อาจารย์ใหญ่ของผม กับบทเรียนจากฉือจี้


" อาจารย์ใหญ่ของนักศึกษาแพทย์ แต่ละคน จะมี 2 คน คือ คนหนึ่งเป็นศพที่ตายไปแล้ว แต่อีกคนหนึ่งจะอยู่ ในหัวใจของนักศึกษาแพทย์ตลอดไป "

เมื่อเดือนก่อนผมได้มีโอกาสพบกับรุ่นพี่ที่สนิทกันมาก  คือคุณหมอวัชรา ทรัพย์สุวรรณ  ได้คุยกันหลายเรื่อง  ช่วงหนึ่งท่านบอกว่าได้ไปไต้หวันมา เพื่อไปดูงานของ  มูลนิธิพุทธฉือจี้   ผมไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อนเลย   พี่วัชราบอกว่าเป็นมูลนิธิการกุศลที่ใหญ่มาก  ก่อตั้งโดย ท่านธรรมาจารย์ เจิ้งเหยียน  มีภารกิจในการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้านต่าง ๆ   

 

ที่โรงพยาบาลของ ฉือจี้ เป็นโรงพยาบาลที่สร้างจิตวิญาณการแพทย์ที่มีหัวใจของความเป็นมนุษย์   " The mission to be a human doctor "  เวลาเข้าไปในโรงพยาบาล สามารถสัมผัสถึงความเมตตา  และ ความสงบ  การช่วยเหลือ อย่างแท้จริง   ไม่เหมือนโรงพยาบาล ในบ้านเรา   ผมมีความยินดีที่ได้ยินได้ฟังเรื่องราว  ว่ายังมี การดูแลความทุกข์ จากความเจ็บป่วย  มีโรงพยาบาล   ที่เราอยากเห็นอยู่จริง     

และด้วยความบังเอิญ 2 วันต่อมาผมเข้าห้องสมุด  ได้เห็นหน้าปก วารสาร โรงพยาบาลชุมชน   ฉบับ  พค- มิย. 2549   เป็นเรื่องราวของ ฉือจี้   ได้อ่านบทความของ คุณหมอ อำพล  จินดาวัฒนะ  ได้ทราบเรื่องราวเต็มอิ่มจริง ๆ        เรื่องที่ประทับใจอยากเล่าในวันนี้ มีตอนหนึ่ง ว่า  อาจารย์ใหญ่ ( ผู้ที่บริจาคร่างกาย ด้วยความศรัทธา  ให้นักศึกษาแพทย์ได้ผ่าศพ ด้วยหวังว่าจะได้แพทย์ที่ดีในวันข้างหน้า )    ท่านหนึ่งฝาก คำพูดก่อนเสียชีวิต  เป็น VCD ให้นักศึกษาแพทย์ ได้ดูก่อนศึกษาวิชากายวิภาค  ว่า  "  นักศึกษาแพทย์จะกรีด ผ่าศพ ของเราผิดพลาดสักกี่ร้อย ครั้งก็ไม่เป็นไร  เราอนุญาตให้ทำได้เต็มที่  แต่เมื่อจบไปเป็นแพทย์แล้ว  ห้ามกรีดผ่าตัดใครผิดแม้แต่ครั้งเดียว "  ท่านคณบดีคณะแพทยศาสตร์แห่งนี้  บอกว่า    "  อาจารย์ใหญ่ของนักศึกษาแพทย์ แต่ละคน จะมี 2 คน คือ คนหนึ่งเป็นศพที่ตายไปแล้ว  แต่อีกคนหนึ่งจะอยู่ ในหัวใจของนักศึกษาแพทย์ตลอดไป  "    

ตอนผมอยู่ปี 2  เรียนกายวิภาค  ที่ศิริราช    วันหนึ่งแม่ผม ถามว่า  อาจารย์ใหญ่ของผมชื่ออะไร   ผมตอบว่า หลวงพ่อบัญชา อปมโห  แม่บอกว่าให้  จำชื่อไว้ให้ดี  เวลาทำบุญให้กรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้ท่านด้วย   แม่ผมก็บริจาคร่างกายไว้ที่ศิริราช  ท่านคงเข้าใจดีว่าผู้ที่บริจาคร่างกาย  มีความรู้สึกอย่างไร  อยากให้ร่างกายเป็นประโยชน์ในภายหน้าอย่างไร   เราเองก็ควรซาบซึ้งในบุญคุณ  ของท่านอาจารย์ใหญ่      สมกับศรัทธาที่ตั้งใจ  มาถึงวันนี้  ผมยังจำได้ว่าอาจารย์ใหญ่ของผม  ชื่อหลวงพ่อบัญชา อปมโห   แม้เวลาจะผ่านมา 16 ปีแล้วก็ตาม

หมายเหตุ   : เมื่อวันก่อนผมมีโอกาสทำแผนยุทธศาสตร์ ของทีมพัฒนา pcu  ของ CUP  รพ.วารินชำราบ  ที่ผมเป็นประธาน        พันธกิจข้อแรกของเราก็คือ The mission to be a human doctor  

ซึ่ง  doctor  ก็คือเจ้าหน้าที่ PCU ทุกคน  ผมสังเกตุว่า  ผู้เข้าประชุมทุกคนมีความสุข เวลาพูดถึง การบริการด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์    pcu  วันนี้ ต่างกับ สอ. สมัยก่อนอย่างมาก  มีศักยภาพ มากทีเดียว  ผมยังมองว่า pcu หลายแห่งยังขาดโอกาส ทั้งที่มีความสามารถ   เราต้องให้โอกาส  และสร้างโอกาส  ให้ pcu มาก ๆ 

เพราะ      Ability without opportunity mean nothing.  ความสามารถ ที่ปราศจากโอกาส ย่อมไร้ความหมาย  

วันหลังผมจะเล่าว่า ผมมาเป็นแพทย์ใน PCU ได้อย่างไร

หมายเลขบันทึก: 61447เขียนเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2006 00:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 เมษายน 2012 21:17 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท