแทนของผู้เข้าสัมมนาที่บอกความรู้สึกของตนเอง จะได้นำ AAR เสนออาจารย์ต่อไป ขอขอบพระคุณอาจารย์และทีมงานมากนะคะที่ได้กรุณาให้คำปรึกษาและแนะนำแก่ทีมงานKMของกรมฯ ตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาและคงจะตลอดไป

 

ในการจัดการเรียนรู้และการประเมินศักยภาพนั้น  หากไม่ได้เข้าถึงผู้เรียนรู้และการเรียนรู้ไม่ได้มาจากประสบการณ์ตรง..ผลที่ได้รับกลับมามักจะบิดเบือนข้อเท็จจริงอยู่เสมอ
  • เข้ามาอ่านช้าดีกว่าไม่ได้อ่าน
  • ขอบคุณครับ อาจายร์

อาจารย์ค่ะ ขออนุญาตนำข้อความบางส่วนในนี้ ไปทำรายงานประกอบการนำเสนอ

ในรายวิชา "การจัดการสารสนเทศและความรู้" ค่ะ

ขอบคุณมากค่ะ

ชโรชีนีย์

ผมยังไม่เข้าใจการบันทึก เนื่องจากผมไม่ได้เข้าระบบนานแล้ว ก่อนนั้นจะบันทึกเข้าที่เมนูแล้วเข้าที่ ศูนย์ข้อมูล แล้วเข้าที่เพิ่มบันทึก ปัจจุบันนี้ไม่มีคำว่าเพิ่มบันทึกจึงเข้าไปบันทึกไม่ได้ เรียนมาน้อย ขอคำแนะนำจากเพื่อน ๆ ด้วยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท