การจัดการความรู้ โดยนพ.วิศิษฎ์ สงวนวงศ์วาน (ตอนที่1)


การจัดการความรู้
การจัดการความรู้ (Knowledge Management) (ตอนที่1)


นพ.วิศิษฎ์ สงวนวงศ์วาน
กลุ่มงานศัลยกรรม
โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์

     ความเจริญก้าวหน้าทางด้าน Computer ในปัจจุบัน เป็นไปอย่างรวดเร็ว และมี ประสิทธิภาพมากขึ้นเรื่อยๆ จนไม่อาจจินตนาการถึงการเปลี่ยนแปลงในอนาคตได้ ส่งผลให้ความก้าวหน้าทาง IT (Technology Information) เจริญรุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกัน ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูล (Data) สารสนเทศ (Information) ได้ตลอดเวลา และมีจำนวนมากมายมหาศาล
     ระบบ Internet ซึ่งสามารถเชื่อมโยงทุกแห่งบนโลกใบนี้ได้อย่างมหัศจรรย์ ทุกคนสามารถ เข้าถึงแหล่งข้อมูลสารสนเทศ และความรู้ ได้ อย่างไม่มีข้อจำกัด ปัญหาจึงอยู่ที่ เราจะนำความรู้ส่วนไหนมาใช้จึงจะเหมาะสม คำกล่าวที่ว่าKnowledge is Power จะเป็นจริงก็ต่อเมื่อ Knowledge นั้นสามารถทำให้องค์กรของเรา พัฒนาคุณภาพ ไปได้อย่างเหมาะสม ต่อเนื่อง มั่นคง และยั่งยืน

การจัดการความรู้
หมายถึงกระบวนการแสวงหาความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อองค์กร มีการจัดเก็บอย่างเป็นระบบเพื่อให้แต่ละหน่วยงานเลือกใช้ได้ตามความเหมาะสม สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ตลอดเวลา มีการเผยแพร่เพื่อประโยชน์ต่อสังคม มีการสร้างขึ้นใหม่เพื่อสนับสนุนให้หน่วยงานบรรลุเป้าหมายที่วางไว้
เป็นเพียงเครื่องมืออย่างหนึ่ง ซึ่งเราเลือกนำมาใช้ในการพัฒนาคุณภาพขององค์กร
ไม่มีรูปแบบที่ตายตัว องค์กรควรกำหนดรูปแบบกิจกรรมที่เหมาะสมด้วยตนเอง เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ต้องการ

รูปแบบของความรู้ เราอาจแบ่งความรู้ออกเป็น 3 แบบดังนี้
Tacit Knowledge คือความรู้ที่อยู่ในแต่ละบุคคล เกิดจากประสบการณ์การทำงาน หรือการดำเนินชีวิตมาเป็นเวลานาน เรียนรู้ถูก เรียนรู้ผิด ค่อยๆสะสมจนกลายเป็นความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะตัวบุคคล เมื่อถ่ายทอดความรู้เหล่านี้ออกมาในรูปแบบของเอกสาร หรือสื่ออื่นๆที่สามารถบันทึก และนำมาแสดงใหม่ได้ ก็จะกลายเป็น Explicit Knowledge
Explicit Knowledge คือความรู้ที่แสดงออกมาในรู้แบบต่างๆที่บันทึกได้ เช่นหนังสือ ตำรา เอกสาร เทป video CD DVD เป็นต้น เป็นความรู้ที่ถูกถ่ายทอดออกมาจากบุคคล
Potential Knowledge คือความรู้ที่ถูกซ่อนอยู่ในข้อมูล (Data) สารสนเทศ (Information) จะต้องเข้าใจความสัมพันธ์ และรูปแบบ จึงปรากฏเป็นความรู้

Tacit Knowledge
      เนื่องจากความรู้ชนิดนี้ฝังลึกอยู่ในตัวบุคคล การดึงความรู้ออกมาเพื่อถ่ายทอดให้คนอื่นได้รับรู้และนำไปใช้ประโยชน์จึงจำเป็นต้องดำเนินการกับบุคคล หรือ กลุ่มของบุคคลที่เป็นเจ้าของความรู้นั้น ในความเป็นจริงการถ่ายทอดความรู้ในลักษณะนี้มีอยู่แล้วในทุกหน่วยงาน เช่น การบรรยาย การอบรมเชิงปฏิบัติการ การฝึกเป็นผู้ช่วยในการทำงาน เป็นต้น การบรรยายในการประชุมเป็นการถ่ายทอดความรู้ที่ได้ประโยชน์น้อยกว่าการอบรมเชิงปฏิบัติการ หรือการฝึกเป็นผู้ช่วยการทำงาน เพราะสามารถอยู่ใกล้ชิดและถามได้ตลอดเวลานอกจากนั้นความรู้ชนิดนี้ยังถูกถ่ายทอดออกมาในการประชุมของหน่วยงานที่มีเป็นประจำทุกเดือนในลักษณะของความเห็นซึ่งมีพื้นฐานจากการปฏิบัติงาน การสัมนาที่เปิดโอกาสให้ผู้ร่วมประชุมซึ่งมีความรู้และประสบการณ์ในเรื่องที่สัมนาสามารถแสดงและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ต่อที่ประชุมได้
      ปัญหาของการถ่ายทอดความรู้ในลักษณะนี้ในหน่วยงานขององค์กรต่างๆ มักจะไม่มีการบันทึกอย่างเป็นระบบ ไม่มีการรวบรวม จัดแยกเป็นหมวดหมู่ ดังนั้นจึงมีความพยายามเสนอรูปแบบของการจัดการความรู้ชนิดนี้ เพื่อสามารถนำไปปฏิบัติได้ง่ายขึ้น เช่น เทคนิกการประชุมโดยการใช้การเล่าเรื่อง (Story telling) ของ ศาสตราจารย์นายแพทย์วิจารณ์ พานิช เป็นต้น

Explicit Knowledge
      เป็นความรู้ที่เปิดเผยชัดแจ้งแล้ว มีการบันทึกไว้ในสื่อต่างๆ ที่สามารถทำสำเนาซ้ำได้ สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ตลอดเวลา เช่น เอกสาร หนังสือ ตำรา CD DVD video เป็นต้นโดยความรู้เหล่านี้เป็นความรู้ที่ถ่ายทอดสืบต่อกันมา และความรู้ใหม่ที่เพิ่มเติมตลอดเวลา ความรู้ที่เพิ่มใหม่อาจไปลบล้างความรู้เดิมที่เคยเชื่อกันมาก่อนก็ได้ ปัจจุบันแหล่งของความรู้ที่สำคัญที่สุด และใหญ่ที่สุด คือความรู้ใน Internet แต่การรับความรู้ต่างมาใช้จะต้องมีการพิจารณาถึงความถูกต้องของข้อมูล ความทันสมัย และความเหมาะสมกับการนำมาใช้ในหน่วยงาน

Potential Knowledge
เป็นความรู้ที่ซ่อนอยู่ในข้อมูลของหน่วยงานต่างๆ เป็นความรู้เฉพาะของหน่วยงานนั้นๆ เช่น ข้อมูลผู้ป่วยของโรงพยาบาล ข้อฒุลการเกิดอุบัติเหตุของกระทรวงมหาดไทย เป็นต้น การจะได้มาซึ่งความรู้จากข้อมูลเหล่านี้ จำเป็นจะต้องมี การเปลี่ยนแปลงข้อมูล (Data) ให้กลายเป็นสารสนเทศ (Information) เปลี่ยนแปลงสารสนเทศมาเป็นความรู้ (Knowledge) และเปลี่ยนแปลงความรู้ไปเป็นปัญญา จากแผนผัง Concept ของ การเปลี่ยนข้อมูลมาเป็นความรู้ ซึ่งเสนอโดย Neil Fleming (www.systems-thing.org/kmgmt/kmgmt.htm#bel97a) ก่อนอื่นเราต้องมีความเข้าใจก่อนว่า

A collection of data is not information.
A collection of information is not knowledge.
A collection of knowledge is not wisdom.
A collection of wisdom is not truth.

     การที่ข้อมูลจะเปลี่ยนเป็นสารสนเทศได้ จะต้องเข้าใจถึงความสัมพันธ์ (Understanding relations) ของข้อมูลเหล่านั้นก่อน เช่นเมื่อเราดูข้อมูลผู้ป่วยแต่ละคน จะพบว่าไม่มีความหมายอะไรเลย แต่ถ้าเรามีการหาความสัมพันธืของข้อมูลเช่น สรุปจำนวนผู้ป่วยเมื่อสิ้นเดือน มีการแยกเพศ แยกกลุ่มอายุ แยกโรค เป็นต้นเราก็จะเริ่มมองเห็นว่าข้อมูลที่เดิมไม่มีความหมายอะไรนั้น เริ่มจะมีความหมายเมื่อข้อมูลนั้นถูกเปลี่ยนเป็นสารสนเทศ สารสนเทศสามารถให้รายละเอียดเฉพาะความสัมพันธ์ (Relation) ของข้อมูล แต่ไม่ได้บอกว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น และบอกไม่ได้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงของข้อมูลหรือไม่อย่างไร นอกเหนือจากความสัมพันธ์ จะมีรูปแบบ (Pattern) รูปแบบไม่ใช่ความสัมพันธ์ของความสัมพันธ์ รูปแบบเป็นทั้งความมั่นคงและความสมบูรณ์ของความสัมพันธ์ในบริบทของตัวเอง รูปแบบยังเป็นเหมือนแบบพิมพ์ที่ทำซ้ำได้ และคาดการถึงผลได้
      รูปแบบของสารสนเทศจะกลายเป็นความรู้ได้ต่อเมื่อมีความเข้าใจในรูปแบบ และมีการเปรียบเทียบกับตัวเองในช่วงเวลาที่ต่างกัน หรือ เปรียบเทียบกับรูปแบบของคนอื่นในเวลเดียวกัน เช่น พบว่าอุบัติเหตุจราจรในช่วงสงกรานต์จังหวัดอุบล เกิดในวัยรุ่นที่ดื่มสุรามากที่สุด ซึ่งเป็น Pattern ของจังหวัดอุบล เมื่อเราเปรียบเทียบกับจังหวัดอื่นในภาคอีสาน พบว่ามีรูปแบบคล้ายกัน เราจะสามารถสรุปเป็นความรู้ (knowledge) ได้ว่าอุบัติเหตุจราจรในช่วงเทศกาลสงกรานต์ของภาคอีสาน จะเกิดในวัยรุ่นที่ดื่มหล้ามากที่สุด
      ปัญญาเกิดขึ้นเมื่อเข้าใจหลักการ (Principles) ของรูปแบบที่ทำให้เกิดความรู้ เช่นในกรณีอุบัติเหตุจราจรซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับการดื่มสุรา หลักการคือสุราทำให้ขาดสติ การขับขี่รถโดยขาดสติทำให้เกิดอุบัติเหตุง่าย สุราจึงเป็นสิ่งที่เป็นอันตรายที่ไม่ควรยุ่งเกี่ยว เป็นต้น การเกิดปัญญาอาจเกิดได้หลายด้านแล้วแต่มุมมองของแต่ละคน ว่าสนใจประเด็นไหน
โดยสรุป

สารสนเทศ (Information) คือการอธิบาย การให้คำจำกัดความ (What, who, when,where)
Knowledge ประกอบด้วย strategy, practice, method, approach (How)
Wisdom เกิดจาก principle, insight, moral,archetype (Why)

ที่มาของบทความ http://www.sappasit.net/KM/KMWisit.htm

 

 


หมายเลขบันทึก: 60964เขียนเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2006 00:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:38 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท