ถึงมิได้เป็น "ช่าง" แต่ก็ควรเรียนรู้เรื่อง "ช่าง"


การเป็นช่าง ความเป็นช่าง ความเจริญก้าวหน้าในวิชาช่างของไทย

               พวกเรา ส่วนใหญ่ จะมองว่า  "ช่าง" เป็นอาชีพของคนที่มีความรู้ไม่สูง  แต่มีความเชี่ยวชาญในงานแขนงใดแขนงหนึ่ง  การแต่งกาย มักจะสกปรก มอมแมม เพราะ งานที่ทำ ต้องสัมผัสกับความเปรอะเปื้อน ตลอดเวลา    ที่พวกเรา ส่วนใหญ่  มอง  "ช่าง"  ว่าเป็นเช่นนั้น  ก็ไม่ถือว่า "ผิด"  แต่ประการใด   เพราะ สังคมไทยเรา ได้ร่วมกันกำหนดให้เป็นเช่นนั้น มาช้านานแล้ว    ใครไม่มีปัญญาเรียนสูง ๆ  ก็ส่งเสริมลูกหลานให้เรียนเป็น "ช่าง"   เรียนจบแค่ ระดับ ปวช. ปวส. ไม่กี่ปี แล้วจะได้รีบออกมาทำงาน หาเงินส่งเสียให้ที่บ้าน หรือไม่เป็นภาระของที่บ้าน  

                หลักสูตรที่สอน ที่เรียนกัน ก็มิได้ละเอียดละออ ลึกซึ้ง  เรียนกันแค่ "พื้นฐาน"  แล้วต้องไป ประยุกต์ ดัดแปลงกันเอาเอง   "ช่าง"บางคน"เก่ง"   ค้นพบ "เทคนิค" ใหม่ ๆ ก็มักจะ "หวงวิชา"  ไม่ยอมบอกใคร  ปล่อยให้ "ช่าง" รุ่นหลัง ๆ ไปเริ่มต้นกันใหม่ ค้นหากันเอาเอง  ไม่มีการ"ต่อยอด"   การช่าง ของไทยเรา  จึงมิได้พัฒนาไปไกลถึงไหน  กี่ปีกี่ปี เราคิดจะทำโครงการอะไรใหญ่โต ก็ไม่มีความมั่นใจ  ต้องว่าจ้างที่ปรึกษาต่างประเทศ  ซึ่งเขาก็มักจะนึกถึงวัสดุ สินค้าในประเทศของเขา  แล้วก็แนะนำเราให้ใช้ของในประเทศของเขา  เราจึงยังคงต้อง "นำเข้า" สินค้าจากต่างประเทศอยู่ร่ำไป  ซึ่งเรามักจะพบว่า สินค้าหลายอย่าง เขาผลิตเพื่อใช้ในประเทศของเขา  เมื่อเราซื้อของเขามาใช้  เราก็ต้องมาดัดแปลงใช้ ทำให้ประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ที่ได้ ไม่เต็มที่ ชำรุดบ่อย ซ้ำยังมีราคาแพงด้วย

               ความบกพร่องใน "วิชาช่าง" ของไทยเรา  จึงเริ่มต้นมาตั้งแต่ หลักสูตรการเรียนการสอน  การถ่ายทอดความรู้จากรุ่นสู่รุ่น  

               การผลิตสินค้า เครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องใช้ ของแต่ละประเทศ ก็เพื่อแก้ปัญหา หรือตอบสนองต่อความต้องการของผู้คนในประเทศนั้น ๆ  ซึ่งจะเกี่ยวพันไปถึงวัตถุดิบ วัสดุที่ใช้ในการผลิต การซ่อมบำรุง การดูแลรักษา การให้ความรู้กับผู้ที่ซื้อ ผู้ที่ใช้      จึงอยากจะแนะนำให้ในหลักสูตร  สอน"ช่างรุ่นใหม่" นึก คิด ประดิษฐ์ อะไรขึ้นมา ก็ขอให้ใช้วัตถุดิบ วัสดุ ที่มีใกล้ตัวเป็นลำดับแรก  ไม่ต้องไปนำเข้ามาจากต่างประเทศ มาใช้  ถือหลักว่า "ธรรมชาติ" ได้กำหนดมาให้แล้ว  เราก็ต้องรู้จักหยิบฉวยมาใช้  เราอยู่ในประเทศเขตร้อนชื้น  คงไม่เหมาะที่จะใช้ของที่ผลิตขึ้นมาสำหรับใช้ในประเทศเขตอบอุ่นหรือเขตหนาว    ยกตัวอย่าง เช่น  เครื่องจักร บางเครื่อง บางรุ่น ถ้าใช้ในประเทศของเขา ก็ไม่ค่อยมีปัญหาอะไร ไม่ต้องดูแลรักษามาก  แต่ถ้ามาใช้ในประเทศไทยเรา ต้องติดตั้งไว้ในห้องแอร์  ต้องควบคุมอุณหภูมิ  ต้องป้องกันฝุ่น  ต้องควบคุมความชื้น ฯลฯ  มิฉะนั้น เครื่องจะรวน ไม่ทำงานเป็นปกติ

               ในต่างประเทศ (ขออนุญาตไม่ระบุชื่อ) ที่ "วิชาช่าง" เจริญก้าวหน้าไปไกล  (บางประเทศ ก่อตั้งขึ้นมาใหม่ "หลัง"ประเทศไทยเสียด้วยซ้ำ) เขาจะมีโรงเรียน "เฉพาะ" วิชาช่างแขนงใดแขนงหนึ่งไปเลย  เช่น โรงเรียนช่างนาฬิกา  โรงเรียนช่างไม้ ....  แต่ละโรงเรียน  ก็จะเหมือนเป็น "คัมภีร์" ของวิชาช่างแขนงนั้น ๆ ไป  เพราะ จะมีการสอนอย่างละเอียดละออตั้งแต่พื้นฐาน  มีเครื่องไม้เครื่องมือที่ประดิษฐ์ขึ้นมาสำหรับแขนงวิชาช่าง นั้น ๆ โดยเฉพาะ  ซึ่งแน่นอน ย่อมต้องมีการ "พัฒนา" เครื่องมือเครื่องใช้จากรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่งอย่างต่อเนื่อง เป็น "ศูนย์รวมความรู้" ที่สามารถมาศึกษาได้อย่างลึกซึ้ง เมื่อมีพื้นฐานความรู้ที่หนักแน่น มั่นคง  จะพัฒนาอะไรต่อไป ก็กระทำได้โดยง่าย  ความเจริญก้าวหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง ก็เริ่มต้นมาจาก "จุดเล็ก ๆ" ตรงนี้ นี่เอง 

               ช่างที่ดี  สำคัญคือ ต้องมี "ความเป็นช่าง" อยู่ในตัว  อาจจะมิได้ประกอบอาชีพ "ช่าง" แต่ประการใด   คำว่า "ช่าง" แปลได้หลายความหมาย

               ความหมายที่ 1     ผู้ชำนาญในการฝีมือหรือศิลปะอย่างใดอย่างหนึ่ง  เช่น  ช่างตัดเสื้อ  ช่างไม้  ช่างไฟฟ้า
               ความหมายที่  2     มีนิสัยชอบในทางใดทางหนึ่ง  เช่น  ช่างคิด  ช่างพูด  ช่างประดิษฐ์
               ความหมายที่  3     มีลักษณะนิสัยโน้มไปในทางนั้น ๆ  เช่น  ช่างโง่จริง ๆ  ช่างเก่งจริง ๆ
               ความหมายที่  4     ปล่อย วางธุระ ไม่เอาธุระ ปล่อยไปตามเรื่องตามราว  เช่น  ช่างเถิด  ช่างมัน  ช่างปะไร

               คำว่า  "ช่าง"  แม้เป็นคำสั้น ๆ  ง่าย ๆ  แต่ก็มีความหมาย "กว้าง"  ครอบคลุมเกี่ยวพันกับเรา  ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง  ทั้งที่ประกอบอาชีพ "ช่าง" และ ที่ไม่ได้เป็น  ดังที่ได้กล่าวไว้แล้วตอนต้น  ถ้าพูดถึง "ช่าง" เรามักจะนึกถึงคนแต่งกายมอมแมม  มีเครื่องไม้เครื่องมือ วางระเกะระกะ เต็มไปหมด ออกจะรก ๆ  แต่มีความเชี่ยวชาญในงานแขนงใดแขนงหนึ่ง  อย่างนี้ เรียกได้แค่ว่า "การเป็นช่าง"  คือ ได้ประกอบอาชีพ "ช่าง"  แต่ยังไม่มี "ความเป็นช่าง" อยู่ในตัว  คือ  ยังถือว่าเป็น "ช่างที่ดี" ไม่ได้ 

               ช่างที่ดี  ควรจะมีนิสัยรักความเป็นระเบียบ  สะอาด  ซึ่งจะเป็นปัจจัยเกื้อหนุนให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ   การวางเครื่องมือให้เป็นระเบียบ จะหาง่าย หยิบฉวยมาใช้ได้โดยสะดวกและรวดเร็ว  แล้วยังไม่กีดขวางการทำงานในขั้นตอนต่อ ๆ ไป   แค่ปัจจัยข้อแรกนี้เพียงข้อเดียว  ก็หาดูได้ยากแล้วใน ช่างแขนงต่าง ๆ ของบ้านเรา  แต่จะเป็น "มาตรฐาน" ที่เราเห็นได้บ่อย ในประเทศที่มี "วิชาช่าง" เจริญก้าวหน้า  เพราะ เรามองไม่เห็นความสำคัญของการวางเครื่องมือให้เป็นระเบียบ  ไม่ให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาเครื่องมือ (ซื่งใช้เวลาเพียงเล็กน้อย) หลังเสร็จงานในแต่ละวัน  มักอ้างว่า "เสียเวลา"  โดยลืมไปว่า ถ้าเครื่องมือเครื่องใช้เกิด "ติดขัด" ขึ้นมาในวันรุ่งขึ้น อะไรจะ "เสียเวลา" มากกว่ากัน

               เครื่องมือ เครื่องใช้ ใช่ว่า จะบกพร่อง เสียหายโดยทันที  ส่วนใหญ่ มักจะแสดงอาการเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้เห็นก่อนเสมอ  หากเราเป็นคน "ช่างสังเกต" ( ซึ่งก็เป็นอุปนิสัยที่จำเป็นต้องมี สำหรับ "ความเป็นช่าง" ที่ดี )  เราก็จะตรวจพบ และแก้ไขโดยทันที ก่อนที่มันจะเสียหายไปมากกว่านี้    การแก้ไข บางทีก็เป็นเรื่องเล็กน้อยมาก เช่น น็อตคลายตัวออกมา  เราก็แค่ "ขันน๊อต" กลับเข้าไปให้แน่น ก็ใช้งานได้เหมือนเดิมไปอีกนาน   แต่เพื่อความไม่ประมาท เราก็ควรจะหมั่นสังเกตเฝ้าดูน๊อตที่คลายตัวออกมา ให้มากเป็นพิเศษ  อาจจะได้ทราบสาเหตุที่ทำให้น๊อตคลายตัว จะได้แก้ไขได้ถูกจุด  

               ขอยกตัวอย่างกรณี "ขันน๊อต" ซึ่งบางทีทำให้เกิดความเสียหายบานปลายได้  เช่น  น๊อตล้อรถยนต์  บางท่านเปลี่ยน / สลับล้อรถยนต์เอง  เวลาขันน๊อตกลับเข้าไป ด้วยแรง "มือ" สุดแรง  นึกว่าแน่นแล้ว  แต่เวลารถแล่น หากรถแล่นไปบนทางขรุขระ ทางที่เป็นเนินสูงต่ำ เป็นหลุมเป็นบ่อ ล้อรถยนต์ก็จะสั่นสะเทือน ทำให้น๊อตค่อย ๆ คลายตัว  ล้อรถยนต์ก็จะแกว่งสะบัด  ผู้ขับขี่ที่มี "ความเป็นช่าง" อยู่ในตัว  ก็จะสังเกตรู้ได้  รีบหยุดรถลงมาดู และแก้ไข    แต่ถ้าไม่ได้สังเกต  ฝืนขับต่อไป  ล้อก็จะ "หลุด" ออกมา  ทำให้ "ช่วงล่าง" ของรถ กระแทกพื้น และไถลไปตามความเร็วของรถในขณะนั้น  หรืออาจเสียหลัก หมุนคว้างไปชนกับรถคันอื่น  เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดกรณีเช่นนี้ เวลาขันน๊อตด้วย "มือ" จนแน่นแล้ว  ต้องใช้ "เท้า" ช่วยขันน๊อตด้วย เพราะ "เท้า" ของเรา มีกำลังมากกว่า "มือ" หลายเท่านัก

               พูดถึงกรณี "ขันน๊อต" บางท่าน "อาจจะ" ยังไม่ทราบว่ามีหลักอย่างไร ? ขอ อนญาต อธิบายเพิ่มเติมตรงนี้ไปเลย

               เริ่มต้น ให้เรามองจาก "ด้านบน" ลงไปที่ "หัวน๊อต" หลักมีอยู่ว่า การ "หมุน" หรือ "ไข" ให้หัวน๊อตหมุนไป "ตาม" ทิศทางของเข็มนาฬิกา จะทำให้น๊อตยิ่ง "แน่นขึ้น" ภาษาชาวบ้านทั่วไป อาจเรียกว่า เป็นการ "ไขเข้า" ...

               ในทางตรงกันข้าม เริ่มจากมอง "ด้านบน" หัวน๊อต  แล้วไขให้หัวน๊อตหมุนไปในทิศทางที่ "ทวน" เข็มนาฬิกา คราวนี้ จะมีผลให้น๊อต "คลายตัว" หรือเป็นการ "ไข ออก"...

               บางท่าน อาจจะกลัว "สับสน" อีก ... หัวน๊อต "ติดแน่น" อยู่แล้ว  แทนที่จะเป็นการหมุนเพื่อคลายน๊อตออก กลับไปจำสับสน  หมุน "ผิด" ทิศทาง ทำให้น๊อตยิ่ง "ติดแน่น" เข้าไปอีก ... จึงขอแนะนำ หลักการจำ "ง่าย ๆ" ดังนี้ ...

               คือ ให้จำว่า การหมุน "ตาม" ทิศทางเข็มนาฬิกา เป็นเรื่อง"ปกติ"... ใคร ๆ เอาน๊อตมาไขหรือหมุน ก็เพื่อต้องการติดยึด ต้องการไขให้แน่น จึงต้องไขน๊อต "ตาม" เข็มนาฬิกา ... ให้นึกไปถึงเวลาเราไป "เวียนเทียน" กันที่วัด เราก็เดินเวียนเทียนไป "ตาม" ทิศทางเข็มนาฬิกาเหมือนกัน  หรือเราเรียกว่า "เดิน เวียน ขวา" ... สังเกตว่า เวลาเราเดินเวียนเทียนรอบโบสถ์ แขนด้าน "ขวา" ของเราจะอยู่ "ด้านใน" หรืออยู่ "ใกล้" ศูนย์กลาง ...

               ส่วน การหมุน "ทวน" เข็มนาฬิกา เป็นเรื่อง"ผิดปกติ" ยกตัวอย่าง เช่น เราเวียนศพรอบเมรุก่อนเผา จะ "เวียนซ้าย"  ซึ่งคราวนี้ แขน "ซ้าย" ของเรา มาอยู่ "ด้านใน" หรือ "ใกล้" ศูนย์กลางแทนแล้ว !   การคลายน๊อต ก็เช่นกัน ต้องหมุน "ทวน" เข็มนาฬิกา จึงจะคลายน๊อตออกมาได้ ...

               หวังว่า อธิบายไปมาแล้ว คงไม่ทำให้ท่านผู้อ่าน "เวียนหัว" เสียก่อน นะ ครับ !

 

               หากท่านผู้อ่าน ต้องการสอบถามเรื่องใด ที่เกี่ยวข้องกับงานช่างในบ้าน เชิญสอบถามมาได้ที่ [email protected]  ยินดีตอบ "ทุกคำถาม" ... เรื่องราวที่ถามมา หากเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ผมก็จะมาเขียนไว้ที่ blog นี้ ...

               ไม่มีช่างคนไหน เอาใจใส่ และ ดูแล บ้านของท่าน ... ได้ "ดี" และ "ถูกใจ" เหมือน ตัวท่านเอง ...

               อยากให้ "ความเป็นช่าง" มีอยู่ในตัว "ทุก ๆ คน" ... ครับ !

 

หมายเลขบันทึก: 60717เขียนเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2006 19:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มิถุนายน 2012 19:37 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

 

เอ.. ใช้เท้าขันมันเป็นยังไงเหรอคะ  เคยเห็นแต่ใช้เท้าถีบ  (จริงนะ.. เคยเห็นตอนเขาใช้เท้าถีบตัวขันน็อตรถยนต์น่ะ ^^)

ไม่ค่อยได้ขันน๊อตนะคะ เพราะตอนนี้เวลาทำงานบนวอร์ด  ก็ตัวเป็นเกลียว หัวเป็นน๊อต ทุกวันเลยล่ะ  นึกแล้วก็อยากจะหมดแรงก่อนทำทุกที T_T

 

 

  • ตอบ คุณ k-jira ... การใช้ "เท้า" มาช่วยขันน๊อตล้อรถยนต์ ก็เหมือนอย่างที่คุณเคยเห็นเขาใช้เท้า "ถีบ" ... เพียงแต่อาจจะเรียกต่างกัน
  • เห็นใจคุณ k-jira มาก ๆ ที่ทำงานบน ward จนตัวเป็นเกลียว ... แล้ว "หัวเป็นน๊อต" ทุกวัน !   แต่ ...  อย่าเพิ่ง "หมดแรง" ก่อนนะครับ !  ในเมื่อ "หัวเป็นน๊อต" แล้ว  เราก็ต้อง "ขันน๊อตที่หัว" คือ เอา "อารมณ์ขัน" มาใส่หัวของเรา  คิดถึงแต่เรื่อง "ตลก ... ขำ ๆ ..." ในอดีต มาสลับกับเรื่อง งานที่ทำอยู่ตรงหน้า ในปัจจุบัน  ทำบ่อย ๆ เข้า ....  "เกลียว" (ความเครียด) ที่อยู่กับ "ตัว" ก็จะค่อย ๆ คลายออกเอง  

น่าสนใจมากคับ ขอบคุณคับ

ขอ ขอบคุณ ... คุณ lee ... มาก ๆ ครับ ! ที่ แวะ เข้า มา + "อด ทน" อ่าน ...

แล้ว ยัง ช่วย กรุณา ช่วย แสดง ความ เห็น ... ให้ "กำลังใจ" กัน ด้วย ... !

อาจ จะ "ตอบ ช้า" ไป บ้าง ... [ นาน หลาย เดือน ! ]

แต่ ผม คิด ว่า ... "ดี กว่า" ... รับ ทราบ ไว้ "เงียบ ๆ" อยู่ คน เดียว ... ครับ !

 ปัจจุบัน ... ผม ได้ มี กิจกรรม เกี่ยว กับ การ สอน "งาน ช่าง" มาก มาย ...

แต่ จะ "เน้น หนัก" ไป ทาง "งาน ไม้" ...

ท่าน ที่ สนใจ จะ ติด ตาม ไป อ่าน เพิ่ม เติม ... เชิญ click ที่ นี่ ครับ !

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท