เทคนิคการเขียน 2 : เขียนให้จบในครั้งเดียว


บันทึกนี้เป็นภาคต่อจากคำถามขอบคุณ  seangja  ครับ ที่ท่านได้ตั้งคำถามเปิดประเด็นได้อย่างยอดเยี่ยมมากครับ ทำให้ผมมีโอกาสทำ AAR of Life ได้มีโอกาสย้อนคิดกลับไปถึงสิ่งที่ปฏิบัติและทำอยู่ทุก ๆ วัน และสิ่งที่สกัดออกมาได้หลังจากการทำ After Action Review ในการเขียนบันทึกของตัวเองนั้นนั่นก็คือเรื่องของ "การเขียนให้จบในครั้งเดียวครับ"

การพยายามเขียนให้จบในครั้งเดียว จะทำให้เราบีบคั้นพลังที่ซ่อนเร้นอยู่ภายในตัวทั้งในส่วนกายและจิต (Mind & Body) ออกมาอย่างไร้ขีดจำกัด ซึ่งสิ่งนี้จะต้องเชื่อมโยงกับบันทึกที่ 1 ครับ นั่นก็คือ "ต้องฝึก" ครับ

ผมจะเป็นคนที่มีชีวิตวนเวียนกับความหมายของคำว่า "การจัดการ (Management)" อยู่ในทุก ๆ ลมหายใจครับ

การจัดการในนิยามของผมก็คือ "การใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด" ดังนั้นในชีวิตของผม ผมจะพยายามบีบทุกอย่างให้อยู่ในวงจำกัด และพยายามทำสิ่งที่ไม่จำกัดภายใต้ทรัพยากรทุกอย่างที่จำกัดครับ

ฟังแล้วอาจจะงงสักหน่อยครับ (ผมเขียนเองก็ยังงง ๆ เลยครับ) ก็คือ ถ้ามีทรัพยากรอยู่ 10 หน่วย ผมจะพยายามวางแผนงานหรือคิดที่จะทำสิ่งต่าง ๆ ประมาณ 12-15 หน่วย พยายามที่จะฝึกตนเองในสิ่งต่าง ๆ ที่จำกัดเพื่อพัฒนาตนเองให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ ครับ เพราะครั้งแรกเราอาจจะทำได้แค่ 10 หรืออย่างมากก็ 11 ถึงแม้ว่าจะไม่สำเร็จตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ (สูงสุด) แต่ก็สำเร็จในด้านของการพัฒนาตนเองให้เหนือกว่าศักยภาพที่มี

จากนั้นครั้งต่อมาผมก็จะเริ่มตั้งเป้าหมายสูงขึ้นเป็น 14-16 หน่วย แล้วก็ทำได้ 12-13 หน่วย จากนั้นก็จะพยายามเพิ่มเป้าสูงขึ้นเรื่อย ๆ สิ่งเหล่านี้ก็จะทำให้เราพัฒนาตนเองได้มากขึ้นเรื่อย ๆ จาก 10 อาจจะกลายเป็นร้อยในช่วงระยะเวลาไม่นานครับ

เทคนิคนี้ผมเคยไปฝึกใช้กับนักศึกษาครับ ก็คือพยายามตั้งโจทย์ (ข้อสอบ) ที่น่าจะทำเสร็จในเวลา สองชั่วโมงครึ่งถึงสามชั่วโมง ให้นักศึกษาทำให้เสร็จภายในเวลา 2 ชั่วโมงครับ เพราะนักศึกษานอกจากจะเรียนรายวิชานั้นแล้ว นักศึกษาสายบริหาร(การจัดการ) จะต้องรู้จักการบริหารอย่างลึกซึ้งครับ โดยเฉพาะเรื่องการบริหารเวลาและการบริหารตนเอง ดังนั้นการรู้จักการบริหารยังไม่เพียงพอครับ ต้องเรียน ต้องรู้และต้องฝึก บริหารตนเองให้ได้ก่อนที่จะออกไปบริหารคนอื่นในองค์กรครับ

พูดถึงเรื่องนี้แล้วขออนุญาตนอกเรื่องอีกสักเล็กน้อยครับ เพราะว่าผมเคยใช้เทคนิคตอนที่สมัยเรียนปริญญาตรีครับ เทคนิคการตั้งเป้าหมายไว้สูงสุดครับ เพราะตอนนั้นถูกกดดันโดยตัวเองและคนรอบ ๆ ข้างครับ ดังนั้นผมจะตั้งความหมายในการเรียนทุกวิชาไว้ว่า "ต้องได้ A เท่านั้น" ครับ และอีกอย่างหนึ่งที่สำคัญถ้าเป็นวิชาที่เคยเรียนมาแล้วตอนปวช. อย่างเช่น บัญชีหรือพิมพ์ดีด อันนี้ต้องได้คะแนนตั้งแต่ 90 จาก 100 คะแนนเป็นอย่างน้อยครับ ซึ่งมีสิ่งที่ผมจำได้ไม่มีวันลืมก็คือ ผมเคยเรียนบัญชี 1 กับท่านอาจารย์อนุ ธัชชะยะพงศ์ ที่สถาบันราชภัฏกำแพงเพชร ตอนอยู่ปี 1 ครับ ครั้งนั้นผมทำคะแนนได้ 97 คะแนน จากร้อยครับ ซึ่ง 3 คะแนนที่ขาดหายไปไม่ใช่คะแนนจากการสอบครับ เป็นคะแนนกิจกรรม (กีฬาสี) ซึ่งตอนนั้นผมไม่ค่อยเข้าร่วมกิจกรรมเท่าใดนักครับ พี่ ๆ ก็เลยประเมินคะแนนกิจกรรมมาให้ 7 คะแนนจาก 10 คะแนน เป็นคะแนนกีฬาสีที่ส่งมาให้กับอาจารย์ทุกรายวิชาครับ ก็เลยทำให้ผมได้แค่ 97 คะแนนครับ สิ่งนี้จะเป็นสิ่งที่ผมตั้งเป้าหมายทีใช้พัฒนาตนเองอยู่เสมอครับ และสิ่งที่ใช้เป็นเครื่องจูงใจอีกอย่างหนึ่งก็เป็นเรื่องของเกรดเฉลี่ยสะสม (GPA) เพราะถ้าผมได้ A หรือ ก ไก่ (ตอนนั้นผมเป็นนักศึกษารุ่นใช้เกรด ก ข ค ง รุ่นสุดท้ายครับ ไม่มี ก+ ข+ ครับ ไม่ได้ ก ก็ได้ ข ไปเลย) ซึ่งถ้าผมทำได้ ก ไก่ เกรดผมจะเพิ่มขึ้นประมาณ 0.01 ครับ แต่ถ้าผมได้ ข เกรดผมจะลดลงมาประมาณ 0.02-0.03 ครับ ดังนั้นต้องได้ ก เท่านั้นครับ แถมถ้าได้เกรด ข จะถูกเพื่อน ๆ รุมประนามหาว่าผมไม่ตั้งใจเรียน (แซวกันเล่นน่ะครับ) ผมก็งง ๆ ครับ เพราะทีเพื่อนตั้งเป้าหมายว่าไม่ตกก็ได้ ง งู แล้วเขากลับได้เกรดเป็น ค ควาย โอ้โห เลี้ยงฉลองกันใหญ่เลยครับ (ผมก็แอบไปกินกับเขาด้วยครับ) ส่วนทีผมเพื่อน ๆ จะตั้งเป้าหมายไว้ให้ได้ ก ไก่เท่านั้น พอได้ ข ไข่มา ก็จะรุมประนามกันใหญ่เลยครับ (ชีวิตสมัยเรียนปริญญาตรีที่ราชภัฏกำแพงเพชรสนุกมาก ๆ ครับ)

ย้อนกลับมาที่เรื่องเทคนิคการเขียนให้จบในรอบเดียวดีกว่าครับ (ขออภัยที่ออกนอกเรื่องไปไกล) สิ่งที่ก็จะใช้พื้นฐานการตั้งเป้าและบีบตัวเองให้ทำสิ่งนี้ให้เสร็จไปในครั้งเดียวครับ ซึ่งจะทำให้ได้สิ่งที่ดี ๆ อยู่หลายครับนั่นก็คือ

สิ่งแรก ทำให้การเขียนบันทึกของเรามีเอกภาพทางวัตถุประสงค์ (Unity Of Objective) คือเขียนเรื่องเดียวกันทั้งด้านบนและด้านล่างครับ เพราะบางครั้งถ้าเขียนไปลุกไปทำโน่นทำนี่ไปบางครั้ง ผมเคยอ่านบันทึกตัวเองแล้วพบว่า เรื่องที่เขียนข้างล่างไม่ค่อยตรงกับข้างบนเท่าใดนักครับ

สิ่งที่สอง ขาดความต่อเนื่อง (Flow) และความนิ่มนวล (Smooth) ของบันทึกครับ เพราะสิ่งที่ยากอย่างหนึ่งของการเขียนบันทึกและบทความนั่นก็คือ การเขียนเชื่อมต่อระหว่างประโยคต่อประโยค การทิ้งคำสุดท้ายในประโยคบนให้เชื่อมโยงกับประโยคล่าง และทำให้โยคทั้งหมดในบันทึกอาจจะมี 10-100 ประโยค นั้นเรียงต่อเนื่องกันไปอย่างราบเรียบและสมดุลนั้น การเขียนให้จบในรอบเดียวจะทำให้เราเขียนอย่างต่อเนื่องและนิ่มนวลได้ครับ

สิ่งที่สาม ทำให้ต่อยอดความคิด "เริ่มต้น" ได้อย่างน่าอัศจรรย์ (ไม่ได้คาดคิดมาก่อน) เพราะการพยายามบีบตนเองให้คิด คิดแล้วเขียนลงไป  ยิ่งคิด ยิ่งเขียน จะทำให้เซลล์สมองส่วนของความคิดต่อประสานกันและความคิดเกิดความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ดังนั้นบางครั้งการพยายามเขียนให้จบในครั้งเดียว ผมพบว่า "ไม่รู้ผมคิดได้อย่างไง" ครับ เพราะความคิดที่เขียนข้างหลังที่บางครั้งจบอย่างสวยงามนั้น มิได้เป็นสิ่งที่คิดไว้ในตอนแรก สิ่งที่คิดไว้ในตอนแรกเป็นที่สั้น ๆ กระดุ๊ด ๆ คิดแล้วก็ดูธรรมดา ๆ แต่ยิ่งคิดยิ่งเขียนไปก็ยิ่งคิดสิ่งโน้นสิ่งนี้ได้เรื่อย ๆ  "ยิ่งเขียนยิ่งมันส์ครับ" เพราะคิดได้แล้วสนุกครับ

สิ่งที่สี่ ไม่รู้สึกค้างคาใจ (อึดอัดและทรมาน) เวลาที่คิดไม่เสร็จ บางครั้งการคิดไม่เสร็จก็ได้โทษกับหัวสมองมาก ๆ ครับ เพราะจะทำให้รู้สึกกระวนกระวาย อึดอัด อยากเขียน ความอึดอัดและกระวนกระจาย จะทำให้หัวสมองรู้สึกเครียด จากนั้นร่างกายก็จะหลั่งสารพิษออกมาทำร้ายตนเองครับ ในทางกลับกันถ้าเขียนจบแล้ว "สบายใจสุด ๆ ครับ" ร่างกายก็จะหลั่งสารแห่งความสุข "ยิ้ม" ปากและใจจะยิ้ม ซึ่งนั่นเป็นเหมือนกับยาชูกำลัง น้ำทิพย์แห่งชีวิตที่ทำให้มีความสุขในแต่ละวันได้ครับ

สิ่งที่ห้า ไม่ลืมประเด็นสำคัญ เพราะบางครั้งผมเขียนนั่งเขียน ๆ อยู่แล้วต้องลุกออกไปทำธุระอย่างอื่น จนทำให้ "ลืม" สิ่งที่คิดได้นั้นไปเลยครับ เพราะการเขียนบันทึกที่ออกมาจาก Tacit Knowledge นั้น เราจะต้องใช้ทั้ง Mind & Body ร่วมกัน ในขณะหนึ่งที่เรานั่งเขียนอยู่ กายและจิตพร้อม แต่ถ้าเราได้ลุกออกไปจากที่นั้น "ออกจากพวังค์นั้น" การเรียกสิ่งที่อยู่ภายใต้จิตออกมาอีกครั้งนั้นยากมากครับ ซึ่งสิ่งนั้นเราอาจจะไม่ได้สามารถขุดออกมาได้อีกเลยก็ได้ครับ

สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ก็เป็น Tacit Knowlege ในเรื่องของการบันทึกของผมครับ ถ้าเพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ และท่านอาจารย์ที่เคารพทุกท่าน มีเทคนิคใด ๆ เพิ่มเติมเชิญแลกเปลี่ยนเรียนรู้และต่อยอดได้เลยนะครับ ผมจะได้มีโอกาสเรียนรู้และนำไปปรับปรุงการเขียนบันทึกให้ดีมากยิ่งขึ้นต่อไปครับ

ขอกราบขอบพระคุณล่วงหน้าครับ

ปภังกร วงศ์ชิดวรรณ

หมายเลขบันทึก: 60807เขียนเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2006 12:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

คุณปภังกร 

  • ดูคำว่า management  นิดนึงค่ะ  นอกนั้นแจ๋ว  ...
  • ตี้..ต่อ..ต้น..ติด...ตาม..เป็นสูตรของคุณปภังกร

แต่สูตรของครูอ้อย...จิต..ใจ ...จุด...จัด...จบ

1.  จิต.....คือการเขียนออกมาจากจิตใจที่อยากจะเขียน  เรื่องใดที่สะกดใจผู้อ่านได้ก็นำมาเขียน

2. ใจ....คือเดาให้ออกว่าจะถูกใจผู้อ่านหรือไม่  ไม่เขียนเรื่องที่ผู้อ่านไม่ชอบนั่นเอง

3. จุด....คือมีจุดยืนของตนเอง   ผู้อ่านจะอ่านและจะรับรู้ได้ว่านี่คือการเขียนของครูอ้อย

3. จัด.....คือการนำตัวอย่าง  ส่วนประกอบของเรื่อง  รูปภาพ  มานำเสนอเข้าด้วยกัน

4. จบ...คืดการจบอย่างมีคุณค่า  มีความประทับใจ

ขอบคุณค่ะ 

  • ขอบพระคุณเป็นอย่างสูงครับครูอ้อย ผมทำการแก้ไขเรียบร้อยแล้วครับ รวมถึงสูตรที่ครูอ้อยได้กรุณาสรุปให้ผมด้วยครับ
  • สูตรของครูอ้อยเยี่ยมมาก ๆ เลยครับ ถ้าอย่างไรจะขออนุญาตนำไปทดลองใช้เพื่อปรับปรุงบันทึกของผมให้มีคุณภาพเช่นเดียวกับครูอ้อยด้วยนะครับ
จะลองนำไปเป็นแนวทางในการพัฒนาการpost ต่อไปครับ
ขอบคุณที่ให้แนวทางและความคิด..จะทดลองนำไปใช้ดูค่ะ...ขอพลังแห่งความเอื้อเฟื้อจงทำให้อจ.จอห์นมีความสุขยิ่งๆขึ้นไปค่ะ...
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท