อภิมหาโครงการด้านการอุดมศึกษาและวิจัย (10)


อภิมหาโครงการด้านการอุดมศึกษาและวิจัย (10)

        โปรดอ่านตอนที่ 1 (click) , ตอนที่ 2 (click) , ตอนที่ 3 (click) , ตอนที่ 4 (click) , ตอนที่ 5 (click) , ตอนที่ 6 (click) , ตอนที่ 7 (click) , ตอนที่ 8 (click) , และตอนที่ 9 (click) ก่อนนะครับ

         ในตอนที่ 10 นี้   จะเสนอเรื่อง การบริหารเครือข่ายวิชาการ

         หัวใจของการบริหารเครือข่ายวิชาการข้อที่ 1   ต้องเอาทรัพยากรไปให้แก่นักวิจัย/นักวิชาการชั้นยอดเป็นผู้รับผิดชอบ   สำหรับใช้ผลิตบัณฑิตปริญญาเอก & ผลงานวิจัย   โดยเอื้อให้นักวิจัย/นักวิชาการชั้นยอดมีอำนาจตัดสินใจได้ในระดับหนึ่ง   ภายใต้การตรวจสอบผลงานและการใช้เงินอย่างเข้มงวดและโปร่งใส   ผมขอย้ำประเด็นสำคัญดังนี้
- อำนาจใช้เงินอยู่ที่นักวิชาการ/วิจัยระดับยอด   ไม่ใช่ผู้บริหารมหาวิทยาลัย   ถือหลักว่าให้อำนาจใช้เงินไปอยู่ใกล้กับจุดผลิตผลงานมากที่สุด ไม่ให้ไปผ่าน red type
- นักวิชาการ/วิจัยใช้เงินตามข้อตกลงหรือกฎเกณฑ์กติกา
- มีการตรวจสอบที่เข้มงวดและโปร่งใส   ไม่ให้มีการใช้เงินไปในทางไม่เหมาะสม

          หัวใจข้อที่ 2   ต้องชักจูง  ส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือข้ามสถาบันอุดมศึกษา   ดึงเอาจุดแข็งมาร่วมมือสร้าง synergy ทางวิชาการ

          หัวใจข้อที่ 3   ส่งเสริมให้มีความร่วมมือกับภายนอกระบบอุดมศึกษา   ได้แก่ ร่วมมือกับชุมชน,  ราชการ,  NGO,  อุตสาหกรรม

          หัวใจข้อที่ 4   ส่งเสริมให้ร่วมมือกับต่างประเทศในลักษณะที่ (1) ฝ่ายไทยเป็นผู้ยึดกุมความคิดริเริ่มสร้างสรรค์  (2) ร่วมมือเพื่อใช้จุดแข็งของเขาซึ่งไม่มีในประเทศไทย  (3) ร่วมมือเพื่อให้นักศึกษาปริญญาเอกได้มีประสบการณ์การทำงานวิจัยคุณภาพสูงในต่างวัฒนธรรม  (4) ไม่ส่งเสริมความร่วมมือเพื่อเป้าหมายแฝงเพียงเพื่อให้ได้ไปต่างประเทศ

          หัวใจข้อที่ 5   ให้รางวัลผลงานคุณภาพสูงในรูปแบบที่หลากหลาย   เพื่อใช้เป็นเครื่องมือส่งสัญญาณแก่วงการวิชาการ   ให้มีการยกย่องผลงานคุณภาพสูง   เกิดความเข้าใจเกณฑ์คุณภาพ   เกิดวัฒนธรรมคุณภาพ

          หัวใจข้อที่ 6   มีการจัดการในลักษณะที่รับประกันความต่อเนื่อง   ให้นักวิจัย/วิชาการที่มีผลงานเด่นเกิดความมั่นใจ   มีความมั่นคงว่าจะได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องตราบใดที่ยังผลิตผลงานวิจัยคุณภาพสูง   จะเป็นแรงจูงใจต่อนักวิจัยคุณภาพสูงให้อยู่ในวงการวิจัยต่อเนื่องยาวนาน  และเกิดระบบนักวิจัยอาชีพ

           หัวใจข้อที่ 7   มีการจัดการในลักษณะที่ส่งเสริมการวิจัยแบบรวมตัวกันเป็นกลุ่ม   ไม่ใช่แบบนักวิจัยเดี่ยว   ยิ่งมีการเชื่อมโยงกลุ่มรวมตัวกันเป็นเครือข่ายยิ่งดี   โดยมีเป้าหมายเพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกัน   หรือเพื่อใช้โอกาสในการสร้างสรรค์ให้แก่สังคมร่วมกัน

           หัวใจข้อที่ 8   มีการจัดการเป็นพิเศษเพื่อเข้าไปหนุนสาขาวิชาการที่ยังไม่เข้มแข็ง   ให้เข้ามามีบทบาทร่วมสร้างนักวิจัยและผลงานวิจัย   โดยเน้นทั้งการจัดการภายในสาขาวิชาและการจัดการข้ามสาขาวิชา   สาขาวิชาที่ควรเอาใจใส่เป็นพิเศษคือ  มนุษยศาสตร์   สังคมศาสตร์   คณิตศาสตร์   และฟิสิกส์   ประเด็นสำคัญของสาขาวิชาเหล่านี้คือเรื่องการตั้งโจทย์วิจัยที่สอดคล้องหรือเป็นที่ต้องการของสังคมไทยในปัจจุบัน และสร้างระบบการจัดการให้สามารถเข้าไปทำวิจัยในโจทย์ที่ยากดังกล่าวได้   ซึ่งมักจะต้องทำวิจัยร่วมกันเป็นสหสาขาวิชา

           การบริหารเครือข่ายวิชาการเป็นศาสตร์และศิลป์ที่ต้องการการทุ่มเทชีวิตจิตใจและเวลา   ผมมองเป็นงาน full-time ของคนหลาย ๆ คน   หลาย ๆ ระดับ   นำโดยผู้ที่เคยใช้ชีวิตทุ่มเททำงานวิจัยเคยยากลำบากเพราะระบบไม่เอื้อ   แต่ก็ได้ประสบความสำเร็จในการฟันฝ่าระดับหนึ่ง   และจากประสบการณ์นั้นทำให้รู้ว่าหากจะส่งเสริมให้ผู้อื่นทำวิจัย/สร้างตัวเป็นนักวิจัยอาชีพ   ควรส่งเสริมอย่างไร

            หัวใจของหัวใจคือ   ต้องบริหารเพื่อให้ผู้เข้มแข็งได้ประโยชน์     ให้ผู้ที่ยังอ่อนแอแต่ขวนขวาย  อดทน  ขยันต่อสู้ทำงานวิจัยจริงจัง   ได้รับประโยชน์และให้ผู้ที่เพียงแค่ต้องการปริญญาหรือผลงานวิจัยโดยไม่ต้องการทำงานวิจัยอย่างจริงจังถูกคัดออกไป

            คือจะต้องบริหารเพื่อสร้างวัฒนธรรมความเอาจริงเอาจังทางวิชาการ/วิจัยให้แก่สังคมไทย

วิจารณ์  พานิช
 31 ต.ค.48

หมายเลขบันทึก: 6125เขียนเมื่อ 31 ตุลาคม 2005 09:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:04 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท