แก้ปัญหา ด้วยสหกรณ์


แก้ปัญหา ด้วยสหกรณ์

ปัญหาในปัจจุบัน มีหลากหลายแต่ปัญหาที่สำคัญที่สุดคือปัญหาเรื่อง การกิน การอยู่ของประชาชน ซึ่งในภาษาทางราชการเรียกว่า ปัญหาเศรษฐกิจและสังคม ทั้งนี้ การแก้ปัญหาอาจทำได้หลายอย่าง เช่น ประชาชนแก้ด้วยตัวเอง พึ่งพาหน่วยงานของรัฐ หรือหน่วยงานอื่นๆ หรือรวมกลุ่มกันเพื่อแก้ปัญหาร่วมกัน เป็นต้น แต่ก็ไม่สามารถแก้ไขได้อย่างแท้จริง มิหนำซ้ำยังเกิดปัญหาต่างๆ มากมายตามมา เช่น การทุจริต ฉ้อโกง ยักยอกต่างๆ นานา ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนส่วนรวมไม่จบสิ้น จึงขอยกตัวอย่างการแก้ปัญหาด้วยสหกรณ์ ดังต่อไปนี้

สหกรณ์ คือ การรวมกลุ่มของบุคคล ตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปแล้วจดทะเบียนเป็นสหกรณ์ตามกฎหมายสหกรณ์ ทั้งนี้ เป็นการรวมกลุ่มกันเพื่อแก้ปัญหาของกลุ่ม เช่น สหกรณ์การเกษตร ตั้งขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาของเกษตรกร อาทิ แก้ปัญหาด้านราคาผลิตผลเกษตร แก้ปัญหาด้านราคาปัจจัยการผลิต แก้ปัญหาด้านเงินลงทุน เป็นต้น ซึ่งมีหลักการปฏิบัติที่สำคัญ 7 หลักคือ

1. ต้องรับสมาชิกโดยความสมัครใจ คือเปิดโอกาสให้ประชาชนที่มีความเดือดร้อนเรื่องเดียวกัน และมีวัตถุประสงค์เดียวกัน เข้าเป็นสมาชิกได้ มิใช่เข้ามาเพื่อหวังประโยชน์จากเพื่อนสมาชิก เช่นเข้ามาเพื่อเลี่ยงภาษี เข้ามาเพื่อฟอกเงิน เข้ามาเพื่อหวังขูดรีดในคราบนักบุญ

2. ต้องให้สมาชิกมีสิทธิมีเสียงเสมอภาคกัน คือ สมาชิกทุกคนต้อง มีสิทธิออกเสียงเหมือนกัน ดำเนินการด้วยเสียงส่วนใหญ่ (หลักประชาธิปไตย) ห้ามยึดตามฐานะทางการเมือง ทางการงาน ทางการเงิน ทางราชการ และทางศาสนา เช่น (สส. สจ. สอบต. ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน หัวหน้างาน ประธานบริษัท ผู้จัดการบริษัท คนร่ำรวย เจ้าพ่อ เจ้าแม่ หัวหน้าส่วนราชการทั้งฝ่ายพลเรือนสามัญ ตำรวจ ทหาร ศาลต่างๆ เจ้าอาวาส เจ้าคณะฯ ต่างๆ) เป็นต้น

3. สมาชิกทุกคนต้องมีส่วนร่วม คือ สมาชิกต้องร่วมกันทั้งกาย ทั้งใจ เพื่อแก้ปัญหาต่างงๆ ร่วมกัน ไม่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของ ประธาน กรรมการ ฝ่ายจัดการ หรือคนใดคนหนึ่งโดยลำพัง เพราะการมีส่วนร่วมจะทำให้เกิดความสามัคคี และมีพลังในการทำงาน ซึ่งจะส่งผลให้งานที่ทำประสบความสำเร็จได้ง่าย เร็ว และมีประสิทธิภาพสูงขึ้น เช่น สหกรณ์ ก มีสมาชิกจำนวน 100 คน แต่ทำธุรกิจรับฝาก จำนวน 10 คนๆ ละ 100 บาท รวมเป็นเงิน 1,000 บาท และมีสมาชิกประสงค์กู้เงิน จำนวน 1,000 บาท จึงสามารถปล่อยกู้ได้เพียง 1 คน เท่านั้น ตรงกันข้ามกับ สหกรณ์ ข มีสมาชิกจำนวน 100 คน แต่ทำธุรกิจรับฝาก จำนวน 100 คนๆ ละ 100 บาท รวมเป็นเงิน 10,000 บาท และมีสมาชิกประสงค์กู้เงิน จำนวน 1,000 บาท จึงสามารถปล่อยกู้ได้ 10 คน เป็นต้น

4. สหกรณ์มีความเป็นอิสระ ในการดำเนินงาน ซึ่งเริ่มตั้งแต่การขอจดทะเบียนจัดตั้งสหกรณ์ ก็ต้องมีความเป็นอิสระ ซึ่งเกิดจากความประสงค์ของมวลสมาชิก และการดำเนินงานก็ต้องเป็นไปด้วยความอิสระ คือมวลสมาชิก คณะกรรมการ ฝ่ายจัดการต้องมีความอิสระในการดำเนินงานตามบทบาท ภาระหน้าที่ของตน ตามกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบต่างๆ มิใช้ให้ผู้อื่น หน่วยงานอื่นทั้งภาครัฐ และเอกชนเข้ามาแทรกแซงดังเช่นปัจจุบัน ซึ่งการแทรกแซงนี้ก่อให้เกิดความวิปริตทางการสหกรณ์ คือทำให้อุดมการสหกรณ์ หลักการ และวิธีการสหกรณ์ผิดเพี้ยนไปจากทฤษฎี ก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา เช่น การแทรกแซงด้านราคาผลิตผลการเกษตร ก่อให้เกิดการทุจริตในสหกรณ์ เช่นผลิตผลการเกษตรผี เป็นต้น

5. สหกรณ์ต้องให้การศึกษาอบรม แก่สมาชิก คณะกรรมการ และฝ่ายจัดการอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้เกิดความเข้าใจในอุดมการณ์ หลักการ และวิธีการของสหกรณ์อย่างถ่องแท้ และที่สำคัญต้องแทรกความรู้เกี่ยวกับ พุทธศาสตร์สหกรณ์ เข้าไปด้วยทุกครั้งเพื่อมิให้นำความรู้ไปใช้ในทางที่ผิด หรือไปใช้หาประโยชน์ส่วนตน

6. สหกรณ์ต้องให้ความร่วมมือระหว่างสหกรณ์หรือหน่วยงานอื่นเมื่อถึงคราวจำเป็น เช่น ถ้าสหกรณ์อื่นมีความเดือดร้อนด้านการเงิน ก็ควรให้ความช่วยเหลือ แต่ต้องพิจารณาดูความสามารถในการคืนเงินด้วย เช่น แนวโน้มการลงทุนของสหกรณ์ก่อให้เกิดผลตอบแทนมากน้อยแค่ไหน หรือมีความเสี่ยงมากน้อยหรือไม่ เป็นต้น

7. สหกรณ์ต้องให้ความช่วยเหลือบุคคลอื่น องค์กรอื่น หรือหน่วยงานอื่นๆ ในสังคม ตามความสามารถ ตามความเหมาะสม ในโอกาสต่างๆ เช่น มอบทุนการศึกษาแก่เด็กนักเรียน มอบอุปกณ์การเรียน กีฬา มอบทุนบริจาคกลุ่มอาชีพในชุมชน ต่างๆ เป็นต้น

หมายเลขบันทึก: 604332เขียนเมื่อ 30 มีนาคม 2016 16:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 เมษายน 2016 11:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท