@Moui
ภูมิจิต ศิระวงศ์ประเสริฐ

NECTEC สรุปคำอภิปรายในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ร่างพรบ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์


เรื่องราวของคนที่อยู่ในเครือข่ายคอมพิวเตอร์ทุกคน ที่ควรรู้และศึกษาไว้

NECTEC ใช้ wiki เป็นอุปกรณ์ในการนำเสนอข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ พรบ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ วาระที่ 1 เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2549 เวลา 14.00 น.

สรุปคำอภิปรายในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ วาระที่ 1

ร่างพรบ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์
วันที่ 16 พฤศจิกายน 2549 เวลา 14.00 น.



กัญจนา ศิลปอาชา:(พรรคการเมือง)

  • ถ้าคนที่เข้าไปใช้บริการ Internet Cafe ใส่ข้อมูลอะไรลงไปแล้วเดินออกไปเลยโดยเจ้าของร้านไม่รู้ เจ้าของร้านต้องรับผิดหรือไม่ กรณีนี้จะดูแลอย่างไร
  • ศักยภาพของพนักงานเจ้าหน้าที่ที่จะดูแลให้การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพมีเพียงพอหรือไม่
  • เว็บลามก block ไปวันสองวันก็เข้าไปดูใหม่ได้ กรณีนี้จะทำอย่างไร
  • ปัจจุบันยังไม่มีระบบป้องกันที่ดีในเรื่องการใช้ระบบสื่อสารไร้สาย (ยกตัวอย่างเรื่องการใช้ระบบเครือข่ายไร้สายที่ที่ทำการพรรค ซึ่งมักได้สัญญาณจากสำนักงานวุฒิสภา)

 


ดร. ฉลองภพ สุสังกรกาญจน์: (นักวิจัย/วิชาการ)

  • เห็นความจำเป็นของการมีกฎหมายนี้ แต่คิดว่าข้อความหลายข้อน่าจะปรับให้มีความชัดเจนขึ้น เช่น การเข้าไประบบคอมพิวเตอร์ของผู้อื่น ต้องจงใจทำ (มาตรา 5) เท่านั้นจึงควรได้รับโทษ เพราะปัจจุบันมีโปรแกรมที่เข้ามาคอมพิวเตอร์ของเราโดยที่เราไม่ทราบและอาจเผยแพร่ไปยังคอมพิวเตอร์ของคนอื่นได้ด้วย ซึ่งถ้าเราไม่รู้ ก็ไม่น่าเข้าข่ายมีความผิด หรือในมาตรา 12 ซึ่งต้องระวัง เพราะเครื่องมือหรือโปรแกรมขึ้นกับผู้ใช้ ของที่มีประโยชน์ ถ้าใช้ในทางที่ผิดก็อาจก่อปัญหาได้ ควรระบุด้วยว่า ใช้เพื่อมุ่งทำให้เกิดความเสียหาย หรือในมาตรา 16 ซึ่งร่างฯ ปัจจุบันให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่มากเกินไป ควรต้องมีหลักฐานเพียงพอ และควรขออำนาจศาลก่อน

 


พลเรือเอกประเสริฐ บุญทรง: (ข้าราชการบำนาญ)

  • เห็นควรรับหลักการ เนื่องจากปัจจุบันมีการใช้คอมพิวเตอร์แพร่หลายในทุกระดับ
  • คำว่า “ระบบคอมพิวเตอร์” รวมโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ๆด้วยหรือเปล่า?
  • ในมาตรา 16 ไม่ได้ให้เจ้าหน้าที่กระทำตามมาตรา 10 โดยไม่ถูกลงโทษ ซึ่งปัจจุบันก็มีการทำอยู่แล้ว โดยเฉพาะการ block เว็บไซต์ที่มาจากต่างประเทศ

 


ดร. วิริยะ นามศิริพงศ์พันธ์: (องค์กรเอกชนสาธารณประโยชน์)

  • สนใจว่าทำอย่างไรจะดำเนินกระบวนการที่จะฟ้องร้องคดีได้รวดเร็ว ทำอย่างไรจะให้กระบวนการดำเนินคดีอาญากับผู้กระทำผิดทำได้เร็ว ปัจจุบันอะไรก็ตำรวจหมด จะเป็นคอขวด ถ้าจากพนักงานเจ้าหน้าที่ไปอัยการได้เลย ก็น่าจะช่วยให้เร็วขึ้น

 

นายภูมิศักดิ์ หงส์หยก: (นักธุรกิจทั่วไป)

  • มาตรา 9 กำหนดให้ความผิดวรรค 1 ยอมความได้ แต่ปัจจุบันการเก็บข้อมูล โดยเฉพาะด้านการแพทย์ ที่อาจทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง ขัดต่อศีลธรรม ไม่ควรให้ยอมความ

 

นายวิทย์ รายนานนท์: (ข้าราชการบำนาญ)

  • เนื่องจากยกร่างมานาน ได้มีการปรับปรุงให้มีความทันสมัย และตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นถึงปัจจุบันได้หรือยัง
  • ในการพิจารณากำหนดโทษ ได้พิจารณาถึงความเหมาะสมอย่างถ่องแท้หรือยัง
  • หัวใจของการยกร่างพรบ. ใดๆ คือการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิผล ไม่ทราบว่าได้พิจารณารอบคอบในประเด็นนี้หรือยัง

 

ว่าที่ รอ. จิตร์ ศิรธรานนท์: (ธุรกิจการค้า อุตสาหกรรม บริการ ขนส่ง ก่อสร้าง และอสังหาริมทรัพย์)

  • เนื้อหาที่ปรากฎในร่างกฎหมาย ส่วนใหญ่เป็นการลงโทษผู้กระทำ ส่วนผู้จ้างวาน หรือนายทุนผู้อยู่เบื้องหลัง ยังไม่ชัดเจนว่ามีการกำหนดโทษไว้อย่างไร หรือไม่

 

นายภัทระ คำพิทักษ์: (สื่อสารมวลชน นักเขียน ศิลปิน)

  • คนที่จะได้รับผลกระทบจากกฎหมายนี้มีตั้งแต่ ISP ผู้ใช้ และคลื่นใต้น้ำต่างๆ
  • ยกตัวอย่างถึงกรณีหนึ่งที่เกิดขึ้น ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ขอให้ ISP รายหนึ่งให้ข้อมูล log-in/log-out เนื่องจากพบว่ามีการเล่นการพนันบอลในเว็บหนึ่ง แต่ ISP ไม่ให้ความร่วมมือ จึงส่งคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งถ้าเป็นสิ่งพิมพ์ จะมีพรบ. ควบคุมการพิมพ์ แต่กรณีของอินเทอร์เน็ต ยังไม่มีพรบ. ใดๆ ควบคุม
  • จะรักษาสมดุลย์อย่างไรในการควบคุมและลงโทษ กับการจำกัดสิทธิเสรีภาพของคน เพราะด้วยความละเอียดอ่อนของกฎหมายและการบังคับใช้ จะเกิดผลกระทบข้างเคียงได้ ต่อไปอาจเกิดการอุ้มข้อมูล (แทนที่จะอุ้มคน) ตำรวจเข้าไปค้น และเอาข้อมูลมาใช้ ซึ่งจะกระทบถึงข้อมูลความลับทางการค้าด้วย
  • ต้องคำนึงถึงสิทธิด้วยในขณะที่เพิ่มดุลพินิจของเจ้าหน้าที่

 

นายคำนูณ สิทธิสมาน: (สื่อสารมวลชน นักเขียน ศิลปิน)

  • มาตรา 13 ข้อ 2 ...........
  • มาตรา 16 น่าจะปรับคำพูดเป็น “..... ในกรณีที่มีหลักฐานโดยชัดแจ้งว่า .....”
  • ในประเด็นเรื่องพนักงานเจ้าหน้าที่ การจะให้มีอำนาจ ขอให้ร้องขอต่อศาล เพื่อให้ศาลอนุญาตให้ดำเนินการ เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน และสอดคล้องกับมาตรการการจับกุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
  • มาตรา 18 วรรคท้าย ที่กำหนดว่า ยึดแล้วภายใน 24 ชั่วโมงค่อยไปรายงานต่อศาล คิดว่าสายเกินไปที่จะรักษาสิทธิเสรีภาพของประชาชน อาจถูกกล่าวหาว่าเป็น ปร. 42 ฉบับดิจิทัล

 

นายไพศาล พืชมงคล: (ที่ปรึกษากฎหมาย ทนายความ)

  • กฎหมายนี้เป็นกฎหมายที่บัญญัติความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ 3 เรื่อง ได้แก่ ความผิดต่อระบบคอมพิวเตอร์ ความผิดต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์ และความผิดต่อข้อมูลจราจรคอมพิวเตอร์ โดยบัญญัติความผิดทางอาญา เช่น ต่อความมั่นคงของประเทศ ไม่ทราบว่าควรไปปรับปรุงแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาหรือไม่ เพราะปัจจุบันสถานการณ์ทั้ง 3 เรื่องยังไม่นิ่ง

 

ดร. สมเกียรติ อ่อนวิมล: (สื่อสารมวลชน นักเขียน ศิลปิน)

  • กฎหมายนี้กระทบสิทธิเสรีภาพพื้นฐานในการวิจารณ์รัฐหรือเปล่า
  • ในส่วนหลักการ มีแค่เจาะระบบกับการเอาข้อมูลลามกอนาจารไปเผยแพร่ใช่หรือเปล่า

 

นายอรรคพล สรสุชาติ: (พรรคการเมือง)

  • รัฐบาลให้ความสำคัญกับกฎหมายฉบับนี้มากขนาดให้เป็นกฎหมายฉบับแรกที่เสนอเข้าสภานิติบัญญัติเลยหรือ
  • กฎหมายนี้มีส่วนที่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล เพราะรัฐบาล (โดยคณะรัฐมนตรี) ตัดส่วนที่อ้างถึงรัฐธรรมนูญออกไป มีอะไรที่จะรับรองสิทธิที่จะไม่ไปละเมิดในสิ่งที่ไม่ควรจะทำหรือไม่
  • ถ้าไม่มีความระแวงสงสัยต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ก็จะไม่ติดใจ แต่บางรัฐบาลใช้อำนาจในการไปละเมิดสิทธิส่วนบุคคล!!
  • ไม่ควรออกมาเป็นร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์โดดๆ ควรมีกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลออกมาควบคู่กันไปด้วย
  • จะให้ความมั่นใจแก่ประชาชนได้อย่างไรว่ารัฐจะไม่ไปล่วงละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน

 

นายบดินทร์ อัศวาณิชย์: (ที่ปรึกษากฎหมาย ทนายความ)

  • การออกกฎหมายนี้มีความจำเป็น จะรอให้ประเด็นต่างๆ นิ่งก่อนคงเป็นไปไม่ได้
  • ห่วงใยว่า ไม่แน่ใจว่าท่านรัฐมนตรีต้องการให้กฎหมายครอบคลุมขนาดไหน
  • คำจำกัดความ (definition) ของคำว่า ระบบคอมพิวเตอร์ ไม่ตรงกับในกฎหมายอื่น
  • ลักษณะความผิด ยังน้อยและแคบเกินไป หลายประเด็นยังไม่ได้ครอบคลุม อาทิ ประเด็นเกี่ยวกับความผิดที่ต่อเนื่อง เช่น ผู้ซื้อข้อมูลที่มีผู้ขโมย หรือได้มาโดยมิชอบ มีความผิดหรือไม่ หรือผู้ซึ่งได้รับอนุญาตให้เข้าสู่ระบบได้ เอาข้อมูลไปใช้ในทางมิชอบ มีความผิดหรือไม่ เป็นต้น
  • ควรพิจารณาเรื่องขอบเขตอำนาจด้วย ควรให้กว้างกว่าหลักกฎหมายอาญาโดยทั่วไป
  • โทษน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเทียบกับต่างประเทศ น่าจะเอาระบบการลงโทษทางแพ่ง ระบบความเสียหายเป็นพิเศษ มาพิจารณาใช้ด้วย

 

ดร. บวรศักดิ์ อุวรรณโณ: (นักวิชาการ)

  • ควรทำให้ชัดเจนขึ้นในหลายประเด็น อาทิ รูปแบบของกฎหมาย ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2549 ข้อ 29 ต้องอ้างบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจ รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว มีมาตรา 3 ซึ่งบัญญัติว่า ...... สิทธิเสรีภาพที่ประชาชนได้รับการคุ้มครองอยู่ตามประเพณี .... ฉบับก่อนๆ ได้ให้ความคุ้มครองเสรีภาพในการสื่อสารถึงกัน ซึ่งถ้าออกกฎหมายไปจำกัดเสรีภาพตรงนั้น คงต้องระบุไว้ด้วย
  • ต้องสำรวจว่า เสรีภาพในการสื่อสารถึงกันในอนุสัญญาต่างๆ ที่เราไปลงไว้เปิดสิทธิให้ทำได้หรือไม่
  • ถือได้ไหมว่ามาตรา 29 เป็นประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตย และอ้างอิงว่า ทำได้ในพันธะกรณีระหว่างประเทศด้วย
  • ประเด็นที่เกี่ยวกับสาระ ควรคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่ควรได้รับความคุ้มครอง การให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ถึง 8 ข้อ ควรต้องมีศาลหรือคณะบุคคลมากลั่นกรองการใช้อำนาจด้วย
  • ในมาตรา 13 การปลอมแปลงเอกสาร ปลอมของตัวเองก็ได้ ซึ่งการปลอมเอกสารตามกฎหมายอาญา น่าจะเป็นความผิดด้วย แต่ฉบับนี้ ยังคลุมไปไม่ถึง
  • ไม่ได้ตอบคำถามว่า คนที่ไปบรรจุข้อมูลใน server ต่างประเทศ แล้วเผยแพร่เข้ามาในประเทศ จะมีความผิดหรือไม่
  • อำนาจในการ block ข้อมูลที่อยู่ต่างประเทศ ที่ละเมิดต่อความมั่นคงของราชอาณาจักร เป็นอย่างไร
  • ความสัมพันธ์ระหว่างกฎหมายนี้กับกฎหมายอื่น หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ในกฎหมายนี้ กับกฎหมายอื่น เป็นอย่างไร
  • ร่างกฎหมายในมาตรา 28 วรรค 2 ถ้าใช้อำนาจตามกฎหมายอาชญากรรม คงทำไม่ได้ เพราะไปตัดอำนาจตำรวจ สมควรหรือไม่ ถือเป็นการรวบอำนาจที่เกินกว่าเหตุหรือไม่
  • โดยปกติถ้าเกิดความผิดอาญาขึ้น แล้วพนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการ จะต้องไปขึ้นศาลยุติธรรม แต่ถ้าพนักงานเจ้าหน้าที่ใช้อำนาจตามมาตรา 16 ซึ่งเป็นคำสั่งทางปกครอง ปกติต้องขึ้นศาลปกครอง จะก่อให้เกิดปัญหาในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ และก่อให้เกิดความสับสนของประชาชน อาจไปฟ้องผิดศาลได้

 

นายสมชาย สกุลสุรรัตน์: (สื่อสารมวลชน นักเขียน ศิลปิน)

  • มาตรา 2 ความหมายของ “ผู้ให้บริการ” ควรกำหนดให้ชัดเจน ไม่เหวี่ยงแห เพราะอาจกระทบสิทธิเสรีภาพในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร และในการเรียนรู้ โดยควรยกเว้นผู้ที่ให้บริการซอฟต์แวร์ในองค์กรด้วย

ดุลพินิจของพนักงานเจ้าหน้าที่อาจทำลายสิทธิเสรีภาพของประชาชน และปัจจุบัน การขออำนาจศาลสามารถทำได้รวดเร็วภายใน 24 ชั่วโมงอยู่แล้ว

  • ควรมีบทเฉพาะกาล เพื่อให้เวลาในการดำเนินการหลายเรื่องที่จำเป็น อาทิ เรื่องการอบรม, ให้เวลาคนได้ทำการ back-up ข้อมูล, การลงทุนอุปกรณ์ เป็นต้น

 

สรุป

ให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างฯ ให้เสร็จภายใน 45 วัน โดยคณะกรรมาธิการประกอบด้วย 25 ท่าน ดังนี้

รายชื่อที่เสนอโดยรัฐบาล

  1. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (เป็นประธาน)
  2. นายอัครวัฒน์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา
  3. พันตำรวจเอกญานพล ยั่งยืน
  4. นายทวีศักดิ์ กออนันตกูล
  5. นายสุเจตน์ จันทรังษ์

 

รายชื่อที่เสนอโดยสภานิติบัญญัติ

  1. นายสมเกียรติ อ่อนวิมล
  2. นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์
  3. นายพรเพชร วิชิตชลชัย
  4. นางสาวกัญจนา ศิลปอาชา
  5. นายไกรสร พรสุธี
  6. นายศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช
  7. นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ
  8. นายคำนูญ สิทธิสมาน
  9. นายสหัส ตรีทิพย์บุตร
  10. นายสมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์
  11. นายไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ
  12. นายสมภพ เจริญกุล
  13. นายภราเดช พยัฆวิเชียร
  14. นายปรัชญา เปี่ยมสมบูรณ์
  15. พลตำรวจโทชาตรี สุนทรศร
  16. นายปรเมศวร์ มินศิริ
  17. คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม
  18. นายชาติศิริ โสภณพนิช
  19. นายทวี สุรฤทธิกุล
  20. นางมาณี ไชยธีรานุวัฒน์ศิริ

กำหนดการแปรญัตติยื่นหนังสือขอแก้ไขภายใน 7 วัน


บันทึกโดย ชฎามาศ ธุวะเศรษฐกุล 19 พฤศจิกายน 2549

 

หมายเลขบันทึก: 61134เขียนเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2006 07:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 12:09 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท