เวทีถอดบทเรียนงานเบาหวานของ สพช. (๑)


ความรู้อีกส่วนหนึ่งมาจากการปฏิบัติ บางทีเราทำกันจนเคยชิน ต้องคิดใหม่ว่าที่เราทำอยู่ทุกวันนี้ อะไรที่ดี อะไรที่ต้องทำต่อ อะไรที่ควรโละทิ้ง

เมื่อวันที่ ๑๔-๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๔๙ สถาบันวิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน (สพช.) ได้จัดการประชุมเพื่อถอดบทเรียนการดำเนินงานพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยเรื้อรัง : กรณีเบาหวาน ขึ้นที่โรงแรมเดอะริช ตำบลบางไผ่ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี ดิฉันได้ไปร่วมเป็นวิทยากรในงานนี้ด้วย

ผู้เข้าประชุมเป็นทีมเบาหวานจาก CUP ตัวแทนจาก ๔ ภูมิภาค รวมทั้งหมด ๙ CUP ประมาณ ๔๐ คน มีทั้งแพทย์ พยาบาล เภสัชกร นักกายภาพบำบัด นักโภชนาการ นักวิชาการสาธารณสุข จพ.สาธารณสุข จนท.บริหารงานสาธารณสุข และผู้ช่วยเหลือผู้ป่วย

วัตถุประสงค์ของการประชุมมี ๓ ข้อคือ (๑) จัดเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ดีๆ ของคนทำงาน (๒) เพื่อสังเคราะห์และสรุปบทเรียนการดำเนินงานและเผยแพร่สื่อสารแก่ผู้สนใจ และ (๓) เพื่อสร้างให้เกิดเครือข่ายของการพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยเรื้อรัง

การประชุมในวันแรกเริ่มเวลา ๐๙.๐๐ น. คุณพิศมัย ยอดยิ่ง หรือคุณป้อม นักวิชาการสาธารณสุข ๗ กลุ่มงานประกันสุขภาพ สสจ.ชลบุรี นำกิจกรรมทำความรู้จักและเปิดใจเรียนรู้ โดยให้ผู้เข้าประชุมนำป้ายชื่อไปให้กัน แนะนำตนเองและเพื่อนที่เพิ่งรู้จัก ต่อจากนั้นให้ผู้เข้าประชุมเขียนความคาดหวังลงในหัวใจสีเหลือง ดิฉันสังเกตเห็นว่าบางคนตั้งใจเขียนมากทำท่าเหมือนกำลังทำข้อสอบ มีชำเลืองดูของเพื่อนข้างๆ ด้วย

ผู้เข้าประชุมเขียนความคาดหวังของตนเอง

ผู้เข้าประชุมบางคนได้พูดบอกให้รู้ด้วยว่าอยากได้สิ่งที่ปฏิบัติได้จริงๆ ไม่ใช่วิชาการ อยากได้รูปแบบการดำเนินงานใหม่ๆ ที่จะเอาไปปรับใช้ได้ อยากรู้ประสบการณ์ของแต่ละโรงพยาบาล รวมทั้งอยากได้มิตรภาพ เราจับ keyword ได้ว่าสิ่งที่ผู้เข้าประชุมอยากได้คืออะไรที่ “แปลก ใหม่ ดี สำเร็จ”

คุณหมอสุพัตรา ศรีวณิชชากร ผู้อำนวยการ สพช.ได้มาแนะนำว่า สพช.เป็นหน่วยงานที่เพิ่งเกิดไม่นาน บอกเหตุผลที่หยิบเอาเรื่องเบาหวานขึ้นมา และกล่าวว่าเมื่อพูดถึงเรื่องโรคเรื้อรังและการเปลี่ยนพฤติกรรม มีทฤษฎีอยู่เยอะ แต่หลายคนอยากรู้ว่าของจริงทำอย่างไร ความรู้อีกส่วนหนึ่งมาจากการปฏิบัติ บางทีเราทำกันจนเคยชิน ต้องคิดใหม่ว่าที่เราทำอยู่ทุกวันนี้ อะไรที่ดี อะไรที่ต้องทำต่อ อะไรที่ควรโละทิ้ง อะไรเป็นบทเรียนที่ทำได้สำเร็จ บทเรียนที่ภาคภูมิใจ บทเรียนที่มีปัญหา จึงอยากให้ทบทวนด้วยตัวเอง ทบทวนกับเพื่อนๆ ทีมผู้จัดประชุมจะทำหน้าที่เป็น facilitator คอยฟัง คอยเก็บ

 

คุณหมอสุพัตรา ศรีวณิชชากร กำลังกล่าวกับผู้เข้าประชุม

 

หลังรับประทานอาหารว่าง เป็นช่วง “เล่าสู่กันฟัง” CUP ๘ แห่ง ได้แก่ รพ.เกาะคา (มีเพื่อนแซวว่าอยู่จังหวัดริมทะเลหรือเปล่า), รพ.สุไหงโก-ลก, ทีมเบาหวานจังหวัดหนองบัวลำภู, รพ.อุทุมพรพิสัย,  รพ.สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช, รพ.ตาคลี, รพ.ครบุรี, และ รพ.สมุทรสาคร มาเล่าเรื่องราวความสำเร็จและสิ่งที่ภาคภูมิใจของตนเองให้ที่ประชุมฟัง ดิฉันได้เรียนรู้วิธีคิดวิธีทำงานดีๆ ที่แตกต่างหลากหลาย ทาง สพช.คงจะนำรายละเอียดมาเผยแพร่ต่อไป

ช่วงบ่ายหลังรับประทานอาหารกลางวัน คุณป้อมทำกิจกรรมสนุกๆ เพื่อให้ทุกคนตื่นตัวกันเล็กน้อย แล้วเข้าสู่กิจกรรมกลุ่มย่อยที่จัดคละโรงพยาบาล ๕ กลุ่ม ให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันกลุ่มละ ๑ ประเด็นคือ (๑) การสร้างและการพัฒนาทีมเบาหวาน (๒) การคัดกรองและการจัดการกับกลุ่มเสี่ยง (๓) Case Management (curative & care) (๔) การให้ข้อมูล เสริมความรู้และพัฒนาทักษะ- self-management support (๕) ระบบข้อมูล ทุกหัวข้อจะมีประเด็นคำถามให้หาคำตอบมากน้อยแล้วแต่เรื่อง เมื่อฟังเรื่องเล่าของทุกคนแล้ว สมาชิกกลุ่มช่วยกันตอบคำถามที่ตั้งไว้และช่วยกันคิดว่า “อะไรคือหัวใจ” ของเรื่องนั้นๆ

 

บรรยากาศในกลุ่มย่อย

 

หลังพักรับประทานอาหารว่างก็เป็น “เล่าสู่กันฟังช่วงที่ ๒” แต่ละกลุ่มส่งตัวแทนนำเรื่องราวจากกลุ่มย่อยมาเล่าให้กลุ่มใหญ่ได้รู้ด้วย คุณหมอสุพัตราทำหน้าที่เป็น facilitator ช่วยกระตุ้นและตั้งคำถามให้คิดต่อ ดิฉันบันทึกหัวใจสำคัญของเรื่องต่างๆ ได้ดังนี้

หัวใจสำคัญของทีมคือ คนทำงานสนุกและมีความสุข
หัวใจของการคัดกรองและกระบวนการดูแลกลุ่มเสี่ยงคือ ให้ชุมชนตระหนัก เรียนรู้ และเปลี่ยนพฤติกรรม
หัวใจของ case management คือ ระดับน้ำตาลที่น่าพอใจ คนไข้และญาติมีคุณภาพชีวิตที่ดี
หัวใจของ self-management support คือ การมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย ความรู้และทักษะของผู้ให้ ความรู้ที่ให้สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมาย ความรู้นำไปใช้ได้
หัวใจของระบบข้อมูลคือ การเก็บข้อมูลครบถ้วน ถูกต้อง เป็นปัจจุบัน มีการวิเคราะห์

จบกิจกรรมวันแรกด้วยการให้สรุปว่าได้อะไรไปบ้างในวันนี้ ผู้จัดยังให้ผู้เข้าประชุมเสนอด้วยว่าพรุ่งนี้อยากแลกเปลี่ยนเรื่องใดเพิ่มเติมจากที่จัดไว้บ้าง

ปิดประชุมในเวลา ๑๘.๐๐ น. เรารับประทานอาหารเย็นร่วมกัน ผู้จัดบอกให้พร้อมเตรียมนอนตีพุง เพราะย่านนั้นไม่มีที่เที่ยวหรือที่ช็อปปิ้งเลย ทีมผู้จัดและวิทยากรคุยกันต่อเพื่อทบทวนงานและวางแผนสำหรับวันพรุ่งนี้

วัลลา ตันตโยทัย วันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๙

 

หมายเลขบันทึก: 60710เขียนเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2006 18:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มิถุนายน 2012 09:18 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • เยี่ยมมากเลยครับ
  • คนทำงานสนุกและมีความสุข
  • ให้ชุมชนตระหนัก เรียนรู้ และเปลี่ยนพฤติกรรม
  • การมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย ความรู้และทักษะของผู้ให้ ความรู้ที่ให้สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมาย ความรู้นำไปใช้ได้
  • การเก็บข้อมูลครบถ้วน ถูกต้อง เป็นปัจจุบัน มีการวิเคราะห์
  • ขอบพระคุณมากครับที่นำมาแบ่งปัน ขออนุญาตนำหัวใจของหลายๆ ข้อ ไปปรับใช้ต่อในงานส่งเสริมการเกษตรนะครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท