ความรู้เพื่อชีวิต : ภูมิปัญญากับวิชาการสมัยใหม่


ชาวบ้านมีภูมิปัญญาดั้งเดิมอยู่มากมาย แตกต่างจากความคิดของผมในระยะแรกๆ ที่ว่า "ชาวบ้านอยู่อย่างไม่ใช้ความรู้" เพราะผมคิดไปเองว่า ชาวบ้านที่จบ ป.4 ไม่น่าจะมีความรู้อะไรมากนัก

ตลอดชีวิตการทำงานทางวิชาการ เกือบ 30 ปีที่ผมทำมา ส่วนใหญ่ผมได้เห็นวา เรามักจะเน้นการพัฒนาวิชาการสมัยใหม่ และให้ความสนใจกับภูมิปัญญาท้องถิ่นน้อยมาก แม้กระทั่งตัวผมเอง ก็เพิ่งจะให้ความสำคัญกับภูมิปัญญาท้องถิ่นไม่เกิน 20 ปีที่ผ่านมา แสดงว่า ผมเองก็ยังใช้เวลาอย่างน้อย 10 ปีจึงจะเริ่มชื่นชมกับภูมิปัญญาท้องถิ่น และนำเข้ามาผนวกกับวิชาการสมัยใหม่ในการทำงานของผมเอง

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ถ้าตอบเฉพาะตัวผมเองก็อาจจะพูดได้ว่า ใน 10 ปีแรกของการทำงาน เป็นการจัดระบบความคิดและความรู้ของตัวเองให้รู้ว่าเราคือใคร จะทำอะไร และจะทำอย่างไร อีก 10 ปีต่อมา จึงเริ่มมองหาทางเลือกในการทำงานที่เป็นประโยชน์กับสังคม พอมาพิจารณาประเด็นนี้ก็เริ่มเห็นว่า ชาวบ้านทั่วไปมีภูมิปัญญาดั้งเดิมอยู่มากมาย แตกต่างจากความคิดของผมในระยะแรกๆ ที่ว่า "ชาวบ้านอยู่อย่างไม่ใช้ความรู้" เพราะผมคิดไปเองว่า ชาวบ้านที่จบ ป.4 ไม่น่าจะมีความรู้อะไรมากนัก คงจะประกอบอาชีพตามมีตามเกิดไปเรื่อยๆ ตามยถากรรม แต่เมื่อผมเริ่มนำความรู้ของตนเองเข้าไปแลกเปลี่ยนกับชาวบ้านในนามของการถ่ายทอดความรู้ ก็ได้พบว่า ชาวบ้านมีความรู้แตกต่างกับผมและมากกว่าผมเป็นส่วนใหญ่ ผมจึงเริ่มคิดว่า ชาวบ้านมีภูมิปัญญาในการจัดการ ทรัพยากร เพื่อการดำรงชีวิตในพื้นที่ของตนเอง ผมยิ่งมองกลับไปถึงต้นตระกูลของผมซึ่งเป็นชาวนา และมองชีวิตพ่อและแม่ของผม ทำให้ยิ่งตระหนักว่า ภูมิปัญญาท้องถิ่นนี้มีมานาน ลึกล้ำ มากกว่างานวิชาการที่เราทำกันทั่วไปเสียอีก แล้วทำไมผมจึงมองไม่เห็นมาแต่ก่อน คำตอบง่ายๆ ก็คือ ผมไม่มีความรู้พอที่จะเข้าใจสิ่งเหล่านั้น และทั้งๆที่ผมก็เป็นนักวิชาการที่เป็นลูกชาวนา แต่ก็ไม่เคยทำนาจริงๆ อย่างมากก็ไปช่วยเกี่ยวข้าว เก็บถั่วเล็กๆ น้อยๆ เป็นการพักผ่อนหย่อนใจซะมากกว่า แล้วผมก็มาคุยเป็นวรรคเป็นเวร ว่าเป็นลูกชาวนาและเคยทำนามาก่อน ทั้งๆ ที่เป็นการใช้ชีวิตแบบฉาบฉวยมากๆ ถึงกระนั้นก็ตาม ผมก็ยังพอมีความรู้ด้านปัญหาชีวิตชาวนา(จากการพูดคุยกับพ่อแม่) มากกว่านักวิชาการที่นั่งอยู่แต่ในห้องทำงานติดแอร์ อ่านและแปลตำราที่เขียนโดยฝรั่ง และก็ไปสอนให้นักศึกษาลูกชาวนาฟัง ว่าฝรั่งเก่งกว่าเรามากมาย จนทำให้เราไม่ภาคภูมิใจในภูมิปัญญาของเราเอง

ปัจจุบันนี้ ผมมองกลับกันครับ หลังจากที่สัมผัสกับชาวบ้านเป็นจำนวนมาก จากการทำงานในโครงการวิจัยระบบการทำฟาร์ม โครงการวิจัยระบบชนบท โครงการฝึกอบรมการทำงานวิจัยในไร่นาให้กับชาวต่างชาติ งานวิจัยในไร่นากับกลุ่มและเครือข่ายปราชญ์อีสาน โครงการพัฒนาแปลงสาธิตและศูนย์เรียนรู้ด้านการพัฒนาทรัพยากรดินและน้ำ และโครงการพัฒนาเชิงนโยบาย ประสบการณ์เหล่านี้สอนให้ผมรู้ว่า ภูมิปัญญาท้องถิ่นมีอยู่มากมาย และพร้อมที่จะพัฒนาต่อยอดโดยหลักวิชาการใดๆ ก็ตาม และในทางกลับกันภูมิปัญญาเหล่านี้พร้อมจะทำงานอย่างได้ผลในระดับหนึ่งโดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาการช่วยเหลือของนักวิชาการก็ได้ ถึงแม้จะได้ผลไม่ค่อยดีนักก็ตาม ดังนั้น ประเด็นที่สำคัญที่สุดของการทำงานในปัจจุบันก็คือ การเข้าใจข้อดี ข้อด้อย ของภูมิปัญญาด้านต่างๆ เพื่อนำมาพัฒนา ผสมผสานกับวิชาการสมัยใหม่ โดยอาศัยหลักการของการทำงานแบบมีส่วนร่วม ไม่ว่าจะเป็นงานพัฒนาหรืองานวิจัย หรือแม้กระทั่งงานจัดการความรู้ก็ควรจะทำแบบมีส่วนร่วม เชิงปฏิบัติการ จึงจะได้ผลดีที่สุดเพราะเป็นการ ทำไปปรับไป จนได้ผลที่ดีที่สุดขึ้นไปเรื่อยๆ เรียกว่า "การยกระดับความรู้" ซึ่งอาจจะแกว่งไปแกว่งมาระห่วางภูมิปัญญากับวิชาการสมัยใหม่ ที่จะนำไปสู่ผลการทำงานที่ลงตัว สอดคล้องกับทั้งทรัพยากรในท้องถิ่นและหลักทางวิชาการ

ผมจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า งานพัฒนาที่ผสมผสานระหว่างภูมิปัญญากับวิชาการสมัยใหม่จะเป็นทางออกที่สำคัญในการพัฒนาประเทศและสังคมโลกต่อไป

หมายเลขบันทึก: 61205เขียนเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2006 10:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:25 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ภูมิปัญญาด้านการดูแลตนเองก็มีไม่น้อยเลย  แต่จริงอย่างอาจารย์ว่า  หนูก็คิดว่าหนูไม่มีความรู้มากพอที่จะเข้าใจสิ่งเหล่านั้นเพื่อที่จะสามารถอธิบายและนำไปใช้ได้   ร่วม 20 ปีในวิชาชีพพยาบาล  10 ปีแรกอยู่กับเรียนรู้ 10 ปีต่อมาอยู่กับการปฏิบัติ ต่อไปคงต้องสังเคราะห์ให้ได้

อยากให้นักวิชาการนักพัฒนาเข้าไปเรียนรู้ภูมิปัญญาจริง ๆ(อย่างอาจารย์) ไม่ใช่ภูมิปัญญาที่เป็นความรู้ในห้องสมุดอย่างเดียว เพื่อช่วยกันพัฒนาชุมชนของเราครับ
คุณออด และ พยาบาลpcu ตอนนี้ผมกำลังรวบรวมทำตัวอย่างภูมิปัญญาการจัดการทรัพยากรน้ำ จัดระบบเศรษฐกิจพอเพียง ได้อย่างละประมาณ ๑๐๐ กว่า เพื่อเป็นแนวทางในการทำงาน และเป็นตัวอย่างนำร่องให้คนอื่นเห็นแนวทางครับ หวังว่าจะได้ผลในการขยายแนวคิดครับ

ขอบพระคุณมากครับอาจารย์ การเผยแพร่งานวิจัย หรือแนวคิดด้านภูมิปัญญาเป็นเรื่องที่ออตคิดว่านักวิจัย นักวิชาการ นักพัฒนาต้องลงแรง  เผยแพร่สู่สังคม ไปพร้อม ๆ กับงานหลัก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท