Acad.-Edu.
นางสาว ธันย์ชนก ปานทะโชติ

∑☆°•... กับดักสุขภาพ 10 ประการ (ตอนที่ 3 ) ...♥.•°


การกินอยู่อย่างบรรพบุรุษ ได้แฝงไว้ซึ่งภูมิปัญญาในการเลือกกินเลือกอยู่ในปลอดภัยไร้โรค แต่เมื่อคนสมัยใหม่คิดจะสุขภาพดีทางลัด โดยลัดภูมิปัญญาของท่านด้วยกรรมวิธีสมัยใหม่ อันตรายก็อาจเกิดขึ้นได้ โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์

                  เงียบหายไปนานเลยค่ะ  ด้วย ข้ออ้าง เอ้ย! ไม่ช่ายยยย.... เหตุผล (ต่างหาก) นานับประการ นับไม่ถ้วนค่ะ ก็ทุ่มเทเวลาไปให้กับงานประจำซะจนหมดเวลาส่วนตัวไปเลยยยย

                  หลายๆ ท่านบอกว่า เขียนบล็อกให้เหมือนเป็นงานประจำ และสิ่งที่บล็อกต้องการมากที่สุด ก็คือ เวลา  ถ้าทำได้อย่างนั้นก็จะเป็นการดีมากๆ เพราะการเข้ามาใน GotoKnow ไม่ใช่แค่เรามาเขียนเรื่องของเราเท่านั้น แต่ยังเป็นการเปิดโลกทัศน์ของเราอีกด้วย เพราะได้อ่านเรื่องราวความรู้ดีๆ ในหลายๆ ด้าน และหลายๆ เรื่องอีกด้วย แต่... (มี แต่... อีกแล้ว!) ยังทำไม่ได้อย่างที่คิดสักที เฮ้อออ!!!

                  มาเข้าเรื่องกันเลยดีกว่าค่ะ ฟังคำแก้ตัวนานแล้ว อิอิอิ จำได้ว่า ยังคงค้างคาเรื่องราวดีๆ ที่อยากจะนำมาลงอีก 4 ประการด้วยกัน กะว่าจะลงในครั้งนี้ให้ครบทั้ง 4 ประการเลย แต่เกรงว่าจะเบื่ออ่านซะก่อน เพราะแต่ละประการอธิบายเรื่องราวอย่างละเอียด ก็เลยยาวจัง.... วันนี้ก็ขอลงสัก 2 ประการก่อนนะคะ คราวหน้าจะเป็นตอนจบค่ะ โปรดติดตามนะคะ

กับดักสุขภาพประการที่ 7  
กินสมุนไพร คิดว่าปลอดภัยเสมอไป  

ยุคนี้เป็นยุคของการคืนสู่ธรรมชาติ  และเมื่อพูดถึงธรรมชาติ ใครๆก็มักจะนึกถึงสมุนไพร   มีผู้รักสุขภาพจำนวนไม่น้อยที่หนีจากการกินยาแผนปัจจุบัน แล้วหันไปกินยาสมุนไพรโดยคิดอย่างเถรตรงว่า ขึ้นชื่อว่าสมุนไพรแล้ว ย่อมไม่มีผลร้ายแต่ประการใด  นั่นนับเป็นความเข้าใจผิดประการหนึ่ง  

แท้ที่จริงขึ้นชื่อว่ายาสมุนไพรก็หมายถึง สิ่งที่กินเพื่อบำบัดรักษาโรค แต่นำมาจากพืชและสัตว์   ถ้ามาจากสัตว์ก็เรียกว่า สัตว์สมุนไพร   ถ้ามาจากพืชก็เรียกว่า พืชสมุนไพร ในสัตว์และพืชย่อมมีสารอินทรีย์จำนวนหนึ่งซึ่งอาจจะออกฤทธิ์ช่วยบำบัดรักษาโรคให้กับคนเรา  สารอินทรีย์เหล่านี้ย่อมต้องการปริมาณที่พอเหมาะ   ไม่น้อยเกินไป ไม่มากเกินไปในการออกฤทธิ์รักษาโรค   ทีนี้เมื่อจะใช้สมุนไพรในการรักษาโรค  

จึงต้องศึกษาวิธีการใช้ และปริมาณการใช้ให้ถ่องแท้เสียก่อน   

ในอดีตที่ผ่านมา เคยมีกรณีใหญ่ๆที่ใช้สมุนไพรรักษาโรคอย่างไม่ถูกวิธี   จนถึงขั้นเกิดอันตรายร้ายแรงกับผู้ใช้   เช่นการใช้ผลมะเกลือคั้นน้ำกะทิเพื่อถ่ายพยาธิ   ถ้าทำอย่างผิดวิธีก็ถึงขั้นทำให้เด็กที่กินถึงกับตาบอดได้   อีกกรณีหนึ่งคือ   การใช้ใบขี้เหล็กรักษาอาการนอนไม่หลับ   แกงขี้เหล็กที่คนไทยรู้จักกันดี สามารถกินกันได้อย่างสนิทใจ   และมีฤทธิ์ระบายอ่อนๆ ช่วยไม่ให้ท้องผูก   และนอนหลับสบายอีกด้วย ต่อมามีการค้นพบว่าใบขี้เหล็กยังมีสารยาซึ่งออกฤทธิ์ช่วยให้นอนหลับ   จึงมีความพยายามที่จะทำใบขี้เหล็กให้เป็นยาสมุนไพรสำเร็จรูปที่ใช้ง่ายเป็นชนิดเม็ด   และกระบวนการผลิตก็กระทำกันอย่างง่ายๆโดยใช้ใบขี้เหล็กตากแห้ง บดเป็นผงแล้วทำเป็นเม็ดขึ้นมาเลย ซึ่งแม้แต่องค์กรรัฐวิสาหกิจทางด้านเภสัชกรรมก็ยังเป็นผู้นำหน้าในการผลิตขี้เหล็กเม็ดขึ้นมาวางจำหน่ายในท้องตลาด  

อย่างไรก็ดี   เมื่อขี้เหล็กแคปซูลเหล่านี้ เข้าถึงผู้บริโภคอยู่พักใหญ่   ก็เริ่มมีข้อสังเกตจากแพทย์ระบบทางเดินอาหารหลายท่านว่า เริ่มพบผู้ป่วยด้วยโรคตับอักเสบที่ไม่พบสาเหตุอื่นนอกจากประวัติที่ว่า   ได้กินขี้เหล็กแคปซูลมาพักหนึ่ง   หลังจากได้ติดตามค้นคว้ากันอยู่พักหนึ่ง   ก็มีผลยืนยันออกมาว่า ผู้คนที่มีเอนไซม์ตับเพิ่มขึ้นสูงเหล่านั้นต้องพิษจากสารบางอย่างในใบขี้เหล็กนั่นเอง เป็นผลให้ต้องมีการประกาศให้เลิกใช้ยาเม็ดขี้เหล็กไปทั่วประเทศ 

อย่างไรก็ดี  คำถามมีว่า เหตุใดคนโบราณจึงกินแกงขี้เหล็กโดยไม่ปรากฏอันตรายขึ้น   เหตุผลน่าจะอยู่ที่ว่า บรรพบุรุษของเรากินขี้เหล็กโดยเอามาแกง   ความร้อนได้ทำลายสารพิษบางอย่างในขี้เหล็กไปแล้ว   จึงปลอดภัยในการกิน แต่เมื่อนำใบขี้เหล็กผงมาทำเป็นเม็ด   ไม่ได้ผ่านกระบวนการทำความร้อน สารพิษจึงยังคงอยู่  

เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า   การกินอยู่อย่างบรรพบุรุษ ได้แฝงไว้ซึ่งภูมิปัญญาในการเลือกกินเลือกอยู่ในปลอดภัยไร้โรค   แต่เมื่อคนสมัยใหม่คิดจะสุขภาพดีทางลัด   โดยลัดภูมิปัญญาของท่านด้วยกรรมวิธีสมัยใหม่   อันตรายก็อาจเกิดขึ้นได้ โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์  

กับดักสุขภาพประการที่ 8  
ไปฟิตเนส   แต่เสียเงิน เสียสุขภาพ  

สมัยหนึ่งกระทรวงสาธารณสุขนึกสนุกขึ้นมา   จะพาคนไทยเต้นแอโรบิกส์ให้ได้จำนวนมากๆเพื่อลงกินเนสบุ๊ค   ก็แห่กันไปเต้นกันย็อกแย็กอยู่วันเดียว   เพื่อให้ได้ชื่อว่าลงบันทึกที่สุดในโลกเล่มนั้น   งานนั้นเล่นเอาท่านอาจารย์เสม พริ้งพวงแก้ว   สร้างความใจหายใจคว่ำให้แก่ลูกๆทั่วประเทศ   ด้วยห่วงว่าท่านจะเกิดอาการไม่สบายขึ้นมาอย่างกระทันหัน   โชคดีว่าไม่เป็นอะไร แต่เบื้องลึกของงานดังกล่าวเสื้อเหลืองถูกแจกจ่ายไปโดยกะเกณฑ์กันให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระดมกันไปเต้นกันให้มากๆ   ทั้งๆที่คนเต้นจำนวนไม่น้อย เกิดมาในชีวิตก็ไม่เคยออกกำลังกายเลย   แต่ไปเพราะใจที่ถูกกะเกณฑ์ และไปเพราะมีเสื้อเหลืองบังคับอยู่  

มาในวันนี้เสื้อสีเหลืองถูกเปลี่ยนมือ   เปลี่ยนสถานที่สวมไปอยู่แถวสวนลุมพินีเสียแล้ว   นั่นแสดงถึงความเป็นอนิจจังของสรรพสิ่ง   แต่เหนือสิ่งอื่นใดพฤติกรรมเต้นแอโรบิกหมู่ สะท้อนถึงความเห่อตามสมัยนิยมไปอย่างนั้นเอง

คนอีกจำนวนหนึ่ง   เข้าฟิตเนสอย่างไม่รู้จักจุดมุ่งหมายของฟิตเนสให้ดีพอ   คิดแต่จะไปวิ่งลดน้ำหนัก บางทีอาจเสียเงินแล้วอาจเสียสุขภาพก็ได้

ก่อนอื่นคำว่าฟิตเนสมีความหมายกว้างไกลกว่าการวิ่งสายพานหรือเล่นลูกน้ำหนัก   เพราะฟิตเนสหมายถึงความแข็งแรงของร่างกาย ซึ่ง Garry Null และ Martin Feldman ได้ให้คำนิยามไว้ว่า  

Fitness ในโลกยุคปัจจุบันประกอบด้วย 3 ประการคือ  

1. Cardio-vascular Fitness   ความแข็งแรงของหัวใจหลอดเลือด  

2. Immunity Fitness   ความแข็งแรงของภูมิต้านทาน  

3. Anti-oxidant Fitness   ความแข็งแรงของการล้างพิษอนุมูลอิสระ  

ความแข็งแรงทั้ง   3 ประการจะเกิดขึ้นได้ ต้องประกอบด้วยการออกกำลังกายที่เหมาะสม   ออกกำลังกายแอโรบิกส์ที่ 60% Maximum heart rate ในระดับดังกล่าวจะได้ทั้งการฝึกฝนหัวใจหลอดเลือด เข้าสู่ภาวะแอโรบิกส์ ขณะเดียวกันอนุมูลอิสระก็เกิดขึ้นไม่มากไม่น้อย โดยอนุมูลอิสระจำนวนพอเหมาะจะกระตุ้นภูมิต้านทานให้แข็งแรงพอดิบพอดี ถ้าออกกำลังมากไปกว่านั้น อนุมูลอิสระจะเกิดขึ้นล้นเกิน   ทำให้ภูมิต้านทานลดต่ำ และเป็นเหตุให้ร่างกายสึกหรอเพิ่มขึ้นอีกด้วย  

นอกจากออกกำลังกายแล้ว   ผู้ออกกำลังกายยังต้องรู้จักการกินอาหารที่เหมาะสม   กินผักผลไม้ให้มากเพื่อลดอนุมูลอิสระ   ถ้ากินได้มากเพียงพอ คือ 5 ส่วนบริโภคต่อวัน   ก็จะได้สารต้านอนุมูลอิสระเพียงพอโดยไม่ต้องกินวิตามินชนิดเม็ดแต่ประการใด  

การออกกำลังกายยังต้องกระทำทั้งทางร่างกาย และทางจิตด้วย การออกกำลังทางจิตทำได้โดยฝึกลมหายใจ   ฝึกลมหายใจให้ยาวจนถึงระดับ 6 ครั้ง/นาที  จะนำจิตเข้าสู่ภาวะสงบนิ่งหรือสมาธิ  

การเข้าฟิตเนสนั้นดีอยู่หรอก   แต่ควรสนใจใช้อย่างมีคุณภาพ ประการต่างๆดังนี้:  

1. ออกกำลังกายตามความสามารถของตน   ไม่ใช่เร่งตัวเองไปตามแรงเชียร์ของพนักงาน  ปัจจุบันฟิตเนสส่วนหนึ่งจ้างพนักงานโดยจ่ายตามเปอร์เซ็นต์ที่พนักงานคนนั้นเรียกได้จากลูกค้า   จึงเกิดการ "เชียร์แขก" กันสุดขั้วไปข้างหนึ่ง   หลายคนกล้ามเนื้อฉีก เอ็นอักเสบ แล้วกลายเป็นจุดอ่อนไม่สามารถออกกำลังกายไปตลอดชีวิต  

2. ฟิตเนสมิได้มีไว้ลดน้ำหนักสถานเดียว   ต่อให้วิ่งคนลิ้นห้อย อาจเผาพลังงานไปเพียง 120-150 กิโลแคลอรีด้วยเวลาประมาณ 30 นาที ซึ่งเท่ากับข้าวต้มหมูชามเดียว ใครที่กินราดหน้าก็ต้องวิ่งถึง 45-60 นาทีโดยประมาณ   วิ่งสายพานอย่างเดียวจึงไม่ใช่สรณะของการลดน้ำหนัก   ต้องปฏิบัติอย่างองค์รวม และผู้ประกอบการฟิตเนสก็ควรแสวงหาความรู้และแนวทางปฏิบัติอย่างองค์รวมเพื่อลูกค้าของตน  

3. อุตส่าห์เสียเงินสมัครฟิตเนสแล้ว   ก็ควรใช้อย่างสม่ำเสมอ กว่าร้อยละ 80 ของสมาชิกฟิตเนส  มักเห่อประเดี๋ยวประด๋าว ใช้เพียงไม่กี่ครั้งก็ทิ้งเงินไป   นี่คือบริโภคนิยมอีกแบบหนึ่ง ที่ไม่น่านิยม   เสียทั้งเงินแถมไม่ได้สุขภาพอะไรกลับมา  นอกจากบัตรหนึ่งใบที่ได้ชื่อว่าเป็นสมาชิกฟิตเนส 

หมายเลขบันทึก: 61052เขียนเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2006 15:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:25 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • เหตุผล (ข้ออ้าง ...)  ฟังดูมีเหตุผลค่ะ 
  • ขอบคุณสำหรับสาระดีดีเกี่ยวกับสุขภาพมาฝากกันค่ะ
  • จะรอติดตามตอนต่อไป  และสาระความรู้ในเรื่องอื่นๆ ต่อไปอีกนะคะ 
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท