วิธีฝึกให้เด็กคิด


โจทย์ใหญ่ของคุณครูมักอยู่ที่....แล้วเราจะทำอย่างไรจึงจะสามารถฝึกหรือพัฒนากระบวนการคิดให้กับลูกศิษย์ของเราได้

           การจัดการศึกษาในยุคนี้ต้องเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้มีโอกาสพัฒนากระบวนการคิดและปฏิบัติด้วยตนเอง เพื่อจะได้เกิดการพัฒนาด้านความรู้ความเข้าใจ ด้านทักษะการปฏิบัติ และด้านคุณลักษณะอันพึงประสงค์ โดยมีครูเป็นผู้กำกับดูแล ฝึกฝน ชี้นำ ยั่วยุ ส่งเสริมและเติมเต็ม

          โจทย์ใหญ่ของคุณครูมักอยู่ที่....แล้วเราจะทำอย่างไรจึงจะสามารถฝึกหรือพัฒนากระบวนการคิดให้กับลูกศิษย์ของเราได้ มาดูตัวอย่างกิจกรรมที่น่าจะนำไปฝึกคิดให้กับเด็กได้กันนะคะ เช่น

          
       1) ลองให้นักเรียนคิดและเขียนชื่อสิ่งต่าง ๆ ที่มีสีเหลืองมาให้ได้มากที่สุดภายในเวลาที่กำหนด อย่างนี้เรียกว่าฝึก คิดคล่อง

           
      2) กำหนดรายชื่อสิ่งของต่าง ๆ มาสัก 20 ชนิด แล้วให้นักเรียนจัดหมวดหมู่ตามความคิดของตนเอง โดยเขียนชื่อของแต่ละหมวดหมู่ที่แบ่ง แล้วนำชื่อสิ่งของเหล่านั้นมาจัดแบ่งเป็นพวกตามหมวดหมู่ เรียกว่าฝึก คิดหลากหลาย

                 
3) ให้นักเรียนเขียนลักษณะสำคัญของสิ่งที่เรากำหนดให้ เช่น ให้นักเรียนเขียนลักษณะสำคัญแมลงมาให้ได้มากที่สุด เป็นการฝึก คิดละเอียด ค่ะ

                 
4) กำหนดเรื่องราวให้นักเรียนอ่านแล้วให้เขียนว่ามีส่วนไหนที่นักเรียนรู้ และมีส่วนไหนที่นักเรียนไม่รู้ เช่น กำหนดให้อ่านเรื่อง แบคทีเรีย เมื่ออ่านเรื่องนี้จบแล้ว นักเรียนรู้อะไรบ้าง และนักเรียนไม่รู้หรือไม่เข้าใจสิ่งใดบ้าง แล้วให้เลือกสิ่งที่รู้หรือเข้าใจ มา 1 อย่าง นำมาเขียน อธิบายความหมาย หรือยกตัวอย่าง แบบนี้จะเป็นการฝึก คิดชัดเจน

                 
5) ยกตัวอย่างเรื่องราวเนื้อหาที่เป็นเหตุการณ์เกี่ยวกับความเป็นอยู่ในสังคม ซึ่งดูแล้วเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการใช้จิตสำนึกในการพิจารณานะคะ เมื่อนักเรียนอ่านเรื่องแล้ว ก็ให้ตอบว่า ถ้าหากตัวเขาอยู่ในเหตุการณ์เช่นนี้เขาจะทำอย่างไร ลักษณะนี้เป็นการฝึก คิดถูกทาง ค่ะ

                 
6) คราวนี้คุณครูต้องใช้ความพินิจพิเคราะห์ ในการเลือกเนื้อเรื่องกันสักนิด ตรงที่เลือกเนื้อเรื่องหรือเหตุการณ์ ที่มีทั้งข้อเท็จจริงและข้อคิดเห็น ซึ่งเหตุการณ์ในเรื่องจะค่อย ๆ คลี่คลาย หรือให้รายละเอียดเพิ่มขึ้นทีละน้อย ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นให้นำไปสู่การสรุป

                      เมื่ออ่านเรื่องแล้ว ให้นักเรียนเขียนสิ่งที่เป็นข้อคิดเห็น และสิ่งที่เป็นข้อเท็จจริง แล้วตอบคำถามว่า สิ่งที่เป็นข้อคิดเห็นของเรื่องนั้น เขาเห็นด้วยหรือไม่เพราะเหตุใด ในส่วนของข้อเท็จจริงที่ปรากฏในเนื้อเรื่อง ให้เขาคิดว่าอะไรน่าจะเป็นสาเหตุ

                      นี่เป็นการฝึก
คิดอย่างมีเหตุผล นั่นเอง

                
7) ต่อไปลองเลือกเรื่องราวเกี่ยวกับปัญหา ซึ่งมีที่มาและผลของปัญหาที่เกิดขึ้นรวมถึงรายละเอียดปลีกย่อยต่าง ๆ อยู่ในเรื่องนั้น นำมาให้นักเรียนอ่านแล้วคิดหาความสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหานั้น แล้วให้เหตุผลว่าเพราะเหตุใดจึงเห็นว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหา จากนั้นลองพิจารณาซ้ำอีกครั้งว่าอะไรเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่ทำให้เกิดปัญหานั้น และเพราะอะไรจึงคิดเช่นนั้น อย่างนี้คือการฝึก คิดกว้าง ให้กับผู้เรียน

                 
8) เตรียมเนื้อเรื่องทำนองเดียวกับการฝึก คิดกว้าง นำมาให้นักเรียนอ่าน แล้วให้เขียนสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับปัญหา จากนั้นนำมาโยงความสัมพันธ์ของสาเหตุเหล่านั้น ก่อนที่จะทำให้เกิดปัญหา คือพิจารณาให้ลึกซึ้งว่าข้อใดที่มีผลต่อกันก่อนที่จะทำให้เกิดปัญหานั้น สุดท้ายให้ตอบว่าหากนักเรียนต้องการแก้ปัญหานั้น จะต้องทำอย่างไร แบบนี้เป็นการฝึก คิดลึกซึ้ง ค่ะ

                 
9) เลือกเรื่องที่เป็นปัญหาในปัจจุบัน ซึ่งมีความเกี่ยวข้องหรือมีผลกระทบต่อหลาย ๆ ฝ่าย เป็นปัญหาที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ จากเรื่องนี้เมื่อนักเรียนอ่านแล้ว ลองให้เขาเขียนเหตุผลว่าเพราะเหตุใดเราจึงต้องช่วยกันแก้ปัญหานั้น และถ้าหากมนุษย์ยังมีพฤติกรรมอยู่เช่นเดิม นักเรียนคิดว่าจะเกิดอะไรขึ้น ลองนำผลที่เกิดขึ้นจากปัญหานั้นมาเรียงลำดับความเป็นไปได้ จากมากไปหาน้อย ท้ายที่สุดให้นักเรียนสรุปให้ชัดเจนว่าผลที่จะเกิดขึ้นจากปัญหานั้นมากที่สุดคืออะไร อย่างนี้เป็นการฝึก คิดไกล

          นอกจากการนำเนื้อเรื่องมาเป็นสื่อในการฝึกแล้ว ครูอาจเสาะหาสื่ออื่น ๆ เช่น ภาพ บทกลอน ข่าว เพลง ฯลฯ หรืออื่น ๆ ที่มีลักษณะซึ่งสามารถนำมาฝึกให้นักเรียนได้พัฒนาความสามารถทางการคิดได้ในแต่ละแบบ ก็ได้เหมือนกัน และถ้าหากเราไม่ทำกิจกรรมแยกส่วนสำหรับการฝึก คุณครูก็ลองนำแนวทาง หลักการนี้ไปบูรณาการสอดแทรกเข้ากับเนื้อหาวิชาได้ด้วย

          คุณครูท่านใดนำไปใช้กันแล้ว ก็ลองมาบอกเล่าผลการใช้เพื่อจะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันนะคะ.......

หมายเลขบันทึก: 60953เขียนเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2006 23:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 13:48 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)
  • สนใจเรื่อง cretical thinking เหมือนกันครับ
  • De Bono เขียนไว้หลายเล่ม
  • ขอบคุณมากครับ
  • ขอบคุณอาจารย์ขจิตค่ะ
  • การฝึกคิด....ควรเริ่มจากการฝึกความสามารถทางการคิดที่เป็นตัวย่อย ๆ ก่อน ซึ่งเราเรียกว่า "ทักษะการคิด" ต่อไปคือ "ลักษณะการคิด" ซึ่งต้องอาศัย "ทักษะการคิด" หลาย ๆ ตัว
  • ความสามารถทางการคิดตัวใหญ่สุด ก็คือ "กระบวนการคิด" cretical thinking หรือ กระบวนการคิดอย่างมีวิจารณญาณ เป็น "กระบวนการคิด" ตัวหนึ่งค่ะ
  • ต้องขอเรียนรู้จากอาจารย์ขจิต ในโอกาสต่อ ๆ ไปบ้างแล้วล่ะค่ะ ตอนนี้ตัวเองทำงานในเรื่องนี้อยู่ค่ะ (การพัฒนาความสามารถทางการคิด)
  • ขอบคุณสำหรับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ค่ะ
  •  เยี่ยมจริงๆ คะ ไม่เฉพาะนักเรียนนะคะ.... จ๊ะจ๋าก็จะนำไปใช้คะ น่าสนใจมากๆ
  •  แต่...เอ..จากการเกริ่นนำข้างต้นที่ว่า .การที่ครูเป็นผู้กำกับดูแล ฝึกฝน ชี้นำ ยั่วยุ ส่งเสริมและเติมเต็ม...เมื่อเด็กได้เรียนจะทำให้ยั่วยุอารมณ์เรารึเปล่าคะ.....และบางครั้งเด็กคิดนอกกรอบจะผิดไหมคะ (ถามในฐานะที่สมัยก่อนเรียกได้ว่าเป็นเป็นเด้กดื้อ...รั้นน่าดูเหมือนกันคะ..แต่สมัยนี้ไม่แล้วคะ...อิอิอิ)
  • และจ๊ะจ๋าจินตนาการนะคะว่าให้เด็กๆ ในห้องเรียนได้ทดลองปฏิบัติแล้วมีไหมคะ..ที่ให้เด็กคนหนึ่งนำเสนอ ..แล้วเพื่อนๆ ในชั้นเรียนลองตอบโจทย์ของเพื่อนที่คิดบ้าง..ไม่มีกรอบมาบีบบังคับมาก...ไม่มีผิดไม่มีถูก...เพื่อนคิดอย่างไร ...เราคิดอย่างไร...ทำไมเพื่อนคิดอย่างนั้น..แล้วทำไมเราคิดอย่างนี้...แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน...รวมถึงครูด้วยคะ....คงจะเป็นวงสนทนาที่สนุกน่าดู

 

  • สวัสดีค่ะคุณจ๋า...สาวสวยในปัจุบัน และคงจะแสนซนเมื่อในอดีต เห็นบอกว่าตอนเรียนดื้อ+รั้น...น่าจะออกนอกกรอบบ่อยด้วยใช่ไหมคะ
  • การคิดนอกกรอบไม่ผิดหรอกค่ะ ดีซะอีก เราเรียกว่า "คิดสร้างสรรค์" แต่ต้องดูว่าเป็นคิดเชิงบวกนะคะ ไม่ใช่คิดทางลบ
  • วิธีเรียนรู้ที่คุณจ๋านำเสนอ น่าสนใจมาก ๆ ค่ะ เข้ากับบรรยากาศแลกเปลี่ยนเรียนรู้...เปี๊ยบเลย...จะนำไปบอกต่อเพื่อนครูกันนะคะ
  • ขอบคุณคุณจ๋ามาก ๆ ค่ะ

เป็นแนวทางที่สามารถใช้ได้ดีมาก ๆ ครับ

ขอบคุณมากนะคะ ให้คำแนะนำได้ดีมากเลยค่ะ ^_^

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท