Essential Spirituality วิถีปฏิบัติ ๗ ประการเพื่อเข้าสู่แก่นแท้ทางจิตวิญญาณ


คุณสมบัติ ๗ ประการของ Essential Spirituality หรือแก่นแท้ทางจิตวิญญาณที่ปรากฏอยู่ร่วมกันในศาสนาหลักๆของโลก ๗ ศาสนา คือ พุทธ คริสต์ อิสลาม ยิว ฮินดู เต๋า และขงจื๊อ ว่าประกอบด้วย ความกรุณา ความรัก ความปิติสุข ความสงบ การมองเห็นทางจิตวิญญาณ ปัญญา และการช่วยเหลือผู้อื่น

ในการประชุมจิตวิวัฒน์ครั้งที่ ๒๖ ณ ห้องประชุมมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ เมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม ที่ผ่านมา ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน จากคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้นำเรื่องราวจากหนังสือ Essential Spirituality (John Wiley & Sons, Inc. 1999) ของ โรเจอร์ วอลช์ (Roger Walsh, M.D., Ph.D.) มาเล่าให้ฟัง    

ผู้เขียน คือ ดร.วอลช์ ศาสตราจารย์ด้านจิตแพทย์ ปรัชญา และมานุษยวิทยา จากวิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา กล่าวถึงคุณสมบัติ ๗ ประการของ Essential Spirituality หรือแก่นแท้ทางจิตวิญญาณที่ปรากฏอยู่ร่วมกันในศาสนาหลักๆของโลก ๗ ศาสนา คือ พุทธ คริสต์ อิสลาม ยิว ฮินดู เต๋า และขงจื๊อ ว่าประกอบด้วย ความกรุณา ความรัก ความปิติสุข ความสงบ การมองเห็นทางจิตวิญญาณ ปัญญา และการช่วยเหลือผู้อื่น


ดร.วอลช์ สรุปแก่นแท้ทางจิตวิญญาณผ่านประสบการณ์การค้นหาและการปฏิบัติของตนเอง จากเดิมที่เขาเติบโตมาในสายของนักวิทยาศาสตร์กระแสหลักที่เชื่อว่าวิทยาศาสตร์คือพระเจ้า แล้วจึงเข้าสู่การศึกษาเรื่องภายในจิตใจตนเอง และได้พบสิ่งที่ไม่เคยตระหนักรู้มาก่อน ว่าโลกภายในของมนุษย์นั้นยิ่งใหญ่ซับซ้อนไม่แพ้จักรวาลภายนอกที่มีผู้อธิบายไว้แล้วอย่างเป็นระบบ แต่คนส่วนใหญ่กลับมืดบอดต่อโลกภายใน ทั้งๆที่เรื่องราวเหล่านั้นทำให้มนุษย์เข้าใจตนเอง และสามารถค้นพบแนวทางดำเนินชีวิตอันประมาณค่ามิได้


ดร.วอลช์ เริ่มทดลองฝึกสมาธิหลายแนวทาง โดยเฉพาะการทำสมาธิตามแบบพุทธศาสนา และพบว่าการทำสมาธิเป็นหนทางที่มีพลังมากสำหรับการฝึกจิตและการพัฒนาคุณภาพของชีวิตด้านใน เนื่องจากทำให้สามารถตระหนักถึงความละเอียดอ่อนของจิต และทำให้จิตว่องไวในการตระหนักรู้ตนเอง จากนั้นเขาใช้เวลาอีกสองสามปีเดินทางไปในโลกกว้าง เพื่อศึกษาแลกเปลี่ยนกับนักเทววิทยาและนักปรัชญาทั้งในศาสนาหลักและศาสนาโบราณของโลกอย่างกระหายหิว ก่อนกลับไปสำรวจความเชื่อพื้นฐานของตนในศาสนาคริสต์ และสามารถเข้าถึงปัญญาอันลุ่มลึกในคำสอนของคริสตศาสนาที่ได้รับการค้นพบและถ่ายทอดมาแล้วกว่าสองพันปี


ดร.วอลช์ ค้นพบวิถีปฏิบัติร่วมกันของศาสนาต่างๆ ที่เป็นแนวทางสำหรับการฝึกฝนเพื่อนำพาตนเองเข้าสู่แก่นแท้ทางจิตวิญญาณ หรืออีกนัยหนึ่ง เป็นแนวทางสำหรับบ่มเพาะคุณสมบัติทางจิตวิญญาณให้งอกงามขึ้นในตัวเรา คือ ความกรุณา ความรัก ความปิติสุข ความสงบ การมองเห็นทางจิตวิญญาณ ปัญญา และการช่วยเหลือผู้อื่น วิถีปฏิบัติ ๗ ประการนี้ได้แก่
๑.     เปลี่ยนแรงจูงใจ โดยการลดกิเลส และค้นพบความต้องการทางจิตวิญญาณของตนเอง
๒.    บ่มเพาะปัญญาทางอารมณ์ให้งอกงาม โดยการเยียวยาจิตใจจากความกลัวและความโกรธ และเรียนรู้ที่จะรัก
๓.    ปฏิบัติชอบ การทำดีจะทำให้รู้สึกดี
๔.    มีจิตใจสงบ ตั้งมั่น
๕.    เปิดดวงตาแห่งจิตวิญญาณ ทำให้สามารถตระหนักชัดถึงความศักดิ์สิทธิ์ของสรรพสิ่ง
๖.    บ่มเพาะความฉลาดทางจิตวิญญาณ เพื่อพัฒนาปัญญาและความเข้าใจชีวิต
๗.    เผยจิตวิญญาณสู่การกระทำ โดยเอื้อเฟื้อเกื้อกูลผู้อื่น และทำงานบริการสาธารณะอย่างมีความสุข


หนังสือเล่มนี้พาเราเข้าสู่วิถีปฏิบัติทั้ง ๗ ประการเรียงตามลำดับ ผ่านแบบฝึกหัดง่ายๆจำนวนมากที่สามารถฝึกทำได้จริงในชีวิตประจำวัน แบบฝึกหัดบางอย่างมาจากคำสอนโบราณ และหลายอย่างได้จากการที่ดร.วอลช์ออกแบบและทดลองใช้ได้ผลจริงมาแล้วทั้งกับตนเอง นักศึกษา และคนไข้ ทำให้เราค่อยๆเดินทางเข้าสู่พื้นที่ด้านในของตนเอง จากส่วนที่สัมผัสได้ง่ายกว่า เช่น กิเลส หรือการจัดการกับความกลัวและความโกรธ พร้อมๆกับให้ได้รู้จักกับด้านบวกของสิ่งเหล่านั้น เช่น ความรัก และความต้องการทางจิตวิญญาณ จากนั้นจึงค่อยๆเข้าสู่แก่นที่ลึกขึ้น สู่ปัญญา และการเข้าใจชีวิตทั้งมวล แล้วจึงคลี่คลายคุณภาพใหม่ที่เกิดขึ้นภายในตน ออกไปสู่ความสัมพันธ์ที่เกื้อกูลกับผู้อื่นและโลก


แบบฝึกหัดเหล่านี้แนะนำวิธีทำเป็นขั้นตอนไว้อย่างละเอียด และที่สำคัญคือมีการแนะนำวิธีฝึกสังเกตตนเอง ทั้งสิ่งที่เกิดขึ้นกับร่างกาย ความรู้สึก ความคิด และสิ่งที่ได้เรียนรู้ด้วยตนเองจากการทำแบบฝึกหัดแต่ละอย่าง โดยมีตัวช่วยคือให้บันทึกสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างนั้นไว้ด้วย ตัวอย่างแบบฝึกหัดสำหรับวิถีแห่งการปฏิบัติชอบ เช่น ให้คิดถึงการทำดีที่ผ่านมาของตนเอง พูดความจริง ๑ วัน หยุดนินทา ไม่ใช้ความรุนแรง เล่าความรู้สึกที่ทำไม่ดีให้คนที่เราไว้วางใจฟัง และแก้ไขสิ่งผิดให้ถูกต้อง


หนังสือเล่มนี้เขียนขึ้นเป็นแนวทางให้ผู้อ่านได้เริ่มปฏิบัติเพื่อไปสู่สิ่งที่ดร.วอลช์ เรียกว่า “ความเปลี่ยนแปลงอันท้าทาย” ของชีวิต เขาบอกหลักของการทำแบบฝึกหัดแต่ละอย่างไว้ว่า ให้เริ่มต้นเลือกสิ่งที่ทำได้ง่ายๆก่อน ตัดสินใจว่าจะทำนานเท่าไหร่ และตั้งใจทำให้ได้โดยไม่มีข้อแม้ ระหว่างนั้นให้สังเกตและเรียนรู้สิ่งที่เกิดขึ้นขณะฝึก ทั้งสิ่งที่เกิดกับตัวเราและคนรอบข้าง หากเกิดความผิดพลาดก็ให้อภัยตัวเอง และเริ่มต้นใหม่ เขาบอกด้วยว่า การไตร่ตรองและจดบันทึกประจำวันถึงสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะเรื่องราวของชีวิตด้านในจะช่วยได้มาก โดยมีเคล็ดลับในการฝึกทางจิตวิญญาณที่สำคัญคือ จงปฏิบัติอย่างมีความสุข แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดกว่าทุกเรื่องที่กล่าวมาก็คือ การลงมือ “ทำ” แบบฝึกหัดเหล่านี้    


ผู้สนใจสามารถยืมหนังสือ Essential Spirituality ได้ที่ ห้องสมุดประชาชนแสงอรุณ ซอยสาธร ๑๐ ถนนสาธรเหนือ เขตบางรัก กรุงเทพฯ โทร. ๐-๒๒๓๗-๐๐๘๐ ต่อ ๑๐๑ หรือสอบถามที่กลุ่มจิตวิวัฒน์ www.jitwiwat.org โทร. ๐-๒๕๑๑-๕๘๕๕ ต่อ ๑๒๙ อีเมล [email protected]

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 6102เขียนเมื่อ 30 ตุลาคม 2005 22:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:11 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณสำหรับหนังสือดีๆ ที่แนะนำคะ น่าสนใจมากคะ

ดิฉันเข้ามาที่บล็อกนี้ แล้วพบว่าคุณจารุปภาอาจจะมีปัญหากับการใส่รูปถ่ายลงในบล็อก จึงขอแนะนำให้อ่านบันทึกนี้คะ http://gotoknow.org/archive/2005/08/12/00/20/50/e2414

ขอบคุณคุณจันทวรรณมากๆค่ะสำหรับการดูแล จัดการได้เรียบร้อยแล้ว คงเป็นเพราะรูปเก่าที่เซฟไว้ไซส์ใหญ่เกินไป (มาก) ค่ะ เลยไม่โผล่มาในบล็อก

ขอบคุณค่ะ :)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท