เรียนรู้ปรัชญาของเศรษฐกิจอเพียงจาก รศ.ไพโรจน์ คีรีรัตน์ มอ.หาดใหญ่ สงขลา "ขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในมหาวิทยาลัย"


วันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๕๙ ผมเดินทางไกลไปเรียนจากผู้รู้ ท่านประจำอยู่ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ มอ. วิทยาเขตหาดใหญ่ รองศาสตราจารย์ไพโรจน์ คีรีรัตน์ ท่านเป็น "อาจารย์ผู้พัฒนาครู" และคิดว่าท่านจะเป็น "ครูผู้สอนอาจารย์" ในด้านการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ปศพพ.) ด้านการศึกษาในมหาวิทยาลัย ... (ผมเคยเขียนสะท้อนการเรียนรู้จากท่านแล้วครั้งหนึ่ง อ่านได้ที่นี่)

การสนทนาเป็นไปอย่างสนุกได้เรื่องประเทืองปัญญา จุดเด่นคือคนไม่เยอะ จึงได้อภิปรายเสนอความคิดเห็นอย่างเต็มที่ และมี feedback จากทุกประเด็น เห็นข้อสรุปที่ชัดเจนว่าการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา ในมหาวิทยาลัยทำอย่างไร เน้นจุดไหน ที่ทำมาได้ผลอย่างไร ฯลฯ

การพูดคุยครั้งนี้ไม่เหมือนครั้งใดๆ ที่มักเริ่มจากจุดมุ่งหมายและปัญหาที่มักกำหนดมาด้วยตนเองหรือกระบวนกรกำหนดไว้ แต่การสนทนาเริ่มตั้งแต่ร่วมกันหาว่าอะไรที่เราอยากคุย อยากคุยแบบไหน กระบวนการควรเป็นอย่างไร จะเปลี่ยนแปลงจาก "ตุ๊กตา" ที่ท่านวางไว้หรือไม่ควรจะใช้เวลาเท่าไหร่ พร้อมๆ กับการแลกเปลี่ยนกันไปมา

สิ่งที่ผมได้เรียนรู้มากๆ คือวิธีการตั้งคำถาม เป็นการถามที่ไม่ได้มุ่งให้ได้คำตอบ เช่น ไม่ใช่ถามว่า จะทำให้เข้าใจปศพพ. อย่างถูกต้องอย่างไร? หรือ อะไรคือสิ่งสำคัญที่สุดของการทำให้ผู้เรียนเข้าใจ ปศพพ. อย่างถูกต้อง? แต่ตั้งคำถามว่า จะตั้งคำถามอย่างไรให้นำไปสู่ความเข้าใจวิธีการทำให้ผู้เรียนเข้าใจได้อย่างถูกต้อง?

กลไกที่ท่านใช้คือ บูรณาการทั้งเนื้อหาและทักษะเกี่ยวกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงลงในการจัดการเรียนการสอนรายวิชาเสริมหลักสูตรของคณะขนาด ๑ หน่วยกิตวิชาหนึ่ง เป็นวิชาเรียนทั้งภาคเรียน ไม่มีห้องเรียนประจำ อาจารย์ผู้สอนจะทำความเข้าใจร่วมกันถึงจุดมุ่งหมายและขั้นตอนวิธีการสอนและทำหน้าที่เป็นเหมือน "ผู้ตั้งปัญหา" (ยิงคำถาม) มากกว่าจะเป็น "ที่ปรึกษา" เพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้

วิธีการคือแบ่งนักศึกษาเป็นกลุ่มๆ ละ ๕-๖ คน แล้วมอบหมายให้เข้าไปศึกษาเรียนรู้ในโรงเรียน ด้วยโจทย์ประมาณว่า จะทำอย่างไรก็ได้ให้นักเรียนเข้าใจปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอย่างถูกต้องผ่านการพานักเรียนลงมือทำ ใช้การเรียนรู้แบบโครงงานหรือกิจกรรมจิตอาสา ที่เน้นกระบวนการเรียนรู้ด้วยตนเองผ่านการลงมือทำ แล้วกลับมานำเสนอเป็นระยะๆ ตั้งแต่ นำเสนอ "ข้อเสนอโครงงาน" -> นำเสนอหรือสาธิตกิจกรรมที่จะนำไปสอนนักเรียน ->นำเสนอรายงานความก้าวหน้า ->นำเสนอผลการเรียนรู้ที่ได้จากการทำกิจกรรม โดยมีอาจารย์และตัวแทนครูที่อยู่โรงเรียนช่วยกัน "ตั้งคำถาม" และสะท้อนการเรียนรู้ของผู้เรียน

โดยสรุปคือ การใช้กิจกรรมหรือโครงงาน เป็นเครื่องมือ (หรือท่านใช้คำว่าตัวกลาง) ทำให้นักศึกษาเข้าใจ ปศพพ.

หลักคิดที่ตกผลึกแล้วจากการปฏิบัติและเห็นผลชัดแล้ว ของ รศ.ไพโรจน์ คือ การสร้างความเข้าใจและเข้าถึงความ "พอเพียง" จากการฝึกใช้เหตุและผล ท่านบอกว่าต้องเริ่มที่การฝึกคิดวิเคราะห์เหตุและผล พิจารณาจากสไลด์ของท่านด้านล่างครับ

ผมเรียนรู้จากท่านผ่านสไลด์นี้ดังนี้ครับ

  • เราทุกคนอยู่ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางวัตถุ เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม ทักษะการใช้เหตุผลจะทำให้เราทุกคนสามารถเข้าถึง "ความพอประมาณ" อันเป็นฐานสำคัญที่จะทำให้เกิดความสมดุลและพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงนั้นๆ
  • เหตุผลคือสิ่งกำกับสำคัญ ที่ต้องฝึกคิดให้เป็นนิสัย ไม่ว่าจะพิจารณาถึง "ความพอประมาณ" หรือ "ภูมิคุ้มกัน" คือเอาเหตุผลกำกับ
  • เมื่อสิ่งใดๆ เข้ามาสู่ตน ให้คิดวิเคราะห์เหตุผลบนฐานของความรู้และคุณธรรม วิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้ ความเสี่ยง และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ก่อนจะตัดสินใจทำหรือพูด
  • หากตัดสินใจถูกต้อง ผลจากการพูดและกระทำจะนำมาสู่ภูมิคุ้มกันที่ดี ในทางปฏิบัติอาจมีหลายทางเลือกที่เป็นไปได้ในการตัดสินใจ ให้เลือกทางเลือกที่จะทำให้เกิดผลที่กลายมาเป็นภูมิคุ้มกันที่ดีในตน
  • ต้องฝึกให้มีวิถีคิดแบบเหตุผลนี้ และมีการตรวจสอบ ประเมินตนอยู่เสมอ
  • หากทำจนเกิดเป็นนิสัย จะนำมาสู่ความสุขและความยั่งยืน

บันทึกต่อไป มาดูโมเดลของอาจารย์พีรวัศ กี่ศิริ ที่ท่านได้นำมาเสนอในการเสวนาครั้งนี้ด้วย

หมายเลขบันทึก: 604962เขียนเมื่อ 12 เมษายน 2016 23:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 เมษายน 2016 21:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีป่ีใหม่ไทย ครับอาจารย์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท