ค้นแล้วเขียน“สอนน้อยลง-เรียนมากขึ้น”


โจทย์หรือข้อคำถามทั้งหมด ตลอดทั้งภาคเรียนรวบรวมได้กี่ข้อ เปิดเทอมมาก็แจ้งผู้เรียนให้เรียบร้อยเลยว่า คำถามทั้งหมดนี้ นักเรียนต้องค้นคำตอบจากแหล่งความรู้ มาเรียบเรียงด้วยถ้อยคำของนักเรียนเอง อนุญาตให้นำตำรา โทรศัพท์ หรือคอมพิวเตอร์มาใช้ในการทดสอบได้อย่างไม่มีข้อจำกัด

ประสบการณ์ครูตัวเองระยะหลัง พบว่า นักเรียนเขียนบรรยาย หรืออธิบายอะไรไม่ค่อยได้ ให้สรุป ก็มักใช้วิธีคัดลอก ตัดแปะประโยคเอา ใครอ่านก็รู้ถึงความกระโดกกระเดกของภาษา เพราะไม่ได้เขียนจากความเข้าใจ มักบอกศิษย์เสมอๆว่า "อ่านทำความเข้าใจให้กระจ่าง จากนั้นปิดตำราหรือแหล่งข้อมูลนั้นเสีย แล้วลงมือบรรยายออกมาอย่างที่เราเข้าใจ" ศัพท์แสงบางคำ หรือบางประโยคที่เฉพาะเจาะจงจริงๆ จะคัดลอกบ้างก็ไม่แปลกแต่อย่างใด สำคัญที่ข้อความซึ่งพรรณนาต้องเป็นคำหรือประโยคจากเราเอง จึงจะเกิดประโยชน์สูงสุด ในการศึกษาเรื่องราวจากแหล่งเรียนรู้ต่างๆ ที่มีอย่างมากมายในปัจจุบัน

เมื่อปีการศึกษาที่ผ่านมา กลวิธีของผม จึงทดสอบย่อยนักเรียนด้วยการให้เขียนอธิบายคำตอบ รายวิชานั้นมีสาระสำคัญหลักอะไร จุดประสงค์ หรือผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง มักบอกประเด็นเหล่านี้ไว้อย่างละเอียดแล้ว โจทย์หรือข้อคำถามทั้งหมด ตลอดทั้งภาคเรียนรวบรวมได้กี่ข้อ เปิดเทอมมาก็แจ้งผู้เรียนให้เรียบร้อยเลยว่า คำถามทั้งหมดนี้ นักเรียนต้องค้นคำตอบจากแหล่งความรู้ มาเรียบเรียงด้วยถ้อยคำของนักเรียนเอง อนุญาตให้นำตำรา โทรศัพท์ หรือคอมพิวเตอร์มาใช้ในการทดสอบได้อย่างไม่มีข้อจำกัด เราจะทดสอบย่อยหรือทยอยตอบคำถามเหล่านี้ สัปดาห์ละ 3-4 ข้อ มีข้อแม้ว่า ทุกข้อนักเรียนต้องระบุแหล่งข้อมูลที่ใช้ในการอ้างอิงมาทั้งหมดด้วย

การประเมินผลแต่ละข้อ ใช้เกณฑ์วัดว่าผ่านหรือไม่ผ่านเท่านั้น ทั้งนี้เพื่อความรวดเร็วและทันในการตรวจคำตอบอัตนัยอันมากมายของครู เกณฑ์ประเมินผลในภาพรวม อาจใช้วิธีนับข้อผ่าน มีโจทย์ทั้งหมดกี่ข้อ ผมมักกำหนดจำนวนข้อที่ผ่านตลอดเทอม ควรสักร้อยละ 80 ของทั้งหมด เพื่อกระตุ้นความเอาจริงเอาจังในการเตรียมค้นคว้าหาคำตอบ

เวลาที่เหมาะสมในการสอบแต่ละครั้ง ควรสัก 1 คาบหรือ 1 ชั่วโมง จำนวนข้อที่พอดีน่าจะเป็น 3-4 ข้อ ถ้าน้อยข้อเกินในเวลาเท่านี้ นักเรียนมักไม่เตรียมค้นมาก่อนล่วงหน้า เพราะเวลาในห้องสอบเหลือเฟือ เครื่องมือหรือแหล่งข้อมูลที่อนุญาตให้ใช้นั้น ก็สะดวกรวดเร็ว ทำให้หลายคนมักขาดความกระตือรือร้น แต่ถ้ากำหนดเวลาน้อยกว่านี้ อาจกดดันนักเรียนเกินไป ข้อสังเกตเรื่องเวลาและจำนวนข้อตามที่กล่าว ได้จากประสบการณ์ที่ผ่านมาครับ ฉะนั้น 3-4 ข้อต่อคาบ น่าจะพอเหมาะ ซึ่งตัวเองจะใช้กับภาคเรียนใหม่นี้ด้วย

เพื่อเป็นแรงจูงใจ ประกอบกับเนื้อหาที่นักเรียนค้นคว้ามาตลอดทั้งภาคเรียนนั้น ครอบคลุมทุกสาระสำคัญอยู่แล้ว ผมจึงบอกโจทย์ข้อสอบกลางภาคและปลายภาคให้กับนักเรียนล่วงหน้าเลย “ครูจะสุ่มคำถามเหล่านี้ ไปถามพวกเธอในการสอบกลางภาคและปลายภาคด้วย” แต่อย่างที่พวกเรารู้การจัดสอบของโรงเรียน ไม่สามารถเปิดตำรา ค้นจากโทรศัพท์ หรือคอมพิวเตอร์ได้ เหมือนในชั่วโมงเรียน

ผลการจัดการเรียนรู้เช่นนี้ ซึ่งตัวเองเริ่มอย่างจริงจัง เมื่อปีการศึกษาที่ผ่านมา หรือทดลองมาแล้วสองภาคเรียน ปรากฏว่า นักเรียนแทบทุกคน ตั้งใจ เอาจริงเอาจังกับการสอบ คำตอบที่ได้มีความถูกต้องหรือผ่านเกณฑ์เป็นส่วนใหญ่ แม้การคัดลอกตัดแปะข้อความจากการศึกษาค้นคว้าจะยังคงมีอยู่ ซึ่งดูจะเปลี่ยนแปลงยาก(ฮา) แต่พัฒนาการของคำตอบ โดยเฉพาะในภาคเรียนที่สอง หรือช่วงท้ายๆของการดำเนินการ อดชื่นชมนักเรียนหลายคนไม่ได้ ซึ่งย้ำให้ครูรู้ว่า “บางเรื่องยากจะเปลี่ยนแปลงก็จริง แต่ใช่ว่าจะเปลี่ยนแปลงไม่ได้” ถ้าเราจริงจัง เข้มงวด และสม่ำเสมอ ในการตรวจประเมิน รวมทั้งชี้แนะ

ปัญหาอุปสรรคที่เห็นเป็นเรื่องของเวลาจัดการเรียนรู้หรือเวลาที่ใช้ในการสอบ กิจกรรมหรืองานอื่นของโรงเรียนเข้ามาเบียดแทรกแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัวตลอด ทำให้วางแผนหรือกำหนดเวลาในการสอบลำบาก เทอมที่แล้วมีสอบไม่ทันบางห้อง หมายถึง จบเทอมแล้วหรือจวนจะสอบปลายภาค ก็ยังสอบไม่ได้ครบตามที่กำหนด แก้ปัญหานี้ด้วยการให้นักเรียนสอบเป็นการบ้านในข้อที่เหลือมาส่งแทน

อีกอย่างนักเรียนบางคนไม่มีโทรศัพท์หรือไม่มีคอมพิวเตอร์ในการค้น นักเรียนกลุ่มนี้จึงเตรียมค้นความรู้มาจากร้านเกม หรือร้านอินเทอร์เน็ต ด้วยการพิมพ์เป็นเอกสารมา เห็นความพยายามของนักเรียนที่ขาดแคลนกลุ่มนี้ครับ เราเกิดความรู้สึกไม่ดีด้วย ศิษย์แต่ละคนมีไม่เท่ากัน ข้อได้เปรียบเสียเปรียบจึงเกิด ทั้งที่ตลอดชีวิตครูเราระวังเรื่องนี้เป็นพิเศษอยู่แล้ว

วิธีการเช่นนี้ นอกจากจะทำให้นักเรียนได้รับการฝึกฝน ปรับปรุง หรือพัฒนาในเรื่องการศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง รวมทั้งนำเสนอความคิดความอ่าน จากการวิเคราะห์ สังเคราะห์ ในรูปแบบการเขียนแล้ว ยังลดความกังวลใจของครูผู้สอน ในเรื่องกลัวจะสอนเนื้อหาสาระไม่ทันตามหลักสูตรได้อีกด้วย เมื่อความกังวลเรื่องนี้ลดลง ความพยายามจะอธิบาย(ลูกเดียว)ของครู เพื่อให้ลูกศิษย์รู้ครบ รู้มาก แข่งกับคนอื่นได้ ก็จะลดลงตามไปด้วย

นักเรียนคิดมากขึ้น ครูบรรยายลดลง นักเรียนเรียนมากขึ้น ครูสอนน้อยลง..

ทันสมัยเสียด้วยสิ!

หมายเลขบันทึก: 607144เขียนเมื่อ 24 พฤษภาคม 2016 22:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 พฤษภาคม 2016 23:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

การเรียนรู้แบบนี้จะเกิดประโยชน์กับนักเรียน

นักเรียนจะได้เขียนประมวลความรู้เป็นภาษาของตนเอง

เป็นการฝึกทักษะกระบวนการคิดที่ดีมากครับ

ขอบคุณครับ

มาร่วมชื่นชมและเป็นกำลังใจค่ะ

  • เด็กๆดีขึ้นครับ ทั้งเรื่องค้นคว้าและเรียบเรียง..
  • ขอบคุณอ.ขจิตมากครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท