(๙.) "การจดทะเบียนเกิดนั้นสำคัญไฉน" ตอนที่ ๒


ปัญหาในเรื่องการจดทะเบียนการเกิดของเด็กจะไม่ได้รับการแก้ไขเยียวยาหากปราศจากความร่วมมือร่วมใจจากทุกภาคส่วนของสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้มีอำนาจหน้าที่ในภาครัฐที่จะต้องเล็งเห็นถึงปัญหาและความสำคัญของการรับแจ้งการเกิด และการดำเนินการจดทะเบียนการเกิดให้กับเด็กทุกคนที่เกิดในประเทศไทย โดยปราศจากข้อยกเว้น

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เด็กเหล่านั้นไม่ได้รับการจดทะเบียนการเกิด? 

         ในประเทศไทยยังมีเด็กอีกจำนวนหนึ่งซึ่งยังไม่ได้รับการจดทะเบียนการเกิด ซึ่งทำให้เด็กเหล่านั้นกลายเป็นบุคคลที่ไม่มีตัวตนในทางกฎหมาย และประเทศไทยเองก็ไม่อาจทราบถึงจำนวนที่แท้จริงของเด็กกลุ่มนี้ที่อยู่ในประเทศไทยได้ โดยเราสามารถจำแนกปัญหาที่ทำให้เด็กเหล่านี้ไม่ได้รับการจดทะเบียนการเกิดออกได้เป็น 2 ปัญหาใหญ่ๆ คือ

          ประการแรกเป็นปัญหาซึ่งเกิดขึ้นในทางปฏิบัติเนื่องจากพ่อแม่เด็กไม่ได้แจ้งเกิดต่อเจ้าหน้าที่ หรือเจ้าหน้าที่ไม่เข้าใจถึงกฎหมายทำให้ไม่รับการแจ้งเกิดทั้งที่จริงแล้วตัวเด็กเองก็มีสิทธิโดยชอบที่จะได้รับการจดทะเบียนการเกิด

            ส่วนปัญหาประการที่สองก็คือปัญหาการถูกจำกัดสิทธิในการที่จะได้รับการจดทะเบียนการเกิดของเด็กที่เกิดจากบิดามารดาซึ่งเป็นผู้หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย อันส่งผลให้เด็กไม่มีสิทธิได้รับการจดทะเบียนการเกิด โดยผลของหนังสือสั่งการของกรมการปกครอง  

            เราจะเห็นได้ว่าปัญหาประการแรกนั้นเป็นปัญหาในทางปฏิบัติ ซึ่งมีแนวทางและกลไกในการแก้ไขปัญหาอยู่แล้ว ในขณะที่ปัญหาประการหลังนั้นเป็นปัญหาที่ต้องอาศัยกลไกระดับนโยบายในการแก้ไขปัญหา ซึ่งจะต้องพิจารณาควบคู่ไปกับสาเหตุของปัญหาเป็นลำดับต่อไป 

ปัจจัยนั้นมีสาเหตุมาจากอะไร ? 

             แม้ว่าประเทศไทยจะมีพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 ซึ่งมีบทบัญญัติที่กำหนดให้หน้าที่ในการแจ้งเกิดของเด็กที่เกิดในประเทศไทย เป็นหน้าที่ของพ่อแม่ หรือเจ้าบ้าน แต่ในกรณีของเด็กที่เกิดจากพ่อแม่ที่หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย เจ้าหน้าที่จะไม่รับจดทะเบียนการเกิดให้แม้ว่าเด็กคนนั้นจะเกิดในประเทศไทยก็ตาม ทั้งนี้เป็นไปโดยผลของหนังสือสั่งการซึ่งออกโดยสำนักบริหารการทะเบียน ส่วนการทะเบียนราษฎร กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย  

เราจะแก้ไขเยียวยาอย่างไร ? 

         แม้ว่ามีหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องได้ตระหนักถึงความสำคัญของการจดทะเบียนการเกิด โดยได้พยายามดำเนินการแก้ไขเยียวยาด้วยวิธีการออกหนังสือถึงปลัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อประสานงานให้สถานพยาบาลของรัฐให้ความร่วมมือในการออกหนังสือรับรองการเกิดให้กับเด็กที่คลอดที่สถานพยาบาลในทุกกรณี ทั้งนี้ให้รวมถึงกรณีที่พ่อแม่เป็นผู้หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายด้วย  

       นอกจากนี้ทางสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทยยังได้ออกหนังสือ ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ตาก กาญจนบุรี และราชบุรี และประธานคณะกรรมการประสานงานองค์การช่วยเหลือผู้ลี้ภัยในประเทศไทย เป็นต้น  เพื่อกำหนดให้องค์กรที่ทำงานด้านสุขภาพในศูนย์ที่พักพิงผู้หลบหนีภัยการสู้รบจากประเทศพม่า มีหน้าที่ในการออกหนังสือรับรองการเกิดให้แก่เด็กที่เกิดในศูนย์ฯ ดังกล่าวด้วย 

        และแม้ว่าทางราชการจะได้มีความพยายามมากมายเพียงใดที่จะแก้ไขปัญหาข้างต้น แต่ก็ยังมีเด็กอีกจำนวนไม่น้อยที่เกิดนอกสถานพยาบาลของรัฐ และนอกศูนย์ที่พักพิงชั่วคราวฯ ซึ่งยังไม่ได้รับเอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคลใดๆเลย

          ทั้งนี้ทั้งนั้น  การออกหนังสือรับรองการเกิดโดยทางราชการไม่ถือเป็นการจดทะเบียนการเกิดซึ่งเป็นการรับรองสถานะ และความมีตัวตนในทางกฎหมายของบุคคลโดยการบันทึกข้อมูลการเกิดของบุคคลดังกล่าวไว้ในระบบทะเบียนราษฎร์ของรัฐด้วย และไม่ถือเป็นการให้สัญชาติไทยแต่อย่างใด

บทส่งท้าย

     สุดท้ายนี้ปัญหาในเรื่องการจดทะเบียนการเกิดของเด็กจะไม่ได้รับการแก้ไขเยียวยาหากปราศจากความร่วมมือร่วมใจจากทุกภาคส่วนของสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้มีอำนาจหน้าที่ในภาครัฐที่จะต้องเล็งเห็นถึงปัญหาและความสำคัญของการรับแจ้งการเกิด และการดำเนินการจดทะเบียนการเกิดให้กับเด็กทุกคนที่เกิดในประเทศไทย โดยปราศจากข้อยกเว้น ควบคู่ไปกับการจัดทำระบบการจัดเก็บข้อมูลทะเบียนราษฎรที่ทันสมัยและอัพเดทตลอดเวลาเพื่อให้สามารถจัดเก็บข้อมูลเด็กที่เกิดในประเทศไทยจากพ่อแม่ที่หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย อันจะนำไปสู่การดำเนินการให้ความช่วยเหลือในการส่งกลับไปยังประเทศต้นทางในกรณีที่เด็กถูกลักพาตัวโดยขบวนการค้ามนุษย์  หรือเพื่อประสานกับประเทศที่สามในกรณีส่งเด็กพร้อมครอบครัวอพยพต่อไปยังประเทศที่สาม และที่สำคัญที่สุดก็เพื่อเป็นหลักฐานพิสูจน์ทราบตัวบุคคลเพื่อใช้ในการดำเนินการให้เด็กได้สัญชาติตามพ่อแม่ของตนต่อไปในอนาคต 

&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&

บรรณานุกรม

 1.         รายงานการสัมนาคุ้มครองสิทธิเด็กเรื่องปัญหาการจดทะเบียนการเกิด,วันที่12 กันยายน 2545 ณ โรงแรมโซลทวิน ทาวเวอร์ กรุงเทพมหานคร,2547, 143 หน้า.

2.          พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร , สถานภาพความเป็นบุคคลตามกฎหมาย สู่สิทธิการมีสัญชาติของเด็กที่มีปัญหาการพิสูจน์ตน ,วารสารวิชาการสิทธิมนุษยชน ,ปีที่ 1 ฉบับที่ 2 (เมษายนมิถุนายน ),2546,หน้า 11-36.

3.          มาลี พฤกษ์พงศาวลี. สถานการณ์โดยทั่วไปทางสิทธิมนุษยชนของเยาวชนในประเทศไทย .กรุงเทพฯ, สถาบันไทยคดีศึกษา คณะนิติศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษย.83 หน้า.

4.         อัจฉรา ฉายากุล. หลักการคุ้มครองเยาวชนที่ถูกลิดรอนเสรีภาพ .กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, 2547. 48 หน้า. 

จบบริบูรณ์
 



ความเห็น (2)

ไหมเคยอ่านงานชิ้นนี้ของ อ.ไหมคะ ซึ่งอาจเพิ่มวิธีคิดที่แตกต่างออกไปในเรื่องนี้ค่ะ อยากเห็นการพัฒนาต่อไป หากไหมสนใจที่จะจับเรื่องการจัดการประชากรค่ะ

สิทธิในทะเบียนการเกิดของมนุษย์ในประเทศไทย : ความสัมพันธ์ระหว่างกฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายภายใน, โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร, บทความเพื่องานเสวนาทางวิชาการซึ่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดขึ้นเนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี ใน พ.ศ.๒๕๔๙, วันอังคารที่ ๑๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๙

http://www.archanwell.org/autopage/show_page.php?t=1&s_id=339&d_id=338

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท