เรียนรู้ความหมายสุขภาพ


เรียนรู้ความหมายสุขภาพ

เรียนรู้ความหมายสุขภาพ
(ย้ายมาจาก www.dmplapak.blogspot.com)

สุพัฒน์ สมจิตรสกุล*
อาชีพพยาบาลเป็นอาชีพที่เกี่ยวข้องกับ การเกิด แก่ เจ็บ และตาย อันเป็นสังสารวัฏที่เกิดในชีวิตที่ไม่สิ้นสุด เหตุการณ์ที่วนเวียนมาบังเกิดต่อพวกเราอยู่เป็นประจำ หากรู้จักใช้เหตุการณ์มาเป็นประโยชน์ในการเรียนรู้เพื่อปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานต่อผู้รับบริการ จะทำให้เราได้เข้าถึงสัจธรรมของชีวิต และความหมายของสุขภาพ
บทเรียนต่อไปนี้เป็นบทเรียนหนึ่งที่ได้ประสบขณะปฏิบัติงานดูแลผู้ป่วย
เช้าวันหนึ่งที่ห้องไตเทียมมีผู้ป่วยไตวายมารับบริการฟอกเลือดที่หน่วยไตเทียม ภายในห้องมีผู้รับบริการอยู่ 6 คน มีอยู่เตียงมีญาติมายืนออกันอยู่ มีเสียงพูดของผู้ป่วย บอกว่า “ พอแล้วๆ มันสิ้นเปลืองพอแฮงอยู่แล้ว วัวควาย กะขายไปหลายตัวแล้ว สิมาขายดิน อีกมันบ่ไหว “ เสียงอ้อนวอนของลูกๆให้พ่อรักษาต่อ มีอยู่ต่อเนื่อง เมื่อเข้าไปสอบถามได้ความว่า
ผู้ป่วยชื่อ ลุงพร(นามสมมติ) มีลูกสาว-ลูกชายอยู่ 4 คน อาชีพทำนาทั้งตระกูล ป่วยเป็นไตวายมาหลายปี มีสาเหตุเป็นนิ่วในไตทั้งสองข้าง ด้วยฐานะที่ยากจน ขาดโอกาสในการเข้ารับบริการตรวจสุขภาพ ทำให้ละเลยในสุขภาพกายของตนเองเพราะมัวแต่ห่วงปากท้อง ผลสุดท้ายไตก็วาย ซึ่งเมื่อรู้ก็สาย เมื่อไตได้สูญเสียหน้าที่ไปแล้ว ลุงพรเทียวเข้าออกโรงพยาบาลเป็นประจำ ต้องเวียนมารับยา ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์พยาบาลได้บ้างไม่ได้บ้างตามภาวะของชีวิต จนสุดท้ายก็ถึงระยะสุดท้ายของไตวาย ลุงพรถูกแนะนำให้ฟอกไต ลุงพรและญาติบอกว่า แม้ว่าลุงพรจะมีบัตร 30 บาทรักษาทุกโรค แต่ในกรณีฟอกเลือดเนื่องจากไตวายเรื้อรังเจ้าหน้าที่บอกว่า บัตรไม่คุ้มครองสิทธิดังกล่าว ทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการฟอกเลือด ครั้งละ 1,300-1,800 บาท ไม่รวมค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าอุปกรณ์ ค่าเดินทางมารับ-ส่งของญาติ เป็นต้น จากการรักษาลุงพรมาหลายปี ขายทั้งวัวควายที่มีอยู่ กู้ยืมก็เยอะ ญาติบอกว่า ลุงพรบ่นบ่อยๆว่า คนป่วยกินคนเป็น (คนป่วยทำร้ายคนสุขภาพดี) ลุงพรอยากเลิกรักษา นานๆเข้าลุงพรก็หายไปไม่มาฟอกเป็นสัปดาห์ กลับมาฟอกไตในสภาพที่บวม หายใจหอบ และเป็นบ่อยครั้ง เมื่อสอบถามทราบว่าไม่มีค่าใช้จ่ายและลุงพรไม่อยากมาฟอกไต ครั้งล่าสุด ลูกๆเห็นว่า หนี้สินที่เกิดจากการรักษามีมากขึ้นและค่าใช้จ่ายในการฟอกไตมีอยู่ตลอดเวลา ลูกๆจึงลงความเห็นว่าจะขายที่นาบางส่วนเพื่อจะมารักษาลุงพร เมื่อถึงเวลาจะมาขอให้ลุงพรเซ็นชื่อมอบฉันทะที่นาเพื่อจะนำไปขาย ลุงพรก็ไม่ยอม ลุงพรหันมาถามพยาบาลว่า “ คุณหมอ มันหมดมันเปลืองมาหลายแล้ว ไม่รู้ว่ามันจะหมด(ตาย) เมื่อไหร่ คุณหมอถามหน่อยเถอะที่ผมฟอกไตอยู่นี่ มันจะหายขาดมั๊ยล่ะ “ พยาบาลอึ้งไปสักครู่แล้วตอบไปว่า “.......คง ไม่หายค่ะ แต่ก็อาจมีความหวังในวันข้างหน้าก็เป็นได้ “ ลุงพรกล่าวต่อว่า “ผมอายุขนาดนี้ มันคงไม่มีหวังหรอก มีแต่จะกินลูกกินเต้าไปเรื่อยๆ ดีไม่ดีลูกจะตายก่อนผม เพราะไม่มีอะไรจะทำกิน ผมมันคนตายแล้ว อย่าให้ไปกวนคนเป็นเลย “ ทั้งลูกๆ พยาบาลและแพทย์ที่ดูแลคุณลุงพยายามอธิบายเพื่อให้ให้ลุงพรเปลี่ยนความคิด แต่ลุงพรก็ไม่เปลี่ยนความคิด ลุงพรยังยืนยันในความตั้งใจว่าจะไม่ฟอกไตต่อเพราะเห็นว่า หากฟอกไตต่อคงต้องขายทรัพย์สินที่มีอยู่ไป ลูกหลานที่อยู่ข้างหลังคงลำบาก เห็นได้จากครอบครัวผู้ป่วยที่มาฟอกเลือดหลายคนบอกว่า จากครอบครัวที่เคยอยู่ทำมาหากินร่วมกัน กลับกลายเป็นว่า ลูกๆต้องเดินทางไปหาเงินต่างถิ่นเพื่อมาเป็นค่าใช้จ่ายในการรักษาญาติที่ฟอกเลือด ภาพที่พวกเราเห็นในวันนั้นคือ ลุงพรถูกพยุงจากลูกๆนั่งรถเข็นไปยังรถรับจ้างเพื่อกลับบ้าน ใบหน้าของลุงพรที่ยิ้มแม้ดูจะซีดเซียวจากผลของโรค ในความรู้สึกของลุงพรขณะนั้นคงมีความสุขแม้ว่าตนจะเสียชีวิต แต่ลุงพรเชื่อว่า ลุงพรได้ปกป้องผืนดินที่พ่อแม่ได้มอบให้ส่งต่อไปยังรุ่นลูกให้ประกอบทำมาหากินต่อไป
พวกเราที่ได้ชื่อว่า เป็นผู้รู้ในการดูแลสุขภาพผู้คน ความหมายคำว่าสุขภาพของเรากับลุงพรช่างแตกต่างกัน เรามองเพียงรักษาชีวิตของคนคนหนึ่งไว้ ขณะไม่ได้มองถึงชีวิตที่อยู่รอบข้าง คำว่าสุขภาพของลุงพรช่างยิ่งใหญ่และมองข้ามคำว่าความตายไปสู่ความมีสุขภาวะทางด้านจิตใจที่เหนือกว่า ด้านร่างกาย การตายพร้อมกับความภาคภูมิใจว่า ชีวิตนี้ของลุงพรได้ส่งต่อผืนดินที่ทำกินจากบรรพบุรุษสู่รุ่นลูกได้สำเร็จ สุขภาพของลุงพรจึงสมบูรณ์แม้ไร้ร่างกาย
การเรียนรู้ความหมายของคำว่า สุขภาพจากลุงพร ทำให้เห็นความหมายคำว่าสุขภาพของชาวบ้านมีหลากหลายและกว้างไกลจากพวกเราผู้ที่ทระนงตัวว่าเป็นผู้รู้ในทุกสิ่งของสุขภาพ ทำให้เราต้องได้เรียนรู้อีกมากมายว่า ทำไมผู้ป่วยเบาหวานจึงควบคุมโรคไม่ดี (เพราะต้องทะเลาะกับสามีที่มีเมียน้อย หรือวันปีใหม่ลูกที่หายไป 2-3 ปีกลับมาเยี่ยมบ้านเลยฉลองมากไปหน่อย) ทำไมหญิงอายุร่วม 40 ปีจึงทำแท้งครั้งแล้วครั้งเล่า(เพราะกลัวสามีจะแยกทางเนื่องจากท้อง) ถ้าเราได้เรียนรู้เราจะเข้าใจ ทำให้เราจะสามารถจัดบทบาทของเราให้เกิดระบบบริการที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของแต่ละบุคคล เราเองก็จะไม่ทุกข์เพราะเขา(ผู้ป่วย)ไม่เป็นอย่างที่เราต้องการ แต่เราจะปรับเปลี่ยนตามเขาและร่วมปรึกษาหารือกันในระดับที่เท่าเทียมกัน เราเองก็จะมีความสุขเพราะเราไม่ได้ทำเพื่อเปลี่ยนใคร แต่เราเปลี่ยนตัวเราเอง
การหยุดนิ่งรับฟังแลกเปลี่ยน ทำให้เราได้เห็นและพร้อมเปิดกว้างที่จะเรียนรู้กับผู้คนที่เดินทางมาให้เราเรียนรู้อยู่ทุกวัน ผู้ป่วย ญาติ ชุมชน เปิดให้เราได้เรียนรู้ตลอดเวลา สำคัญว่าเราพร้อมที่จะเปิดใจรับการเรียนรู้หรือไม่

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 6042เขียนเมื่อ 29 ตุลาคม 2005 12:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:03 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

     ใช่ครับความหมายของ "สุขภาพ" ยังมีที่แตกต่างออกไปอีกเยอะมากในแต่ละบริบท และแต่ละบุคคล น่าค้นหาครับ

     ดีใจที่ได้อ่านเรื่องราวดี ๆ เหล่านี้นะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท