แลกเปลี่ยนเรื่อง “คุณธรรมนำความรู้” (ตอนที่ 2)


การให้ความสำคัญเรื่อง “คุณธรรมนำความรู้” เป็นเรื่องที่ดีมาก แต่คงจะเหนื่อยกันอีกนานทีเดียว

          ผมชอบวาดรูปภูเขาน้ำแข็งในมหาสมุทรที่ขั้วโลกเหนือเพื่ออธิบายเรื่อง competency(สมรรถนะ)ของคนใน 2 มิติ  ตามแนวคิดของแมคคลีลแลนด์ คือ
         1. ส่วนบนที่เป็นยอดของภูเขาน้ำแข็งที่โผล่พ้นน้ำออกมาประมาณ 10-20 %ของภูเขาน้ำแข็งทั้งหมด  ซึ่งเปรียบได้กับบุคลิกภายนอกของคน อันเป็นภาพลักษณ์ด้านกายภาพที่มองเห็นได้อย่างชัดเจน เช่น รูปร่างหน้าตา  การแต่งกาย  การพูดจา  แสดงออกทางพฤติกรรมต่างๆ  รวมทั้งด้านความรู้  ความสามารถ  ทักษะ  ความเก่งทั้งหมดก็อยู่ในส่วนนี้  ซึ่งในสังคมทั่วไป(โดยเฉพาะระบบราชการไทย) จะประเมินคนในส่วนนี้ในการรับคนเข้าทำงาน  การให้ผลตอบแทน  ให้รางวัลต่างๆ กันเป็นส่วนใหญ่  ซึ่งประเมินไม่ยากนัก  และเห็นได้เด่นชัด
        2.ส่วนล่างของภูเขาน้ำแข็งที่จมอยู่ใต้พื้นน้ำลงไปซึ่งมีประมาณ  80-90 % ของภูเขาน้ำแข็งทั้งหมด  ซึ่งเป็นส่วนอำพราง  มองไม่เห็นเด่นชัด (ที่เรือไททานิกชนแล้วอับปางลง) เปรียบได้กับคุณลักษณะ หรือคุณธรรมจริยธรรมของคน  ซึ่งประเมินได้ยาก เป็นเรื่องที่สั่งสมกันมา  ต้องอาศัยเครื่องมือและวิธีการพิเศษ และดูกันนานๆด้วยใจที่เป็นกลางจึงจะวัดได้   แต่ส่วนนี้เป็นส่วนสำคัญที่สุดที่มีผลต่อการพัฒนาชาติบ้านเมืองและการอยู่ร่วมกันของคนในสังคมระยะยาว 
           แนวคิดที่ได้จากแผนภาพภูเขาน้ำแข็งสามารถเชื่อมโยงเพื่ออธิบายได้อีกหลายเรื่องราว  เช่น ปัญหาในเชิงบริหาร ส่วนที่โผล่พ้นน้ำคือ ปัญหาเด่นชัด  ส่วนที่อยู่ใต้น้ำคือปัญหาซ่อนเร้นหรือปัญหาอำพรางที่นักบริหารต้องตระหนัก  นอกจากนี้ยังอธิบายเรื่องประเภทความรู้ในกระบวนการ KMได้อีกว่า  ส่วนยอดคือ ความรู้เด่นชัด (explicit knowledge)  ส่วนใต้พื้นน้ำคือ ความรู้ฝังลึก (tacit knowledge) เป็นต้น               
        ในสังคมไทยที่ค่อนข้างมองอะไรแบบฉาบฉวย จึงเปิดโอกาสให้คนที่ ฉลาด(เก่ง)แต่ขาดด้านคุณธรรม  สามารถสร้างภาพ แอบแฝง อำพราง เพื่อความอยู่รอดของตนเองและพวกพ้อง ให้เจริญก้าวหน้า  และสามารถแสดงภาพลักษณ์ภายนอกได้อย่างสง่างาม สืบทอดกันมายาวนาน  จนกลายเป็นค่านิยมให้ใครๆอยากจะเป็นบ้าง  
             คนในราชการก็มีนโยบายกันมาทุกยุคทุกสมัยเพื่อพัฒนาบุคลากรในหน่วยงานด้านคุณลักษณะส่วน 80-90 %ด้วยหลักสูตรที่สวยหรูต่างๆ และจ้างวิทยากรจากสถาบันระดับมืออาชีพมาบรรยาย
ให้ความรู้ ความตระหนักกัน  เช่น การพัฒนาจิตสำนึก.........  การพัฒนาภาวะผู้นำ........ ธรรมาภิบาลสำหรับ......  คุณธรรมจริยธรรมสำหรับ........ฯลฯ  แถมท้ายก็ไปดูงานต่างประเทศ(เป็นธรรมเนียม)   ตอนอบรมก็มีคนเข้าๆออกๆห้องประชุม พอกลับไปหน่วยงานก็เป็นเหมือนเดิม  และการประเมินก็ไม่มีใครไปลงลึกให้เกิดศัตรู  พอมีงบประมาณมาครั้งใดก็จะคิดหลักสูตรอบรมทำนองเดียวกัน  ซ้ำแล้วซ้ำอีก  โดยคิดว่าเป็นการให้รางวัลมากกว่าการไปพัฒนาบุคลากร   และผู้ที่ได้รับอานิสงส์นี้   ก็มักจะเป็นกลุ่มผู้บริหารมากกว่ากลุ่มผู้ปฏิบัติงาน
              ผมคิดว่าการให้ความสำคัญเรื่อง
คุณธรรมนำความรู้ เป็นเรื่องที่ดีมาก  แต่คงจะเหนื่อยกันอีกนานทีเดียวที่จะหากลวิธีกล่อมเกลาให้คนในสังคมที่ยังบกพร่องส่วนของภูเขาใต้น้ำ 80-90%  ให้สามารถพัฒนาไปพร้อมกับส่วนยอด 10-20% ได้ (แต่ก็จำเป็นต้องทำ)
                  ท่านมีเคล็ดลับอะไรดีดี ที่จะแก้ปัญหาเรื่องนี้  เล่าให้ฟังบ้าง?
        

หมายเลขบันทึก: 61338เขียนเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2006 16:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:25 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

พยายามฝึกหัด กล่อมเกลาเด็กๆไปตามวัย พื้นฐานของเด็กแต่ละคนต่างกัน ถึงจะเหนื่อยก็ต้องทำ ทอดทิ้งไม่ได้

    พูดถึงเรื่องนี้นึกถึง อ.สงบ อินทรมณี ผู้ที่ศึกษาคร่ำหวอดและเห็นคุณค่าเรื่องcompetency(สมรรถนะ)พยายามผลักดันให้นำมาใช้ ที่ ก.ค.ศ. แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่สำเร็จ ผู้บริหารยังไม่ให้ความสำคัญจริงจัง   
    วันนี้ได้คุยกับ อ.สงบ ทราบว่า เกาหลี ฟิลิปปินส์เชิญ อ.สงบ ไปนำเสนอเรื่องนี้แล้ว เขากลับเห็นความสำคัญกว่าคนในบ้านเรา

สภาพบ้านเมืองขณะนี้ อาจทำให้จิตใจคนเตลิดเปิดเปิง ฟุ้งซ่านเปิดภาคเรียนคงต้องตะล่อมให้เด็กๆหันหาความสงบ สร้างหลักยึดเหนี่ยวที่ดีแก่เขา

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท