ค่านิยมในเพลงกล่อมเด็กกลุ่มชาติพันธุ์ไทลาว ไทโย้ย ผู้ไทและไทย้อ ในเขตจังหวัดสกลนคร


เพลงกล่อมเด็กจะเกิดขึ้นเมื่อใดไม่เป็นที่ทราบได้ แต่คาดว่ามีมานาน จนเราไม่ทราบระยะเวลาที่เกิดแน่นอน ซึ่งเพลงกล่อมเด็กนั้นเป็นการแสดงออกทางวาจาเกี่ยวกับเด็กอันเป็นลักษณะสากล คือ มีอยู่ทั่วไปในหลายชาติหลายภาษาทั่วโลก ประหนึ่งได้เกิดขึ้นมานานแล้ว โดยไม่มีการแจ้งให้ทราบแน่นอนว่าเพลงไหนเกิดขึ้นเมื่อไหร่ และใครเป็นผู้แต่ง (กรมศิลปากร .2548 : บทนำ) แต่มีผู้คาดว่าคงเกิดขึ้นภายหลังที่มนุษย์เริ่มรู้จักใช้ภาษาพูดไม่นานนัก บางคนสันนิษฐานว่า เพลงกล่อมเด็กเกิดขึ้นพร้อมกับที่ศาสนาพุทธได้อุบัติขึ้นโดยอ้างหลักฐานจากเรื่องเวสสันดรชาดก กัณฑ์กุมาร ตอนที่ชูชกพาสองกุมารเดินทางรอนแรมมากลางป่า เมื่อถึงเวลากลางคืนชูชกหนีภัยจากสัตว์ป่าขึ้นไปผูกเปลนอนอยู่บนต้นไม้ แล้วผูกสองกุมารไว้ใต้ต้นไม้ เมื่อสองกุมารร้องไห้เรียกหาพระนางมัทรี ร้อนถึงเทวดาต้องแปลงกายเป็นพระเวสสันดรและพระนางมัทรีเห่กล่อมให้สองกุมารบรรทมจึงหลับลงได้

เพลงกล่อมเด็กนั้นกำเนิดตอนแรกในหมู่ของชนสามัญก่อน แล้วจึงแผ่ขยายไปสู่ชนชั้นสูงโดยมีการดัดแปลงให้ไพเราะ ดังมีปรากฏในด้านประเพณี คือ ประเพณีพระอู่ของพระเจ้าลูกเธอ พระเจ้าลูกยาเธอที่ยังทรงพระเยาว์โดยมีข้าหลวงขับกล่อมพระบรรทมและขับกล่อมเมื่อพระกุมารยังทรงพระอู่แล้วการนิยมการขับกล่อมเด็กเพื่อให้หลับง่ายนั้นก็เป็นที่นิยมของประชาชนทั่วไป (ประคอง ธะสมและเอื้อมพร กิจวิวัฒนกุล.2516 : 133)

เพลงกล่อมเด็กอีสานน่าจะมีวิวัฒนาการมาจากการเลี้ยงดูที่ผู้เลี้ยงเปล่งเสียงเอื้อน โดยใช้การเอื้อนเสียงว่า เออ เอ้อ เออ เอ่ย โดยลากเสียงท้ายยาว ๆ ต่อมาเมื่อการใช้เสียงเอื้อนแล้วเด็กนอนไม่หลับ ผู้เลี้ยงจึงมีการร้องเป็นเรื่องราวเพื่อให้เด็กเพลิดเพลิน และอีกทั้งการร้องก็มีลีลาชวนให้เด็กหลับง่ายยิ่งขึ้น จนในที่สุดเพลงกล่อมเด็กอีสานก็มีเนื้อเพลงมากมายมีโวหารที่น่าฟัง ส่วนการร้องเพลง ขับกล่อมนั้นเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้เด็กเพลิดเพลินและหลับง่ายยิ่งขึ้น ทั้งนี้เป็นเพราะลีลาและท่วงทำนองของเพลงกล่อมเด็กนั่นเอง

เพลงกล่อมเด็กอีสานมีเนื้อเพลงสั้นยาวแตกต่างกัน ทั้งนี้ผลเนื่องจากการจดจำผู้ร้องอาจจดจำได้ไม่หมด และอาจจะเป็นด้วยเหตุว่าผู้ร้องมีความสามารถในการประพันธ์จึงแต่งเสริมทำให้เนื้อเพลงยาวมากยิ่งขึ้นโดยมีลักษณะเนื้อหาและท่วงทำนองแตกต่างกันบ้างตามชาติพันธุ์นั้น ๆ โดยเฉพาะจังหวัดสกลนคร ซึ่งมีประชากรหลากกลุ่มชาติพันธุ์ เช่น ไทลาว ไทโย้ย ผู้ไทและไทย้อ เป็นเขตพื้นที่พหุวัฒนธรรมที่หลากหลายด้วยชาติพันธุ์ ความเชื่อ พิธีกรรม จึงเป็นที่น่าสังเกตว่า เด็กอ่อนวัยนั้นได้เรียนรู้อะไรจากกระบวนการขับกล่อมด้วยเพลงกล่อมเด็กซึ่งสะท้อนอยู่ในเนื้อหาของเพลงกล่อมเด็กในกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ เพื่อแสดงถึงคุณค่าและความสำคัญของเพลงกล่อมเด็กหลากหลายกลุ่มชาติพันธุ์ในเขตจังหวัดสกลนคร

จังหวัดสกลนครเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีวัฒนธรรมที่เด่นชัดทางด้านพหุวัฒนธรรมที่หลากหลายกลุ่มชาติพันธุ์ ความเชื่อและพิธีกรรม ซึ่งมีวรรณกรรมทั้งที่เป็นลายลักษณ์และมุขปาฐะยังมีส่วนสะท้อนภาพของสังคมที่ร่วมกันอยู่หลากหลายชาติพันธุ์ในลักษณะพื้นที่พหุวัฒนธรรมที่อยู่ร่วมกันได้อย่างชัดเจน เพลงกล่อมเด็กมีความสำคัญในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมท้องถิ่นนั้น จากแนวคิดที่ว่า วรรณกรรมเป็นเสมือนกระจกเงาสะท้อนภาพสังคมให้เห็นความคิดของผู้เขียนและแสดงเหตุการณ์ในสังคม การศึกษาเพลงกล่อมเด็กจึงทำให้ผู้ศึกษาสามารถเข้าใจวิถีชีวิต ภูมิปัญญาการใช้ภาษาเพื่อสะท้อนภาพสังคมอันจะนำไปสู่การเรียนรู้และพัฒนาต่อไป (วิภา กงกะนันท์, 2523 : 137 - 142)

บทความนี้ปรับปรุงมาจากงานวิจัยเรื่อง การศึกษาเพลงกล่อมเด็กกลุ่มชาติพันธุ์ไทลาว ไทโย้ย ผู้ไทและไทย้อ ในเขตจังหวัดสกลนคร ซึ่งศึกษาวิจัยเพลงกล่อมเด็กหลากกลุ่มชาติพันธุ์ในเขตพื้นที่จังหวัดสกลนคร ในช่วง พ.ศ. 2555-2556 โดยพบว่ามีการแสดงค่านิยมที่สำคัญที่จะเป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้และเข้าใจว่าเพลงกล่อมเด็กเหล่านี้เป็นเครื่องแทน “สภาวการณ์” ความนิยมที่ปรากฏอย่างเด่นชัดและความเป็นอัตลักษณ์ของท้องถิ่นจังหวัดสกลนคร ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติที่สังคมยอมรับปฏิบัติกันอย่างแพร่หลาย แนวปฏิบัติเหล่านี้อาจเป็นที่ยอมรับกันภายในบางช่วงเวลาตามความนิยม และอาจจะกลายเป็นความนิยมที่คงทนปฏิบัติกันสืบต่อนานขึ้นจนปรับเปลี่ยนเป็นวัฒนธรรมได้ในลำดับต่อไป

ค่านิยมในการสร้างครอบครัวให้สมบูรณ์

เพลงกล่อมเด็กกลุ่มชาติพันธุ์ไทลาว ไทโย้ย ผู้ไทและไทย้อ ในเขตจังหวัดสกลนคร สะท้อนค่านิยมในการสร้างความสมบูรณ์ให้กับครอบครัวตนเอง เพราะเชื่อว่าครอบครัวที่สมบูรณ์ย่อมนำมาซึ่งความสุขสบาย ดังปรากฏในเพลงกล่อมเด็กที่มักเรียกกันว่า “เพลงแม่ฮ้างกล่อมลูก หรือเพลงแม่หม้ายกล่อมลูก” ดังตัวอย่าง

“นอนอู่แก้วนอนแล้วแม่สิกวย แม่สิไปเข็นฝ้ายเดือนหงายเว้าผู้บ่าว

แม่สิไปหาพ่อน้ามาเลี้ยงให้ใหญ่สูง”

(นคร จงรักษ์. ไทลาว : 2555)

ถอดความว่า

นอนเสียเถิดลูก หลับตาแม่จะกล่อมแม่จะไกว แม่จะไปปั่นฝ้ายเดือนเพ็ญเกี้ยวผู้ชายเพื่อหาพ่อเลี้ยงมาเลี้ยงให้เติบโต

“..เพิ่นได้กิ๋นปลาค่าวโต๋ท่อลำตาล เฮาได้กิ๋นปลาค่าวขี้ก้างไทบ้านเพิ่นให้ทาน

ส่วนว่าลุงและป้าอ่าวอาเอยเพิ่นบ่เบิ่ง แม่ซิหาพ่อน้านี่มาเลี้ยงให้ใหญ่สูง

นอนซะเยอบักอ้ายน้อยนอนเยอ นอนซะหล่าหลับตาแม่ซิกล่อม...”

(อ่อนแก้ว ศรีสร้อย. ไทโย้ย : 2555)

ถอดความว่า

คนอื่นเขาได้ทานปลาค่าวตัวโตเท่าต้นตาล เราได้ทานปลาค่าวตัวเล็ก ที่เขาให้ทาน ส่วนว่าลุงป้าญาติพี่น้องเขาไม่ดูแล แม่จะหาพ่อเลี้ยงมาเลี้ยงให้เติบโต

เพลงกล่อมเด็กบางเพลงมีลักษณะเป็นเพลงของ “แม่หม้าย” ที่พรรณนาถึงความต้องการที่จะสร้างความสมบูรณ์ให้แก่ครอบครัว ซึ่งเพลงกล่อมเด็กของกลุ่มชาติพันธ์ไทโย้ยและผู้ไทได้อธิบายถึงเหตุผลความทุกข์ยากของการครองความเป็นหญิงหม้ายว่า “เพิ่นได้กิ๋น ปลาค่าวโต๋ท่อ ลำตาลเฮาได้กิ๋นปลาค่าวขี้ก้างไทบ้านเพิ่นให้ทาน ส่วนว่าลุงและป้าอาวอาเอยเพิ่นบ่เบิ่ง”แปลว่า เขาได้รับประทานปลาค่าวตัวเท่าต้นตาล เราได้รับประทานปลาค่าวตัวเล็กที่เขาให้ทาน ส่วนลุงป้าญาติพี่น้องไม่ดูแล และ“ลุงและป้าอาอาวเพิ่นบ่เบิ่ง เบิ่งกะเบิ่งอยู่ฮั่นแล้วเห็นหน้าเพิ่นผัดซัง ลูกเพิ่นหนอได้กินปลาแข้โตท้อเฮือน ลูกเพิ่นหนอได้กินปลาเสือโตท้อหัวช้าง มาลูกโตหนอได้กินปลาค้าวขี้ก้างทั้งส่ำเพิ่นเฮ้อทาน” แปลว่า ลุงป้าอาและญาติพี่น้องไม่ดูแล ถึงแม้จะดูละก็ไม่เต็มใจเพียงเห็นหน้าเขาก็รังเกียจ ลูกคนอื่นเขาได้รับประทานปลาจะเข้ตัวเท่าเสาเรือน ลูกคนอื่นเขาหนอได้รับประทานปลาเสือตัวเท่าหัวช้าง ส่วนว่าลูกตัวเอง ได้รับประทานปลาค้าวตัวเล็กเท่าที่เขาให้ทาน จากข้อความที่ยกมาพอจะสะท้อนความทุกข์ใจของแม่หม้ายได้ว่าเพราะเหตุใดจึงมีคตินิยมอยากสร้างครอบครัวที่สมบูรณ์

นอกจากนี้ยังสะท้อนถึงการประกอบสัมมาชีพประเภทหนึ่งที่ใช้เป็นเครื่องมือในการสื่อถึงความต้องการสามีของหญิงหม้าย คือ การไปรวมกลุ่มกับชาวบ้าน (ลงข่วง) เพื่อเข็ญฝ้าย (กรรมวิธีการทำเส้นด้ายจากใยฝ้าย) เพื่อใช้เป็นพื้นที่สื่อรัก

การลงข่วงเข็นฝ้าย (อิ้วฝ้าย) นั้นไม่ได้จำกัดเพียงแม่หม้ายเท่านั้นแต่ยังเป็นพื้นที่สื่อกลางของหนุ่มสาวด้วย โดยจะมีการพูดจาโต้ตอบเกี้ยวพาราสีด้วยบทกวีอีสานที่เรียกว่า “ผญา” บนข่วงที่ใช้เข็นฝ้าย “ข่วง” หมายถึง อาณาเขตบริเวณบ้านหรือลานบ้านที่ยกพื้นสูงปูด้วยไม้กระดานหรือไม้ไผ่ มีขนาดกว้างพอที่จะนั่งทำงานได้หลายคน ตรงกลางจะมีแคร่จะก่อไฟขึ้นเพื่อแสงสว่างและความอบอุ่น (สถิตย์ ภาคมฤค. ๒๕๕๐ : ๑๐)

ประเพณีลงข่วง เป็นประเพณีของผู้หญิงชาวอีสานที่เวลาที่จะทำงานหัตถกรรมมักจะทำร่วมกันเป็นกลุ่มในตอนกลางคืน ส่วนมากมักจะเป็นหน้าหนาวซึ่งเป็นฤดูการสิ้นสุดจากการทำนา พอตกค่ำหลังจากรับประทานอาหารเสร็จ ผู้หญิงที่อยู่ละแวกบ้านเดียวกันก็จะมานั่งทำงานในบริเวณเดียวกัน โดยมีการก่อกองไฟไว้ตรงกลาง การลงข่วงนี้ผู้หญิงจะจัดเตรียมหมาก พลู บุหรี่และขันน้ำเอาไว้คอยต้อนรับชายหนุ่มที่จะมาเยือนซึ่งก็จะเป็นชายหนุ่มที่อยู่ละแวกบ้านเดียวกันหรือจากบ้านอื่นชักชวนกันมาเป็นกลุ่มเพื่อที่จะได้คุยกับผู้หญิงที่ตนเองรัก โดยมีการเป่าแคน ดีดพิณดีดซึง บางก็สีซอมาด้วย เมื่อถึงข่วงจะแยกย้ายกันเข้าทักทายและสนทนาเกี้ยวพาราสีกันด้วยผญา แต่จะล่วงเกินกันไม่ได้เพราะถือเป็นเรื่องร้ายเเรง

ปัจจุบันประเพณีลงข่วงไม่มีแล้วอันเนื่องมาจากการรับเอาวัฒนธรรมอื่นมาใช้และการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีของสภาพสังคมบ้านเมืองการถูกเนื้อ ต้องตัวมีเพศสัมพันธ์จึงกลายเป็นเรื่องธรรมดา การที่จะพบปะพูดคุยของหนุ่มสาวนั่นก็ง่ายดาย ดังนั้นประเพณีการลงข่วงจึงเสื่อมสูญไปในที่สุด คงเหลือแต่บันทึกความทรงจำเท่านั้น

รูปแบบการลงข่วงของหญิงหม้ายที่ปรากฏในเพลงกล่อมเด็กนั้นสะท้อนความต้องการสร้างครอบครัวที่สมบูรณ์ให้เกิดขึ้น จะเห็นจากเพลงกล่อมเด็กตัวอย่างที่ยกมาเสนอนั้นสรุปความได้ว่า “แม่จะไปเข็ญฝ้ายเพื่อหาชายหนุ่ม (บางสำนวนบอก หาพ่อหม้าย) เอามาเป็นพ่อเลี้ยงให้เจ้า” ในกรณีเช่นนี้เพื่อสะท้อนค่านิยมที่ต้องการสร้างความสมบูรณ์แก่ครอบครัว ซึ่ง สุนีย์ เลี่ยวเพ็ญวงษ์และกุลธิดา ท้วมสุข (๒๕๔๕ : ๒๙-๓๓) กล่าวว่า การหญิงหม้าย ออกมาเข็ญฝ้ายนั้นสะท้อนถึงความต้องการสร้างครอบครัวให้สมบูรณ์เพื่อช่วยเหลือจุนเจือให้ครอบครัวสมารถดำรงอยู่ได้จึงต้องเกิดภาวะ “การให้ท่า” ด้วยการไปลงเข็ญฝ้ายเพื่อหาผู้ชายมาเป็นเสาหลักให้ครอบครัว

ภาวะการขาดเสาหลักในครัวเรือนทำให้เกิดภาวะอดอยากไม่มีการกินอยู่ที่ดีซ้ำยังกลายเป็นคนถูกขับออกจากสังคมดังบทที่ว่า

“...แม่สิเอาพ่อหน้ามาเลี้ยงเฮ้อใหญ่สูง ลุงและป้าอาอาวเพิ่นบ่เบิ่ง

เบิ่งกะเบิ่งอยู่ฮั่นแล้วเห็นหน้าเพิ่นผัดซัง...”

(จันขจร ซาระวงศ์. ผู้ไท : ๒๕๕๔)

ถอดความว่า

แม่จะหาพ่อเลี้ยงมาเลี้ยงเจ้าให้เติบโต ลุงป้าญาติพี่น้องเขาไม่ดูแล แม้นว่าจะดูบ้างแต่เมื่อเห็นหน้าก็เกลียดชังเรา

จากสภาวะดังกล่าว หญิงหม้ายจึงมักต้องเร่งสร้างครอบครัวใหม่เพื่อทดแทนครอบครัวเดิมอันจะนำไปสู่ชีวิตที่ดีขึ้น ค่านิยมเหล่านี้ผู้เป็นแม่มิได้ปิดบังกลับนำมาบรรจุในเนื้อเพลงกล่อมลูกเพื่อเป็นการระบายความทุกข์หรือความอึดอัดของตนเองที่มีต่อชะตาชีวิต ความรู้สึกเช่นนี้จึงแฝงเร้นค่านิยมสำคัญของสังคมในยุคอดีตและเป็นเครื่องชี้วัดบทบาทหน้าที่ทางสังคมที่ยังต้องอาศัยความสัมพันธ์ในหน้าที่เพื่อให้สามารถดำรงตนอยู่ได้อย่างปกติสุข


ค่านิยมในการอบรมสั่งสอนบุตรหลาน

เพลงกล่อมเด็กนอกจากจะให้ความบันเทิงในฐานะเพลงแรกที่เด็กได้ฟังแล้ว เพลงกล่อมเด็กยังมีบทบาทสำคัญที่สะท้อนถึงค่านิยมสังคมในยุคที่ยังมีการใช้วรรณกรรมนี้อยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอบรมบุตรหลานโดยมีค่านิยมเน้นการอบรมผ่านเพลงกล่อมเด็ก ทั้งที่มีการชี้แนะแนวทางและการอธิบายถึงลักษณะที่ควรปฏิบัติแก่เด็ก ค่านิยมนี้มีสองลักษณะสำคัญ คือ

ค่านิยมสั่งสอนให้บุตรหลานรู้คุณและตอบแทนบุญคุณ เป็นการสะท้อนความนิยมในการ สั่งสอนบุตรหลานให้รู้จักกตัญญูรู้คุณบุพการี เพื่อเป็นการดำเนินชีวิต ที่ดีงามตามความต้องการของสังคม ค่านิยมเช่นนี้ปรากฏในเพลงกล่อมเด็ก ทุกกลุ่มชาติพันธุ์ ดังตัวอย่าง

“เจ้าใหญ่มาอย่าลืมคุณแม่ แม่นแม่หญิงให้เจ้าไปไหว้

แม่นผู้ชายให้เจ้าไปบวช ให้ยิ่งยวดในศีลในธรรม

จำนำบุญคุณพ่อแม่ พอได้แก่ดึงขึ้นสวรรค์”

(สำรอง พรมทอง. ไทลาว: ๒๕๕๔)

ถอดความว่า

เมื่อลูกเติบใหญ่อย่าได้ลืมพระคุณพ่อแม่ แม้นว่าเป็นผู้หญิงรู้จักมีกิริยานอบน้อม หากแม้นเป็นชายให้บวชพระและเคร่งครัดในศีลวัตรเพื่อจะได้ฉุดดึงท่านขึ้นสวรรค์

“นอนสาหล่าหลับตาจั่งกล่อม นอนหลับแล้วแพงแก้วแม่จั่งไกว

นอนสาหล่านอนอู่สายปอ นอนกระทอฮ่างสมอีนางบ่มีพ่อ

นอนหลับแล้วแพงแก้วแม่จั่งไกว แม่ไปไฮ่เก็บบักหลอดมาหา

แม่ไปนาเก็บหมากมามาต้อน นอนหลับแล้วแพงแก้วแม่จั่งไกว...”

(ศรีใคร จองศรีพันธ์. ไทโย้ย : ๒๕๕๕)

ถอดความว่า

นอนเสียเถิดลูกหลับตาแม่จะกล่อมและไกวลูก นอนอู่เชือกปอนอน กระทอพังเพราะไม่มีพ่อนอนหลับแล้วแม่จะไกวเปล แม่ไปไร่เก็บผลหมากหลอดมาฝาก แม่ไปทุ่งนาเก็บผลหมากมามาฝาก

สะท้อนให้เห็นถึงค่านิยมที่ต้องการจัดการเลี้ยงดูบุตรหลานด้วยการสอนให้รู้จักการรู้คุณและการตอบแทนคุณ ดังคำที่ว่า “กตัญญู กตเวทิตา” เป็นลักษณะสำคัญ ที่เป็นค่านิยมสั่งสอนให้บุตรหลานเรียนรู้และจดจำนำไปใช้ในภายหน้า ด้วยเหตุความนิยมดังนี้จึงได้บันทึกไว้ในบทเพลงกล่อมเด็กเพื่อเป็นการระลึกและสั่งสอนเด็กตั้งแต่วัยเยาว์

ความกตัญญูรู้คุณ กตเวทิตาตอบแทนคุณนั้น เป็นแนวคิดความเชื่อที่ได้จากพระพุทธศาสนาจึงมุ่งเน้นให้เกิดความกตัญญูกตเวทีอย่างมาก เพลงกล่อมเด็กในฐานะที่เป็นวรรณกรรมท้องถิ่นจึงได้บันทึกเรื่องราวความนิยมเช่นนี้เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงปรัชญาแนวคิดที่นิยม ในยุคนั้นอันเป็นการเน้นการวางรากฐานการเป็นคนดีให้แก่เด็กที่จะเรียนรู้นับตั้งแต่เด็กจนสามารถนำไปใช้ในอนาคตได้

ค่านิยมสอนให้บุตรหลานรู้จักการปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง ค่านิยมนอกจากจะเป็นการมุ่งอบรมสั่งสอนให้เรียนรู้และเข้าใจความกตัญญูกตเวทิตาแล้ว ยังมีค่านิยมสอนการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องสำหรับเด็กเพื่อการอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข รูปแบบค่านิยมเช่นนี้มีปรากฏในเพลง กล่อมเด็กในเขตจังหวัดสกลนคร ดังตัวอย่าง

“...ให้เจ้านอนสาเด้อหล่า นอนสาอย่าสิอ้อนอู่

ครั้นแม่นลูกผู้ฮู้ นอนแล้วอย่าแอ่ววอน

ให้เจ้านอนสาเด้อหล่า นอนสาอย่าสิแอ่ว

แนวเฮาเป็นกำพร้า”

(สมาน แก้วฝ่าย. ไทลาว : ๒๕๕๕)

ถอดความว่า

ขอให้ลูกนอนเถิดอย่างอแงเป็นคนว่านอนสอนง่ายต้องพึงระลึกไว้ว่าเราเป็นเพียงลูกกำพร้าต้องทำตัวให้ดีไว้

“นอนสาหล่าหลับตาแม่จั่งกล่อม นอนเสียเด้อลูกแก้วหลับแล้วแม่จั่งไกว

นอนสาหล่านอนอู่สายไหม แม่ไกวแล้วสายใจเจ้าอย่าตื่น

บาดแม่มาฮอดแล้วอีนางแก้วจั่งตื่นมา...”

(วัน ทรายกวาด. ไทโย้ย : ๒๕๕๕)

ถอดความว่า

นอนเสียเถิดลูกรักหลับตาเถิดแม่จะกล่อมและไกวเจ้าอย่าพึ่งตื่นขึ้นมาเลย เมื่อแม่กลับมาถึงแล้วลูกจึงตื่นขึ้นมา

เพลงข้างต้นสะท้อนให้เห็นแนวปฏิบัติที่ควรอันเป็นค่านิยม ที่ควรรู้จักการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องของเด็กเพื่อให้สามารถปฏิบัติตนได้ถูกต้องตามความต้องการของสังคม รูปแบบแนวปฏิบัติที่เหมาะควรพอสรุปได้ คือ การรู้จักเชื่อฟังผู้ใหญ่และปฏิบัติตามคำแนะนำที่ผู้ใหญ่ได้อบรมสั่งสอน เพลงกล่อมเด็กของกลุ่มชาติพันธุ์ผู้ไทมีลักษณะเป็นคำสอนที่มุ่งบอกวิธีการปฏิบัติตนที่ชัดเจน ส่วนในแพลงของกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ ก็เน้นในลักษณะการชี้แนะข้อสำคัญในการปฏิบัติตนซึ่งพบได้ในเพลงกล่อมเด็กของทั้งสี่กลุ่มชาติพันธุ์

กล่าวโดยสรุปได้ว่า เพลงกล่อมเด็กกลุ่มชาติพันธุ์ไทลาว ไทโย้ย ผู้ไทและไทย้อ ในเขตจังหวัดสกลนคร นั้นมีรูปแบบสำคัญที่สะท้อนความเป็นอัตลักษณ์ของชุมชนในด้านสังคม โดยได้บันทึกองค์ความรู้เหล่านั้นในเนื้อเพลงกล่อมเด็กซึ่งกลายเป็นวรรณกรรมที่เล่าสืบต่อกันมาช้านาน ความมุ่งหมายสำคัญของเพลงกล่อมเด็กนอกจากจะให้ความบันเทิงและความสุนทรีย์แล้ว ยังช่วยจรรโลงสติปัญญาและเป็นตัวบอกเล่าให้อยู่สืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน

หมายเลขบันทึก: 606507เขียนเมื่อ 15 พฤษภาคม 2016 17:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 พฤษภาคม 2016 17:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท