เรื่องเล่าการนวดแผนไทยฯ : อรัมภบท


อาจจะเขียนเป็นหนังสือก็ได้ ใครจะไปรู้ หนังสือที่เขียนโดย "ป้าคิ้ม"

     ตามที่ได้เขียนบันทึกเรื่อง ประเมินผลการพัฒนาหมอนวดแผนไทยฯ ที่เกาะเรียนอย่างไร และได้มีการพูดถึงการการสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายหมอนวดแผนไทยฯ หากนับเฉพาะที่ตะโหมดในตอนนี้ก็ได้แล้ว 13 คน ซึ่งเมื่อนับรวมทั้งจังหวัดจะได้คนที่มีใจเหมือนกันไม่ต่ำกว่า 50 คน ที่ประชุมได้หารือถึงกระบวนการที่จะสร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้น ประเด็นหนึ่งก็คือ การขอให้เครือข่ายไตรภาคีฯ ได้รับเข้าไว้ในเครือข่ายได้ ซึ่งผมก็เห็นดีเห็นงาม และเล่าให้ฟังว่าการรวมตัวแบบเครือข่ายจะไม่ต้องเรื่องมากอะไร วัตถุประสงค์ ความเห็นต่างกัน ก็รวมกันได้ ขอให้เป้าประสงค์ใหญ่ ๆ ไปในทิศทางเดียวกันก็พอ ซึ่งก็คือ "เพื่อพัฒนาสุขภาพชุมชน" ต่างจากการรวมตัวแบบชมรม หรือสมาคม หากวัตถุประสงค์ต่างกัน ก็จะถูกแยกออก เพราะกลุ่มแบบนั้นจะเน้นเอาวัตถุประสงค์ของกลุ่มเป็นศูนย์กลาง

     ผมได้เล่าให้ฟังถึงสิ่งที่ได้คุยกับหมอผาด หรือคุณปฏิพล รัตนพันธ์ (วิทยากรในการอบรม) ว่าเสียดายสิ่งที่หมอผาดเล่าให้ผมฟังว่าไปนวดให้ใครต่อใครมากมาย แล้วมีอาการดีขึ้น ไม่พิการมากขึ้น เรื่องเหล่านี้หากไม่บันทึกไว้บ้างก็จะสูญหายไป ลืมไป เพราะมีเพิ่มขึ้นทุกวัน หมอผาดก็ตกใจขึ้นว่า "จริงด้วย" และบอกว่าอยากทำ แต่ถามแล้วถามอีกก็ยังไม่ได้เริ่ม ถ้าหากเครือข่ายหมอนวดฯ วันนี้ 13 คนได้เริ่มก่อน โดยการจดบันทึกอาการคนไข้ที่ไปพบครั้งแรก บรรยากาศ ญาติ และความก้าวหน้าในการนวดคนไข้แต่ละคน ในแต่ละวัน เมื่อนวดจนเขาดีขึ้นแล้วก็จะได้องค์ความรู้ที่เกิดจากการปฏิบัติจริง ลงมือทำจริง อย่างมากมาย ผมถามว่าหมอนวดนวดคนไข้วันละกี่คนอย่างเต็มที่ เขาบอกผมว่าประมาณ 3 คน ก็เลยให้เขาลองคำนวณดูว่าเดือนหนึ่ง ๆ จะเกิดองค์ความรู้ขึ้นเท่าไหร่ วันนี้ 13 คน หากต่อไปทำแล้วดี คนทั้ง 50 กว่าคน หรือมากกว่าก็ช่วย ๆ กันบันทึก จะเกิดภูเขาความรู้ลูกใหญ่มาก เวลาเขียนเล่าเรื่องก็เขียนไปตามที่เราคิดจะเขียน ใช้ภาษาใต้ก็ได้ เขียนผิด เขียนถูกในตอนแรก ๆ ก็ไม่เป็นไร เวลาอ่านขำดีด้วย หัวเราะบ้างเวลากลับมาอ่าน อายุก็จะยืน

     พอผมเล่าจบ พูดฝอยไปจนจบ ที่ประชุมรีบแย่งกันพูดว่าดีอย่างนั้น ดีอย่างนี้ และจะเริ่มบันทึกอย่างไร ใส่กระดาษหรือสมุด ถ้าเป็นสมุดจะเว้นสักกี่หน้าต่อคนไข้หนึ่งคน หรือคนละเล่มดี ผมนั่งฟังเขาพูดกัน สังเกตว่าได้พูดกันทุกคน แม้จะแย่งกันพูด ผมแอบปลื้มอยู่ในใจ และมีคนหนึ่งเสนอขึ้นว่าลองถามผมดูว่าจะเอาอย่างไรดี ใหน ๆ ก็เอาเรื่องดี ๆ มาเล่าให้ฟังแล้ว ก็บอกด้วยว่าควรจะทำอย่างไร

     เข้าทางผมแล้ว ผมก็เลยบอกว่าทางไตรภาคีฯ จะสนับสนุน แฟ้มเก็บให้ กระดาษแบบบันทึกที่ใช้ฉีกใส่แฟ้มเมื่อเขียนเสร็จแล้ว ค่าถ่ายเอกสารเรื่องที่เขียน ค่าจ้างพิมพ์เมื่อเอาไปพิมพ์รวบรวมให้ และจะเอาไปเผยแพร่ในคอมพิวเตอร์ให้ (Blog แต่ต้องพูดแค่ว่าเป็นคอมพิวเตอร์ก่อน กะว่าจะค่อย ๆ อธิบายในภายหลัง) และความเป็นเจ้าของเรื่องใครเขียนมา ก็เป็นของคนนั้น หากจะมีค่าในวันหลังก็ให้เป็นของคน ๆ นั้น มีหมอนวดคนหนึ่งที่พอจะเข้าใจ ได้ช่วยอธิบายและเสริมต่อว่า อาจจะเขียนเป็นหนังสือก็ได้ ใครจะไปรู้ หนังสือที่เขียนโดย "ป้าคิ้ม" (ถ้าออกพิมพ์ชื่อแกผิดก็ขออภัยด้วย และจะกลับมาแก้ไขให้อีกที) ที่ประชุมก็หัวเราะกันใหญ่

     วันนี้ที่ประชุมก็เลยตกลงกันอย่างนั้น และให้ทำบันทึกประวัติคนไข้ที่ไปนวดทุกรายด้วยตามวิธีการที่ถูกต้อง และให้ถือว่าหากมีผลงานเป็นที่พอใจระดับหนึ่งแล้ว ทางไตรภาคีฯ ก็จะจัดเวที่ให้พูดคุยกันสักครั้ง หรือจะเป็นเดือนละครั้งก็ได้ แต่ขอดูผลลงานก่อน ตอนผมกลับมาแล้ว ผมก็กำลังเริ่มต้นจัดการเพื่อให้การสนับสนุนทุกอย่างตามที่ได้สัญญาไว้ครับ อีกไม่นานก็คงจะได้อ่านเรื่องเล่าเหล่านี้ผ่าน Blog นี้ครับ

     ทั้งหมดนี้ที่เกิดขึ้นผมนึกเอาตอนนั้น และนึกได้ตามที่เคยพูดกับหมอผาดไว้ ไม่นึกว่าจะเกิดเป็นประเด็นที่เป็นการจัดการความรู้หมอนวดแผนไทยขึ้นได้อย่างมากมายขนาดนี้

หมายเลขบันทึก: 6089เขียนเมื่อ 30 ตุลาคม 2005 17:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2015 08:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท